ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ : PM 2.5 อาการกบต้มสุกของคนกรุง

มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลก ล้วนประกอบด้วยและดำรงอยู่ด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม

ลมตัวนี้คืออากาศที่เราหายใจเข้าไปนี่เอง

แต่เนื่องจากอากาศเป็นสิ่งที่ไม่ต้องซื้อหาและการหายใจของชีวิตมนุษย์เป็นไปโดยระบบอัตโนมัติของร่างกาย ทำให้บางครั้งหลายคนลืมไปว่าเราต้องหายใจ และหายใจเอาอากาศที่มีคุณภาพดีเข้าไปในร่างกายเท่านั้น ชีวิตเราจึงจะดำรงอยู่อย่างมีสุขภาพดี

เราจะได้รับการย้ำเตือนถึงความสำคัญของธาตุลมและลมหายใจ เพื่อคนในครอบครัวหรือผู้ที่เราเคารพรัก “หมดลมหายใจสุดท้าย” คือร่างกายที่ไม่สามารถสูดเอาอากาศเข้าไปเลี้ยงร่ายกายได้

แต่นั่นก็มิได้ทำให้เห็นความสำคัญของคุณภาพอากาศอยู่ดี

ชีวิตของผู้เขียนถูกคุกคามด้วยสิ่งปนเปื้อนต่างๆ นานาในอากาศ ทำให้เคยเจ็บป่วยด้วยโรคหวัดไซนัสอักเสบอย่างรุนแรง

ตอนทำงานอยู่ต่างประเทศแพ้ละอองหญ้าในอากาศและควันบุหรี่ในที่ทำงาน ต้องได้รับการผ่าตัดล้างโพรงไซนัสถึง 3 ครั้งใน 1 ปี

พอตัดสินใจกลับเชียงใหม่ นึกว่าอากาศจะดี กลับปรากฏว่าในช่วงปี พ.ศ.2533 เกิดปัญหาจราจรติดขัดและการเผาขยะใบไม้ กิ่งไม้ทุกหนทุกแห่ง ต้องกินยาปฏิชีวนะและยาลดบวมต่างๆ เป็นกำมือ และต้องไปหาหมอทุกๆ อาทิตย์

ผู้เขียนมิได้เห็นว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ และไม่ได้โทษธรรมชาติ แต่ได้ลุกขึ้นมารณรงค์ปลุกเร้าให้มีการแก้ไข เพราะปัญหาเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์

ผลของการผลักดันและรณรงค์ให้มีการแก้ไขปัญหา เทศบาลนครเชียงใหม่ได้ออกประกาศห้ามเผาขยะและใบไม้กิ่งไม้ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้ละเมิดจะถูกปรับ 2,000 บาท และเทศบาลอื่นๆ รวมทั้ง อบต.อีกหลายแห่งก็ออกกฎหมายในทำนองเดียวกัน ทำให้ลดแหล่งมลพิษทางอากาศอันเนื่องมาจากการเผาในที่โล่งไปได้มาก

นอกจากนี้ จังหวัดเชียงใหม่ยังได้ประกาศให้ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

คณะทำงานยังได้ผลักดันจนประเด็นปัญหามลพิษทางอากาศเป็นวาระแห่งชาติ

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ประเด็นนี้ดูเหมือนจะถูกลืมเลือนไป

อนึ่ง ยังมีการผลักดันให้ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นวาระเร่งด่วนระดับอาเซียนอีกด้วย

 

ในช่วงที่ผู้เขียนและทีมงานรณรงค์อย่างเข้มข้น พบว่าสถิติย้อนหลังของเมืองใหญ่อันได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา เชียงใหม่มีสถิติผู้ป่วยด้วยมะเร็งปอดต่อประชากรแสนคนสูงกว่าเมืองอื่นๆ แม้แต่กรุงเทพฯ จะเป็นรองก็เพียงลำปาง ซึ่งยิ่งการทำเหมืองและเผาถ่านลิกไนต์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเท่านั้น

เมื่อระดมนักวิชาการที่ศึกษาวิจัยด้านคุณภาพอากาศและความเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ก็พบว่า ผู้ป่วยนอกด้วยระบบทางเดินหายใจที่มีจำนวนสูงมากต่อประชากรแสนคน และในช่วงที่อากาศมีคุณภาพต่ำ มีฝุ่นละอองในอากาศสูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศไทย (ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานของยุโรปเกือบ 3 เท่า) ประมาณเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่มีความหนาวเย็นจากจีนมาปกคลุม ทำให้อากาศของเมืองในหุบเขาถูกกดทับและสะสมมลพิษ

ผลก็คือ มีสถิติผู้สูงอายุเสียชีวิตมากกว่าช่วงเดือนอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ

 

อาการกบต้มสุก (Boiled Frog Syndrome)

เมืองเชียงใหม่เคยได้รับการยกย่อง และคนทั่วไปยังมีความประทับใจและเชื่อ (อย่างผิดๆ) ว่าเชียงใหม่อากาศดี จนเมื่อพบคุณภาพอากาศ (ซึ่งยากจะมองเห็น) ว่ามี PM 10 (ขนาดใหญ่กว่า 2.5) แขวนลอยในอากาศอยู่หลายเดือนจนทำให้สุขภาพและชีวิตของคนเชียงใหม่ถูกบั่นทอนและเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร

ผู้เขียนใช้สโลแกน “กบต้มสุก” และเทียบให้เห็นว่าคนเชียงใหม่อยู่ในภาวะกบต้มสุก

หมายความว่า คนเชียงใหม่เหมือนกับกบที่เขาจับมาใส่ในหม้อน้ำ ที่เขาจุดไฟเพื่อจะต้มเจ้ากบ เนื่องจากกบ (ตัวชี้วัดของคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดี) เป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ได้ดี เมื่อน้ำในหม้อเริ่มอุ่น มันก็สามารถปรับตัวให้มันสามารถอยู่ได้ และคิดว่าเป็นคุณสมบัติที่ดี

จนกระทั่งน้ำร้อนจัดและเดือด กว่าตนจะรู้ตัวและอยากกระโดดหนีออกจากหม้อน้ำเดือดนั้นก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว มันจึงกลายเป็นกบต้มสุกไป

คนเชียงใหม่ คนกรุงเทพฯ และในอีกหลายๆ เมืองล้วนอยู่ในภาวะ “อาการกบต้มสุก” โดยมิได้ตระหนักว่า คุณภาพอากาศที่เลวร้ายนั้นบั่นทอนชีวิตของตนและคนรอบข้างอันเป็นที่รักได้อย่างไร

แม้ว่าคนในยุคปัจจุบันจะมีความตระหนักต่อสุขภาพของตนมากขึ้น สนใจอาหารสุขภาพที่ปลอดสารเคมี ระดมรับประทานอาหารเสริม ระดมให้มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ

แต่เราลืมไปว่า การออกกำลังกายในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศสูง เมื่อปอดสูดอากาศที่มีสิ่งปนเปื้อนมาก ก็จะไปลดทอนความสามารถเนื้อปอดเอง

ดังนั้น ผู้ที่ออกกำลังกายในยามที่มี PM 2.5 PM 10 สูง อาจจะเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนผู้ที่ไม่ทำอะไรเลย (ไม่ออกกำลังกาย) ในช่วงนั้น

 

แหล่งกำเนิดของ PM 2.5

ภาคการคมนาคมขนส่งเป็นภาคที่ใช้พลังงานมากที่สุด มากกว่าภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย

แม้ว่าอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายธารา บัวคำศรี ผู้นำกรีนพีซในประเทศไทย หรือแม้แต่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะได้นำเสนอปัญหาและทางออกไปแล้วอย่างแหลมคม แต่ผู้เขียนเห็นว่ายังไม่ครอบคลุมสาเหตุและที่มาของปัญหานี้อย่างรอบด้าน

การคมนาคมขนส่ง-ปัญหาการจราจรทางบกเป็นแหล่งที่มาของ PM 2.5 ก็จริง แต่ปริมาณพลังงานจำนวนมหาศาลที่ถูกเผาไหม้และปลดปล่อย PM 2.5 ก็คือการจราจรทางอากาศด้วยเช่นกัน

เครื่องบินแต่ละลำ แม้จะเป็นเครื่องบินขนาดเล็กที่สายการบินราคาถูกใช้ ไม่ต้องพูดถึงเครื่องบินใหญ่ว่าแต่ละลำต้องใช้เชื้อเพลิงมากมายขนาดไหน และปลดปล่อย PM 2.5 และคาร์บอนไดออกไซด์มาในปริมาณมากขนาดไหน แต่มิได้มีการกล่าวถึงมาตรการในอันที่จะลดปัญหานี้แต่อย่างใด

ธารา บัวคำศรี กล่าวถึงไนตรัสออกไซด์ว่าสัมพันธ์กับ PM 2.5 แล้วไนตรัสออกไซด์ปริมาณมากมาจากไหนเล่า ในขณะที่ในอดีตก๊าซตัวนี้แทบไม่มีการกล่าวถึง

นักวิชาการพบว่าไนตรัสออกไซด์มาจากการเผาไหม้ของไบโอดีเซล ยิ่งรัฐบาลส่งเสริมการเอาพืชอาหารมาผลิตพลังงานมากเท่าไหร่

ปริมาณก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่ประเทศไทยผลิตก็จะมากขึ้นเท่านั้น

สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวของก๊าซตัวนี้ก็คือ ความสามารถกักเก็บความร้อนไว้ในโลกมากกว่าชั้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเป็นพันเท่า

มันจึงเป็นก๊าซที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน (Greenhouse Gas หรือ GHG) ที่ประเทศไทยผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

และผลกระทบต่อศักยภาพภูมิอากาศที่จะเปลี่ยนไป (Climate Change) ก็จะทวีความรุนแรงด้วยเช่นกัน

 

เมืองท่ามกลางตึกสูง = เมืองในหุบเขา

ในครั้งที่รณรงค์อย่างเข้มข้นให้เมืองเชียงใหม่มีคุณภาพชีวิตจากคุณภาพอากาศที่ดี ผู้เขียนพูดเกินกว่า กรุงเทพฯ โชคดีที่มีลมบก-ลมทะเลในการช่วยพัดพามลพิษทางอากาศที่เกิดจากการจราจรให้เบาบางลง และอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถิติผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดต่อประชากรแสนคนในเชียงใหม่สูงกว่าสถิติในกรุงเทพฯ ต่อเนื่องยาวนาน

ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ถูกโอบล้อมไปด้วยภูเขา แม้จะทำให้เมืองเชียงใหม่ที่มีเสน่ห์ แต่กลับเป็นอุปสรรคที่ทำให้ระบบการถ่ายเทของอากาศไม่ไหลเวียน ยิ่งในฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวเย็นจากประเทศจีนมาปกคลุม อากาศเย็นยิ่งกดดันมิให้มลพิษในหุบเขาเจือจาง

แต่ในทางตรงกันข้าม กลับสะสมมากขึ้น จนกว่าฝนจะตกชะล้างฝุ่นละอองทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ให้ตกลงสู่พื้นดิน เมื่อนั้นอากาศเหนือเมืองเชียงใหม่จึงจะสดใสอีกครั้ง

เป็นที่น่าเสียดาย ที่รัฐไทยมุ่งเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากกว่าการเก็บรักษาระบบที่ค้ำจุนชีวิต (Life support system) ให้มีคุณภาพดี เพื่อชีวิตที่ยืนยาว

หลายคนอาจจะเคยภาคภูมิใจที่กรุงเทพฯ มีตึกระฟ้ามากมายทั้งๆ ที่ไม่ควรสร้าง เพราะดินกรุงเทพฯ เป็นดินเลน รับน้ำหนักได้ไม่ดี ตึกสูงในกรุงเทพฯ จึงมีราคาแพง เพราะต้องตอกเสาเข็มลึกอย่างน้อย 40 เมตร เพื่อไปถึงชั้นหินด้านใต้ดิน และปรากฏผลชัดเจนว่าอาคารสูงที่ผุดขึ้นในทุกหนทุกแห่งปิดต้นลมบก-ลมทะเลที่เคยพัดมลพิษทางอากาศเจือจาง

นอกจากนั้น ก่อนที่จะทำทางรถไฟลอยฟ้าและสะพานลอย ทั้งทางด่วนที่ซ้อนขึ้นไปเหนือถนนเดิมหลายชั้น ได้มีกลุ่มนักวิชาการและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมออกมาทักท้วงว่าจะทำให้อากาศไหลเวียนไม่ดี แต่คำทักท้วงถูกมองว่าเป็นตัวขัดขวางการพัฒนา

ดังนั้น วิกฤต PM 2.5 ที่เกิดในนครหลวงของประเทศในขณะนี้มาจากพฤติกรรมของมนุษย์ล้วนๆ อย่าได้ปัดความรับผิดชอบว่าเป็นเพราะความแปรปรวนของธรรมชาติเลย เพราะความเห็นเช่นนี้ไม่สามารถชี้ทางออกให้แก่สังคมเลย


บทเรียนจาก Stuttgart สหพันธรัฐเยอรมนี

รถยี่ห้อดังเกือบทั้งหมดของเยอรมนีผลิตที่เมือง Stuttgart ซึ่งเป็นเมืองในหุบเขาคล้ายเชียงใหม่ เมืองนี้เคยเกิดวิกฤตคุณภาพอากาศที่เลวร้ายเนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต่างจากเมืองในสังคมไทยที่ปัญหามลพิษทางอากาศส่วนใหญ่เกิดจากการคมนาคมขนส่ง

เมื่อเกิดปัญหา เมืองนี้หาทางออกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ด้วยการใช้องค์ความรู้ด้านการพยากรณ์อากาศ มีนักพยากรณ์อากาศ (meteorologist) ถึง 1 คนมาศึกษาเส้นทางการไหลเวียนของอากาศ เพื่อกำหนดลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินว่าบริเวณไหนควรจัดเป็นพื้นที่โล่งว่าง ความสูงของอาคารแต่ละพื้นที่ต้องสูงกี่เมตร เพื่อมิให้ปิดกั้นการไหลเวียนของอากาศ มิให้มลพิษสะสมจนบั่นทอนชีวิตมนุษย์

การกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจึงมาจากเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่อาจคัดค้านและทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมของเมืองนี้ได้รับการฟื้นฟูได้ดีดังเดิม

กฎหมายของประเทศเยอรมนีมีความศักดิ์สิทธิ์ ถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียมและผู้นำของเขาที่มีวิสัยทัศน์ รับฟังความเห็นของนักวิชาการ (แม้ว่าอาจจะขัดผลประโยชน์ของผู้นำ) สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

ทางออกของปัญหา PM 2.5 ในกรุงเทพฯ

ทุกปัญหาต้องมีทางออก แต่ยังไม่เห็นผู้นำชี้ทางออกที่เน้นรูปธรรมอย่างชัดเจน ดังนั้น บทความนี้จึงขอเสนอดังนี้

มาตรการระยะสั้น

ในเมื่อทุกชีวิตใน กทม.กำลังอยู่ในอาการกบต้มสุกกันถ้วนหน้า ดังนั้น จึงต้องร่วมมือกันสละความสุขสบายส่วนตัวด้วยการ

1. มีมาตรการลดจำนวนยานพาหนะส่วนตัวบนท้องถนน ผลักดันให้แต่ละครอบครัวใช้รถร่วมกัน ใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น บริบทต่างๆ หากสามารถให้พนักงานทำงานที่บ้านแล้วส่งงานออนไลน์ได้ก็จะช่วยลดการเดินทางและการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ลงได้มาก อาจมีมาตรการให้รถที่มีทะเบียนท้ายเลขคู่วิ่งได้เฉพาะวันคู่ เลขทะเบียนคี่วิ่งได้เฉพาะวันคี่ เป็นต้น

2. บริหารจัดการให้มีการรวมเที่ยวบิน เพื่อลดการก่อมลพิษจากการคมนาคมขนส่งทางอากาศ หากมีการเจ็บป่วยของประชากรจำนวนมาก งบประมาณที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากวิกฤต PM 2.5 นี้ อาจสูงกว่ารายรับอันเนื่องมาจากการอนุญาตให้มีการบินอย่างเสรีเหมือนภาวะปกติ

3. ห้ามจอดรถบนผิวจราจรที่มีความคับคั่ง เคลียร์ทางเดินเท้าให้สะดวกต่อการเดินเพื่อเป็นทางเลือกในการเคลื่อนย้าย

4. ลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นรถควันดำ ผู้ที่เผาในที่โล่ง โรงงานที่ปล่อยควันดำ และการก่อมลพิษอื่นๆ หลังจากที่รัฐละเลยมานานแสนนาน

5.ฯลฯ แล้วแต่กรณี

มาตรการระยะกลาง

1. คนกรุงเทพฯ ต้องปรับพฤติกรรมและภาครัฐบังคับใช้กฎหมาย กรณีให้เด็กเรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน มีการปรับปรุงคุณภาพแต่ละโรงเรียนให้ทัดเทียมและมิให้เรียนข้ามเขต

หากผู้ปกครองประสงค์ให้ลูกเรียนโรงเรียนอื่น ต้องย้ายบ้านไปอยู่ในเขตนั้นๆ ในทางปฏิบัติ มิใช่ย้ายแต่ทะเบียนบ้าน ในต่างประเทศถือว่าเรื่องนี้จริงจัง

2. ตำแหน่งงานในองค์กรปกครองท้องถิ่น ควรสงวนรักษาไว้ให้แก่ประชากรผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เท่านั้น มิใช่รับพนักงานจากสมุทรปราการทำงานที่ กทม.

ส่วนราชการอื่นๆ ก็เช่นกัน ควรมีมาตรการส่งเสริมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่อาศัยอยู่ใกล้ที่ทำงานของตน

3. แหล่งทุนวิจัยส่งเสริมให้มีการศึกษาลักษณะการไหลเวียนของอากาศและผลกระทบ รวมทั้งผลที่ก่อให้เกิดการกระจายตัว หรือเก็บกักมลพิษในจุดต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณที่เกิดวิกฤต PM 2.5 เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางผังเมืองต่อไป

 

 

มาตรการระยะยาว

1. นำข้อมูลเกี่ยวกับการไหลเวียนอากาศ และโดมความร้อนในเขตเมือง (Urban Heat Island) มาใช้เป็นฐานในการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและความสูงของอาคาร รวมทั้งพื้นที่โล่งกว้าง (Open Space) พื้นที่สีเขียว (Green Area) เพื่อทำให้การไหลเวียนของอากาศ ตลอดจนการกรองอากาศด้วยต้นไม้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม

ถ้าหากจำเป็นต้องทุบทิ้งอาคารสูงเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว ก็ต้องมีขั้นตอนในการดำเนินและต้องใช้เพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก

2. วางแผนการแก้ไขปัญหาจราจรด้วยการใช้ Supply Oriented Approach นั่นคือ เมื่อมีพื้นผิวจราจรเท่าที่เป็นอยู่ ต้องใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพื่อการไหลเวียนต่อการคมนาคมขนส่ง

มิได้ให้พื้นที่ผิวการจราจรกลายเป็นที่จอดของร้านค้าหรือหาบเร่แผงลอย เพื่อแก้ปัญหาการวางแผนแบบ Demand Oriented Approach ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

3. ส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนารถไฟฟ้าส่วนบุคคล ลดภาษีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้แสงแดดให้เป็นประโยชน์ เช่น Solar Heater สำหรับทำน้ำร้อนในอาคารบ้านเรือน Solar panel เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หรือ Wind Turbine กังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อเป็นทางเลือกของการใช้พลังงาน และลดการเผาไหม้เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า

4. สร้างแรงจูงใจให้แก่อาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Building) ให้มีการใช้เครื่องปรับอากาศและไฟฟ้าน้อยลง มีการปลูกต้นพืชเพื่อคุณภาพ สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

5. มีแผนระยะยาวให้ลดการผลิตและการใช้ Bio Diesel เพื่อลดปริมาณไนตรัสออกไซด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

6. ส่งเสริมระบบรถไฟฟ้าระหว่างเมืองใหญ่ เพื่อลดจำนวนเที่ยวบินซึ่งใช้พลังงานเผาไหม้และปลดปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กและก๊าซพิษอื่นๆ

 

บทส่งท้าย

วิกฤต PM 2.5 นอกจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย นอกจากระบบทางเดินหายใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ และสมรรถนะการทำงานของปอดแล้ว ยังบั่นทอนการเจริญเติบโตของเยาวชน และทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตก่อนวัยอันควรแล้ว

ปัญหานี้ยังบั่นทอนสภาพจิตใจ เพราะปริมาณฝุ่นจำนวนมากที่ปกคลุมหนาทึบและยาวนาน จะส่งผลให้แสงแดดไม่อาจส่องลงมาดังเดิม

ส่งผลให้คนเกิดภาวะหดหู่ ซึมเศร้า ดังที่เคยปรากฏมาแล้วครั้งแรกในปี พ.ศ.2552 และอีกหลายครั้งหลังจากนั้น

ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับชาติ เพราะเคยมีการประกาศในสมัยที่มีการเลือกตั้งว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาเร่งด่วนระดับชาติ (และของจังหวัดเชียงใหม่)

จึงควรที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขอย่างเร่งด่วน หากทุกภาคส่วนยอมสละเวลาและความสุขสบายส่วนตัว เพื่อผ่านพ้นปัญหานี้ไปได้ก่อนที่ชาวกรุงทั้งหลายจะอยู่ในภาวะกบต้มสุก!