คุยความคิด “จุฬญาณนนท์ ศิริพล” “Ten Years Thailand” เมืองไทยจำลอง และอนาคตในทศวรรษหน้า

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน


เป็นผลงานฝีมือผู้กำกับฯ ไทยที่ได้ไปไกลถึงเมืองคานส์อีกชิ้น สำหรับ Ten Years Thailand ที่เล่าเรื่องเมืองไทยผ่านจินตนาการและความคิดผ่าน 4 เรื่องสั้น 4 ผู้กำกับฯ ที่กลั่นประสบการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในไทยในห้วงทศวรรษ และเป็นภาพสะท้อนคาดการณ์ถึงสังคมไทยในอนาคต ได้ปรากฏสู่สายตาผู้ชมไทยหลายแห่ง

เรื่องราวที่นำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ผ่านสิ่งของ เครื่องแต่งกาย หรือสัตว์ รวมถึงพฤติกรรม ความเชื่อ ถูกร้อยเรียงให้เราหันมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวหลายปีที่ผ่านมา หลายเรื่องอาจไม่ได้สังเกตหรือรู้สึกเพราะด้วยหลายปัจจัย

แต่หากถูกถามว่า “10 ปีข้างหน้าของเราจะเป็นอย่างไร” หลายคนที่อยู่ในสังคมปัจจุบันก็อาจเริ่มฉุกคิดขึ้นมาบ้าง

 

จุฬญาณนนท์ ศิริพล หรือเข้ ผู้กำกับฯ หนุ่มเจ้าของผลงาน “ท้องฟ้าจำลอง” (Planetarium) 1 ใน 4 เรื่องสั้นของ Ten Years Thailand (TYT) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์นี้ว่า ก่อนหน้านี้ตัวเองทำแต่หนังสั้นมาตลอด 10 กว่าปีในช่วงเรียนมัธยม แต่ในขณะเดียวกันก็ทำงานศิลปะแนววิดีโออาร์ต

จนมาช่วงหลังๆ ที่ทำหนังเกี่ยวกับสังคม การเมืองไทย จนโปรดิวเซอร์ของ TYT ได้ติดต่อชวนร่วมงาน โดยเล่าว่า ทำเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ว่าผู้กำกับฯ จะมองถึงอนาคตประเทศตัวเองยังไง

ตัวเองสนใจเพราะทำเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่แล้ว ก็อยากมาร่วมโปรเจ็กต์นี้ และยังได้ทำหนังร่วมกับผู้กำกับหนังที่มีชื่อเสียง ไม่ว่า วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง หรืออภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เราจึงเด็กสุดในทั้งหมด

เข้กล่าวถึงผลตอบรับของภาพยนตร์ TYT หลังเข้าฉายได้อาทิตย์กว่าว่า มีทั้งชอบและไม่ชอบ รวมถึงแบบว่า ไม่เห็นเป็นโลกอนาคต แต่พูดถึงอดีตมากกว่า ตัวเองคิดว่านั้นเป็นประเด็นเพราะในแง่กระบวนการทำหนัง ทุกคนไม่ได้คุยกันมาก่อน แต่ได้โจทย์เหมือนกันแล้วไปคิดพล็อตเรื่องในแบบของตัวเอง โดยไม่ได้คุยกัน จนได้มาดูหลังร้อยเรียงเสร็จ ก็พบว่า ไม่ได้คุยกันแต่เรื่องมีความเชื่อมโยงโดยไม่ได้ตั้งใจ

สรุปทุกคนเห็นประเทศไทยในทิศทางเดียวกัน อาจด้วยเพราะผู้กำกับฯ ที่มีแนวคิดคล้ายกัน มองโลกคล้ายกัน

ส่วนเรื่องสั้นที่ไล่ลำดับตั้งแต่ Sunset – Catopia – Planetarium – Song of the City เป็นการจัดของโปรดิวเซอร์เอง โดยเป็นคนดูทั้งหมดแล้วเลือกว่าอะไรก่อน-หลัง และยังตั้งใจไม่ให้มีชื่อเรื่อง

เพื่อให้รู้สึกว่าเป็นหนังเดียวกัน ก่อนเฉลยใน end credit

 

Ten Years Thailand ตั้งโจทย์เกี่ยวกับอนาคตประเทศไทย แต่หนึ่งในความคิดที่จะบ่งบอกอนาคตคือ การย้อนบทเรียนในอดีตและสภาพในปัจจุบัน

จุฬญาณนนท์กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมาเราเผชิญปัญหาทางการเมือง เราตั้งคำถามไม่ว่าอยู่ฝั่งไหน ความเป็นประชาธิปไตย ดีหรือจำเป็นต่อสังคมไทยอย่างไร โดยตัวเองเติบโตอยู่ในกรุงเทพฯ เริ่มสนใจการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2552 และในฐานะคนเมือง รู้สึกได้รับผลกระทบต่อชีวิต การเดินทาง และเริ่มตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย

หนังสั้นเรื่อง “ท้องฟ้าจำลอง” (Planetarium) คือ 1 ใน 4 เรื่องที่กำกับฯ โดยจุฬญาณนนท์ นำเสนอเกี่ยวกับความเชื่อผ่านระบบการศึกษาที่เน้นวินัย เอกลักษณ์และความเชื่อหนึ่งเดียวภายใต้อิทธิพลทางการเมืองและศาสนาแบบไทยๆ และใช้เอฟเฟ็กต์ 3 มิติและไซไฟยุค 80 ที่มีสีสันฉูดฉาดราวกับหลุดเข้าโลกในจินตนาการ

ซึ่งจุฬญาณนนท์อธิบายหนังของตัวเองว่า หนังเรื่องนี้ เอามาจากประสบการณ์ตอนเรียนมัธยม โดยรู้สึกว่าการบังคับให้ต้องตัดผมทรงเดียวกัน เหมือนกับทำลายความรู้สึกว่า เราอยากมีสิทธิออกแบบทรงผมของเราเอง แต่กลับมีกฎระเบียบบางอย่างที่ทำอะไรเหมือนกัน จึงนำเอาสิ่งนั้นมาใส่ในหนัง

อาจเปรียบเทียบถึงประเทศไทยว่า เป็นเหมือน “โรงเรียนขนาดใหญ่” หรือเปล่า ที่มีครู มีผู้อำนวยการมาชี้นำว่าอะไรดี ไม่ดี

และผู้อำนวยการคนนี้ยังมีอำนาจสอดส่องความเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ว่าในที่สาธารณะหรือสถานที่ส่วนตัวอย่างห้องน้ำ

ส่องเข้าถึงชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน

ส่วนความคิดในการสร้างหนังของตัวเองนั้น พอพูดถึง 10 ปีข้างหน้า ก็คิดถึงความเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยมีที่ทางยังไงบ้าง ซึ่งจากการที่ได้ดู ก็พบว่าความเป็นตรรกะหรือความเป็นเหตุผลในสังคมไทย บางครั้งบิดเบือน ไม่เป็นเหตุเป็นผล

ความขัดกันตรงนี้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะเอามาขยายและพูดถึงอนาคตของประเทศ พื้นที่ท้องฟ้าจำลองที่แสดงถึงความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่พื้นที่เดียวกันนั้น ความเป็นโรงเรียนที่ถูกทำให้เชื่อและคิดแบบเดียวกัน ภายใต้อำนาจเดียวกันยังคงดำเนินไป

ความขัดแย้งของตรรกะหรือความเชื่อจึงถูกสะท้อนออกมาผ่านหนัง

 

โปรเจ็กต์ Ten Years Thailand นับเป็นการรับช่วงต่อจาก Ten Year Hong Kong ซึ่งผู้กำกับฯ ของฮ่องกงทำหนังที่เล่าถึงฮ่องกงห้วงทศวรรษข้างหน้าในแบบของตัวเอง โดยจุฬญาณนนท์กล่าวอีกว่า ในส่วนฮ่องกง พวกเขาคิดว่าฮ่องกงในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จึงโยนโจทย์ให้ผู้กำกับฯ หน้าใหม่ 5 คน ไปทำ หนังที่ออกมาก็พูดถึงฮ่องกง อย่างการครอบงำจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้หนัง TYHK ถูกแบนในจีน แต่กลับได้รับความนิยมในฮ่องกงจนได้รับรางวัล และทำให้เกิดการขยายคำถามไปถึงหลายประเทศในเอเชีย ไม่ว่าไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือไทย

ของญี่ปุ่นจะมีความหลากหลาย เพราะเริ่มต้นจากการดูบท ไม่ได้เลือกที่ตัวผู้กำกับฯ ทำให้เรื่องถูกนำเสนอหลายประเด็น อาทิ สังคมผู้สูงวัย สิ่งแวดล้อม กัมมันตภาพรังสี ชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น

ส่วนการออกไปสู่งานเมืองคานส์นั้น จุฬญาณนนท์กล่าวว่า คนต่างประเทศที่ไม่รู้บริบทของไทยหรือประวัติศาสตร์ไทย จะมองหนังเรื่องนี้ไปอีกทาง

แตกต่างจากที่คนดูชาวไทยมองที่มักคุ้นเคยกับสิ่งต่างๆ ที่ถูกใช้ในหนัง

 

ส่วนหนังจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้แค่ไหน ผู้กำกับฯ หนุ่มกล่าวว่า การดูภาพยนตร์เป็นการดูในจำนวนมาก อาจต่างจากงานศิลปะแขนงอื่น ที่จะต้องเฉพาะกลุ่ม หรือดูได้ไม่มาก และภาพยนตร์สามารผลิตซ้ำได้ สามารกระจายและสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคมได้

ซึ่งแรงสะเทือนดังกล่าว เหมือนวาทกรรม แทนที่จะพูดด้วยคำพูดแต่เราใช้หนังพูด สร้างสารบางอย่างสื่อสารให้กับคนหมู่มาก ถ้าหนังมีพลังพอก็สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดคนในสังคมได้

สำหรับจุฬญาณนนท์แล้ว 10 ปีของสังคมไทย เราบอบช้ำมามากในทางการเมือง แต่โครงสร้างของประเทศยังถอยหลัง จึงคิดว่า มาตรฐานทางการเมืองควรจะมั่นคงกว่านี้ เราคิดถึงช่วงเด็ก อย่างปี 2540 ที่เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จึงมีความรู้สึกว่าแทนที่จะติดลบ 10 กลับมาที่ศูนย์ก็ยังดีกว่า

แต่คิดว่า 10 กว่าปีที่ปัญหาเกิดขึ้น ประชาชนน่าจะได้เรียนรู้มากขึ้น