วิวาทะ “โดนสั่งให้ทำ-ปชต.บกพร่อง-ปั่นป่วนวุ่นวาย?” ความพยายามสกัด “กลุ่มค้านเลื่อนเลือกตั้ง” เติบโต? 

การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักกิจกรรมที่มีชื่อภายหลังว่า “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ได้กลับมาปรากฏบนหน้าสื่ออีกครั้งกันตั้งแต่สัปดาห์แรกของปีใหม่ 2562 ด้วยการชุมนุมบนสกายวอล์กบีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ก่อนจะเดินขบวนเรียกร้องสื่อสารกับประชาชนผู้สัญจรไปมารอบวงเวียนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการเดินทางและการจราจรหนาแน่นที่สุดในเมืองหลวง

ก่อนปรากฏอีกครั้งที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 8 มกราคม และอีกครั้งเมื่อ 13 มกราคมที่ผ่านมา

โดยครั้งล่าสุดไม่มีเพียงที่เดียว แต่ยังกระจายไปอีกหลายแห่ง เช่น นครปฐม เชียงราย พะเยา และเชียงใหม่

โดยการก่อตัวนับตั้งแต่ปีใหม่มานี้ สิ่งที่ต่างออกไปคือ การไม่มีอยู่ของคำสั่ง คสช.3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกออกไป

อีกทั้งประชาชนที่ไม่เคยมีส่วนร่วมทางการเมืองก็ตบเท้าร่วมชูข้อความ “ไม่เลื่อนเลือกตั้ง” หรือแฮชแท็กสุดแรงอย่าง #เลื่อนแม่มึงสิ อีกทั้งประชาชนที่สัญจรผ่านการชุมนุมก็ยังให้ความสนใจ

การก่อตัวอย่างช้าๆ สอดประสานกับกระแสต่อต้านบนโลกโซเชียลที่ทวีความหนักแน่นมากขึ้น หลังจากแนวโน้มการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะไม่เกิดขึ้น และวันที่ชัดเจนที่สุดก็ไม่รู้ว่าจะมีเมื่อไหร่?

แรงกดดันจึงตกอยู่กับรัฐบาล คสช.ที่ต้องพยายามลดทอนหรือสกัดกั้นการต่อต้านไม่ให้ขยายตัวไปได้

 

การสกัดกั้นการต่อต้านคัดค้านเลื่อนเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่การสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าไปหานักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวที่ประกาศตัวว่าจะเข้าร่วมก่อนกิจกรรมจะเริ่มไม่กี่วัน ไม่ว่าทั้งโทรศัพท์หาเพื่อหว่านล้อมไม่ให้ไปร่วมกิจกรรม หรือแม้แต่นัดชวนกินกาแฟ

แต่คำตอบที่ได้รับคือ ไปร่วมกิจกรรม

วิธีดังกล่าวถูกใช้มาตลอดการบริหารประเทศของ คสช.ในการปราบปรามฝ่ายต่อต้านอำนาจ คสช. ที่ประกาศว่าไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่ใช้วิธีส่งเจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้าหาเป้าหมายซึ่งอยู่คนเดียวหรือกับครอบครัว ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนมองว่าเป็นการคุกคามแบบหนึ่ง

การใช้ IO หรือสร้างข่าวเท็จก็เป็นอีกวิธีในการชักจูงให้อีกฝ่ายเชื่อและต่อต้านเป้าหมาย

ซึ่งจนถึงตอนนี้ ฝ่ายต่อต้าน คสช.เรียนรู้วิธีการทำงานของ IO ไม่ว่าในโลกโซเชียลหรือจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่เข้าแทรกซึม เก็บข้อมูลนักกิจกรรมเพื่อใช้ข่มขู่ให้เกิดความกลัวจนเลิกร่วมชุมนุม

แต่วิธีการดังกล่าวใช้ไม่ได้ผลแล้ว กลับยิ่งทำให้ผู้ร่วมชุมนุมกล้ามากกว่าเดิม

จนถึงคราวที่ผู้มีอำนาจได้ออกมาแสดงความเห็นและกลายเป็นวิวาทะท่ามกลางกระแสเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

 

เริ่มจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ตอบสื่อถึงการเคลื่อนไหวที่มากขึ้นว่า ไม่กังวล ก็มีคนอยู่นิดเดียวจากคนตั้ง 70 ล้านคน กับคน 100 กว่าคน ไปกังวลอะไร ก็ตั้งใจจะป่วนไม่ใช่เหรอ ใช่เปล่า ใช่มั้ย ก็ตั้งใจจะป่วน ก็ไม่มีอะไร

หรือก่อนหน้านี้ อย่าง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่กล่าวกับสื่อช่วงวันเด็กที่ผ่านมาว่า ต่างคนต่างความคิด คนบางคนคิดอย่างนี้ และโดนสั่งให้มาทำอย่างนี้ ก็คิดอยู่ในโหมดนี้อย่างเดียว ไม่ได้มององค์ประกอบต่างๆ ว่าจะมีผลอย่างไร ไม่ได้มองถึงรัฐธรรมนูญและกรอบเวลาที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดไว้แล้ว

“มันก็มีคนประเภทนี้ในสังคมไทย ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ถ้าอยากให้เป็นอย่างนี้ อยากจะให้เกิดความวุ่นวาย ก็เป็นหน้าที่ของฉันที่จะต้องทำให้เกิดความวุ่นวายอยู่อย่างนี้ ผมคิดว่าคนที่เขาเข้าใจคงจะรำคาญ ประชาชนที่อยากทำมาหากินตามปกติ และที่มีเหตุผลว่าทำไมจะต้องเลื่อนเลือกตั้ง ผมก็ยังไม่ได้รับทราบ เพราะ กกต.ยังไม่ได้ประกาศวันเลือกตั้งเป็นทางการ ก็ตีความกันไป ทุกอย่างมันมีเวลา ทุกอย่างมีกรอบเวลาและมีกฎหมายรองรับ โดยเฉพาะ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ถ้าไปคิดตามไทม์ไลน์ ปฏิทินการเลือกตั้งทุกอย่างก็อยู่ในกรอบเวลา ส่วนงานพระราชพิธี ต้องบอกว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย แต่คนพวกนี้ก็ไม่เคยคิด อย่างที่ผมบอก คนพวกนี้ก็คิดแบบนี้ จะไปเปลี่ยนเขาก็ไม่ได้” พล.อ.อภิรัชต์กล่าว

หรืออีกหนึ่งความเห็นอย่าง พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.ที่กล่าวว่า ถ้ามองอย่างพิจารณา อาจตั้งข้อสังเกตได้ไหมว่าการเคลื่อนไหวบางอย่างได้กลายเป็นอาชีพหนึ่งไปเสียแล้ว เป็นวิธีการเดิมๆ ที่บางกลุ่มนำมาใช้ โดยบางครั้งไม่ได้สนใจบริบทสังคมโดยรวม

“การเคลื่อนไหวแบบมีนัยยะ วิจารณ์ด้วยทัศนคติเชิงลบ ไม่น่าเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตย ไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคม กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ระยะหลังมีความกราดเกรี้ยวในถ้อยคำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการชูประเด็นเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แล้วผลักผู้อื่นให้ไปอยู่ตรงข้าม อาจมองได้ถึงวุฒิภาวะทางประชาธิปไตย ที่กำลังบกพร่อง”

 

ความเห็น 3 นายทหารที่กล่าวถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง สะท้อนถึงความพยายามลดทอนและเบี่ยงเบนความสำคัญ จากกลุ่มการเมืองที่มีเป้าหมายทำให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทย ให้เหลือเพียงพวกรับจ้างป่วน ชูความเป็นประชาธิปไตยโดยไม่เห็นความสำคัญ (ตามความเชื่อของผู้มีอำนาจ)

เป็นพวกก่อกวน สร้างความวุ่นวาย และหวังให้สังคมเห็นคล้อยตามเพื่อร่วมกดดันหรือไม่ร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่ว่านี้ สำหรับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งถือว่าเป็นสิ่งน่าละอาย

โดย น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้ออกมาตอบโต้คำสัมภาษณ์ของ พล.อ.อภิรัชต์ว่า คำว่า “คิดอย่างนี้และโดนสั่งให้มาทำอย่างนี้” หมายความว่าอะไร ใครสั่ง การยืนยันหลักการประชาธิปไตยพื้นฐาน และการปกป้องสิทธิทางการเมืองของตนเอง เป็นสามัญสำนึกที่มีได้ในประชาชนทุกคน ไม่มีมนุษย์คนใดจะสั่งมนุษย์คนไหนให้ต้องการความยุติธรรม มันคือคุณสมบัติติดตัวมนุษย์ทุกคนตั้งแต่เป็นเด็กยังไม่รู้ภาษา

ตรงกันข้าม ในฐานะเลขาธิการ คสช. ใครสั่งให้ท่านมาละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วยเงินภาษีของเรามาเกือบห้าปี?

นี่เป็นคำถามที่คนอยากเลือกตั้งอยากได้ยินเหมือนกันว่า พล.อ.อภิรัชต์จะตอบอย่างไร? 

 

วิวาทะที่เกิดขึ้น ได้สะท้อนถึงฐานคิดระหว่างผู้มีอำนาจอย่าง คสช.กับประชาชนในไทย ว่าพวกเขามองการเลือกตั้งและอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไหนกันอยู่?

ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาล คสช.ได้ปิดกั้นและปราบปรามการต่อต้านของฝ่ายต่อต้านการขึ้นมามีอำนาจของ คสช.ด้วยการรัฐประหาร ซึ่งตามข้อมูลของไอลอว์ ตั้งแต่วันที่ประกาศยึดอำนาจ จนถึงปัจจุบัน มีคนถูกเรียกไปรายงานตัว/เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,318 คน, ถูกจับกุมอย่างน้อย 597 คน, ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 94 คน, ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 91 คน, พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน

ถึงตอนนี้ การเลือกตั้งจะยังไม่รู้วันที่แน่ชัด แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวกับสื่องว่า วันที่ 24 มีนาคม เหมาะสม แต่ก็ยังสรุปไม่ได้จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาอย่างเป็นทางการ แต่เหนือสิ่งอื่นใด คสช.ได้วางหมากสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว โดยหัวใจสำคัญคือ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เกิดขึ้นจาก กรธ.โดยการแต่งตั้งของ คสช., กกต.ที่ถูกแต่งตั้งโดย สนช. ซึ่ง คสช.เป็นผู้แต่งตั้ง มี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน และหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ พร้อมรับคำสั่งให้ทำหน้าที่ หรือแม้แต่กองทัพที่ประกาศเป็นส่วนหนึ่งของ คสช.และไม่สามารถแยกจากกันได้ เพื่อทำให้การเลือกตั้งสำหรับ คสช.เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย และเป็นประชาธิปไตยในแบบ คสช.

อีกทั้งยังมีพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช.อย่างพรรคพลังประชารัฐ อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัยผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่กำหนดโดย คสช.

อย่างไรก็ตาม ฌอน คริสปิน ได้เขียนบทวิเคราะห์ลงในเอเชียไทม์สระบุถึงแหล่งข่าวภายใน กอ.รมน.ว่า พรรคเพื่อไทยมาแน่และชนะแบบถล่มทลาย แต่อาจตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะเสียงของ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน และมีโอกาสประชาชนจะลุกฮือ

สิ่งนี้หรือไม่ ที่อาจทำให้วันเลือกตั้งยังไม่สามารถระบุได้

การก่อตัวของคนคัดค้านเลื่อนเลือกตั้งครั้งนี้ อาจเป็นผลจากความลังเลหรือไม่แน่นอนในอำนาจของ คสช.เองก็เป็นได้