เมอร์คิวรี่ : วิบากกรรมทัพ “ยกเหล็กไทย” โจทย์ใหญ่ “โตเกียวเกมส์ 2020”

กลายเป็นวิบากกรรมใหญ่โตที่ส่งผลกระทบต่อวงการกีฬาไทยอย่างมากสำหรับกรณีการตรวจพบสารต้องห้ามในนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย จนล่าสุด “สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย” ชิงประกาศว่า จะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

รวมทั้งจะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา “โอลิมปิกเกมส์ 2020” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปีหน้า และการแข่งขันเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมทุกรายการ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ถึงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อประเทศไทย

และต่อมวลสมาชิกของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ…

 

เหตุการณ์นี้สืบเนื่องมาจากการที่ “สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ” (ไอดับเบิลยูเอฟ) ได้ตรวจพบสารต้องห้ามในปัสสาวะของนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย ชุดเข้าร่วมการแข่งขันยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ประจำปี 2561 ที่กรุงอัชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถาน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ประกอบด้วย

“ธัญญ่า สุขเจริญ” 3 เหรียญทอง รุ่น 45 ก.ก.หญิง, “สุกัญญา ศรีสุราช” จอมพลังเหรียญทองโอลิมปิก 2016 รุ่น 58 ก.ก.หญิง 3 เหรียญทองรุ่น 55 ก.ก. ถูกตรวจพบการใช้สารกระตุ้นประเภท อนาบอลิก สเตียรอยด์ และอาร์ติฟิเชียล เทสโตสเตโรน หรือฮอร์โมนเทียม

รวมถึง “โสภิตา ธนสาร” ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2016 รุ่น 48 ก.ก. และ “ชิดชนก พูลทรัพย์สกุล” ไม่ผ่านการตรวจสอบสารกระตุ้น ซึ่งเป็นผลจากห้องแล็บของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ที่เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี รวมกับอีก 2 คนก่อนหน้านี้คือ “ธีรภัทร ชมชื่น” จอมพลังวัย 17 ปี และ “ดวงอักษร ใจดี” จอมพลังสาวรุ่นใหญ่

ทั้งที่ก่อนการแข่งขัน ทางสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ มีมาตรการระมัดระวังและป้องกันมาโดยตลอด อีกทั้งได้รับการตรวจปัสสาวะของนักกีฬาจากศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาของประเทศไทย โดยสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาของประเทศไทย ตรวจวิเคราะห์มาโดยตลอด แต่ไม่พบการใช้สารต้องห้าม

ขณะที่สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ก็ทำการตรวจปัสสาวะและเลือดของนักกีฬายกน้ำหนักไทยมาโดยตลอด รวมถึงการตรวจปัสสาวะก่อนการแข่งขัน ระหว่างการแข่งขัน และหลังการแข่งขันในศึกชิงชนะเลิศแห่งโลกครั้งนี้ด้วย ซึ่งไม่พบการใช้สารต้องห้ามแต่อย่างใดทั้งสิ้น

แต่ยิ่งไปกว่านั้น สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ได้ประสานกับแผนกข้อมูลประจำตัวนักกีฬา ที่เมืองโคโลญจน์ เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติมในนักกีฬาเป้าหมายเฉพาะประเทศไทย โดยใช้เทคนิคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

และแจ้งว่ามีการตรวจพบสารต้องห้ามในนักกีฬายกเหล็กไทยดังกล่าว

 

“เสธ.ยอด” “พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ และรองประธานสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ระบุว่า จากการที่สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ เพื่อรอผลการตรวจสารกระตุ้นต้องห้ามของนักกีฬาในตัวอย่างบี จึงจำเป็นที่จะต้องปิดแคมป์ฝึกซ้อมของนักกีฬาที่ จ.เชียงใหม่ ไปก่อน โดยสหพันธ์และสมาคมจะหารือกันอีกรอบในการประชุมสหพันธ์เดือนกันยายนนี้ ที่ประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม สำหรับระเบียบใหม่ของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ระบุว่า ชาติใดที่ถูกตรวจพบสารกระตุ้น 3 เคสขึ้นไปในรอบปฏิทินจะถูกแบน 4 ปี จากการแข่งขัน และถูกปรับเงินเป็นจำนวนสูงสุด 200,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,300,000 บาท

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทีมอาจจะถูกแบน 2 ปีอีกด้วย

ในเคสนี้สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติยังไม่ได้มีการประกาศบทลงโทษแบนกับนักยกเหล็กไทยออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ทางด้านสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ชิงออกประกาศที่จะไม่ส่งนักกีฬาไปเข้าร่วมชิงชัยระดับนานาชาติแล้ว โดยเฉพาะในโอลิมปิกเกมส์ 2020 เป็นที่เรียบร้อย

เท่ากับว่า ความหวังในการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ของทัพไทยหายวับไปกับตาทันที เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมายกน้ำหนักคว้าเหรียญมาได้อย่างต่อเนื่อง!

 

“บิ๊กต้อม” “ธนา ไชยประสิทธิ์” หัวหน้าคณะนักกีฬาทีมชาติไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ครั้งก่อน สมาคมยกน้ำหนักฯ มีวาระจะแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้แจ้ง ซึ่งคาดว่าเป็นการรอผลบางอย่างจากสหพันธ์ ซึ่งประกาศดังกล่าว น่าจะเป็นคำตอบสิ้นสุดแล้วว่า ยกน้ำหนักจะไม่ได้ไปแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ 2020 เป็นที่แน่นอนแล้ว และคงจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีกแล้ว

“ยกน้ำหนักเป็นความหวังของวงการกีฬาไทยในโอลิมปิกเกมส์มาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และการขาดหายไปในโอลิมปิกเกมส์ที่จะถึงส่งผลต่อจำนวนเหรียญของนักกีฬาไทยในโตเกียวอย่างแน่นอน จากเหตุการณ์นี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สมาคมกีฬาอื่นๆ จะต้องตระหนักถึงการระมัดระวังในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด และการใช้ยาบำรุง หรือยารักษาต่างๆ ต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง”

ขณะที่ “รองตูน” “ณัฐวุฒิ เรืองเวส” รองผู้ว่าการฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า ประเด็นนี้ถ้าสหพันธ์ยังไม่ได้มีการลงโทษมา แต่สมาคมมองเห็นว่า ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม ถ้ายังส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันในรายการอื่นๆ ต่อ อาจจะโดนตรวจอีก จึงชะลอการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันนั้น ถือว่าเป็นสิทธิที่สมาคมสามารถปฏิบัติได้ ถ้าหากเป็นรายการระดับชิงแชมป์โลก หรือชิงแชมป์เอเชีย

แต่ถ้าหากจะไม่ส่งเข้าแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 และรอบคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์นั้น ทางสมาคมก็ต้องมาคุยกับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ และ กกท. เพราะว่าเป็นรายการที่ทั้งสององค์กรมีหน้าที่ในการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน ต้องมาคุยกันว่าทำไมถึงจะไม่ส่ง

อีกทั้งยังเป็นรายการที่สำคัญที่ประชาชนนั้นคาดหวังและยกน้ำหนักก็เป็นกีฬาที่เป็นความหวังของไทยในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ด้วย

 

ย้อนกลับไปทัพจอมพลังไทยสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมไว้ในโอลิมปิกเกมส์ และเป็นชนิดกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัลให้กับทัพไทยได้มากที่สุดรวมทุกครั้งที่ผ่านมาด้วยการคว้ารวมได้ทั้งสิ้น 5 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 7 เหรียญทองแดง

เหนือกว่าอันดับ 2 “มวยสากลสมัครเล่น” ที่คว้ารวมได้ 4 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน และ 6 เหรียญทองแดง และอันดับ 3 “เทควันโด” ที่ยังไร้เหรียญทอง แต่คว้าได้ 2 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทอง อีกทั้งมีเพียง 3 ชนิดกีฬานี้ที่คว้าเหรียญโอลิมปิกเกมส์ได้เท่านั้น!

หากไร้ซึ่งทัพจอมพลังไทยในศึกโอลิมปิก” “โตเกียวเกมส์ 2020”” ก็จะทำให้เหลือความหวังคว้าเหรียญอยู่แค่เพียง มวยสากลสมัครเล่น ที่จากโอลิมปิกเกมส์ 2 สมัยที่ผ่านมาไร้เหรียญทองติดนวมกลับมา ส่วนเทควันโดก็ยังไม่สามารถเปิดซิงเหรียญทองแรกได้สักทีแม้จะเฉียดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นวิบากกรรมครั้งใหญ่ของวงการกีฬาไทยที่ส่งผลกระเทือนต่อภารกิจใหญ่ในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ซึ่งเมื่อไม่มีทัพยกเหล็กไทยแล้วก็จะส่งผลต่อเป้าหมายความหวังเหรียญรางวัลของทัพไทยที่จะลดถอยลงไปโดยปริยาย

…ถือเป็นการบ้านโจทย์ใหญ่ที่สำคัญให้ส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งกลับไปแก้ไข และพัฒนากีฬาชนิดอื่นให้ก้าวขึ้นมาสร้างผลงานกอบกู้ชื่อเสียงของทัพไทยในมหกรรมกีฬาใหญ่แห่งมวลมนุษยชาติ “โตเกียวเกมส์ 2020” ให้กลับคืนมาสร้างชื่อได้ในเวทีโลกอีกครั้ง…