(S)election : “อัจฉรา สรวารี” ผู้สานเจตนารมณ์เพื่อคนยากไร้ สู่เป้าหมายผลักดันนโยบายเพื่อสังคม

หากกล่าวถึงการดูแลปัญหาคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน คนยากไร้ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

“อิสรชน” คือมูลนิธิหนึ่งที่ไม่เพียงดูแลผู้คนที่นอนกินตามทางเท้าหรือในสวนสาธารณะ

แต่ยังเข้าไปมีบทบาทในการผลักดันนโยบายสวัสดิการสังคม ที่ทุกคนรวมถึงคนยากไร้เหล่านี้ ได้รับสิทธิให้มีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพเฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป

นที สรวารี คือชายที่เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญให้การประกาศถึงการมีอยู่ของปัญหาและแก้ไข จวบจนต้องจากไปด้วยวัย 48 ปี เมื่อเมษายนปีที่แล้ว

หน้าที่ทั้งหมดจึงส่งต่อให้กับอัจฉรา สรวารี หรือจ๋า คู่ชีวิตที่ร่วมงานกับนทีมาหลายปี

ทำให้อัจฉราจึงทำหน้าที่ทั้งแม่ที่ดูแลลูกชายเพียงคนเดียวและบริหารมูลนิธิอิสรชนในฐานะเลขาธิการ

ในบริบทสังคมไทย กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมที่ผลักดันประเด็นปัญหาให้ถึงผู้มีอำนาจเพื่อพิจารณาให้กลายเป็นมาตรการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมและนโยบาย มีโอกาสสำเร็จน้อยมาก

ยิ่งปัญหาที่ทั้งผู้มีอำนาจหรือคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยมองข้ามทั้งที่อยู่ใกล้ตัวด้วยแล้ว โอกาสสำเร็จยิ่งน้อยลง

การตัดสินใจเป็นนักการเมืองเพื่อส่งเสียงให้ประเด็นปัญหาไปถึงสภา จึงเป็นเส้นทางหนึ่งที่อัจฉราเลือกที่จะทำ

 

สานต่องานที่ทำด้วยรัก

อัจฉรากล่าวว่า หลังจากพี่นทีล่วงลับไปก็รับตำแหน่งเป็นเลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ทำหน้าที่เหมือนที่พี่นทีทำ เพราะเราทำมาด้วยกันตลอด 10 ปี ตั้งแต่เรียนจบ เป็นงานของเรา ความสุขของเราที่ได้ทำงานกับคน ได้เรียนรู้คน ได้เจอคนและพัฒนาคุณภาพชีวิตคน ที่จริงยังสานต่ออุดมการณ์ด้วย เพราะเราเป็นศิษย์ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เชื่อในแนวคิดจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เราอยากเห็นสวัสดิการที่ทั่วถึงและครอบคลุม

อีกบทบาทในตอนนี้คือแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็เป็นบทบาทที่ท้าทายแต่สนุกดี ในสังคมที่แม่เลี้ยงเดี่ยวเยอะมากขึ้น เลยทำให้เรียนรู้ว่า เราอยู่แล้ว และแข็งแกร่งด้วยตัวเอง

 

สวมเสื้อนักการเมือง

อัจฉรากล่าวอีกว่า ส่วนอีกบทบาทล่าสุดที่เลือกคือ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.สมุทรสาคร พรรคไทยรักษาชาติ

ตอนแรกลังเลเพราะด้วยความเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมแล้วจะมีภาพของนักการเมืองด้วย ทั้งที่สายงานคือการพัฒนาคน แต่พอมาจุดนี้ เราอยากเป็นการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่สามารถนำทุกกลุ่มมาตกลงและพัฒนาได้

คือไม่อยากให้นักการเมืองลงพื้นที่แล้วเข้าถึงประชาชนเฉพาะตอนหาเสียง ระบบบุญคุณ พาคุณลูกเข้าโรงเรียนแล้วต้องตอบแทนด้วยการเลือก ซึ่งไม่ใช่ ควรเป็นระบบเห็นการพัฒนา คุณมีใจไม่ต่างจากงานพัฒนาสังคม แค่คุณเห็นใจและเป็นตัวแทนประชาชนที่อยากพัฒนาเท่านั้นเอง

แบบของจ๋าคือการเป็นนักการเมืองสายพัฒนา เพราะฉะนั้น ทีมงานของจ๋าจะเป็นนักพัฒนาชุมชน นักพัฒนากิจกรรม นักกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เราเข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง นอกจากหาเสียงกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้ว จะเน้นลงชุมชนหาชาวบ้าน เพราะเราต้องการความยั่งยืนของชาวบ้าน

การที่ปัญหาจะลดลงได้ คุณภาพชีวิตประชาชนจะต้องดีขึ้น

 

ความเข้าใจใหม่กับ “คนเร่ร่อน”

อัจฉราทำงานเป็นนักพัฒนาในการดูแลกลุ่มคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ซึ่งจากการสำรวจล่าสุดของมูลนิธิอิสรชนพบว่า เพิ่มขึ้น 10% อยู่ที่ 3,993 คน จากปีที่แล้ว 3,630 คน ซึ่งค่อยๆ เพิ่มขึ้นแม้จำนวนจะน้อยก็ตาม แต่ระดับนโยบายในการดูแลคนกลุ่มนี้อยู่ตรงไหน

อัจฉรากล่าวถึงนโยบายต่อคนเร่ร่อนว่า คนเร่ร่อนนั้น สังคมเข้าใจว่าเป็นกลุ่มคนไม่มีบัตรประชาชน แต่คุณไม่ลงมาหาพวกเขา คุณก็มองข้ามคนกลุ่มนี้ เพราะไม่ใช่ฐานเสียงคุณก็จบ แต่ถ้าคุณสามารถคืนบัตร คืนตัวตนให้กับพวกเขา คุณได้ใจ เลือกคุณแน่

ในกลุ่มที่คืนบัตรประชาชนซึ่งมีมากกว่า 70% คือบัตรหาย ตกงาน ถูกยึดบัตร คนกลุ่มนี้คือการทำบัตรใหม่ แต่ในกลุ่มที่หาสำมะโนครัวไม่เจอ กลุ่ม 30% นั้นเป็นอีกเรื่อง ซึ่งมีอยู่ทุกชุมชน คิดว่าถ้านักการเมืองมองเห็นปัญหานี้อย่างแท้จริง จะเหมือนคุณที่คืนบัตรประชาชน

“กลุ่มคนเร่ร่อน 70% มีบัตรประชาชนอยู่แล้ว แต่เกิดสูญหายเพราะทำงานต่างๆ แล้วถูกโกง ถูกยึดหรือกระเป๋าเงินหาย แล้วให้กลับไปทำบัตรใหม่ที่ภูมิลำเนาเดิมก็ยาก สมัยที่จ๋าทำงานพัฒนาใหม่ๆ เมื่อหลายปีก่อน ทำบัตรใหม่ง่าย แค่เซ็นรับรอง ราชการรับรอง เพราะเราเป็นเอ็นจีโอที่ทำงานในพื้นที่จริง แต่สมัยนี้ต้องกลับไปทำที่ภูมิลำเนาเดิม ให้ผู้ใหญ่บ้านเซ็น หากว่าการเดินทาง คนไม่พร้อมที่จะรับการฟื้นฟู ยากนะที่จะได้บัตรคืนมา แล้วทุกรัฐบาลจะมองข้ามเรื่องนี้ คุณภาพชีวิตคนเหล่านี้ถูกมองข้าม” อัจฉรากล่าว

อัจฉรายังกล่าวด้วยว่า คนเร่ร่อนทั้งกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ในภูมิภาคเป็นแบบเดียวกัน เช่น โคราชเมืองใหญ่สุดในอีสานก็จะมีคนเร่ร่อนเยอะหน่อย เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมอะไรทำ ภาคใต้ลงมาก็สุราษฎร์ธานี เหนือก็เชียงใหม่ มีความเป็นคนในภูมิภาคของเขา คนเร่ร่อนอาจต่างแค่เพียงอยู่คนละภูมิภาค แต่พอเจอกันก็รวมเป็นหนึ่ง หลากอัตลักษณ์แต่เจอปัญหาร่วมกัน

ยิ่งไม่ได้ฟื้นฟู ก็ยิ่งจมกับปัญหา มีแต่ความทุกข์และเสียชีวิต

 

“คนเร่ร่อน” สังคมตีตราให้ถูกลืม?

เมื่อถามถึงแนวคิดของอัจฉราที่ว่าระบบดูแลผู้ยากไร้ คนเร่ร่อนมากเพียงพอแล้วแต่ขาดเพียงระบบการจัดการ อัจฉราขยายความส่วนนี้ว่า อยากให้นึกภาพว่าเรามีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง แล้วใช้งานไม่เป็นหรือใช้เพียงโปรแกรมเดียว ใช้ไม่คุ้มค่า

“รัฐได้แต่สร้าง รัฐเจอปัญหาก็สร้าง เช่น เจอผู้ป่วยทางจิตก็สร้างโรงพยาบาล จริงๆ ไม่ควรสร้างเพิ่ม คือรัฐสร้างได้ แล้วก็ปล่อยผู้ป่วยทางจิตออกมาใหม่ รัฐแค่แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ไม่เคยแก้ที่ต้นตอ รัฐไปสื่อสารว่าผู้ป่วยทางจิตไม่ดี น่ากลัว ใครอย่าเข้าใกล้ แต่ถ้ารณรงค์เป็นคนป่วย น่าเห็นใจ สังคมร่วมดูแลได้ เช่นเดียวกับปัญหาฝุ่นละออง ต้องสื่อสารยังไง ประชาชนเตรียมตัวยังไง เพื่อไม่ให้ปัญหากระทบ” อัจฉรากล่าว

เมื่อถามว่า คนเร่ร่อนไม่ควรได้รับสวัสดิการเพราะไม่ได้ทำงานเสียภาษีเหมือนประชาชนทั่วไปหรือไม่ อัจฉรากล่าวว่า สังคมตีตรา ก็ต้องย้อนไปที่การสื่อสาร เช่น โรคเอดส์เข้ามาประเทศไทยแรกๆ เป็นโรคที่น่ากลัว ทำให้คนตาย แต่วันนี้เปลี่ยนไปแล้ว แต่ความเชื่อที่ถูกตีตรายังอยู่ ผู้ป่วยเอดส์ก็เหมือนผู้ป่วยเบาหวาน กินยาควบคุมอาการก็อยู่ได้ ที่ตายจริงๆ คือ CD4 การไม่ดูแลสุขภาพตัวเอง ประชาชนรู้หรือไม่ กินอาหารร่วมกับผู้ป่วยเอดส์นั้นไม่ติด

ตอนนี้รัฐต้องสื่อสารใหม่ แต่ประโยคแรกคุณได้ตีตราไปแล้ว ฝังหัวประชาชนแล้ว เหมือนกับคนเร่ร่อน ก็ถูกตีตราว่าเป็นอาชญากร เป็นคนขี้เกียจ มีมือมีเท้าแต่ไม่ทำมาหากิน แต่กลับไม่สื่อสารว่าพวกเขาเป็นผู้ประสบปัญหาสังคมจากความล้มเหลวของระบบครอบครัว เศรษฐกิจ ชุมชน การพัฒนาเมือง แล้วหาทางออกร่วมกันยังไง อิสรชนต้องใช้เวลาสิบกว่าปีแก้ไข เพราะวาทกรรมเดียวที่รัฐส่งมา

“เพียงแค่ประโยคแรกที่คุณสื่อสารออกมา ถูกฝังหัวและประชาชนปัจจุบันก็เริ่มไร้เหตุผล ใช้อารมณ์ ใช้สังคมร่วม”

 

อย่างไรก็ตาม อัจฉรายอมรับว่า ลำพังเพียงตัวคนเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งประเทศ แต่เราคิดและทำ ปีหนึ่งอิสรชนส่งคนเร่ร่อนกลับบ้าน 30 คน ถือว่าน้อยแต่ไม่ออกมาเร่ร่อนอีก ถือว่าทำดีกว่าปล่อยให้ 30 คนมีคุณภาพชีวิตแย่หรือเป็นปัญหาต่อไป การดึงอาสาสมัครมาช่วยก็เพื่อมาเรียนรู้และเป็นกระบอกเสียงเพื่อบอกต่อ ลบล้างวาทกรรมในอดีต หรือแม้แต่สื่อลงมาสัมผัสก็เห็นว่าพวกเขาช่วยเหลือตัวเองได้

“จ๋าถึงหาหนทาง ถามว่าทำไมถึงผลักดันแต่ไม่ได้อยากเป็นนักการเมือง เราอยากเป็นนักพัฒนาในแบบทางการเมือง ถ้าถึงจุดนั้นเราสามารถผลักดันได้ ส่งปัญหานี้เข้าไป คือเหมือนว่าบางทีต้องโต แต่เราจะช่วยในมุมไหนเข้าไป”

อัจฉราย้ำว่า การเลือกเส้นทางนักการเมืองสำหรับจ๋าไม่ได้หวังอะไรมากมาย อย่างน้อยนักการเมืองที่ร่วมงานด้วย อาจได้เห็นปัญหาและมีแนวโน้มเชิงบวกมากขึ้น แม้จะไม่เป็นรูปธรรมในทีเดียว แต่อย่างน้อยปัญหาได้ถึงหูพวกเขา

สำหรับนโยบายสวัสดิการสังคม อัจฉรากล่าวว่า ไม่ใช่แค่คนเร่ร่อน แต่เป็นสวัสดิการของคน การพัฒนา “คน” ปากท้องสำคัญก็จริง แต่ถ้าสวัสดิการไม่ได้รองรับ ก็น่าเป็นห่วง

“ถ้าพูดอย่างง่ายๆ วงจรชีวิตคน “กิน-ขับถ่าย-มีเพศสัมพันธ์-นอน” สุดท้ายมนุษย์หาความสุขของตัวเอง เหมือนกันถ้าเราทำงานที่ไม่ชอบ แต่ก็หางานที่มีความสุข แต่ก็มีปัจจัยอื่นเข้ามา ฉะนั้น คนเร่ร่อนก็มีความต้องการมีชีวิต แต่พวกเขาล้มแล้วลุก ไม่มีโอกาส จนท้อแท้ เป้าหมายจุดหมายของชีวิตหายไป พวกเขาจึงเหลือเพียงใช้ชีวิตเพื่อรอความตาย”

ทั้งนี้ อัจฉรากล่าวอีกว่า สงสัยไหมว่าทำไมพวกเขาไม่เลือกฆ่าตัวตาย คนเร่ร่อนคนหนึ่งบอกกับจ๋าว่า ชีวิตของเค้าสร้างมาด้วยความรักของพ่อแม่ ไม่มีวันทำลายบุพการีที่สร้างชีวิตขึ้นมา แต่กระนั้นสังคมไทยเป็นสังคมที่ต้องดิ้นรน หาความสุขให้ตัวเองไม่ได้ เพราะไม่มีสวัสดิการรองรับ

จึงต้องเก็บเสียแต่ตอนนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระใคร