ราซัค ปาแนฯ : อยากได้ ส.ส.เป็นนักการเมือง แบบอันวาร์ อิบราฮิม

**สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงที่ดุเดือดและในสภาพที่ป้ายโปสเตอร์ผู้สมัคร ส.ส.เรียงรายริมถนนปรากฏให้เห็นในทุกซอกมุมในหมู่บ้านก็แอบภูมิใจที่บรรยากาศการเมืองแบบประชาธิปไตยกลับมามีชีวิตชีวาคึกคักอีกครั้ง

แต่ก็เอะใจไม่น้อยที่มักถามตัวเองว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.คนนี้และคนนั้นเป็นลูกหลานใครมาจากไหน ทำไมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน

บางคนเคยได้ยินชื่อและวงศ์ตระกูล แต่ผลงานทางการเมืองไม่เคยปรากฏแก่สายตา อาจจะเป็นที่ชื่นชอบในวงแคบๆ เช่น ในหมู่เพื่อนฝูงมิตรสหายและญาติสนิท แต่ในวงกว้างยังไม่เป็นที่รู้จักเลย แล้วจู่ๆ ก็โผล่มาเป็น “นักการเมือง” ผู้แอบอ้างว่าจะอาสารับแก้ปัญหาพี่น้องประชาชนได้อย่างไร

แรกๆ คิดจะตั้งชื่อหัวข้อบทความนี้ว่า “ส.ส.ไม่ใช่นักการเมือง” ก็เพราะเห็นว่าบรรดาผู้สมัคร ส.ส. โดยเฉพาะ ส.ส.หน้าใหม่ยังไม่คุ้นหน้าค่าตาสักเท่าไหร่ ในแง่ของผลงานก็ยังไม่ปรากฏเป็นชิ้นเป็นอัน (ยกเว้นบางคนที่ชื่อเสียงเรียงนามเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนมาบ้างแล้ว)

แต่มีดีตรงที่ว่าเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กว้างขวางมีอิทธิพลในพื้นที่มากกว่าเป็นนักการเมืองที่เปี่ยมอุดมการณ์ประชาธิปไตยและที่มีภูมิหลังการศึกษาที่น่าเชื่อถือ

ด้วยประการนี้ บุคคลเหล่านี้ (นักเลือกตั้ง) จึงเป็นที่สนใจของพรรคการเมืองเพื่อดึงเข้ามาให้เป็นตัวแทนของพรรคแก่ประชาชนในพื้นที่และเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค ซึ่งพรรคก็หวังคะแนนจากผู้มีอิทธิพลเช่นที่ว่านี้อย่างแน่นอน เพราะมีแนวโน้มว่าผู้สมัคร ส.ส.คนดังกล่าวจะชนะการเลือกตั้ง

แต่ปัญหามีอยู่ว่า เมื่อได้รับเลือกแล้วก็กลายเป็นบุคลากรของพรรคมากกว่าจะเป็นตัวแทนของประชาชน นอกจากต้องสวามิภักดิ์และรับฟังนโยบายของพรรคแล้ว เขาไม่มีสิทธิที่จะเสนอข้อคิดเห็นที่อยู่นอกกรอบนโยบายพรรค ซึ่งทำให้เจตนาเดิมที่ต้องการเป็นกระบอกเสียงบรรเทาปัญหาของประชาชนถูกกลบไปด้วยมติเสียงในพรรค

เมื่อเป็นเช่นดังกล่าว ความเป็น ส.ส.ของเขาก็เป็นเพียงองค์ประกอบชิ้นส่วนเล็กๆ ในพรรค ยิ่งด้วยแล้วถ้าเขาคนนั้นเป็นคนพูดไม่เก่ง ไม่มีวาทศิลป์อันแพรวพราว ด้อยด้วยวุฒิภาวะทางการศึกษา และไร้ซึ่งวิญญาณนักการแบบเมืองนักสู้ ความเป็น ส.ส.ของเขาก็ไม่สามารถต่อรองอะไรได้จากพรรคต้นสังกัด

เสียงเขาก็จะถูกกลบไปโดยปริยาย จะเหลือแต่ชื่อที่เพียงปรากฏในสารบบว่าเป็น ส.ส.ในสภาเท่านั้น แต่ตลอดระยะเวลาที่ดำรงเป็น ส.ส.ไม่เคยเห็นลุกขึ้นยืนอภิปรายนำปัญหาประชาชนมาตีแผ่ อีกทั้งในระดับท้องถิ่นก็ไม่โผล่หน้าให้เห็นเพราะมัวแต่สาละวนกับภารกิจของพรรคที่ส่วนกลาง

การที่ตัวแทนประชาชนคนหนึ่งเหลือบทบาทเพียงแค่ ส.ส. และบทบาทในฐานะนักการเมืองของเขาแทบจะไม่มีให้เห็นเลยก็จะส่งผลให้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เลือกพวกเขาก็จะไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร

ผู้เขียนจึงเห็นว่า ส.ส.ไม่ใช่นักการเมือง หรืออาจจะขยายความว่าทุกคนที่ได้เป็น ส.ส.อาจจะไม่ใช่นักการเมืองเสียทั้งหมด

แล้วคุณลักษณะความเป็นนักการเมืองในมโนคติควรเป็นอย่างไร

การนิยามและสรรหานักการเมืองในอุดมคติใช่เป็นเรื่องง่ายเสียทีเดียว แต่ผู้เขียนจะยกตัวอย่างบุคคลคนหนึ่งที่เป็นทั้ง ส.ส.และนักการเมืองที่สู้อยู่เคียงข้างประชาชนตลอด เป็นบุรุษคนหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าช่างเหมาะเจาะที่สุดกับนิยามเขาว่าคือนักการเมือง

บุคคลที่หมายถึงนี้คือ อันวาร์ อิบราฮิม ประธานพรรคกืออาดีลันมาเลเซีย หรือ Prime Minister in waiting คนต่อไป

เขาเป็นนักสู้ผู้เปี่ยมอุดมการณ์ที่ไม่ท้อแท้ต่อมรสุมปัญหาชีวิต นักคิด ปัญญาชน นักการศึกษาผู้ใคร่รู้ นักการเมืองผู้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และผู้นำในองค์การ

 

นักสู้

หากได้ติดตามเบื้องหลังชีวิตอันวาร์จะพบว่าเขาเป็นนักสู้อย่างเต็มตัว สู้กับอธรรมในสังคมมาเลเซียมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนที่วิทยาลัย MCKK ด้วยการลอดรั้ววิทยาลัยเพื่อลงไปคลุกคลีกับชาวบ้านรายรอบ ช่วยชาวบ้านแก้ปัญหา และยังช่วยสอนหนังสือให้พวกเขาอีกด้วย

ครั้นเมื่อเป็นนิสิต-นักศึกษาในมหาวิทยาลัยมาลายาก็ไม่เคยนิ่งเงียบมุ่งแต่ท่องตำราเพื่อได้เกรดดีๆ เพื่อไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งในอาชีพการงาน

เปล่าเลย แต่เขาเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งทั้งในและนอกรั้วสถาบัน ตลอดระยะเวลาที่เป็นนิสิต-นักศึกษาได้รับเลือกให้เป็นผู้นำจากมวลสมาชิก เมื่อพบว่าประชาชนมีความเดือดร้อนอันเกิดขึ้นจากฝีมือรัฐก็จะรีบรุดไปถึงที่

เช่น กรณีชาวบ้านบาลิงที่รัฐเคดาห์ได้รับผลกระทบอันเนื่องจากราคาของผลผลิตทางเกษตรกรรมตกต่ำ อันวาร์กับพรรคพวกก่อม็อบประท้วงเรียกร้องให้รัฐรีบดำเนินการแก้ไขโดยด่วน จนนำไปสู่การจับกุมอันวาร์ในที่สุด

ครั้นเมื่อรู้ว่าจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีประเทศไทยในขณะนั้นไปเยือนมาเลเซียเป็นทางการในฐานะแขกรัฐบาล อันวาร์ก็ระดมพรรคพวกไปประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ชนชาวมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทยที่ถูกทางการไทยจับกุมและเข่นฆ่า

สุดท้ายอันวาร์ก็โดนทางการมาเลเซียจับเข้าคุกตะรางไป แต่เขากลับยืนยันและยืนหยัดแบบกระต่ายขาเดียวว่าไม่เคยเกรงกลัวต่อภัยคุกคาม และไม่ยี่หระแยแสต่ออำนาจทางการเมืองใดๆ จึงมีวลีเด็ดที่ฮือฮาของอันวาร์ที่กล่าวว่า “หากไม่กล้าที่จะเสี่ยงภัย มิควรจะมาพูดเรื่องการต่อสู้เป็นอันขาด”

เรียกได้ว่าอันวาร์เป็นเด็กหนุ่มไฟแรง ผู้ซึ่งอดทนที่จะเห็นความไม่ยุติธรรมและเหลื่อมล้ำในสังคมไม่ได้

 

ปัญญาชน นักคิด นักเคลื่อนไหว

ในรั้วสถาบันการศึกษาที่ชื่อว่ามหาวิทยาลัยมาลายา มีน้อยคนนักที่ไม่รู้จักอันวาร์ อิบราฮิม ในฐานะนักดีเบตที่มีฝีปากกล้า มีหลักการและเหตุผล

การปรากฏตัวของอันวาร์ในมหาวิทยาลัยมาลายาได้ช่วยสร้างบรรยากาศทางวิชาการให้คึกคักมีชีวิตชีวา เกิดเวทีสัมมนาวิชาการที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เหล่าบรรดานิสิตอย่างมหาศาล

ความเป็นผู้นำของอันวาร์ฉายให้เห็นเด่นชัด ชื่อเสียงเรียงนามขจรขจายไปทั่วประเทศ ภูมิภาค และโลก

โดยเฉพาะครั้งเมื่ออันวาร์ดำรงตำแหน่งเป็นประธานองค์กรอาบิม (แนวร่วมเยาวชนอิสลามมาเลเซีย) เป็นองค์กรที่มุ่งพัฒนาความคิดและศักยภาพคนหนุ่ม-สาวเพื่อเตรียมเป็นพลเมืองมาเลเซียและโลก

ภายใต้องค์กรอาบิม ชื่อเสียงเรียงนามของอันวาร์ยิ่งโดดเด่น จึงไม่แปลกที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคโดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ชูนโยบายเชิงอิสลามประสงค์จะได้ตัวเขามาเป็นสมาชิก

แต่ดูเหมือนว่านายกฯ มหาธีร์มีไหวพริบปฏิภาณที่ฉับไวมากกว่าจึงสามารถคว้าตัวอันวาร์มาเป็นสมาชิกพรรคอัมโนจนได้ในที่สุด

ตั้งแต่นั้นมาอันวาร์ก็กลายเป็นพลังเสริมสำคัญให้กับพรรคอัมโนในการเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านนโยบายเชิงอิสลาม จะเรียกว่านายกฯ มหาธีร์ใช้อันวาร์เป็นเกราะกำบังเพื่อต้านกระแสสังคมมุสลิมมาเลเซียก็ว่าได้

เพราะนายกฯ มหาธีร์เห็น ณ ห้วงเวลานั้นจะไม่มีบุคคลใดที่เหมาะแก่การชูนโยบายอิสลามเท่ากับอันวาร์ที่เพียบพร้อมด้วยชื่อเสียงด้านอิสลามและความเป็นผู้นำ

ความเป็นปัญญาชนนักคิดใช่ว่าจะมีกับนักการเมืองทุกคน นักการเมืองบางคนก็มาจากครอบครัวผู้มีอิทธิพล แต่อันวาร์เรียกได้ว่าเป็นปัญญาชนในคราบนักการเมือง หรือนักการเมืองในคราบปัญญาชน สองลักษณะนี้มีอยู่ในตัวอันวาร์จนแยกกันไม่ได้

ปัญญาชนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาและมาอวดใบปริญญาบัตรข้างฝาเท่านั้น แต่หมายถึงบุคคลที่รู้จักนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมให้พ้นจากวิกฤตและไปสู่สภาพชีวิตที่ดีกว่า

ศาสตราจารย์ ดร.ซัยยิด ฮูเซ็น อาลาตัซ นักสังคมวิทยาชาวมาเลเซียชื่อดัง ได้นิยามปัญญาชนในหนังสือ “Intellectuals in Developing Societies”ว่า “เป็นผู้ที่อุทิศตัวด้วยการคิดหาทางเพื่อแก้ปัญหาสังคมอย่างชาญฉลาด”

 

ใคร่รู้ในศาสตร์และวิชา

กล่าวถึงคำว่าปัญญาชนแล้วอดที่จะพาดพิงถึงการศึกษาหรือการใฝ่รู้ในเรื่องวิชาความรู้ ซึ่งถือว่าเป็นคุณลักษณะสำคัญที่สุดในบรรดาผู้นำและนักการเมืองทั้งหลาย ลำพังเพียงอาศัยอำนาจในมือไม่เพียงพอที่จะนำรัฐนาวาให้รอดพ้นจากวิกฤตได้

ศาสตราจารย์ ดร.ซัยยิด ฮูเซ็น อาลาตัซ กล่าวว่า “ระบบการเมืองใดก็ตามที่ไม่เคยแยแสต่อวิชาการและความรู้ น้อยนักที่จะบรรลุความสำเร็จ” และท่านได้กล่าวเสริมอีกว่า “ระบบใดก็ตามที่ถูกควบคุมและอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มคนอวิชชา ระบบนั้นๆ จะไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้”

ตลอดระยะเวลาที่อันวาร์เข้าไปคลุกคลีกับวงการนักการเมืองจนถึงดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะรัฐบาล เขาไม่เคยถอดหมวกความเป็นปัญญาชนทิ้ง ถึงแม้จะยุ่งกับภารกิจในฐานะรัฐมนตรี แต่เขายังถูกเชิญไปบรรยายในงานสัมมนาวิชาการทั้งในประเทศและระดับโลกอยู่เรื่อยๆ

นอกจากนั้นเขาไม่เคยทิ้งนิสัยรักการอ่าน แม้กระทั่งอยู่ในคุกตะรางก็ยังอ่านหนังสือเป็นประจำ

เพื่อนๆ อันวาร์หลายคนพูดในทำนองเดียวกันว่าในห้องขังของอันวาร์จะเต็มไปด้วยหนังสือ

ด้วยลักษณะที่เป็นหนอนหนังสือ จึงไม่แปลกที่เขาเคยได้รับฉายาว่าเป็น “บุคคลนักอ่านแห่งปี” ของมาเลเซีย และอันวาร์เองเคยมีผลงานเขียนหนังสือมาแล้วหลายเล่ม เช่น The Asian Renaissance, การเผชิญหน้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลง (ภาษามลายู) และบทความวิชาการอีกหลายชิ้น เป็นต้น

นักการเมืองน้อยคนนักที่จะสวมหมวกเป็นนักอ่าน-นักเขียนในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นสภาวการณ์ที่น่าเป็นห่วงสำหรับบ้านเราที่นักการเมืองไม่ใคร่รู้ในวิชา ใครคนหนึ่งจึงปรารภว่า “ถ้าไม่อ่าน แล้วคุณจะไปรู้อะไร”

ผู้เขียนมีความเห็นว่า บรรดา ส.ส.และนักการเมืองมิควรสาละวนอยู่กับภารกิจของพรรคหรือตำแหน่งทางการเมือง แต่ต้องริอ่านหนังสือเพิ่มพูนวิชาความรู้

ในต่างประเทศจะเห็นว่านักการเมืองของเขาจะมีงานเขียนของตนเอง จากหนังสือที่เขาเขียน อย่างน้อยประชาชนจะรู้จักตัวตนของนักการเมืองที่เขาลงคะแนนให้ และในเวลาเดียวกันยังสามารถอ่านแนวคิด ทัศนะมุมมอง ตลอดจนโลกทัศน์ของนักการเมืองที่พวกเขาฝากความหวังไว้

ลึกๆ ผู้เขียนอยากเสนอให้ กกต.มิเพียงกำหนดผู้สมัคร ส.ส.ว่าต้องสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

หากแต่อยากให้กำหนดเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นว่าผู้สมัคร ส.ส.ทุกคนต้องมีผลงานด้านการเขียนเกี่ยวกับชีวิตและสังคมอย่างน้อยคนละหนึ่งเล่ม เพื่อเป็นฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ในเรื่องศักยภาพของความเป็นนักการเมืองที่มีคุณภาพ

อันวาร์มีเงื่อนไขครบตามนี้คือ มิเพียงเป็นนักการเมืองที่ วาทศิลป์สำนวนโวหารอันแพรวพราวเท่านั้น แต่เป็นนักอ่าน นักเขียน นักคิด และปัญญาชน

 

นักอุดมคติ นักปฏิบัตินิยม

สิ่งที่เราพบเห็นในทุกวันคือนักการเมืองทุกคนล้วนแล้วแต่พูดเก่ง นักการเมืองที่มีพรสวรรค์ด้านการพูดจะได้เปรียบมากกว่านักการเมืองที่พูดน้อยหรือพูดไม่เก่ง พูดแบบมีสาระหรือไม่มีสาระอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญต้องพูดเก่งชนิดสามารถเปลี่ยนสีดำเป็นสีขาวได้

มีคนเสริมว่า นักการเมืองต้องโกหกเป็นด้วย ด้วยเหตุนี้กระมังที่วัฒนธรรมการโกหกกลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองของทุกชาติภาษา

แต่อันวาร์มิเพียงเป็นเจ้าอุดมคติที่มักพูดให้ผู้คนเคลิ้มคล้อยตามอย่างเดียว หากแต่เขามักสร้างสิ่งที่เขาวาดฝันให้เป็นจริง ตัวอย่างปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมมาเลเซีย รวมทั้งในหมู่สมาชิกของพรรคอัมโนเองที่การทุจริตคอร์รัปชั่นกลายเป็นเลือดเนื้อไปแล้ว

ครั้นที่ดำรงตำแหน่งเป็นถึงรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเขาไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยเกี่ยวกับการใช้อำนาจที่ส่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัวและเพื่อนพ้อง ขณะที่นักการเมืองคนอื่นแปดเปื้อนด้วยมลทินการทุจริต แสวงอำนาจเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง

ในช่วงเวลาที่อันวาร์เรืองอำนาจเขามีโอกาสที่จะทำได้ แต่เขากลับรักษาจุดยืนเดิมของเขาคือ เป็นนักสู้ผู้อยู่เคียงข้างประชาชน ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ไม่ใช่นักการเมืองประเภทมือถือสากปากถือศีล

ว่ากันว่าด้วยทัศนวิสัยเช่นนี้เป็นจุดแตกหักระหว่างอันวาร์กับแกนนำของพรรคอัมโน (รวมทั้งนายกฯ มหาธีร์) เพราะจุดยืนของอันวาร์นั้นเป็นการทวนกระแสประเพณีวัฒนธรรมในพรรคอัมโนนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการสมรู้ร่วมคิดของบรรดาแกนนำพรรคอัมโนเพื่อที่จะขจัดอันวาร์ให้พ้นจากตำแหน่งและสมาชิกภาพ

จนต่อมาอันวาร์ถูกปลดด้วยข้อหามีพฤติกรรมทางเพศแบบเบี่ยงเบนที่ชอบไม้ป่าเดียวกัน

ถามว่าทำไมศัตรูทางการเมืองอันวาร์ไม่สามารถจะเอาความผิดอันวาร์ด้วยการมีความประพฤติแบบทุจริตคอร์รัปชั่นล่ะ คำตอบก็คือ เพราะอันวาร์ไม่มีคดีพัวพันกับการทุจริตเลย

พวกเขาจึงเลือกใส่ร้ายอันวาร์ด้วยข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดในประเพณีอิสลาม นั่นคือด้วยการกล่าวหาว่าอันวาร์เป็นคนชอบเพศเดียวกัน จนมีการจับกุมอันวาร์และต้องนอนตบยุงในคุกเป็นเวลา 18 ปีเต็มๆ

 

นักประชาธิปไตยตัวจริง

การปรากฏตัวของอันวาร์ในเวทีการเมืองมาเลเซีย อย่างน้อยสะท้อนให้เห็นว่าท่ามกลางภาวะการเมืองแบบน้ำเน่าก็ยังมีนักการเมืองน้ำดีที่เพียบพร้อมด้วยคุณภาพความเป็นนักการเมืองและผู้นำตามแนวคิดในระบอบประชาธิปไตย

น้อยคนนักที่จะกล้าต้านกระแสวัฒนธรรมเดิมๆ ที่ปฏิบัติเป็นประเพณีนิยมในสังคมยกเว้นคนที่มีใจนักสู้ที่เห็นผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ผู้ที่ยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตยที่เห็นว่าสิทธิประโยชน์ใดๆ ต้องเป็นของประชาชนทุกหมู่เหล่า ส.ส.หรือนักการเมืองก็เป็นเพียงผู้อาสามาทำงานให้แก่ประชาชนที่เลือกพวกเขาเป็นตัวแทนเพื่อเข้าไปเป็นปากเสียงในรัฐสภา

อันวาร์ได้แสดงพฤติกรรมและคุณลักษณะความเป็นนักการเมืองประชาธิปไตยอย่างเด่นชัดตลอดระยะเวลาที่อุทิศชีวิตรับใช้ประชาชนบนถนนการเมืองมายาวนาน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อ Charles Allers นักวิชาการจากอเมริกายกย่องอันวาร์ว่าเป็น Muslim Democrat

ภาวนาอยากเห็น ส.ส.หรือนักการเมืองประเทศไทยเป็นดั่งนักการเมืองที่ชื่ออันวาร์ อิบราฮิม ผู้มีจิตวิญญาณนักสู้เพื่อขจัดอธรรมที่ไม่เคยสะทกสะท้านต่อภัยคุกคามใดๆ เป็นนักการเมืองตามครรลองประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ

และที่สำคัญ เป็นนักการเมืองในคราบปัญญาชน