(S)election / นโยบายสิทธิมนุษยชนของพรรคการเมืองไทย : ใครให้ความสำคัญเรื่องไหน?

การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม แม้หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญและโอกาสในการพลิกฟื้นประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยหลังการบริหารประเทศของรัฐบาลทหาร คสช. มา 5 ปี (ตามโรดแม็ปที่ส่งมอบอำนาจให้รัฐบาลใหม่)

หลายพรรคการเมืองของไทย ต่างขนนโยบายมากมายออกมาหาเสียงปราศรัยขอคะแนนเสียงจากประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่านโยบายแก้ไขปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจหรือชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่สร้างความสนใจให้ประชาชนได้ชัดกว่า นั้นเพราะว่าหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ชีวิตทำมาหากินยากลำบาก

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนโยบายที่ออกมาปราศรัยกับประชาชนนั้น นโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนถูกพูดถึงจนเป็นเรื่องสำคัญเทียบเท่านโยบายแก้ไขราคาสินค้าหรือค่าครองชีพหรือไม่?

 

สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล หรือเอฟไอดีเอช ได้เปิดรายงานจำนวน 30 หน้าในชื่อ “เงามืดมากกว่าแสงสว่าง” โดยได้สรุปข้อมูลจากการสำรวจท่าทีเชิงนโยบายของพรรคการเมืองไทย ว่าให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนจนเป็นนโยบายมากแค่ไหน ซึ่งเอฟไอดีเอชทำขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นพรรคการเมืองให้คำมั่นต่อการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยขึ้นชื่อจากรายงานของหลายองค์กรระหว่างประเทศว่ามีการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนหลายด้าน โดยสำรวจความเห็นตั้งแต่ 12 ธันวาคม ปีที่แล้วจนถึง 23 กุมภาพันธ์นี้

ในบรรดาพรรคใหญ่และพรรคหน้าใหม่ที่ลงสนามเลือกตั้งกว่า 80 พรรค มีพรรคการเมืองที่ร่วมตอบแบบสอบถาม 32 พรรค อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองเกินครึ่งปฏิเสธที่จะตอบแบบสอบถาม โดยในจำนวนนี้มีพรรคการเมืองดังอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทยและพรรคไทยศรีวิไลย์ รวมอยู่ด้วย

ในส่วนคำถามนั้นแบ่งเป็น 15 คำถามใหญ่ ซึ่งในคำถามใหญ่ยังแยกเป็นคำถามย่อยหลายข้อ

หลายคำถามนั้น เป็นคำถามที่พูดถึงน้อยมากหรือไม่พูดถึงกับเวทีปราศรัยที่ไหน

 

นายอังเดร์ จีโอเก็ตต้า ผู้อำนวยการกองเอเชียของเอฟไอดีเอชกล่าวว่า จากการสำรวจทั้งหมด สามารถสรุปเป็นภาพข้อมูลได้โดยสังเขป โดยพบว่า ด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีเพียง 16% ให้ยกเลิกโทษอาญาต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือแม้แต่ฐานความผิดที่นักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาตรา 112 ก็มีมากถึง 88% ที่ไม่สนับสนุนยกเลิกโทษจำคุกในฐานความผิดนี้ (ซึ่งรวมถึงพรรคอนาคตใหม่ที่ประกาศว่าพรรคไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 ยกเว้นเพียงพรรคสามัญชนที่แสดงจุดยืนจะยกเลิกโทษจำคุก) สำหรับเอฟไอดีเอช ถือเป็นเรื่องน่าผิดหวัง

ในประเด็นโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่จัดว่าละเอียดอ่อนต่อสังคมไทย โดยเฉพาะบรรดาโลกโซเชียลที่แสดงความคิดเห็นให้จัดการฆาตกรที่ลงมือฆ่าอย่างโหดร้ายหรือข่มขืนกระทำชำเราอย่างทารุณด้วยการประหารชีวิตเพราะเชื่อว่าคนอื่นจะไม่คิดทำผิด ซึ่งสวนทางกับผลวิจัยที่เผยแพร่ในเวลาต่อมาว่า การประหารชีวิตไม่สามารถลดการเกิดอาชญากรรมได้ แต่กระนั้น ผลสำรวจเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีมากเกินครึ่ง (63%) ให้คงโทษประหารชีวิตกับทุกความผิด และมี 25% ให้คงโทษนี้ไว้ใช้กับฆาตกร แต่ยังมี 16% ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตกับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

ส่วนอีกเรื่องที่บางพรรคการเมืองผลักดันเป็นนโยบายจนเกิดกระแสสังคมขึ้นอย่างเรื่องปฏิรูปกองทัพนั้น ผลสำรวจพบว่า 41% ให้ความสำคัญกับการปรับลดงบประมาณกองทัพที่ไม่จำเป็น แต่กลับมีเพียง 6% ที่จะตั้งใจปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมด (รวมถึงกองทัพ) และ 19% สนับสนุนให้ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหาร

อีกเรื่องที่ถามพรรคการเมืองยังมีประเด็นผู้อพยพและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ซึ่งพบว่า 56% จะส่งเสริมกฎหมายที่ส่งเสริมหลักการไม่ส่งกลับไปเผชิญอันตราย

ประเด็นผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน มีเพียง 41% จะจัดประชุมกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ

ประเด็นสภาพการคุมขัง มีถึง 50% จะส่งเสริมแนวทาง “กฎแมนเดลา” และ “หลักปฏิบัติกรุงเทพ” ในระบบกฎหมายภายใน

และเกินครึ่งยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศเข้าเยี่ยมเรือนจำเพื่อตรวจสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายประเด็นที่ดูมืดมนอย่างประเด็นสิทธิสตรี การแก้ไขปัญหาลอยนวลพ้นความผิด หรือแม้แต่ปัญหาการอุ้มหายยังคงไม่ชัดเจน

 

อีกทั้งในข้อที่ 15 ของแบบสอบถามระบุว่า เรื่องใดที่คิดว่าพรรคการเมืองที่จะเป็นรัฐบาลใหม่ควรทำเป็นวาระสำคัญ ซึ่งสะท้อนได้ถึงความสนใจว่าจะสื่อสารเรื่องใดกับประชาชนในการหาเสียงมากที่สุด

โดยพบว่า 71.9% เร่งแก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม

50% สนับสนุนการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชั่น

43.8% ยกระดับมาตรฐานการศึกษาทั่วประเทศ

9.4% ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและปกป้องสิทธิสตรี

6.3% ปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคง (ทั้งตำรวจและกองทัพ)

 

ด้านคุณเด็บบี้ สโตทาร์ด เลขาธิการของเอฟไอดีเอช กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราเคยทำแบบสำรวจกับพม่าจนออกเป็นรายงานชิ้นหนึ่ง แต่กรณีพม่าและไทยนั้น รู้สึกลำบากใจที่พบเห็นหลายสิ่งมีความคล้ายคลึงกัน และทั้งสองประเทศยังคล้ายคลึงที่ทหารยังคงมีอิทธิพลต่อการเมืองและเศรษฐกิจประเทศอยู่

“เรายังเข้าใจมากขึ้น (จากสิ่งที่สำรวจ) นี่ไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองแล้ว แต่เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันต่อชีวิตคนไทยหลายล้านคน โดยเฉพาะสำหรับคนที่คิดว่าประเทศไทยคือบ้านหลังที่สอง และบางคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ยังกังวลถึงความไม่สม่ำเสมอหลายอย่างที่พรรคการเมืองจะใส่ใจต่อปัญหาธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” เลขาธิการเอฟไอดีเอชกล่าว

นอกจากนี้ เอฟไอดีเอชยังมีข้อเสนอถึงสมาชิกรัฐสภาที่จะได้รับการเลือกตั้งในการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ปฏิรูปกฎหมายโดยยกเลิกคำสั่ง คสช.ทั้งหมดที่ไม่ได้เชื่อมโยงต่อหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แก้ไข พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 แก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สิทธิสตรีจากการยกเลิกความผิดฐานทำแท้งหรือส่งเสริมกฎหมายเพิ่มจำนวน ส.ส.หญิงในสภาและกรรมการบริหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าหากพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกนั่งในรัฐสภาจะออกมาเป็นแบบรัฐบาลผสม ข้อเสนอแนะดังกล่าวจะได้รับการขานรับหรือไม่ คุณสโตทาร์ดกล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่เสนอมานี้ สะท้อนจากความกังวลจากภาคประชาสังคมต่อสังคมไทยที่เผชิญความเลวร้ายหลายอย่าง

เราอยากเห็นรัฐบาลใหม่พูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น และเราจะเดินหน้าต่อเพื่อให้แน่ใจว่าข้อเสนอแนะจะได้รับการปฏิบัติ