เพ็ญสุภา สุขคตะ : พุทธลีลาคลาไคล ท่องครรไลขจายธรรม (1) “ต้นกำเนิดและความสำคัญ”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ในแวดวงนักประวัติศาสตร์ศิลป์นักโบราณคดี จะไม่เรียกพระพุทธรูปที่อยู่ในท่าเดินว่า “ปางลีลา” แต่จะเรียกว่า “พระพุทธรูปลีลา” เฉยๆ เนื่องจาก “ลีลา” คือ 1 ใน 4 อิริยาบถ อันประกอบด้วย นั่ง นอน ยืน เดิน (อันหลังนี้เรียกให้ไพเราะว่า ลีลา) จึงไม่จำเป็นต้องเรียกว่า ปางนั่ง ปางนอน ปางยืน ปางเดิน (ปางลีลา) แต่จะเรียกว่าพระพุทธรูปประทับนั่ง ประทับยืน ประทับนอน และพระลีลา

เพราะคำว่า “ปาง” นั้น ใช้เรียกลักษณาการที่นอกเหนือไปจากอิริยาบถปกติ เช่น ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางเปิดโลก ปางประทานอภัย เป็นต้น

ดังนั้น ในบทความนี้จึงไม่ใช้คำว่า “ปางลีลา” เช่นกัน แต่จักใช้ว่า “พระลีลา” หรือ “พระพุทธลีลา”

ซึ่งพระปฏิมาในรูปแบบนี้ สามารถตีความคติแนวคิดในการสร้างได้หลายกระแส

อีกทั้งในวัฒนธรรมล้านนาเองก็มีชื่อเรียกที่แปลกออกไปอีกหลายชื่อ ไม่ว่า “พระเจ้าไว้รอยตีน” หรือ “พระเจ้าเทศน์สันตี”

 

ปางเสด็จจากดาวดึงส์คือต้นแบบ?

เอกสารของกรมศิลปากรยุคบุกเบิก ไม่ว่าตำนานพระพุทธรูปของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ก็ดี คำอธิบายเรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็ดี ล้วนพุ่งเป้าไปในทำนองเดียวกันว่า จุดกำเนิดของ “พระพุทธรูปลีลา” เริ่มขึ้นครั้งแรกในสมัยสุโขทัย

เป็นพัฒนาการที่ได้รับมาจากการทำพระพุทธรูปปางเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสร็จพุทธกิจในการเทศนาโปรดพุทธมารดา)

ประติมากรรมดังกล่าวทำรูปพระพุทธองค์ในท่าพระบาทสองข้างเหลื่อมซ้อนกัน คล้ายล่องลอยจากนภากาศกลับคืนสู่มนุษยโลก หากเราตัดเครื่องเคราองค์ประกอบฉากหลังทิ้งไปให้หมด ไม่ว่าบันไดแก้ว ฉัตรสัปทน พระอินทร์ พระพรหม ก็จะเหลือเพียงพระพุทธรูปในท่าคลาไคล ไม่ต่างไปจากพระพุทธรูปลีลา

ทฤษฎีดังกล่าวนี้ เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางมานานกว่า 60-70 ปี ทั้งนักโบราณคดีเทศอย่างเช่น เอ.บี กริสโวลด์ เองก็เห็นว่า “มีเค้าอยู่มาก” หากจะให้เชื่อมโยง ท่าทางย่างก้าวของพระพุทธรูปลีลา กับลักษณะการเลื่อนครรไลลงจากบันไดของปางเสด็จลงจากดาวดึงส์

ซึ่งทั้งสองรูปแบบ เป็นศิลปะที่เกิดขึ้น “ครั้งแรก” ในสมัยสุโขทัย ไม่พบก่อนหน้านั้นในยุคทวารวดี (พระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ของทวารวดีเป็นท่าหักนิ้วมือขึ้นสองข้างแบบวิตรรกะ แถมยืนตรงไม่ใช่ตริภังค์คือเอนกายแบบสุโขทัย)

กล่าวคือ แม้แต่ในลังกาประเทศแม่ ผู้เป็นต้นแบบวางรากฐานงานพุทธศิลป์สายลังกาวงศ์ให้แก่สุโขทัยหลายๆ ด้าน ไม่ว่าคติพระอัฏฐารส พระเจดีย์ทรงระฆัง การสร้างมณฑปมีผนังข้างเป็นอุโมงค์ เป็นต้น ก็ไม่เคยทำพระพุทธรูปลีลามาก่อน

อย่างเก่งศิลปะลังกาหรือศิลปะอินเดียยุคคุปตะ เมื่อต้องการสะท้อนให้เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงดำเนินอยู่นั้น ก็จะทำแค่ทิ้งสะโพกข้างหนึ่งแบบตริภังค์ และเขยิบปลายพระบาทสองข้างให้รับน้ำหนักต่างกันนิดหน่อยเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการด้านโบราณคดีจึงเชื่อกันว่า จากภาพสลักนูนต่ำปูนปั้นระบายสี รูปพระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่มณฑปวัดตระพังทองหลาง สุโขทัย รูปนี้นี่เอง น่าจะต้นแบบสำคัญหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้นายช่างสุโขทัยนำไปต่อยอดทางความคิด

จนสามารถพัฒนาพระปฏิมาให้ออกมาเป็นพระพุทธรูปลีลาปูนปั้นนูนสูงกว่า 6 เมตรที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง ศรีสัชนาลัย ได้สำเร็จ และพระพุทธรูปสำริดลอยตัวในที่สุด

นอกจากนี้แล้ว นักวิชาการบางท่านยังบอกว่า อย่าได้มองข้าม พระพิมพ์โลหะในท่าเยื้องกราย จากกรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี หรือที่รู้จักกันในนามว่า “พระกำแพงเขย่ง” ก็มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 ร่วมสมัยกับศิลปะสุโขทัยด้วยเช่นกัน

น่าสนใจว่าเมืองสุพรรณเป็นถิ่นเก่าของศิลปะทวารวดี

 

ท่าเดินประดุจ “กุญชรลีลา”

พระพุทธลีลาต้องยกมือขึ้นหนึ่งข้างเสมอ ซ้ายหรือขวาข้างใดก็ได้ ตามที่คัมภีร์มหาปุรุษลักษณะ 32 ประการ กล่าวไว้ว่า

ท่าเดินของพระพุทธองค์ ประดุจดั่งท่าเดินของช้าง ที่เมื่อยกเท้าข้างใดก็ต้องชูงวงตวัดไปข้างนั้น เรียกว่า “กุญชรลีลา” พระพุทธเจ้าก็เช่นกัน เมื่อยกพระบาทขวาก็ยกพระหัตถ์ขวา เมื่อย่างพระบาทซ้าย ก็จักยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นมาระดับพระอุระ ซึ่งการยกพระหัตถ์เช่นนี้ไปพ้องกับพระพุทธรูป “ปางประทานอภัย”

ส่วนลำแขนลำขาของพระพุทธรูปลีลาสุโขทัยนั้น ก็มีความกลมกลึงละม้ายกับงวงช้างด้วยเช่นกัน ทั้งๆ ที่ในคัมภีร์มหาปุรุษลักษณะ 32 ประการ พรรณนาไว้เพียงแต่ว่า

“ต้องมีบ่าใหญ่เอวเล็กเหมือนราชสีห์ ยามยืนตรงแขนยาวมากจนกระทั่งปลายนิ้วมือจรดกับหัวเข่า และขาเรียวดั่งเนื้อสมัน” เท่านั้น แต่จากสุนทรียะที่เราเห็น กลับพบว่าพระพุทธลีลาสุโขทัยมีลำแขนและเรียวขาที่สอดรับกับ “งวงช้าง” ในท่ากุญชรลีลามากเป็นอย่างยิ่ง

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร ผู้แปลคัมภีร์พฤหัตฺสํหิตา ของท่านวราหมิหิระ จากคำฉันท์ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาไทยชื่อ “ลักษณะบุรุษ สตรี และประติมา” ได้แสดงความเห็นว่า เนื้อหาในคัมภีร์ดังกล่าว บอกว่า “มหาบุรุษย่อมมีแข้งกลม มีแขนทั้งสองข้างเหมือนงวงช้าง” น่าจะมีอิทธิพลต่อช่างชาวสุโขทัยเป็นอย่างมากในการเนรมิตงานพุทธศิลป์

แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วดูเหมือนว่าสุโขทัยจะรับอิทธิพลพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทคติลังกาวงศ์ซึ่งนิยมใช้ภาษาบาลีก็ตาม แต่อย่าลืมว่ามีงานพุทธศิลป์ในอาณาจักรสุโขทัยจำนวนไม่น้อยเลย ที่มีกลิ่นอายของพุทธศาสนาแบบมหายานซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตปะปนอยู่

 

รักษาสมดุลใน 4 อิริยาบถ

การทำพระ 4 อิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน พบขึ้นครั้งแรกในศิลปะลังกา กรุงโปลนนารุวะ ราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 เป็นการสร้างพระพุทธรูป 3 อิริยาบถไว้ที่ด้านนอกของพระมณฑป ได้แก่ นั่ง นอน และยืน

แต่ปัญหาใหญ่ของช่างลังกาก็คือ อิริยาบถเดินนี่สิ พยายามทำเท่าไหร่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

สำหรับความหมายของพระ 4 อิริยาบถนั้น ทั้งอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี กรมศิลปากร และศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ กล่าวตรงกันว่า เป็นภาพสะท้อนของ “ทางสายกลาง” หรือ “การรักษาสมดุล” ของมนุษย์ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถสลับกันไป

ขอยกตัวอย่างตอนหนึ่งของพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าเห็นพระภิกษุรูปหนึ่งมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนาตั้งแต่เช้าจรดค่ำ โดยไม่ยอมขยับเขยิบร่างกายกระทำอิริยาบถอื่นใดเลย ทรงตรัสแก่ภิกษุรูปนั้นว่า

“เนสัชฌิ!”

คำว่า “เนสัชฌิกัง” เป็นการถือธุดงควัตรข้อที่ว่าด้วย “การถืออิริยาบถนั่งโดยจะไม่นอน หากไม่บรรลุธรรม” ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติได้ เพราะเป็นแนวคิดที่สุดโต่ง หากบุคคลผู้นั้นไม่ได้สร้างสมบุญในอดีตชาติมาเต็มเปี่ยมเช่นพระพุทธเจ้า ก็ยากยิ่งที่จะอธิษฐานจิตถือธุดงควัตรข้อเนสัชฌิกัง

ด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนแก่พระภิกษุว่า “นักปฏิบัติทั้งหลายจงผ่อนคลายอิริยาบถ จงเอาใจตั้งมั่นในทางสายกลางเท่านั้น” เหตุที่ความตึงเครียดยามเราอยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งเพียงอย่างเดียวนานเกินไป ไม่อาจนำไปสู่หนทางแห่งการบรรลุธรรม จึงทรงอนุโลมให้มีแม้แต่เดินจงกรม ยืนหรือนอนปฏิบัติธรรม

 

ล้านนาเรียก “พระเจ้าไว้รอยตีน”

ในวัฒนธรรมล้านนา หาได้เรียกว่าพระพุทธรูปลีลาเหมือนทางภาคกลางไม่ แต่กลับเรียกว่า “พระเจ้าไว้รอยตีน” อนึ่ง คำว่า “ตีน” “ตูด” ในชีวิตประจำวันของคนยุคโบราณนั้นเป็นคำไทยแท้ไม่ใช่คำหยาบคาย เพิ่งจะมาถูกผลักให้เป็นคำชั้นต่ำในยุคที่เรายกย่องภาษาบาลี สันสกฤต และภาษาเขมรว่าเป็นภาษาชั้นสูง ในจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 พบคำว่า “เบื้องตีนนอน” หรือในจารึกล้านนาหลายหลักพบคำว่า “ยามตูดเช้า”

คำว่า “พระเจ้าไว้รอยตีน” หมายถึงการที่พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้ตามสถานที่ที่ทรงตรัสพยากรณ์นั่นเอง สอดคล้องกับความเชื่อของชาวล้านนาต่อ “ตำนานพระเจ้าเลียบโลก” เรื่องการเสด็จไปตามที่ต่างๆ ของพุทธองค์แล้วทรงย่ำพระบาทไว้เป็นเครื่องหมายให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นเพื่อจะได้รับทราบถึงการมาโปรดสัตว์โลกให้พ้นจากความโฉดเขลา

การทำพระพุทธรูปของชาวล้านนาในรูปแบบ “พระเจ้าไว้รอยตีน” ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญคือ ต้องมีรูปของรอยพระบาทคู่กันด้วยนั้น พบไม่มากนัก เท่าที่พบมีเพียงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่เพียงองค์เดียว

อย่างไรก็ดี ล้านนารับอิทธิพลคติการทำพระพุทธรูปลีลามาจากสุโขทัย ผ่านการขึ้นมาเผยแผ่ธรรมของพระสุมนเถระ ผู้นำพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ (สายย่อยรามัญวงศ์) จากสำนักพระญาลิไท ไปสถาปนายังสำนักของพระญากือนาแห่งล้านนา เมื่อ พ.ศ.1912

สัปดาห์หน้าจะเจาะลึกถึงเรื่อง พระพุทธรูปลีลาในศิลปะล้านนาต่อไป