สนธิรัตน์ (ว่าที่) ผู้จัดการรัฐบาล ชิงธงเลือกตั้ง ขี่อภินิหารทางกฎหมาย-สู้ศึกแพ้ฟาล์วยุบพรรค

นับถอยหลัง Road to Election เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน สู่วันหย่อนบัตร 24 มีนาคม 2562 ทุกพรรคการเมืองต่างเกทับ-บลั๊ฟฟ์แหลกในเรื่องนโยบาย เปิดแผล-จุดอ่อนพรรคคู่แค้น งัดสารพัด “แท็กติก” ใต้ดิน-บนดินเพื่อ “ตัดกำลัง” คู่แข่ง

1 ในพรรคที่ถูกร้องเรื่องยุบพรรค-พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เป็นเลขาธิการพรรค รับรู้ถึงความร้อนแรง ในฐานะพ่อบ้านพรรค “ตั้งรับ” – “การ์ดสูง” ข้อหา “เป็นปรปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย”

“วอร์รูม” สู้เกมยุบพรรคทั้งทีมกฎหมาย-ทีมการเมือง ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเพื่อตรวจข้อกล่าวหา-ข้อร้องเรียน และกำชับผู้บริหาร-ผู้สมัคร-สมาชิกระมัดระวังเพื่อไม่ให้ติดกับดักแง่มุมทางกฎหมายจนนำไปสู่การยุบพรรค

“เรื่องยุบพรรค กรณีพรรคอื่นก็เป็นไปตามกลไกของกฎหมาย เราเพียงมองว่าจะดำเนินการทางการเมืองอย่างไรบนสิ่งที่เกิดขึ้นและทำหน้าที่ต่อไป ไม่ได้มองว่าเป็นผลบวกหรือลบต่อพรรค และไม่ทำสิ่งที่ผิดจนนำไปสู่การยุบพรรค”

ส่วนจะมี “ตัวช่วย” ฝ่ายอภินิหารทางกฎหมายหรือไม่? “สนธิรัตน์” อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลอำนาจเต็มตอบ “ติดตลก” ว่า อย่าถือว่ามีอภินิหารเลย เอาเป็นว่ามีความรู้ (หัวเราะ) ปรึกษากับผู้รู้ เหมือนหาหลายๆ หมอ เป็น Second Opinion Third Opinion เพื่อ Recheck ว่า ใช่หรือไม่ใช่

“ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ใครจะตีความก็ย่อมได้ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายว่าเราอยู่ในข่ายนั้นหรือไม่ ซึ่งเรามั่นใจว่าไม่ได้อยู่ในข่ายของความผิดเพื่อนำไปสู่การยุบพรรค”

ให้น้ำหนักการนำพาพรรคชนะเลือกตั้งกับการไม่ถูก “แพ้ฟาล์ว” คดียุบพรรคมากกว่ากัน? เขาตอบอย่างไม่ลังเลว่า ต้องให้น้ำหนักการชนะเลือกตั้งให้ได้ก่อน

“ยุบพรรคเป็นสิ่งที่เราไม่ได้หนักใจ เพราะเราดูข้อกล่าวหายังมองไม่เห็นประเด็นข้อกฎหมาย แต่ไม่ได้ประมาท ให้มองลึกลงไปดูว่ามีอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ ในทางกลับกันผมมองว่าการเสนอยุบพรรคพลังประชารัฐเป็นเกมการเมืองมากกว่า”

11เดือนกับอายุพรรค “สนธิรัตน์” ผู้ได้รับภารกิจ “บีบหัวใจ” คำแรกที่พรั่งพรูที่ออกมาจากปากคือ “เหนื่อย” หลังเดินทางมาครึ่ง-ค่อนทาง พบปะประชาชน-คนการเมืองมากหน้าหลายตา และต้องค้นหาคำตอบว่า “เหนื่อยไปทำไม”

“ก็มันหน้าที่ต้องทำ คนเรามันก็ต้องมีหน้าที่ของชีวิต เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด บางอย่างเราก็ไม่ได้กำหนดอยู่แล้ว ถ้าถอยกลับไปก็เป้าหมายเดียวกันแหละครับ ตอนที่พวกผมคิดร่วมกันทำพรรค มันเป็นเวลาเปลี่ยนผ่านบ้านเมือง ทำยังไงก็ได้ให้การเปลี่ยนผ่านไม่ทำให้บ้านเมืองกลับไปสู่จุดเดิม”

“พรรคพลังประชารัฐเป็นตัวที่จะบาลานซ์ของการเมืองไทย เพราะไม่เช่นนั้นองค์ประกอบทางการเมืองจะเป็นแบบเดิม ที่สำคัญมันต้องผสมผสานกับระยะเวลา 4 ปีกว่าที่ผ่านมาของประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงที่ยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทยที่มีกลไกของรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง”

“ต้องผสมผสานสองสิ่งให้อยู่ด้วยกัน เพราะจะบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมา 4 ปีกว่ากับสิ่งที่จะไปข้างหน้าไม่ผสานกันเลยมันอาจจะไม่ใช่ หวังจะเข้ามาเพื่อเป็นตัวบาลานซ์ของสังคม ของประเทศที่จะต้องมีพรรคที่จะออกมาอย่างน้อยเป็นตัวที่จะไม่กลับไปสู่ Solution เดิมๆ เป็นความตั้งใจ”

เขาหวังลึกๆ ว่า ปลายสุดของการทำพรรคครั้งนี้ เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุด ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม ใครจะชนะ จะแพ้ ประเทศจะกลับไปสู่จุดเดิมไม่ได้

“ประเทศต้องการความ compromise ของทุกๆ อำนาจทางการเมือง ต้องการความประนีประนอมในทุกๆ อำนาจทางการเมือง ประเทศคงไม่สามารถไปทางใดทางหนึ่งสุดโต่งได้”

“ยิ่งเรามีบาดแผลกันอยู่ ตอนนี้ต้องประคับประคองด้วยความระมัดระวัง ผมเชื่อว่าสถานการณ์การเมืองแบบนี้ต้องการการทำงานการเมืองแบบประคับประคอง เพราะแผลเก่าพร้อมที่จะเกิดเป็นแผลใหม่”

“ถ้าหากประคับประคองไม่ดี อย่างน้อย 4 ปีกว่า มันได้ประคับประคองแผลมาได้จุดหนึ่ง แม้ว่ามันจะยังไม่หาย แต่เราต้องประคับประคองต่อ การเลือกตั้งจึงสำคัญมาก”

แผลเก่าที่คิดว่าเราไม่ควรกลับไปอีกเลย 2-3 เรื่อง คือเรื่องอะไรบ้าง? เขาตอบทันควันคือ การแบ่งขั้ว-เลือกข้าง จนเกิดเป็นกำแพงยักษ์คั่น-กั้นระหว่างคนไทยด้วยกัน

“การแบ่งคนไทยออกเป็นกลุ่มสีต่างๆ…(เสียงดังขึ้น) อย่างสุดโต่ง มันไม่ใช่พื้นฐานของคนไทย และเรามาไกลมากนับจากอดีต เราแบ่งกันสุดโต่ง ไม่เคยมีความรู้สึกที่เราจะแบ่งเป็นฝั่งตรงข้ามเหมือนที่ผ่านมา”

“ผมไม่สบายใจเวลาเข้าสู่การเลือกตั้งแล้วมีการพูดจาด้วยถ้อยคำรุนแรง ผมคิดว่าเป็นตัวที่เป็นแผลเก่าที่พร้อมจะกลับมาเป็นแผลใหม่ ทุกฝ่ายต้องระมัดระวังเรื่องเหล่านี้เพราะไม่เกิดประโยชน์กับใครเลย”

การตั้งพรรคพลังประชารัฐด้วยเวลาอันสั้น เขายอมรับว่า “ไม่ง่าย” โดยเฉพาะการทำพรรคการเมืองให้เป็น “สถาบันทางการเมือง”

“เราทำหน้าที่บนข้อจำกัดทั้งหมดที่มีอยู่อย่างเต็มความสามารถ ส่วนตัวผมเองเสร็จวันที่ 24 มีนาคม ผมเคารพผลคำตัดสินทุกอย่าง ผมรู้ว่าผมทำสุดความสามารถ ตามความตั้งใจทั้งหมดแล้ว ส่วนผลจะเป็นอย่างไรผมเคารพ น้อมรับผลของมัน และประเทศก็ต้องเดินหน้าต่อไปบนการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน”

“ผลการเลือกตั้งไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ในฐานะที่ผมเป็นเลขาธิการพรรค พรรคพลังประชารัฐต้องตั้งตัวเป็นสถาบันหลักของประเทศให้ได้”

“ผมไม่ได้มองการเมืองวันนี้ ผมไม่ได้มองการเมืองเป็นเรื่องของการชนะแล้วได้เป็นรัฐบาล แต่ผมมองว่า การเมืองต้องมีสถาบันที่พี่น้องประชาชนไว้ใจได้ เป็นสถาบันหลักอันหนึ่งของการเมืองไทย มีความตั้งใจ จริงใจต่อชาติบ้านเมือง”

“ถ้าถามผมตอนนี้อยากทำอะไรมากที่สุดหลังการเลือกตั้ง คือการทำพรรคให้เป็นหนึ่งที่พี่น้องประชาชนไว้ใจได้ เป็นสถาบันทางการเมืองที่จะสร้างมิติทางการเมือง สร้างคนรุ่นใหม่ทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่สร้างเฉพาะช่วงหาเสียง”

“สร้างกลไกของพรรคที่จะมีบทบาทในการช่วยกำกับดูแลนโยบายของการบริหารประเทศให้ไปข้างหน้า นั่นต่างหากคือการทำพรรคพลังประชารัฐที่แท้จริง ผมมีความสุขมากที่จะทำตรงนั้น นั่นคือสิ่งที่ผมจะทำไว้ ผมไม่รู้ว่าจะอยู่วงการการเมืองกี่ปี เพราะผมไม่ใช่นักการเมือง”

ไม่ว่า “สนธิรัตน์” จะเป็น “นักแสดงนำ” หรือเป็นเพียง “คนจัดฉาก” วันที่ 24 มีนาคม จะเป็นคำตอบว่า เขา “ตีบทแตก” หรือไม่