(S)election : ถาม-ตอบ กับ “ชัชชาติ” เทคโนโลยี-นวัตกรรมยุคใหม่ กับทางรอด-โอกาสคนไทยในอนาคต

โลกยุคศตวรรษที่ 21 นับเป็นช่วงเวลาที่ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญชนิดสั่นสะเทือนระบบการเมือง-เศรษฐกิจ-ชีวิตผู้คนทั่วโลกรวมถึงไทยเกิดขึ้น โดยเฉพาะนวัตกรรมดิจิตัลที่กำลังพลิกผันและทำลายสิ่งที่เคยดำรงอยู่ หลากสิ่งเปลี่ยนไปและไม่คุ้นเคย ประชาชนที่เกิดและเติบโต จึงต้องปรับตัวและเรียนรู้ให้มากขึ้นกว่าเดิม

การเลือกตั้งของไทยที่ใกล้จะมาถึง หลายพรรคการเมืองต่างให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าว และหันมาฟังเสียงของคนที่ต้องอยู่ต่อไป มีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่เสนอความคิดสร้างประเทศไทยยุคอนาคต

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” แกนนำทีมเศรษฐกิจและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เป็นนักการเมืองหนึ่งในหลายคนที่ประชาชนทุกวัยให้ความสนใจ และยังเป็นนักการเมืองยอดนิยมของบรรดาคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกระแสโซเชียลที่สร้างชื่อให้ชัชชาติได้ฉายา “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ติดตัวไป

แต่สิ่งที่ทุกคนให้ความสนใจต่อตัวชัชชาตินั้นไม่ใช่ภาพลักษณ์ที่ปรากฎเพียงอย่างเดียว ความคิด วิสัยทัศน์อันน่าดึงดูดของชายร่างใหญ่คนนี้ ชวนทุกคนอยากแบ่งปันและเรียนรู้ร่วมกัน

เพื่อชีวิต โอกาสและประเทศไทยให้เดินหน้าทันโลกที่หมุนเร็วขึ้นได้

 

เศรษฐกิจใหม่มาถึงแล้ว

ชัชชาติ ได้เปิดพื้นที่คนทุกวัยร่วมเรียนรู้และค้นหาโอกาสสร้างชีวิตในอนาคต กับเวที “คุยกับชัชชาติ มองเศรษฐกิจด้วยวิธีคิดแบบคนรุ่นใหม่” พาทุกคนสำรวจว่าโลกในตอนนี้ มีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างและส่งผลต่อชีวิตทุกคนในปัจจุบันและอนาคตยังไง

สาระสำคัญของเศรษฐกิจยุคใหม่นั้น ชัชชาติขึ้นคำถามว่า

ทำไมความเหลื่อมล้ำถึงเพิ่มสูงขึ้น คนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจนกระจาย เหตุเพราะเมื่อก่อนสิ่งชี้วัดทางเศรษฐกิจเดิมคือ ที่ดินแรงงาน ใครมีคือรวย แต่ปัจจุบันใครมีเทคโนโลยี หุ่นยนต์รวย อนาคตข้างหน้าความร่ำรวยจะไปอยู่กับคนที่กุมเทคโนโลยี แล้วประเทศไทยมีสิ่งนี้ไหม?

“เราจะรักษางานจากการเข้ามาของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ยังไง? ในเมื่อหุ่นยนต์ยิ่งสามารถทำอะไรได้เหมือนมนุษย์มากขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว

 

จากนั้น ชัชชาติได้บอก 6 เรื่องที่ทุกคนต้องรู้ในการสร้างโอกาสภายใต้เศรษฐกิจรูปแบบใหม่คือ

  • Moore’s Law (กฎของมัวร์) โดยนายกอร์ดอน มัวร์ ผู้ก่อตั้งอินเทล ผู้ผลิตไมโครชิประดับโลก ซึ่งอธิบายปริมาณของทรานซิสเตอร์บนวงจรรวม โดยจะเพิ่มเป็นเท่าตัวประมาณทุก ๆ สองปี แต่นอกจากปริมาณที่เพิ่มขึ้น ศักยภาพยิ่งสูงขึ้นด้วยขนาดของทรานซิสเตอร์ที่ค่อยๆเล็กลง และกฎนี้ยังถูกใช้อธิบายปริมาณของเทคโนโลยีเทียบกับความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์ หากเทคโนโลยีมีพลังมากขึ้น มนุษย์ยิ่งต้องปรับตัวและเรียนรู้ให้กว้างขึ้น เร็วขึ้นอีกและจะเพิ่มต่อไปไม่หยุด
  • Cloud Computing คลังข้อมูลที่อยู่ในอากาศ เชื่อมโยงและกระจายตัวไปยังที่ต่างๆ ซึ่งชัชชาติกล่าวว่าแนวคิดนี้ ทำให้รถไฟความเร็วสูงไม่ได้วัดการกระจายความเจริญอีกต่อไป และเทคโนโลยีนี้ทำให้ระยะทาง ภูมิประเทศหรือพรมแดนไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป
  • Big Data การนำข้อมูลจำนวนมหาศาลมาไว้อยู่ในแพลตฟอร์ม ดิจิตัลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
  • IOT (Internet of Things) หรืออินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ทำให้อินเตอร์เน็ต อุปกรณ์และเทคโนโลยีเชื่อมต่อเข้าด้วยกันเพื่อใช้กับทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
  • Blockchain ข้อมูลในรูปแบบของบล็อกที่ถูกเชื่อมต่อด้วยห่วงโซ่ซึ่งถูกออกแบบเพื่อรักษาความปลอดภัยและป้องกันการถูกทำลาย
  • AI (Artificial Intelligence) ปัญญาประดิษฐ์ สมองกลอัจฉริยะที่สามารถประมวลข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเทคโนโลยีหุ่นยนต์

นายชัชชาติ กล่าวว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ ส่งผลทำให้เกิดเศรษฐกิจรูปแบบใหม่อย่าง ร้านค้าออนไลน์ การบริการที่จัดการด้วยตัวเองได้ง่ายและมีประสิทธิภาพขึ้น แต่ก็ส่งผลทำให้เกิดการทำลายเทคโนโลยีรุ่นก่อนอย่างหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือร้านค้าแบบเดิม หลายคนที่ปรับตัวไม่ทันก็อาจตกงานและใช้ชีวิตลำบาก คนไทยจึงต้องอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น เรียนรู้ให้มากอาจต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจากการอ่านหนังสือ หรือการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดต้องเกิดจากแต่ละคนสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเอง

อย่างไรก็ตาม นายชัชชาติกล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีนี้เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องมุ่งให้ประเทศล้ำยุค (Hi-tech) อาจเป็นการทำให้ Hi-touch มากขึ้น คือสินค้าและการบริการที่มีคุณภาพและมีเอกลักษณ์

ด้วยวิธีนี้ “ความคิดสร้างสรรค์” จึงมีความสำคัญ และประเทศไทยต้องส่งเสริมเรื่องนี้ให้มากขึ้น

 

“ทุกคน” ถาม “ชัชชาติ” ตอบ

(อาจารย์มหาวิทยาลัย) ข้อเสนอแนะที่ว่าโรงเรียนจะต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังต้องผลิตนวัตกรรมด้วย ทำอย่างไรที่จะสร้างประสบการณ์ให้นักเรียนเป็นผู้นำในการสร้างสิ่งใหม่?

นายชัชชาติกล่าวว่า แต่ก่อนเคยเชื่อว่าคนมีเหตุผล อุปสงค์-อุปทานตัดกัน แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว คนไม่ได้มีเหตุผล คนทำตามอารมณ์มากขึ้น ทำให้เกิดวิชาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม สำหรับผมความคิดสร้างสรรค์ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ให้กล้าคิด กล้าถาม ไม่ใช่ท่องจำ และต้องเคารพในความเห็นของเขา หรืออาจชี้แนะมุมมองอื่น จากที่ได้สำรวจพบว่า เราไม่ค่อยเปิดโอกาส ทำให้เด็กไม่กล้าถาม ดังนั้น ต้องทำให้เด็กกล้าถามมากขึ้น

“การศึกษาของไทยส่วนใหญ่ลงโทษเมื่อทำผิด อย่างทำข้อสอบ ถ้าทำผิดก็โดนตัดคะแนน แต่จริงๆต้องเปิดโอกาสให้ทำผิดเพื่อเรียนรู้ ไม่ใช่ลงโทษจนเด็กไทยกลัว ไม่กล้าเพราะกลัวว่าผิด”

(นักศึกษา ปวช.) คุณชัชชาติมีแนวคิดยังไงกับการพัฒนาการศึกษาสายวิชาชีพ?

นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ ถ้าเน้นพัฒนาอุตสาหกรรม ปวช. ปวส.ก็สำคัญ ถ้าถามคนต่างชาติกังวล มากสุดคือความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย ตามด้วยคอรัปชั่น และแรงงาน โดยมองว่าไม่มีแรงงานที่มีทักษะเหมาะกับโรงงาน กลับมีแต่ผู้เรียนสายสามัญมากกว่า แต่ว่าจะต้องมี ปวช. ปวส.ที่สัมพันธ์กับอุตสาหกรรมนั้น

“ถ้าภาคอุตสาหกรรมกับสถาบันการศึกษามีโครงการร่วมกัน มีฝึกทักษะหรือทำในสิ่งที่อุตสาหกรรมต้องการ เพื่อให้สอดคล้องกัน ซึ่งในอนาคตต้องร่วมมือมากขึ้นและเข้มข้นขึ้น ปัจจุบันเราเน้นการผลิต แต่ไม่ดูฝั่งความต้องการ อาจต้องย้อนดูว่าผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการยังไง”

(นักศึกษาไทย) ระบบขนส่งมวลชนในไต้หวันมีระบบตั๋วร่วมที่สามารถใช้ได้ไม่ว่ารถเมล์หรือรถไฟและใช้ได้ทุกเมือง แต่ทำไมไทยถึงทำไม่ได้

นายชัชชาติ กล่าวว่า แนวคิดตั๋วร่วมเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์และมีการผลักดันต่อ ผมว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ภาครัฐ เอกชนเองก็มีปัญหา พอเข้ามาในระบบจะต้องเห็นหมดว่าใครได้อะไรเท่าไหร่ หรือว่าทำไมต้องทำแลกเหรียญอาจเพราะให้คนอยากใช้ pre-paid ปัญหาคือไปเริ่มที่รถเมล์ก่อน ไม่มีใครอยาก Pre-paid เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็หาเช้ากินค่ำ จะมาซื้อตั๋วล่วงหน้าทำไม ยังไงสุดท้ายต้องใช้บัตรใบเดียวแต่ไม่ใช่บัตรคนจน อาจเป็นบัตรที่รวมข้อมูลทุกอย่างไม่ว่ารวยหรือจน

(เจ้าของสตาร์ทอัพระดมทุน) ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ เรามีการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดแบบที่กรุงลอนดอนใช้ หรือแบ่งเป็นโซนเพื่อเก็บมาอุดหนุนรถไฟฟ้าได้ไหม?

นายชัชชาติกล่าวว่า คุณไม่ได้ติดอยู่ในการจราจร แต่คุณคือการจราจร ผมว่าหัวใจของการแก้รถติดคือต้องใช้รถสาธารณะและให้ผู้ใช้รถส่วนตัวจ่ายมากกว่า เราไม่ได้มีทางเลือกเหมือนต่างประเทศ แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำระบบขนส่งมวลชนให้ดี และไม่ใช่รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าเป็นข้ออ้างของการยืดปัญหา ง่ายสุดคือรถเมล์ ถ้าใช้ตั๋วร่วมได้ไม่ต้องเสียตั๋ว ขึ้นรถต่อได้ ควรมีเส้นทางเดียววิ่งและเปลี่ยนรถตรงจุดรวม ไม่ใช่เส้นลาดพร้าวมีรถเมล์หลายสายผ่าน มีคนพูดว่า “อาจารย์คะ พอรถไฟฟ้าเสร็จทุกสาย รถก็ไม่ติด หนูขับรถไปทำงานได้แล้วใช่ไหม?”

ถ้าทุกคนคิดแบบนี้รถก็ติดเหมือนเดิม