การเลือกตั้ง 62 : ไทยพร้อมกับกระแสโลกอนาคตแค่ไหน?

“การพลิกผันทางเทคโนโลยี” หรือ “การทำลายล้างทางเทคโนโลยี” (Technology Disruption) นับวันเรายิ่งได้ยินคำนี้มากขึ้น เพื่อนิยามถึงการเปลี่ยนผ่านทางโครงสร้างครั้งใหญ่ในเวลานี้ ที่อาจหมายถึง ระบบ คุณค่า อาชีพการงานและชีวิตประจำวันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

บริษัทต่างๆ ที่เคยรุ่งเรือง ก็เริ่มเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่า การลดพนักงาน การควบรวมกิจการหรือการปิดกิจการ อันเกิดจากพลังของเทคโนโลยีที่ทรงอานุภาพมากขึ้นและส่งผลเป็นลูกโซ่จนมาถึงประเทศไทย

แนวโน้มอนาคตที่มาพร้อมทั้งโอกาสและวิกฤตให้กับใครหลายคน เป็นเรื่องหนึ่งที่หลายพรรคการเมืองให้ความสนใจติดตามและผลิตเป็นชุดความคิดหรือนโยบายเพื่อเป็นคำมั่นสัญญาว่าจะพาประชาชนชาวไทยเดินทางพ้นความลำบาก

ข้อเสนอและมุมมองที่ร่วมกันสร้างหนทาง เพื่อพร้อมสำหรับอนาคตที่ยังไม่รู้ว่าหน้าตาจะออกมาอย่างไร

 

วงเสวนาแนวโน้มอนาคตโดย Future Trend ได้เชิญตัวแทน 5 พรรคการเมืองมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยภายใต้สายธารการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีแบบพลิกผันครั้งใหญ่

ประเด็นแรกที่แลกเปลี่ยนกันคือ ประเทศไทยได้วางกลไกทางกฎหมายเกี่ยวกับทิศทางอนาคตของสังคมและประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

โดยนายไกลก้อง ไวทยาการ นายทะเบียนพรรคอนาคตใหม่ ได้แสดงความกังวลว่า ตัวแผนเขียนกรอบที่ตีความกว้างมาก และยิ่งน่าห่วงที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีผลบังคับในตัวบทลงโทษหากไม่ทำตาม ซึ่งอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้

นายภูวพัฒน์ ชนะสกล ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเสรีรวมไทย มองว่า เนื้อหากว้างเกินไป ต่อให้ไม่มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทุกคนก็รู้ว่าจะต้องเดินหน้าต่อไปยังไง

เช่นเดียวกับนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อดีตซีอีโอ กสท.และหนึ่งในทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ก็มีความเห็นคล้ายกันที่ว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อาจยาวนานมาก อีกทั้งกรอบแผนที่เขียนออกมาอย่างกว้าง ก็จะมีคำถามถึงการตีความและนำไปสู่การปฏิบัติว่าตรงตามแผนแค่ไหน และอยากให้เพิ่มส่วนปรับปรุงหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

ในส่วนของ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ นักวิเคราะห์นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์มองว่า แม้จะไม่มีปัญหากับเนื้อหาในแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่มีข้อเสนอแนะให้สามารถปรับปรุงแผนเพื่อสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม นายเตช เตชะพัฒน์สิริ ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรครวมพลังประชาชาติไทย มีความเห็นว่า ไม่ว่าแต่ละคนจะมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเนื้อหาที่กว้าง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าผู้จัดทำมีเจตนารมณ์ที่ดี ที่ทำให้ประเทศมีแผนยุทธศาสตร์ว่าประเทศต้องเดินไปทางไหน

ยิ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องดี

 

นอกจากแผนยุทธศาสตร์ชาติแล้ว กฎหมายที่เกี่ยวกับของเทคโนโลยียุคดิจิตอลอย่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ว่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทยมากแค่ไหน

โดยนายไกลก้องมองว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ได้ถูกเขียนโดยพยายามทำให้ “ความมั่นคงไซเบอร์” กับ “ความมั่นคงของชาติ” เป็นเรื่องเดียวกัน และอาจทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับคนเห็นต่างกับรัฐบาลมากกว่ายับยั้งภัยต่อระบบโครงข่าย พร้อมเสนอว่าควรมีกรรมการตรวจสอบระบบไซเบอร์กับระบบสาธารณูปโภค

ส่วนนายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า โดยหลักการรัฐควรเป็นผู้สร้างมั่นใจในระบบไซเบอร์ซึ่งกระทบต่อการพัฒนา ถ้าคนกังวลคนก็ใช้น้อย ในกรณีญี่ปุ่นมีการทดสอบแฮกระบบพร้อมแจ้งเตือนประชาชนไว้ระบบบกพร่องตรงไหน และเวลามีปัญหาควรเป็นหน้าที่คณะกรรมการ แต่ตอนนี้คนส่วนใหญ่มองว่ารัฐเป็นโจทก์ กรรมการควรอยู่ตรงกลางไม่ใช่อยู่มุม

ดร.การดีมองว่า เรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงไซเบอร์ใหม่สำหรับใครหลายคน แม้แต่คนออกกฎหมายฉบับนี้ ทำไมลองไม่จัดว่าบางกรณีไม่ประนีประนอมหรือบางกรณีให้มีการตีความได้ อีกเรื่องหนึ่งคือผู้ประกอบการนั้น ความปลอดภัยไซเบอร์ในภาคธุรกิจของไทยถือว่าอ่อนมาก จึงต้องปรับให้เข้ากับมาตรฐานโลก

เพราะภัยโลกไซเบอร์ เป็นปัญหาข้ามพรมแดนประเทศ

 

ในส่วนของนโยบายเพื่อทำให้ไทยรับมือกับกระแสยุคดิจิตอล นายไกลก้องได้เสนอหนึ่งนโยบายที่ใช้หาเสียงมาโดยตลอดนั้นคือ “โอเพ่นดาต้า” โดยความสำคัญคือการสร้างความโปร่งใสให้กับรัฐ โดยข้อมูลที่เป็นโอเพ่นดาต้า ที่นอกจากแสดงจำนวนงบประมาณและโครงการต่างๆ แต่ที่สำคัญกว่านั้น ข้อมูลรัฐที่มีอยู่ยังสามารถนำมาประมวลและรายงานผลให้กับผู้ขอเพื่อตรวจสอบทำงานและป้องกันการทุจริต ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนทั่วไป สื่อมวลชน หรือสตาร์ตอัพ

ด้านนายกิตติศักดิ์กล่าวว่า สำหรับพรรคเพื่อไทยจะสานต่อเอสเอ็มอีและส่งเสริมสตาร์ตอัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ และเปลี่ยนบทบาทภาครัฐจากผู้นำเป็นผู้อำนวยความสะดวกโดยเน้นประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ทำให้เกิดกลุ่มธุรกิจมูลค่ามหาศาลหรือยูนิคอร์น

ดร.การดีกล่าวว่า ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการทำให้ภาครัฐเป็นลักษณะ Govt-Tech หรือรัฐบาลที่บริหารด้วยเทคโนโลยี โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานภาครัฐให้มากขึ้น และจุดเด่นเดิมที่ไทยส่งเสริมอย่างการศึกษา สุขภาพ และไปถึงการส่งออกไอเดียระดับท้องถิ่นออกสู่ตลาดโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาค

นายเตชกล่าวว่า รปช.เราส่งเสริมด้านอาชีวะไม่ได้เน้นแค่สายวิศวะหรือพาณิชย์ และการต่อยอดนำความรู้ไปตอบโจทย์พื้นที่ท้องถิ่น

ยิ่งมีโอเพ่นดาต้าจะสามารถแก้ความเหลื่อมล้ำ

 

หนึ่งในเรื่องน่ากังวลเกี่ยวกับการรับมือความเปลี่ยนแปลงของโลกคือ การเรียนรู้ปรับตัวซึ่งส่งผลต่อคนรุ่นใหม่และคนรุ่นใหญ่ ดร.การดีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สิ่งที่ไทยต้องการมากที่สุดคือการฝึกทักษะใหม่ สำหรับผู้ใหญ่หลายคนที่ห่วงคนรุ่นใหม่ว่าต้องเตรียมตัวยังไงนั้น ไม่ต้องห่วงพวกเขา คนรุ่นผู้ใหญ่ควรห่วงตัวเองมากกว่า โดยเฉพาะวัย 40 ขึ้นไปที่อยู่ระดับบริหาร อาจมีปัญหาเพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง

เมื่อถามถึงประเด็นว่าเทคโนโลยีจะสามารถสนับสนุนประชาชนส่วนใหญ่ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้มากแค่ไหน นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า สภาพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมีความย้อนแย้งกัน มุมหนึ่งอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสุดขั้วถ้าใช้ไม่ถูกต้อง หรืออีกมุมสามารถใช้แก้ความเหลื่อมล้ำในตัวเอง การที่เราเลือกตั้งทุก 4 ปี คือให้เวลารัฐบาลทำงาน และอีกเรื่องคือการจัดการเลือกตั้งนั้นไม่ง่าย

แต่ด้วยเทคโนโลยีที่มี ถ้าเราวางฐานได้ดี เราสามารถโหวตผ่านเน็ตได้ ส่วนจะลดความเหลื่อมล้ำแค่ยังไง อาจทำให้กิจการสาธารณะบางเรื่องสามารถดำเนินการแบบประชาธิปไตยโดยตรงได้มากขึ้น สมมติถ้ามีนโยบายส่วนกลางใช้กับทั่วประเทศ แต่ส่วนกลางมีขีดความสามารถแค่ไหน คนในพื้นที่จึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงเทคโนโลยีในฐานะเครื่องมือที่เปลี่ยนโฉมโลก เกิดสังคม วัฒนธรรมใหม่ แล้ววัฒนธรรม ค่านิยมของไทยเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีแค่ไหนนั้น นายเตชกล่าวว่า นักกีฬาอี-สปอร์ต นักกีฬาเอ็กซ์ตรีม นักเต้นบีบอย คือตัวอย่างของสังคมไทยที่เกิดจากเทคโนโลยี พรรคเราจะตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนความรู้ชุมชน ระหว่างผู้ใหญ่-เยาวชน เพื่อสร้างความยั่งยืน

นายภูวพัฒน์กล่าวว่า จริงๆ แล้วเด็กรุ่นใหม่เรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านี้อยู่แล้ว เล่นมือถือ เกมตั้งแต่เด็กจนโดนพ่อแม่ด่า แต่ตอนนี้ทุกคนอยู่กับมือถือและติดงอมแทนเรา เราควรให้ความรู้กับพวกเขามากกว่า เราทันเกมพวกข่าวปลอมอยู่แล้ว แต่คนที่น่าห่วงที่สุดคือคนยุคเก่าที่แชร์ทุกอย่างโดยไม่รู้ว่าจริงไม่จริง

เราโตกับสิ่งเหล่านี้ แต่พวกเขาเป็นเรื่องใหม่ จึงต้องดูแลกันและกัน