บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /อยู่กับเรา ‘กระเป๋าตุง’ (จริงหรือ)?

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

อยู่กับเรา ‘กระเป๋าตุง’ (จริงหรือ)?

 

หลายครั้งสิ่งที่จะชี้ขาดการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในโค้งท้ายๆ ก็มักขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนสามารถคิดหา “สโลแกนโดนใจ” ประชาชนได้มากกว่ากัน สโลแกนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นอยู่ในสถานการณ์ไหน ประชาชนหวาดกลัวหรืออยากได้อะไร

ในยุคปัจจุบันนั้น แน่นอนว่าเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง เป็นเรื่องหลัก นำมาเล่นกับอารมณ์ของชาวบ้านเพื่อโน้มน้าวจูงใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น รัฐบาลหรือพรรคที่กำลังบริหารประเทศอยู่จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้บริหารประเทศ แต่กำลังรอเลือกตั้งเป็นฝ่ายได้เปรียบ

กล่าวอีกอย่างก็คือ ฝ่ายพูดได้เปรียบฝ่ายทำ เพราะฝ่ายทำนั้นประชาชนเห็นผลงานแล้วว่าเป็นอย่างไร และตามอารมณ์มนุษย์แล้วมักจะหวังผลสูงในแง่เศรษฐกิจ แม้รัฐบาลที่กำลังบริหารประเทศจะทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่ก็จะไม่เป็นที่พอใจของประชาชนอยู่ดี หากแต่อยากได้มากไปกว่านี้ โดยมักไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่นอกเหนือการควบคุมของประเทศไทย

ประกอบกับรัฐบาลนี้อยู่มานาน 4 ปีกว่า เป็นธรรมชาติที่ห้วงเวลาแห่ง “น้ำผึ้งพระจันทร์” ย่อมหมดลง

 

เรื่องเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องซับซ้อน ต้องมองหลายอย่างประกอบกัน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ (ไม่ว่าประเทศไหน) มักจะไม่เข้าใจความซับซ้อนนี้ แต่จะมองผลลัพธ์อย่างเดียว ทั้งที่ในโลกความเป็นจริง ผลลัพธ์นั้นจะเป็นอย่างไรก็ต้องขึ้นกับปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ

ปัจจุบันปัจจัยภายนอกที่ถือว่าส่งผลกระทบต่อไทยค่อนข้างมากก็คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจเบอร์ 1 และ 2 ของโลก ซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจนตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป เห็นได้จากปีที่แล้วเศรษฐกิจจีนเติบโตเพียง 6.6% ต่ำสุดในรอบ 28 ปี อันเป็นผลจากการที่สหรัฐตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีน

ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐนั้น แม้จะยังเติบโตได้ดี แต่ 6 เดือนหลังของปีหน้าเป็นต้นไป อาจเข้าขั้นถดถอย อันเนื่องจากปัญหาหลายอย่างที่เกิดจากนโยบายการบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมทั้งการปิดหน่วยงานราชการหลายแห่งหรือชัตดาวน์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์เกิน 30 วันเข้าไปแล้ว เนื่องจากรัฐบาลและฝ่ายค้านขัดแย้งด้านงบประมาณ ทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานรัฐ ซึ่งประเมินว่าจะทำให้จีดีพีสหรัฐหายไปไม่น้อย

เมื่อสองยักษ์ใหญ่อ่อนแอลง ประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทย ก็จะส่งออกได้น้อยลง เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่เปลี่ยนแปลงมานานมากแล้ว แม้แต่ในยุคคุณทักษิณที่กล่าวอ้างกันว่าเก่ง ก็ไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างนี้ กล่าวคือ ยังพึ่งพาการส่งออกอยู่ 60-70% ของจีดีพี

 

อย่างที่กล่าว การนำเรื่องเศรษฐกิจมาเน้นย้ำขยี้โจมตีรัฐบาล โดยพยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีดีอะไรสักอย่าง ล้มเหลวทุกเรื่อง เป็นธรรมชาติของนักการเมืองที่ต้องการหาคะแนนเสียง โดยเลือกหยิบยกแต่เรื่องแย่มาพูด แต่จงใจไม่พูดถึงด้านดี อย่างที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งกำลังใช้สโลแกน “อยู่กับเรากระเป๋าตุง อยู่กับลุงกระเป๋าแฟบ”

ต้องยอมรับว่าเป็นสโลแกนที่โดนใจ เพราะเข้าใจง่าย สื่อสารกับชาวบ้านได้ดี เหมือนอ่านสโลแกนที่ติดไว้ท้ายรถสิบล้อ

นักการเมืองที่กำลังหาเสียงเลือกตั้ง ย่อมไม่พูดถึงด้านบวกของรัฐบาล เช่น ปีที่แล้วและปีนี้ข้าวราคาดี หอมมะลิตันละ 16,000-18,000 บาท / ทำรายได้จากท่องเที่ยวสูงเป็นประวัติการณ์เพราะบ้านเมืองไม่มีประท้วง / การช่วยผ่อนภาระค่าครองชีพประชาชนด้วยการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ / สามารถดำเนินการจนสหภาพยุโรปยอมปลดใบเหลืองให้กับประมงไทยได้สำเร็จ ช่วยให้สินค้าประมงไทยส่งไปขายยุโรปและทั่วโลกได้

นอกจากนี้ เดือนธันวาคมปีที่แล้ว บลูมเบิร์กยกให้เงินบาทของไทยเป็นสกุลเงินที่มีความ “เคลื่อนไหวดีที่สุด” ประจำปี 2561 จากจำนวนเงินทั้งหมด 22 สกุลของตลาดเกิดใหม่ที่บลูมเบิร์กติดตามความเคลื่อนไหว

บลูมเบิร์กระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวได้ดี สามารถฟันฝ่าปัจจัยลบทั้งจากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน รวมทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย ประกอบด้วย ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลทุกเดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 และเฉพาะไตรมาส 3 ของปีที่แล้วเกินดุลถึง 7.7% ของจีดีพี สูงที่สุดในเอเชีย

บลูมเบิร์กระบุอีกว่า ปี 2560 และปี 2561 ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกเดือน (แม้อัตราการเพิ่มขึ้นจะชะลอลงตามภาวะตลาดโลก) จึงช่วยหนุนส่งค่าเงินบาท นอกจากนี้ ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 2.03 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าเกณฑ์ที่ไอเอ็มเอฟกำหนดถึง 2 เท่า

คำว่า “เคลื่อนไหวได้ดี” ตามความหมายของบลูมเบิร์ก หมายถึงเงินบาทไม่ได้สวิงตัวรุนแรงไปตามปัจจัยภายนอกที่มากระทบ โดยเฉพาะการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย ที่มีผลให้เงินลงทุนในตลาดเกิดใหม่ไหลกลับไปสหรัฐ ทำให้ค่าเงินของตลาดเกิดใหม่หลายประเทศอ่อนตัวลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเทศที่มีหนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐมาก บางประเทศ เช่น ตุรกี อ่อนลงเกือบ 40%

การที่เงินบาทเคลื่อนไหวได้ดี จึงสะท้อนประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและดูแลเสถียรภาพการเงิน ซึ่งได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทยและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการหารายได้เข้าประเทศ (ส่งออก ท่องเที่ยว ฯลฯ)  กล่าวโดยรวมก็เป็นผลงานของรัฐบาล

 

สําหรับพรรคการเมืองที่ชูสโลแกน “อยู่กับเรากระเป๋าตุง อยู่กับลุงกระเป๋าแฟบ” นั้น ประชาชนก็ต้องฟังหูไว้หู ว่าของจริงจะทำได้หรือไม่ เพราะความฝันกับความจริงต่างกัน โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไป การเติบโตของการค้าโลกถดถอยลงมากนับจากวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในสหรัฐเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ถึงแม้พรรคนี้จะชนะเลือกตั้ง จะทำให้ประชาชน “กระเป๋าตุง” ไปได้กี่น้ำ เพราะพรรคนี้ยังไม่ได้สัญญาอะไรสักอย่างว่าจะไม่สร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ ด้วยการผลักดันกฎหมายอะไรสักอย่างแบบเดียวกับกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย

ส่วน “เงาใหญ่” ที่ครอบทับพรรคนี้อยู่ ก็กำลังจัดรายการ “Good Monday” ควบคู่ไปด้วย ขณะที่ “ตัวปัญหา” ระดับรองๆ ลงมาที่เคยใช้วาจาท้าทาย เย้ยหยันและเลือกปฏิบัติต่อประชาชน เช่น “ไม่สร้างศูนย์ประชุมนานาชาติให้ภูเก็ต เพราะไม่มีอารมณ์ ให้รอไปก่อน” (โดยมีเสื้อแดงตบมือเฮแสดงความสะใจ) ซึ่งเป็นการพูดขณะไปเปิดศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ ก็ยังอยู่ในพรรคนี้

ถ้าพรรคนี้ชนะ บ้านเมืองจะสงบไปได้สักกี่เดือน อย่าลืมว่าถ้าไม่สงบ นักท่องเที่ยวก็หายไป รายได้ก็หายไป อย่าลืมอีกเช่นกันว่า “รัฐบาลลุง” นั้นสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมาชดเชยการส่งออกที่ลดลงได้มาก กล่าวคือ รายได้จากการท่องเที่ยวขยับขึ้นจาก 10% ไปเป็นเกือบ 20% ของจีดีพีแล้ว สูงกว่าทุกรัฐบาล

ถ้าพรรคที่ไม่ชอบความสงบ เข้ามาบริหารประเทศ ลองจินตนาการดูว่า เงินจากส่งออกก็น้อยลงเพราะเศรษฐกิจโลกเติบโตน้อยลง แถมนักท่องเที่ยวก็ไม่มา นักลงทุนต่างชาติก็ไม่กล้าลงทุน (แม้จะมาจากการเลือกตั้งก็ช่วยอะไรไม่ได้)

จะเอาเงินที่ไหนมาทำให้ชาวบ้านกระเป๋าตุง