มุกดา สุวรรณชาติ : วันเลือกตั้ง…กฎหมายลูก พรรคการเมือง ‘อยากเลือกตั้ง…ต้องทำให้ทัน’

มุกดา สุวรรณชาติ
AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA

มีข่าวลือว่า “คสช.” อาจจะเลื่อนระยะเวลาของการเลือกตั้งให้เร็วขึ้น

แต่ยังไม่มีเสียงขานรับจาก “คสช.”

แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศต่อนานาประเทศในที่ประชุมสหประชาชาติว่าจะมีการเลือกตั้งตอนปลายปี 2560 ถือเป็นคำมั่นสัญญาต่อโลก ที่น่าเชื่อถือ

จึงต้องยึดเดือนธันวาคม 2560 เป็นเป้าหมาย

เลือกตั้งเมื่อไรดี

เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละฝ่ายถ้ามองโดยรวมแล้วสำหรับผู้คุมอำนาจอยู่ในปัจจุบันควรจะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมดังนี้

รัฐบาลเดิม ยังอยู่ในความนิยมที่ดี

สถานการณ์การเมืองนิ่งไม่มีความวุ่นวาย

เศรษฐกิจดีหรือคงที่แบบที่ประชาชนอยู่ได้ไม่เดือดร้อนมาก

องค์ประกอบทางกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ มีความพร้อม

สภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน

รัฐบาลที่ครองอำนาจอยู่มีความนิยมที่ดีพอควร แต่จุดสูงสุดน่าจะผ่านไปแล้วถ้าทิศทางอยู่ในสภาพที่ค่อยๆ ลดความนิยมลงไป ยิ่งปล่อยให้ช้า นานวันไปความนิยมจะลดลงเรื่อยๆ

สถานการณ์การเมืองปัจจุบันถือว่านิ่งพอสมควรอนาคตในระยะ 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้าแม้ไม่ดีขึ้นกว่านี้ก็อาจไม่เลวลงมากนัก ขึ้นอยู่กับการบริหารของรัฐบาลปัจจุบันว่าจะสร้างมิตรสร้างศัตรูหรือผลงานได้เพียงใด

ถ้ามีการเลือกตั้งในสถานการณ์แบบนี้ถือว่าดีที่สุดต่อผู้มีอำนาจในปัจจุบันแต่จะประคองให้นิ่งแบบนี้ไปอีก 1 ปีจะทำได้หรือไม่

ส่วนปัญหาเศรษฐกิจทั้งเศรษฐกิจในระดับประเทศและระดับโลกดูแล้วไม่เอื้ออำนวย สภาพความยากจนและความยากลำบากของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าขนาดเล็กคน ชั้นล่างนับวันยิ่งลำบากมากขึ้น

ถึงอย่างไรการสะท้อนความไม่พอใจต้องมีผลตกไปยังรัฐบาลและผู้รับผิดชอบในปัจจุบัน ถ้าช่วงเวลานับจากนี้ไปอีก 1 ปี สภาพความยากลำบากคงที่หรือเพิ่มขึ้นนับว่าเป็นอันตรายต่อรัฐบาล เพราะจะถูกมองว่า แม้มีอำนาจแต่ไม่มีความสามารถที่จะบริหารประเทศ

ส่วนองค์ประกอบทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ เวลาของคนร่างน่าจะทำไม่ยาก แต่พรรคการเมือง คนปฏิบัติ คงมีปัญหาความพร้อม

การเลือกตั้งตามโรดแม็ปการเมือง

1.ร่างรัฐธรรมนูญ ถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชอำนาจในการทรงลงพระปรมาภิไธย 90 วัน ซึ่งน่าจะไม่เกินต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 แต่พระมหากษัตริย์จะทรงใช้เวลาพิจารณาวินิจฉัยกี่วัน ประเมินไม่ได้ อาจจะ 30-60 หรือ 90 วัน

2. กรธ. ต้องร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับ กุมภาพันธ์-กันยายน 2560 (ภายใน 240 วัน นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้) และ สนช. ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่าง

3. กรธ. เร่งทำกฎหมายลูก 4 ฉบับ ให้เสร็จเป็นกลุ่มแรก คือ กฎหมาย กกต. กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายว่าด้วยวิธีการเลือกตั้ง กฎหมายสรรหา ส.ว. เมื่อทั้ง 4 ฉบับประกาศใช้ครบเมื่อไหร่ จะต้องจัดการเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 5 เดือน หรือ 150 วัน

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวว่า กรธ. ต้องทำกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ โดยพยายามจะทำร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับให้แล้วเสร็จก่อน คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ให้เร็วที่สุด หากประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อใดจะได้ดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับให้ สนช. พิจารณา

(ที่ต้องเสร็จก่อนเพราะจะเซ็ตซีโร่ หรือใครจะตั้งพรรคใหม่ก็ต้องใช้เวลาตั้งพรรค ส่วน กกต. ก็ต้องมีเวลาเตรียมตัว ส่วนการเลือก ส.ส. และ การสรรหา ส.ว. จะตามมาเป็นอันดับสอง)

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรธ. กล่าวถึงข้อท้วงติงจากพรรคการเมืองว่า กรธ. พยายามยื้อเวลาการจัดการเลือกตั้งว่า ยืนยันว่า กรธ. ไม่ได้มีเจตนายื้อเวลา รวมทั้งไม่ได้มีใบสั่งให้เขียนกฎหมายตามที่มีคนวิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ขณะนี้ กรธ. เองก็เร่งทำจนเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และพร้อมจะส่งมอบให้ สนช. ไปพิจารณาได้ทันทีเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 กล่าวถึงการเตรียมพร้อมร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญของ สนช. ต่อจาก กรธ. ว่า หลังจาก กรธ. ส่งกฎหมายลูกมา สนช. มีเวลา 60 วันในการพิจารณา เราเตรียมการศึกษาทุกอย่างล่วงหน้าไว้แล้วเพื่อความละเอียดรอบคอบ ไม่ต้องกังวลว่า สนช. จะเล่นแง่ เชื่อว่าทุกอย่างเดินตามโรดแม็ป

จากข้อมูลของคนที่เกี่ยวข้องคาดว่า กรธ. จะพิจารณากฎหมายลูก 4 ฉบับเสร็จและส่งให้ สนช. ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2560 (ถ้าทุกฝ่ายเตรียมพร้อมทำเร็ว) ตามกำหนดเดิม สนช. พิจารณาร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับที่ใช้ในการเลือกตั้งภายในมิถุนายน-กรกฎาคม และอีก 6 ฉบับ ตุลาคม-พฤศจิกายน 2560 (ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่าง)

ถ้าทุกฝ่ายเตรียมพร้อมทำเร็ว สนช. อาจจะพิจารณาเสร็จตั้งแต่มิถุนายน การเลือกตั้งในธันวาคม 2560 มีความเป็นไปได้สูงสุด

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

การเลือกตั้งเลื่อนเร็วขึ้นหรือช้าลง 30-50 วัน คงไม่มีผลมาก แต่สิ่งที่ต้องสนใจที่จะตามมาหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้คือ

1. อำนาจตามมาตรา 44 ยังคงอยู่จนกว่า คสช. จะส่งมอบอำนาจหน้าที่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ถ้า คสช. ประสงค์จะมีส่วนสำคัญในการปกครองต่อไป ก็จะต้องเตรียมการ ปรับ เปลี่ยน เข้าสู่ระบบการเมือง ซึ่งจะทำได้ง่ายกว่าขณะที่มีอำนาจเด็ดขาด

2. จะมี พ.ร.บ.ว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญบังคับไว้ว่าให้มีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แสดงว่าไม่ทันเลือกตั้ง ก็ต้องทำตามกฎหมายฉบับนี้ รวมถึง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มีผลผูกพันกับการประกาศนโยบายของรัฐบาล

3. จะมีการคัดสรร ส.ว. จะมีขึ้นก่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้ ส.ว. ทันกับการมี ส.ส. และสามารถเปิดสภา เพื่อเข้าไปเลือกนายกฯ คนนอกหรือคนใน และตั้งรัฐบาลได้ทันตาม รธน.ใหม่

4. คสช. ควรยกเลิกการควบคุมพรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง เพื่อให้มีการเตรียมการตั้งพรรค หรือปรับตัวตาม รธน.ใหม่

แต่ยังไม่รู้ว่า คสช. จะกล้าประกาศเมื่อใด

พรรคการเมืองทำทันหรือไม่ทัน ก็ต้องทำ

เมื่อฟัง นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. ปี 2540 ฐานะประธานคณะทำงานติดตามการร่างกฎหมายลูก พรรคเพื่อไทย วิจารณ์ถึงความเป็นจริงในการปฏิบัติ ก็สามารถสรุปปัญหาได้ว่า

1. รธน. มาตรา 268 ระบุให้ กกต. ต้องดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันนับแต่วันที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ มีผลใช้บังคับแล้ว การที่รัฐธรรมนูญระบุว่าต้องดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ หมายถึงขั้นตอนตั้งแต่การรับสมัครเลือกตั้งจนถึงการประกาศผล ซึ่งอย่างน้อยต้องใช้เวลา 60 วัน และอาจจะยาวกว่านั้น ถ้ายังไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้

2. ดังนั้น พรรคการเมืองจะมีเวลาไม่ถึง 90 วันนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวประกาศใช้ ก่อนที่จะถึงวันรับสมัครเลือกตั้ง ที่จะดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญใหม่ ตั้งแต่การหาสมาชิก การจัดทำทะเบียนสมาชิก จัดทำข้อบังคับพรรค การตั้งสาขาพรรคการเมือง ตั้งคณะกรรมการบริหาร ตั้งคณะกรรมการสรรหา และที่สำคัญที่สุด คือ เตรียมผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะส่งสมัครได้ ถือเป็นเรื่องเหลือวิสัยที่พรรคการเมืองเก่าจะดำเนินการได้ทัน

3. รัฐธรรมนูญ มาตรา 267 กำหนดให้ กรธ. มีเวลาตั้ง 240 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ที่จะจัดทำกฎหมายลูกให้เสร็จ และ สนช. มีเวลาอีก 60 วัน ที่จะพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนที่จะนำไปประกาศใช้ ทั้งหมดรวมเป็น 300 วัน หมายความว่า กรธ. และ สนช. มีเวลาตั้งเกือบปีในการเขียนกฎหมายลูก

แต่พอถึงเวลาที่พรรคการเมืองและนักการเมือง รวมทั้งประชาชนจะนำไปปฏิบัติและทำให้ถูกต้องอย่างครบถ้วน กลับให้เวลาเพียงแค่ไม่ถึง 90 วัน ทั้งที่มีรายละเอียดที่เข้มข้นและเปลี่ยนแปลงไปจากกฎหมายเดิมตั้งมากมาย หรือว่า กรธ. ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลยเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งและกระบวนการประชาธิปไตย

4. ทำไมพรรคการเมืองไม่เตรียมตัวก่อน?

พรรคการเมืองและประชาชนถูกห้ามมิให้ทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหว ตั้งวงเสวนาก็ไม่ได้ ประชุมปรึกษาหารือก็ไม่ได้ (ประชุมการเมืองเกิน 5 คน จะถูกจับ)

ที่บอกว่าให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้หลังจากที่กฎหมายลูกประกาศใช้ ก็ยังไม่แน่ เพราะรองประธาน กรธ. บอกว่าจะให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้เมื่อไรอยู่ที่ คสช. และรัฐบาล

เกมชิงความได้เปรียบจะดำเนินต่อไป ใครอยากแข่งก็ต้องทำตามกฎ และเวลา แต่อันนี้ ฟีฟ่า ไม่ได้ร่าง ทั่วโลกจึงไม่มีใครใช้ ใช้เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น