ชิงไหวชิงพริบสุดพลัง! คลอด“ก.ม.ปิโตรเลียม”กองหนุน-ต้านซัดกันนัว อ้าง“ผลประโยชน์ชาติ”เป็นเดิมพัน

เจอโรคเลื่อนอีกครั้ง
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่…) พ.ศ. …
และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. …

หลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา มีมติเห็นชอบให้แก้ไขหลักการร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ในประเด็นคำจำกัดความของคำว่า “service contract” ที่แปลไว้ว่า “จ้าง สำรวจ และผลิต”

โดย กมธ. เห็นว่ายังไม่ครอบคลุมเนื้อหารายละเอียดทั้งหมด จึงแก้ไขเป็นว่า “จ้าง บริการ” ซึ่งมีเนื้อหาครบถ้วน ครอบคลุม ทั้งสำรวจ และผลิต หรือทั้งสองอย่างก็ได้ และตรงกับคำว่า “service contract”

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้แก้ไขในร่าง พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียมด้วย

โดยหลังจากนี้ กมธ. จะนำมติดังกล่าวไปหารือกับวิป สนช. เพื่อประสานกลับไปยังรัฐบาลเพื่อขอแก้ไขเนื้อหาในร่างทั้งสองร่าง โดยเป็นการแก้ไขในหลักการ ไม่ใช่ในรายละเอียด

จึงต้องให้รัฐบาลเป็นผู้พิจารณาแล้วส่งกลับมายังคณะ กมธ.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า เป้าหมายที่รัฐบาล โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อยากให้กฎหมายผ่าน สนช. ภายในปี 2559 ต้องเลื่อนออกไปอีกหรือไม่

เพราะเดิมร่างแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ ได้ขอขยายระยะเวลาต่อที่ประชุม สนช. มาแล้ว 3 ครั้ง รวม 120 วัน

โดยการขอขยายครั้งแรก 30 วัน ถึงวันที่ 21 กันยายน ครั้งที่ 2 ขอขยายอีก 30 วัน ถึงวันที่ 21 ตุลาคม และครั้งที่ 3 ที่ประชุม สนช. ก็เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปอีก 60 วัน ถึงสิ้นสุดวันที่ 21 ธันวาคม 2559

แต่จับอาการเจ้ากระทรวง พล.อ.อนันตพร แล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่หนักใจมากนัก

คาดว่าเจ้าตัวน่าจะได้หารือกับ กมธ. และรับทราบมติก่อนหน้าการประชุม กมธ. แล้ว

จึงชิงให้สัมภาษณ์ว่า หากไม่สามารถดำเนินตามกรอบได้ ก็พร้อมขยับการประกาศร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) ในการประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย

คือ แหล่งเอราวัณ ของบริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) และแหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะหมดอายุสัมปทานปี 2565-2566 จากเดือนมีนาคม 2560 ออกไปเป็นช่วงกลางปีแทน

ซึ่งยอมรับว่าล่าช้าเล็กน้อย แต่ยืนยันว่ากระบวนการประมูลจะต้องเกิดขึ้นภายในปี 2560 โดยกระทรวงได้หารือกับเอกชนผู้ลงทุนแล้ว และเอกชนเข้าใจดี

ขณะที่ นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) มองว่า กมธ. ไม่ใช่ตีกลับในหลักการของกฎหมายที่กระทรวงพลังงานเสนอ

ทั้งนี้ หาก สนช. เสนอกลับมา ครม. ก็อยู่ที่การพิจารณาของ ครม. ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

อาจคงคำว่า “จ้าง สำรวจ และผลิต” เหมือนเดิมก็ได้ แต่หากรับข้อเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงคำ ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็จะทำข้อเสนอต่อ ครม. พิจารณาเช่นกัน

ส่วนจะเปลี่ยนคำ หรือคงคำเดิม ก็อยู่ที่การพิจารณาของ ครม.

หลังจากนั้น ครม. จะเสนอกลับไป สนช. เพื่อพิจารณาแปรญัตติในวาระ 2 และ 3 ต่อไป

คาดว่า สนช. จะพิจารณาออกกฎหมายได้ภายในเดือนธันวาคม 2559

ส่วนกรณีที่รัฐบาลสามารถตั้งเป้าหมายประกาศใช้กฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับได้ภายในสิ้นปี 2559 นั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะนำเสนอกฎหมายรองจำนวน 5 ฉบับ

ประกอบด้วย แบบคำขอผลิตด้วยรูปแบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี)

แบบคำขอผลิตด้วยรูปแบบจ้างสำรวจและผลิต (เอสซี)

แบบสัญญาผลิตด้วยรูปแบบพีเอสซี

แบบสัญญาด้วยรูปแบบเอสซี อัตราการเก็บค่าภาคหลวงด้วยรูปแบบพีเอสซี

คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน และสามารถกำหนดร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) สำหรับการประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย คือ แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกชได้

จากนั้นน่าจะประกาศรายชื่อผู้ประมูลได้ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2560 และจะประกาศผู้ชนะประมูลได้ในปี 2560

จากท่าทีโอนอ่อนแบ่งรับแบ่งสู้จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทำให้เกิดความสงสัยว่า ความพยายามออกกฎหมายของกระทรวงพลังงานจะสะดุดหรือไม่

หรืออีกมุมก็อาจมีการล็อบบี้เสียงสนับสนุนไว้เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาจทำให้ฝ่ายคัดค้านร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับอย่างเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เตรียมจัดทัพเคลื่อนไหวอีกรอบ

หลังจากก่อนหน้าทำสำเร็จด้วยการตั้งโต๊ะแถลงข่าวก่อนการประชุม กมธ. เพียง 2 วัน

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี

โดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำ คปพ. เรียกร้องให้ กมธ. พิจารณากฎหมาย 2 ฉบับ อย่างรอบคอบ โดยระบุว่า ข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ ที่กระทรวงพลังงานเสนอให้มีการกำหนดให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตและรับจ้างผลิตนอกเหนือจากระบบสัมปทาน ตามที่ คปพ. เรียกร้อง แต่มองว่ายังไม่มีวิธีปฏิบัติที่เพียงพอ

“ควรแก้ไขหลักการกฎหมาย เพราะร่างที่ผ่านพิจารณาวาระแรก แม้ว่าจะเพิ่ม 2 ระบบการจัดการแหล่งปิโตรเลียมเข้ามาก็จริง แต่เป็นแค่เพียงการเติมชื่อไว้เพิ่มเติมท้ายร่างเท่านั้น ไม่มีวิธีปฏิบัติที่เพียงพอ เพราะส่วนใหญ่อิงกฎหมายสัมปทานเดิม เป็นสัมปทานจำแลง จึงเห็นว่าควรจะโหวตแก้ไขหลักการ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ส่งกลับมาพิจารณาอีกครั้ง” ม.ล.กรกสิวัฒน์ ระบุ

ขณะที่ นางรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แกนนำต่อต้านสำคัญอีกคนหนึ่งก็ออกมาระบุว่า หากโหวตผ่านร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ประชาชนก็อาจเข้าชื่อถอดถอน สนช. เหมือนกับที่เคยถอดถอน ส.ส. 310 คน ที่เคยโหวตผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย

และบอกว่าหาก สนช. โหวตผ่านกฎหมายดังกล่าวเท่ากับว่า สนช. เป็นเครื่องมือผ่องถ่ายทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีมูลค่าปีละ 4-5 แสนล้านบาทไปให้เอกชนทั้งที่ประชาชนคัดค้าน เป็นพฤติกรรมที่น่าจะเข้าข่ายการกระทำทุจริตเชิงนโยบายเหมือนอดีตนักการเมือง

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช

ขณะที่ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แสดงความเชื่อมั่นว่า กระทรวงพลังงานจะจัดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2560 ได้ แม้ว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม อาจจะพิจารณาล่าช้าไปบ้าง

โดยหากประมูลทั้ง 2 แหล่งไม่ทันในปี 2560 จะเกิดปัญหาต่อการวางแผนการลงทุนของเอกชน และจะส่งผลให้ปริมาณก๊าซจาก 2 แหล่งลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปี หลังจากหมดอายุสัมปทานจนน่าเป็นห่วง

ขณะที่ นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซ ธรรมชาติ ปตท. ย้ำว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จะหายไปจนกระทบผู้บริโภค

เพราะปัจจุบันผลิตจากโรงแยกก๊าซครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้

พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์
พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์

ส่วนคนกลางอย่าง พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธาน กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม สนช. ยอมรับว่า มีกระบวนการอยากให้คณะ กมธ.วิสามัญฯ ถอนร่างกฎหมายออกไป แต่คณะ กมธ.วิสามัญฯ ไม่มีอำนาจถอนออก เพราะ สนช. เป็นผู้รับร่างกฎหมายมา ซึ่งหากต้องการให้ถอนร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับออกไป จะต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุม สนช. ก่อนเท่านั้น

“อยากพิจารณากฎหมายฉบับนี้ให้จบเร็วๆ เพราะรัฐบาลก็เร่งมา โดยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ก็ขอให้ สนช. เร่งกฎหมาย 2 ฉบับนี้ให้เสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ ผมก็พยายามเร่งให้อยู่ แต่ต้องมีคุณภาพ เร่งมากไปและไร้คุณภาพ ผมก็ถูกติติง” พล.อ.สกนธ์ กล่าว

เป็นการบอกให้รู้ว่า เป็นเรื่องที่ยากจริงๆ ที่จะทำให้ถูกใจทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนอย่างกระทรวงพลังงาน กับฝ่ายคัดค้าโดย คปพ. ที่คัดค้านแบบฝุ่นตลบ

จึงเป็นภารกิจสำคัญของ กมธ. ที่จะทำให้สำเร็จโดยต้องยึดเอาประโยชน์ประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ส่วนจะถูกใจหรือขัดใจใครบ้างนั้นผู้เกี่ยวข้องก็ต้องทำใจยอมรับให้จงได้

ถึงเวลาที่ปฏิรูปอย่างจริงจัง อย่าเล่นนอกเกม มุ่งแต่ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง แต่ควรยึดผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก อย่างที่ปากพูดกันปาวๆ จะดีกว่าไหม!!