พิราภรณ์ วิทูรัตน์ / ทรัมป์ กำแพงชายแดน และอคติทางชาติพันธุ์ : พหุวัฒนธรรมที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง

นโยบายสร้างกำแพงชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐถูกหยิบยกขึ้นมาพูดครั้งแรกเมื่อช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้หาเสียงระหว่างการเลือกตั้ง ซึ่งทรัมป์เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า หากเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปจะดำเนินการผลักดันการสร้างกำแพงด้านที่ติดกับเม็กซิโกเพื่อยับยั้งจำนวนผู้อพยพที่นำมาสู่ปัญหาความมั่นคงของประเทศ

พร้อมเอ่ยปากว่าจะให้เม็กซิโกเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด แม้ว่าประธานาธิบดีเอนริเก เปนญา นีเอโต ของเม็กซิโกจะปฏิเสธแนวคิดนี้ก็ตาม

 

ความพยายามในการผลักดันนโยบายและท่าทีของทรัมป์ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนถึงเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทบนรถไฟฟ้าที่กลายเป็นคลิปไวรัลไปพักหนึ่ง

เมื่อหญิงสาวผมบลอนด์พยายามใช้ร่มทำร้ายร่างกายสาวเอเชียพร้อมถ่มน้ำลายใส่ และตบท้ายด้วยคำสแลงเหยียดเชื้อชาติอย่างรุนแรง

เมื่อข่าวเผยแพร่ออกไปจึงมีการสอบสวนจากตำรวจและทราบข้อเท็จจริงภายหลังว่า มูลเหตุทะเลาะวิวาททั้งหมดทั้งมวลมาจากการแย่งกันจับราวบนรถไฟฟ้าเท่านั้น

การผสมปนเปผู้คนหลากเชื้อชาติภายใต้รัฐเดียวกัน รวมถึงแนวคิดผู้อพยพและผู้ลี้ภัยล้วนแล้วแต่ถูกตั้งอยู่บนฐานคิดว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Multiculturalism)

แนวคิดที่นำไปสู่การหาทางออกจากรากของความขัดแย้งในระยะเวลาไม่กี่สิบปีก่อนนี้ การก่อกำเนิดขึ้นของรัฐชาติที่มีหัวใจสำคัญอย่างการสถาปนาความเป็นหนึ่งได้นำไปสู่ข้อขัดแย้งมากมายจากมนุษย์หลากเผ่าพันธุ์ที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ในอาณาเขตเดียวกัน

ความเป็นหนึ่งที่ว่าถูกถ่ายทอดผ่านแบบแผน ธรรมเนียม ประเพณี วิธีคิด ข้อปฏิบัติมากมาย เพื่อทำให้คนเหล่านี้อยู่ในร่องในรอยที่รัฐพึงปรารถนา

ซึ่งวัฒนธรรมเดี่ยวที่รัฐพยายามหยิบจับยัดใส่ผู้คน นานวันเข้าก็ดูเหมือนจะยิ่งเป็นการเร่งเร้าให้คนในชาติตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของมัน

นโยบายพหุวัฒนธรรมจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการเข้ามาช่วยบรรเทาสถานการณ์ที่รอวันปริแตกเช่นนี้

 

ทว่าเมื่อแนวคิดว่าด้วยความหลากหลายถูกนำมาแทนที่วัฒนธรรมเดี่ยวเพื่อแก้ปัญหาก็คล้ายกับว่าสถานการณ์จะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ราวกับเป็นการตอกย้ำ “ความเป็นหนึ่ง” ของรัฐให้เห็นภาพแจ่มชัดมากขึ้น เพราะการชูแนวคิดพหุวัฒนธรรมในฐานะวัฒนธรรมหลักก็หมายความว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้รับการสถาปนาให้กลายเป็นค่านิยมหลัก (Universal Value) ที่ทุกคนพึงปฏิบัติ

เมื่อความหลากหลายยืนอยู่ในจุดของความเป็นสากล มันจึงไม่สามารถยอมรับค่านิยมหรือวัฒนธรรมอื่นๆ ได้อีกต่อไป

วิธีคิดดังกล่าวจึงไม่ต่างอะไรจากกรอบคิดแบบรัฐชาติที่ต้องการสถาปนาและควบรวมความเป็นหนึ่งไว้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงกลายเป็นแนวคิดที่มีความย้อนแย้งในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงถูกเรียกด้วยอีกชื่อหนึ่งว่า Boutique Multiculturalism หรือความหลากหลายอันสวยหรูเพียงเปลือก

เรายอมรับความแตกต่างหลากหลายได้เพียงรูปแบบการบริโภคนิยมแบบชนชั้นกลาง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย เสื้อผ้าหน้าผม อาหารการกิน สิ่งแปลกใหม่ที่น่าตื่นตา เราเลือกรับเพียงเพราะเป็นหนึ่งในรสนิยมที่ถูกจริตกับการใช้ชีวิตมากกว่าความหลากหลายจากแก่นแกนของมัน

เพราะอันที่จริงแล้วทุกคนล้วนมีรากวัฒนธรรมของตัวเองไว้ในใจตั้งแต่แรก

 

อย่างประเทศเยอรมนีก่อนหน้านี้กับกรณีผู้อพยพชาวตุรกี ยิว และมุสลิมที่ต้องเผชิญกับการเหยียดและถูกทำให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสองมายาวนาน กระทั่งพรรคกรีนมองเห็นและต้องการสร้างให้แฟรงก์เฟิร์ตกลายเป็นเมืองแห่งพหุวัฒนธรรมด้วยการเสนอนโยบายรับผู้อพยพด้วยเงื่อนไขว่า ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีวิชาชีพ

กลายเป็นว่านโยบายดังกล่าวไม่ได้รับผู้อพยพด้วยเหตุแห่งมนุษยธรรม แต่กลับเป็นการตั้งกฎเกณฑ์ที่ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาพใหญ่ของเยอรมนีที่แย่ยิ่งไปกว่าเดิม

เช่นเดียวกับกำแพงชายแดนเม็กซิโกของทรัมป์ ที่แม้หลายฝ่ายจะเห็นตรงกันว่า โปรเจ็กต์ดังกล่าวเป็นการผลาญงบประมาณอย่างเสียไม่ได้

ความดึงดันหัวชนฝาและการงัดข้อกับสภาคองเกรสของทรัมป์อย่างไม่ลดละด้วยเหตุผลที่ว่าคนเม็กซิโกเป็นต้นเหตุแห่งอาชญากรรมและความมั่นคงของสหรัฐก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงการเหมารวม (stereotype)

ความศรัทธาและยกยอชาติพันธุ์หัวทองตาน้ำข้าวผิวตกกระที่เหนือกว่าชาวมุสลิม หรือพวกเอเชียผิวเหลืองในยุคสมัยของทรัมป์ ประกอบกับการยกเลิกโครงการคุ้มครองผู้อพยพเด็กหาใช่สิ่งแปลกใหม่

ตรงกันข้าม พหุวัฒนธรรมที่ตกทอดมาหลายปีกลับยิ่งเป็นตัวกระตุ้นวัฒนธรรมเดี่ยวที่หยั่งรากฝังลึกลงไปในความรู้สึกนึกคิดของใครหลายคนจนยากที่จะขุดรากถอนโคนสิ่งเหล่านั้นและฝังกลบให้หมดสิ้นลงได้