คำ ผกา : จนเอ๊ยจน

คำ ผกา

ตั้งแต่จำความได้ ก็ได้ยินคำว่า “ช่องว่างระหว่างชนชั้น” และคำว่า “ความเหลื่อมล้ำ” มาโดยตลอด

จากนั้นก็มีชีวิตกับนโยบายเศรษฐกิจ สังคม ของทุกรัฐบาลว่า มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างระหว่างชนชั้น และรายได้ของประชากรไทย

แต่จนป่านฉะนี้ คำว่าความเหลื่อมล้ำก็ยังอยู่ ช่องว่างระหว่างชนชั้น รายได้ก็ยังอยู่ และดูเหมือนจะทวีความสาหัส และซับซ้อนขึ้นด้วย

ล่าสุด ข้อมูลจากธนาคารเครดิตสวิสบอกว่า ความเหลื่อมล้ำของไทยนั้นสูงเป็นอันดับสามของโลกรองจากรัสเซียและอินเดีย ด้วยตัวเลข คนร้อยละ 1 ถือครองทรัพย์สินถึงร้อยละ 58 ห่างจากอันดับสองคือ อินเดีย และ 0.4 เพราะอินเดีย คนร้อยละ 1 ถือครองทรัพย์สินร้อยละ 58.4

ลองคิดถึงความเหลื่อมล้ำในอินเดีย ที่มหาเศรษฐี แทบจะนุ่งเพชร ห่มทอง นั่งส้วมทองคำ จัดงานแต่งงานลูกหลานกัน 14 วัน 14 คืน และอาจใช้เงินหลายร้อยล้านในการจัดงานแต่งงาน

ขณะเดียวกันก็มีคนจนชนิดจนติดดินอยู่อีกมหาศาล แล้วความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยก็น้อยกว่าอินเดียแค่กระเบียดหนึ่ง

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2511 บอกว่า

คนไทยร้อยละ 98.83% เป็นบัญชีที่มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท

1.16% เป็นบัญชีที่มีเงินฝากระหว่าง 1-50 ล้านบาท

0.01% เป็นบัญชีที่มีเงินฝาก 50 ล้านบาทขึ้นไป

คนร้อยละ 1 ถือครองทรัพย์สิน ร้อยละ 58 และมีคนแค่ร้อยละ 0.01 ที่มีเงินฝาก 50 ล้านขึ้นไป แล้วคิดดูว่า จะมีร้อยละเท่าไหร่ที่มีเงินพันล้าน, หมื่นล้าน ไปจนถึงแสนล้าน

เรื่องมันคงไม่น่าเศร้าเท่าไหร่ ถ้าหากว่าการอัปเปหิประชาธิปไตยและระบบการเลือกตั้งออกจากเมืองไทย จะไม่ทำด้วยเหตุผลว่า มีตระกูลชินวัตร กำลังจะรวยเหลือเกินและถือครองอำนาจรัฐ เป็นเจ้าของสื่อ ครอบงำทุกสิ่งอย่างในประเทศนี้ น่ากลัวๆๆๆๆๆ เราต้องไล่อำนาจของตระกูลนี้ออกจากแผ่นดินแม้ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียประชาธิปไตยก็คุ้ม เพราะเรากลัวเรื่องนายทุนสามานย์ผูกขาดมากกว่า

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า แม้เมื่อสูญเสียประชาธิปไตยไปแล้ว ความเหลื่อมล้ำ และสภาวะที่นายทุนไม่กี่ตระกูล ยังคงครอบครองทุกกิจการในประเทศก็ยังคงดำเนินต่อไปเช่นเดิม

และดูเหมือนจะหนักหน่วง วิกฤต วิปลาสกว่าเดิม

เพราะไม่มีอำนาจการตรวจสอบจากประชาชนและรัฐสภาเลย

หลายตระกูลมหาเศรษฐีในเมืองไทย เป็นเจ้าของทั้งธุรกิจค้าปลีก ทั้งครอบครองอุตสาหกรรมการเกษตร ทั้งเริ่มขายตั้งแต่อาหารสัตว์ยันกล้วยปิ้ง ทั้งเป็นเจ้าของสื่อ เจ้าของสำนักพิมพ์ เจ้าของนิตยสารแจกรางวัลวรรณกรรม ทั้งถือสัมปทานธุรกิจโทรคมนาคม ทั้งสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยทุกคนตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน

ไม่ใช่แค่กลุ่มเดียวหรือตระกูลเดียว ยังมีอีกหลายตระกูลที่เป็นหนึ่งในคนร้อยละหนึ่งของประเทศที่ค่อยๆ คืบคลาน ครอบงำ ซื้อ และทยอยสะสม ครอบครองกิจการและธุรกิจในประเทศนี้ และแผ่สยายอาณาจักรไปเรื่อยๆ อย่างเงียบ และอย่างที่ไม่ต้องเปลืองตัวมาเป็น ส.ส. มาเป็นรัฐมนตรีให้ตกเป็นขี้ปากชาวบ้าน

แต่เรากลับไม่เคยคิดรังเกียจทุนนั้นในฐานะทุนสามานย์ เพียงเพราะเขาไม่เคยเล่น “การเมือง” อย่างตรงไปตรงมา และเพียงเพราะว่าคนไทยจำนวนมาก “ไร้เดียงสา” หรืออะไรก็ไม่รู้ จึงคิดว่าการเล่นการเมือง หรือการเจรจาต้าอ้วยกับ “การเมือง” ทำได้หนทางเดียวคือ ตั้งพรรคการเมือง จึงไม่สนใจ “การเมือง” ใต้โต๊ะ หรือการเมืองที่แทงหวยเบอร์ “รัฐประหาร” แล้วต้าอ้วยกันเนียนๆ ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น ไม่เป็นที่ครหา

ตราบเท่าที่คุณไม่เป็นนัการเมือง คุณก็ไม่กลายเป็น “คนเลว” ในสายตาของสังคมไทย

ความเศร้ามันจึงอยู่ตรงนี้ ตรงที่ “เรา” โง่อย่างบัดซบที่ไปเชื่อว่าหากไม่มีนักการเมือง ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มี ส.ส. เหี้ยๆ แล้วบ้านเมืองมันจะดีแน่นอน

แลกประชาธิปไตยไปกับปีศาจชื่อทักษิณแล้ว แต่ความเหลื่อมล้ำในประเทศยังเท่าเดิม และรุนแรงกว่าเดิม

การผูกขาดของทุน ไม่รู้ว่าสามานย์หรือไม่สามานย์ก็ดูเหมือนจะรุนแรงกว่าเดิม

การลงทุนภาครัฐที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง วางแผนเอาไว้ก็ล่ม เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางคู่

เศรษฐกิจก็เงียบงัน ราคายาง ราคาข้าว ตกต่ำ แถมยังมีแนวโน้มว่าสิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ อาจถูกยกเลิก

ทว่า ประชาชนที่เคยรักชาติมากๆ ปกป้องผลประโยชน์ของชาติมากๆ กลัวมีคนเอาชาติไปสับเป็นชิ้นๆ แบ่งขายมากๆ ตอนนี้ก็ทำตัวไม่รู้ไม่ชี้

อ้าว เหรอ เศรษฐกิจไม่ดีหรือ ไม่รู้ ก็เศรษฐกิจมันตกทั้งโลกนั่นแหละ จะให้ทำไง ดูเมกาสิ เศรษฐกิจแย่ขนาดคนแห่ไปเลือกทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดีน่ะคิดดู เมืองไทยโชคดีแค่ไหนแล้วที่ไม่ตกต่ำไปแบบเมกา โหย แล้วเห็นไหมล่ะ ประชาธิปไตย เป็นไงล่ะต้องได้คนเกี้ยๆ แบบทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดีเนี่ยนะ เพราะงั้นคนเมกาไม่ต้องมากดดันไทยว่าเมื่อไหร่จะประชาธิปไตย เอาตัวเองให้รอดเทอะ…

ฟังแล้วก็ได้แต่ทอดถอนใจ แบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ?

ปัจจัยหลักๆ ของความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยอยู่ที่ไหน?

นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และนักเศรษฐศาสตร์เกือบทุกคนเห็นตรงกันว่า เป็นเพราะเราไม่มีการปฏิรูปที่ดิน

และเราไม่มีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า

ทั้งไม่มีการจัดเก็บภาษีมรดก ไม่นับว่าบรรดาคนที่มั่งคั่งยังสามารถใช้ช่องว่างทางกฎหมายและความสามารถในการจ้างนักกฎหมายชั้นดีเพื่อบริหารการจ่ายภาษีของตนให้มี “ประสิทธิภาพ” สูงสุด

ในโครงสร้างภาษีอย่างที่เป็นอยู่ การลดหย่อนภาษีต่างๆ ล้วนเป็นคุณแก่ผู้มีรายได้สูงมากกว่าผู้รายได้ต่ำ เช่น การลดหย่อนจากการซื้อกองทุน LTF และ RMF

ส่วนคนจนที่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต ยังคงรับภาระไปหนักๆ เต็มๆ แถมภาษีนั้นยังเอาไว้ใช้ทำสื่อมาด่าคนจนอีกว่า มึงจน มึงโง่ มึงกินเหล้า มึงขี้เกียจ มึงไม่รู้จักเพียงพอ มึงไม่ออกกำลังกาย

เพียงสองประการนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะประคองความเหลื่อมล้ำและแช่แข็งคนจนในประเทศไทยไม่ให้ลืมตาอ้าปาก

เมื่อจนเงินก็จนโอกาสในการศึกษา จนโอกาสในการเข้าถึงวิชาความรู้ จนโอกาสในการเข้าถึงต้นทุนทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นหนัง หนังสือเพลง ศิลปะ ดนตรี และกีฬาฯ – อีกทั้งรัฐไทยไม่เคยมีบริการทางวัฒนธรรมที่เป็นของฟรีสำหรับประชาชน เว้นแต่วัฒนธรรมสำหรับกล่อมเกลาสมองให้อ่อนๆ นุ่มๆ ถึงจะฟรี

ลูกหลานจนจนจึงโดนซ้ำเติม ซ้ำแล้วซ้ำอีก

คนจนมีลูก คนจนเครียด คนจนเป็นหนี้ คนจนไม่รู้ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไรจึงถูกต้องเหมาะสม เพราะการเลี้ยงลูกตามตำราจิตวิทยาอย่างถูกต้องก็เป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ จะหาเงินมาใช้หนี้ยังยาก

ใครจะมีอารมณ์มาอ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟัง

คนจนจึงตวาดลูก จึงตีลูก จึงทำร้ายร่างกายลูก

คนจนส่งลูกเข้าโรงเรียนที่ครูเสียเวลาร้อยละแปดสิบไปกับการทำเอกสารประเมินคุณภาพครู คุณภาพโรงเรียน โรงเรียนคนจนมีแนวโน้มใช้อำนาจแบบอำนาจนิยมกับเด็ก เช่น การบังคับกราบเต้าหู้ การกล้อนผม การประจานหน้าเสาธง และวิชาการอ่อนปวกเปียก

สุดท้ายเด็กจน หนีความทุกข์ไปหายาเสพติด ไปแว้น ไปสก๊อย

และเมื่อเราไม่สนใจเรื่องการสอนเพศศึกษา ไม่ช้านานเด็กเหล่านี้ก็ท้องไม่พร้อม สร้างวงจรพ่อแม่วัยทีนที่เลี้ยงลูกไม่เป็น

และ “จน” ซ้ำเติมความจนเข้าไปอีก

จากนั้นชนชั้นกลางและผู้มีอันจะกินร้อยละ 1 ของประเทศก็จะด่าคนจนว่า จนแล้วโง่ จนแล้วเลี้ยงลูกสปอยล์ จนแล้วกินเหล้า ทุบตีลูก จนแล้วไม่รักลูก จนแล้วไม่เสียสละ “ปั้น” ลูกให้เติบใหญ่เป็นคนดี

แล้วคนรวยร้อยละ 1 นั้นก็ค้าขาย ทำมาหากินขายซิมเติมเงินมือถือ ขายเหล้าขาว ขายเครื่องดื่มบำรุงกำลังให้คนจน จากนั้นคนจนที่ขายเหล้า ก็เอาเงินไปบริจาคให้คนดี จากนั้นคนดีก็เอาเงินไปจ้างพระนักเทศน์ขวัญใจชนชั้นกลางมาด่าคนจนว่า จนแล้วไม่เจียม จนแล้วใจแตก จนแล้วไม่รู้จักใช้ธรรมะมาเป็นเครื่องนำทางชีวิต

สรุปคือเป็นคนจนนอกจากจะถูกทำให้จนลงเรื่อยๆ ยังถูกทำเหี้ยทางศีลธรรมลงไปเรื่อยๆ และตกเป็นเหยื่อสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมให้คนชั้นกลางที่ชาตินี้ไม่มีวันรวยแต่ชอบเกาะกินบารมีคนรวยคนดีมาเหยียดหยามคนจนเพื่อเยียวยาปมด้อยแห่งความครึ่งๆ กลางๆ ของตัวเอง และเพื่อสร้างสำนึกจินตนาการปลอมๆ ว่าตนก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชนชั้นนำเพราะแชร์คุณค่าของศีลธรรมชุดเดียวกัน เกลียดสิ่งเดียวกัน

รักในสิ่งเดียวกัน

คนเหล่านี้เกลียดคำว่าประชานิยม และเฉยๆ หรือไม่นำพากับคำว่าประชารัฐ

คนเหล่านี้ไม่สนใจเรื่องการแจกเงินคนจนตอนสิ้นปีว่าเป็นประชานิยมเพราะเขาบอกว่านี่คือสวัสดิการรัฐ

คนเหล่านี้สุดท้ายแม้ตัวเองจะค่อยๆ จนลงอย่างมีนัยสำคัญ และกำลังจะส่งผ่านความจนลงเรื่อยๆ สู่ลูกหลานของตัวเอง ที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคนเหล่านี้จะเป็นคนจนเจนวาย ที่ดูข้างนอกเหมือนคนชั้นกลางแต่เริ่มไม่มีเงินจ่ายหนี้ กยศ. ไม่มีเงินซื้อบ้าน ไม่มีงานประจำ เพราะงานจะหายากขึ้นและเรียกร้องทักษะที่สูงขึ้น

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราจะมีคนจนที่จบปริญญาตรีเยอะขึ้นพร้อมๆ กับภาวะสังคมสูงวัย พร้อมๆ กับภาวะขาดการวางแผนทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับอนาคต – และคนกลุ่มนี้จะเผชิญความลำบากมากกว่า “คนจน” ที่มีหลังพิงเป็นภาคเกษตร เพราะอย่างน้อยก็ผลิตอาหารเองได้

สิ่งที่ชะลอความเหลื่อมล้ำไม่ให้สาหัสสากรรจ์ไปกว่านี้และฉันไม่แน่ใจว่า “ชนชั้นกลาง” ทั้งหลายจะตื่นตัวพอจะรักษาผลประโยชน์ตรงนี้เพื่อให้ตัวเองจนลงไปมากกว่านี้หรือไม่ นั่นคือ กองทุนประกันสังคม และ สามสิบบาทรักษาทุกโรค

ซึ่งตอนนี้ไม่มีอะไรรับประกันเลยว่า สองโครงการนี้จะอยู่รอดปลอดภัย

และหากชนชั้นกลางที่ในอนาคตอันใกล้กำลังจะกลายเป็นคนจนในเมืองที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ยังลั้ลลา และไม่นำพา ไม่สนใจติดตาม และฝากความหวัง ความเชื่อมั่นไว้กับคนดีกับคนเข้มแข็งเด็ดขาด และยังเกลียดนักการเมืองจนยอมตายเสียดีกว่าจะเห็นนักการเมืองได้ดี เห็นประชาธิปไตยกลับมา

ฉันเองคิดว่าสิ่งเดียวที่เราจะรอดูได้ คือรอดูความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น และคนชั้นกลางเองจำนวนมากจะกลายเป็นคนจนอีกล็อตใหญ่ๆ

และที่น่าสงสารคือจะเป็นคนจนที่จมไม่ลง และทำมาหากินไม่เป็น อีกทั้งยังดัดจริตอย่างรุนแรง