แพทย์ พิจิตร : โวหารท้าขนบ-เหตุผลแบบศรีธนญชัย

เวลาที่ศรีธนญชัยจะเอาตัวรอดจากการท้าทาย “nomos” หรือขนบธรรมเนียมกฎหมายประเพณีที่สังคมกำหนดขึ้น เขามักจะใช้ “โวหาร”

และเมื่อพูดถึง “โวหาร” ก็ทำให้นึกถึง “ภาษาพูด”

และเมื่อพูดถึง “ภาษาพูด” ก็ให้นึกถึงคำกรีกโบราณ นั่นคือคำว่า “logos”

และในธรรมเนียมของคนกรีกโบราณจะมีการแข่งขันการโต้วาทะหรือถ้าจะกล่าวในภาษาสมัยใหม่ก็คือการโต้วาที (public debate) และการโต้วาทะกันนี้เป็นสิ่งที่โซฟิสต์จะกระทำกัน และอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า คำว่า “logos” ในความเข้าใจของพวกโซฟิสต์นั้นกินความรวมถึงความหมายสำคัญๆ สามประการ นั่นคือ ข้อความ (statements) ข้อโต้แย้ง (arguments) และคำพูด (speech) หรือกระบวนโวหาร (discourse)

ดังนั้น คำว่า “logos” จึงมีความหมายรวมถึง การใช้ภาษา ข้อความ โวหารที่นำเสนอเหตุผลที่สอดคล้องภายใต้ระเบียบโครงสร้างความคิดหนึ่งในการอธิบายสรรพสิ่งต่างๆ ในโลก ซึ่งสามารถนำเสนอออกมาได้ “สองแง่มุม” (two-fold arguments, dissoi logoi) เสมอ

และการนำเสนอแง่มุมที่ต่างกันสองแง่มุมนี้อาจจะเป็นการนำเสนอที่มาจากคนคนเดียวกันก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องมาจากความคิดของคนสองคนที่มองแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้เองที่ “logos” หรือ “เหตุผล” ตามที่เข้าใจกันนั้นย่อมมีมากกว่าหนึ่งเหตุผลในตัวมันเอง

แน่นอนว่า ทรรศนะดังกล่าวเกี่ยวกับ “logos” ย่อมนำมาซึ่งความคิดในแบบสัมพัทธนิยมที่เชื่อว่า ไม่มีคุณค่าหรือเหตุผลหรือความคิดใดๆ เกี่ยวกับสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกจะมีลักษณะที่เป็นหนึ่งเดียวอันสมบูรณ์โดยไม่มีข้อโต้แย้งได้เลย

ยิ่งกว่านั้น ในหมู่พวกโซฟิสต์เอง เชื่อว่าคนที่ฉลาดมีปัญญานั้นคือผู้ที่สามารถแสดงให้เห็นว่าคำอธิบายต่อสรรพสิ่งทั้งหลายนั้นสามารถอธิบายได้สองแง่มุม

ดังที่สะท้อนในบทละครของ Euripides ที่ชื่อว่า the Antigone ซึ่งปรากฏในราว 411 ก่อนคริสตกาล มีข้อความว่า

“ในทุกๆ กรณี ถ้าใครฉลาดในการพูด เขาผู้นั้นย่อมสามารถสร้างประเด็นขึ้นสองแง่มุมได้”

 

และในหนังสือ “ความคิดทางการเมืองไทย” ของอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช และอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ในบทที่เก้าว่าด้วย “ศรีธนญชัย : ความคิดเรื่องอำนาจ ปัญญาและความหมายทางการเมือง” ได้กล่าวตีความว่า การแสดงออกของศรีธนญชัยในวัยเยาว์ “เป็นไปในแบบแผนที่ฝืนต่อกรอบระเบียบของสังคม”

แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ได้ใส่วงเล็บไว้ว่า “nomos” แต่สำหรับคนที่ศึกษาความคิดกรีกโบราณมาย่อมเข้าใจได้ทันที ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างการท้าทาย “nomos” ของศรีธนญชัยในขณะที่เป็นสามเณรว่า “สามเณรคิดปัญหาทายอาจารย์ของตนเอง ในแบบลองภูมิโดยการตั้งคำถามว่า

 

ในบทปถมังดังเทวา ที่สองว่าชาโตเป็นข้อขัน

ดูชลามิคาลำดับกัน เป็นที่สามดั้นดันปัญหาเณร

จัตวาติตานี้ที่สี่แถลง แปะๆ ปะๆ มาแจ้งมหาเถร

ถามว่าได้แก่อะไรให้ชัดเจน …………………………….

 

ปริศนาของสามเณรนี้เป็นปัญหานอกตำรา พระครูคิดอยู่สามวันจึงตอบได้ว่า “ดังเทวาคืองาช้างงงงง ชาโตคือคางคก ดูชลามิคาคือครุใส่น้ำเก่าๆ จนชันที่ยาเอาไว้ร่วงหมด เมื่อตักน้ำเข้าก็รั่วไหลเลอะเทอะ ตีตาคือการตีรั้วบ้านที่ต้องตีทั้งข้อที่ตา และแปะๆ ปะๆ คือการที่ควายกินหญ้าแล้วถ่ายออกมาเสียงแปะๆ ปะๆ”

และอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติตั้งข้อชวนสังเกตว่า การแสดงออกซึ่งปัญญาเป็นครั้งแรกของสามเณรนั้นเป็น “การบิดวาที”

นั่นก็คือ “two-fold arguments, dissoi logoi” ที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น

 

อีกตัวอย่างหนึ่งของการบิดวาทีหรือที่อาจารย์ทั้งสองเรียกว่า “เล่นคำ” ก็คือ ในศรีธนญชัยสำนวน “เชียงเมี่ยง” มีตอนหนึ่งกล่าวว่า

“ชาวลาวที่มาส่งส่วยเมี่ยงให้แก่พระเจ้าทวาละ มาพบสามเณรที่ท่าน้ำ จึงถามว่า แม่น้ำลึกมากน้อยแค่ไหน จะข้ามไปอีกฝั่งได้หรือไม่ สามเณรตอบว่าน้ำตื้นยืนหยั่งได้ แต่การที่จะข้ามนั้นคงจะทำไม่ได้ พวกลาวก็ท้าพนันว่าข้ามได้ โดยเอาเมี่ยงอันเป็นส่วยหลวงมาพนันกับผ้าอาบน้ำของเณร แล้วพวกลาวก็เดินลุยน้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง สามเณรจึงชี้ให้เห็นว่า การข้าม ต่างกับ การลุยน้ำ อย่างไร แล้วริบเอาเมี่ยงส่วยไปหมด

ความทราบถึงพระเจ้าทวาละ จึงเสนอให้ใช้เงินสักสี่ห้าบาท (ออกเสียง) แก่สามเณรแทนเมี่ยง ถึงตอนนี้สามเณรก็แสดงปัญญาของตน บิดความหมายของคำพูดที่ใช้กันโดยทั่วไปอีกครั้งโดยกลับไปนำบาตรพระมารับเงิน ห้าบาตร พวกลาวไม่มีเงินพอใส่ ทำให้พระเจ้าทวาละต้องเอาเงินจากพระคลังหลวงมาให้แทน”

จะเห็นได้ว่า ลีลาของศรีธนญชัยคือ การบิดวาที เล่นคำ โดยเล่นกับความหมายที่มีมากกว่าหนึ่งความหมายในคำที่ใช้ ซึ่งโดยทั่วไป ผู้คนจะใช้ความหมายตามขนบ (nomos) แต่ศรีธนญชัยเข้าใจในความลื่นไหลของภาษา และใช้ความลื่นไหลนี้ท้าทายขนบประเพณีของภาษา

 

นอกจากศรีธนญชัยจะเข้าใจความลื่นไหลของภาษาแล้ว อาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติยังเห็นว่า ศรีธนญไชยยังเข้าใจใน “ธรรมชาติ” หรือ “physis” เป็นอย่างดีด้วย โดยได้ยกตัวอย่าง “เมื่อเชียงเมี่ยง (ศรีธนญชัยในสำนวนทางเหนือ) เข้ารับราชการ ก็คอยเฝ้ารับใช้พระเจ้าทวาละอย่างใกล้ชิด พระเจ้าทวาละก็ทรงโปรดประทานเงินทองข้าวของต่างๆ ให้อยู่เนืองๆ

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าทวาละรู้สึกว่ากินอาหารไม่ค่อยจะได้ จึงถามเชียงเมี่ยงว่า จะทำอย่างไรดี

เชียงเมี่ยงก็อาสาว่าตนมียาดีอยู่ที่บ้าน จะกลับไปเอามาให้ แต่แล้วก็หายไปไม่กลับมาเฝ้าอีก จนกระทั่งพระเจ้าทวาละซึ่งรอกินยาอยู่รู้สึกหิวจนทนไม่ไหวจึงกินอาหารเมื่อเวลาหิว อันทำให้กินได้มาก

ครั้นบ่าย เชียงเมี่ยงกลับมา พระเจ้าทวาละก็โกรธร้องถามหายา เชียงเมี่ยงก็ตอบว่า ยาของตนก็คือ การรู้จักรับประทานอาหารเมื่อรู้สึกหิวนี่เอง

พระเจ้าทวาละโกรธเชียงเมี่ยง แต่พระองค์ “เกรงขุนนางรู้ความจะหยามเย้ย ทรงชมเชยพระวาจาทำปรานี”

 

จากตรงนี้ อาจารย์ทั้งสองได้ให้ความเห็นว่า

“…เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เชียงเมี่ยงมิได้มีแต่ปัญญาในการบิดวาทีเพียงอย่างเดียว หากแต่ว่าเชียงเมี่ยงยังมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อีกด้วย และขึ้นชื่อว่าธรรมชาติแล้ว ย่อมมีความคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะเดียว เชียงเมี่ยงก็ได้ชื่อว่า มีปัญญาในการบิดวาทีด้วย แต่ความสามารถของเชียงเมี่ยงในการบิดเบือนคำพูด หรือความหมายของภาษาที่บุคคลเข้าใจกันอย่างหนึ่งให้เป็นไปอีกอย่างหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ก็เพราะภาษา ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติทั้งหมด จริงอยู่ความจำเป็นของมนุษย์ที่จะมีภาษาอาจถือว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติได้ แต่นอกจากคำอุทานโดยธรรมชาติที่ได้แสดงความรู้สึกขั้นมูลฐาน เช่น ดีใจ เสียใจ เจ็บปวดแล้ว ภาษาที่จะใช้เป็นสิ่งให้เกิดความเข้าใจตรงกันในระหว่างมนุษย์สองคนขึ้นไป ก็ย่อมต้องมีรากฐานอยู่บนความเข้าใจร่วมกันหรือการตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้านั่นเองว่า ในหมู่ชนหนึ่งๆ นั้น จะยอมตกลงรับเสียงที่เปล่งออกมาในลักษณะหนึ่งๆ ว่าหมายว่าอะไร นั่นก็คือ ภาษานั่นไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากขนบประเพณีอย่างหนึ่ง (convention) (หรือ nomos ที่ผมกล่าวถึงนั่นเอง) ปัญญาของเชียงเมี่ยงจึงเป็นทั้งปัญญาหรือความล่วงรู้ในสิ่งที่คงที่คือ เรื่องของธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของความคงที่ และความล่วงรู้ในขนบประเพณี (ซึ่งเนื่องจากเป็นสิ่งที่เกิดจากความตกลงร่วมกันของบุคคล จึงอาจจะถูกผันแปรหรือดัดแปลงให้เบี่ยงเบนไปจากความหมายหรือความเข้าใจได้ตามกาลเทศะของเหตุการณ์) นี่หมายความว่าหรือว่าธรรมชาติจะต้องอยู่เหนือประเพณี หรือควรจะเป็นมาตรฐานสำหรับตัดสินเกณฑ์ต่างๆ แทนขนบประเพณี”

จะว่าไป ปัจจุบันเราก็ยังมีปัญหาเรื่องความหมายหรือการกำหนดความหมายว่า ตกลงแล้ว กฎหมายรัฐธรรมนูญ (nomos) กำหนดให้เลือกตั้งภายใน 150 วันหลังประกาศใช้กฎหมายลูก (nomos อีกเหมือนกัน)

นั้นหมายความว่า จะต้องมีการเลือกตั้งและประการผลเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือแค่ต้องมีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน…

นี่ขนาดนักกฎหมายในฐานะที่จะต้องมีความเคร่งครัดในการใช้ภาษาที่สุดแล้ว เราก็ยังหนีไม่พ้น “ปัญหาแบบศรีธนญชัย”!