ตีแผ่! หลายนคราประชานิยม กับ ‘นิยามความจน’ แบบ ‘ชนชั้นกลาง’

ประเด็นที่ถูกวิจารณ์กันอย่างเผ็ดร้อนทั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์ และโลกออนไลน์คงหนีไม่พ้นประเด็นซานต้าตู่แจกเงินคนจน 500 บาท/ราย

จนเกิดการถกเถียงวิจารณ์ไปต่างๆ นานา

ทั้งประชานิยม ไปจนถึงการใช้ภาษีไม่สมเหตุสมผล ก็ล้วนเป็นคำที่วิจารณ์กันจนเห็นได้ทั่วไป

แต่การจะบอกแบบฟันธงว่าการใช้ภาษีงบประมาณประเทศจำนวนมากกว่า 2,000 ล้านบาท เป็นประชานิยมเหมือนรัฐบาลจากพรรคการเมืองชั่วร้ายเหมือนในอดีตหรือไม่นั้น อาจจะต้องขึ้นอยู่กับการตีความ

เหมือนที่รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม กล่าวว่า การกระทำไม่ใช่ประชานิยม ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จะนิยามว่าเป็นหรือไม่อาจไม่สำคัญเท่านโยบายประเภทเดียวกันที่มุ่งอุ้มชูประชาชนรายได้น้อยที่มีอยู่อย่างมหาศาลในประเทศไทยนั้น สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติทางสังคมการเมืองแบบใด ผ่านคำวิจารณ์นโยบายเหล่านั้น ที่ออกมาจากผู้มีอันจะกินในเมืองใหญ่ นับตั้งแต่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกโจมตีจนถึงทุกวันนี้ว่าทำให้คนไม่รักษาสุขภาพ รวมถึงโรงพยาบาลขาดทุน

หรือนโยบายเช็คช่วยชาติ 2,000 บาทของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมถึงนโยบายค่าแรง 300 บาท และจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เองก็เช่นกันที่ถูกวิจารณ์ถึงความเป็นประชานิยมอันหวังซึ่งคะแนนเสียง

ซึ่งเมื่อเอามาประมวลแล้ว เราจะสามารถทำความเข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ผ่าน 2 ประเด็น ได้แก่

การแบ่งแยกชนชั้น และการที่มองว่าคนจนนั้นซื้อได้

 

แบ่งแยกชนชั้น

หากอิงตำราวิชาการเพื่ออธิบายข้อถกเถียงและการวิจารณ์นโยบายในเรื่องการเรียกร้องคะแนนเสียงหรือประชานิยมในช่วงที่ผ่านมานั้น จะพบว่ารากความคิดที่น่าสนใจอยู่ไกลไปถึงตำราการเมืองไทยชิ้นสำคัญอย่าง “สองนคราประชาธิปไตย” ที่เขียนโดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์

มีแก่นหลักอธิบายได้สั้นๆ ว่า “ชนบทเลือกรัฐบาล คนในเมืองไล่รัฐบาล” ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับช่วงเวลาที่ผ่านมาในการขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ของกลุ่ม กปปส.นั้นเราจะพบคำพูดบนเวทีชุมนุมจำนวนมาก ที่สะท้อนถึงการหยั่งเท้าในแนวคิด 2 นคราประชาธิปไตย

นับตั้งแต่การปราศรัยของนายเสรี วงษ์มณฑา ต่อกลุ่มผู้ชุมนุมในการเปรียบเทียบคนเมือง 3 แสนคน ว่ามีคุณภาพมากกว่า 15 ล้านเสียงที่เลือกรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ไปจนถึงการที่ศาสตราจารย์สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ ที่ปรึกษากลุ่มผู้ชุมนุมเวทีดังกล่าว ได้เสนอแนวคิดนี้อีกครั้งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันว่า หลักการ 1 คน 1 เสียงไม่เหมาะที่จะใช้กับสังคมไทย

แม้แต่วาทกรรมรถไฟความเร็วสูงใช้ขนผัก รวมถึงคอมเมนต์จำนวนนับไม่ถ้วนบนโลกอินเตอร์เน็ตในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยกขั้วตรงข้าม

แม้ชนบทจะเจริญขึ้นด้วยโลกาภิวัตน์ แต่รูปทรงทางการเมืองแบบ 2 นครากลับถูกถ่างให้กว้างขึ้นจากนิยามพื้นที่ความเจริญแบบภูมิศาสตร์ ไปสู่ฐานะทางการเงินและการจ่ายภาษี ผ่านการนิยามความประชานิยมของนโยบาย

ประกอบกับการนั่งไล่อ่านคอมเมนต์การเมืองในช่วงเวลาที่ประเด็น “แจก 500 บาท” ยังคงฮอตฮิตของผู้เขียนนั้น ทำให้พบสิ่งที่น่าสนใจภายใต้ความคิดเห็นเหล่านั้น ได้แก่ ชนชั้นกลางทำงานหาเงินจ่ายภาษี เพื่อให้รัฐบาลแจกเงินชนชั้นล่างเพื่อหาเสียง… ทำนองเดียวกันกับ 2 นคราประชาธิปไตยเป๊ะๆ

กล่าวคือ เป็นการมองว่าคนจนและคนชั้นล่าง หรือที่ใน 2 นคราประชาธิปไตย มองว่าเป็นคนชนบทนั้น โง่ จน เจ็บ ถูกซื้อได้ และคนที่กำลังลำบากท่ามกลางการใช้งบประมาณสิ้นเปลืองคือชนชั้นกลาง จนหลงลืมไปว่างบประมาณจากภาษีทั้งประเทศ ถูกทุ่มเข้าสู่การสร้างความเจริญในกรุงเทพฯ จนมีลักษณะเป็นเมืองโตเดี่ยวในปัจจุบัน

รับรู้ได้อย่างนี้ก็น่าถอนหายใจ ชนชั้นกลางในเมืองมองว่าตนสูงส่งมาตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยหลงลืมความเหลื่อมล้ำจริงๆ ที่เกิดขึ้น และเร้นหลบอยู่ในสังคม พร้อมทั้งดึงให้ชนชั้นล่างจนลงทุกวัน ชนชั้นบนรวยขึ้น พวกเขามองว่าการให้อะไรบางอย่างแก่ชนชั้นล่างเลวร้าย…. อาจจะเลวร้ายกว่าการให้สิทธิ์นายทุนก็ได้ใครจะไปรู้

ซึ่งหากหยิบยกนโยบายที่ถูกก่นด่าว่าประชานิยมมาถกกันเราจะเห็นได้ว่า แม้นโยบายบางประเภท เช่น แจกเงินคนจน 500 บาท และเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ตลอดจนประกันราคาข้าว จะดูคล้ายแจกเงินแบบตรงไปตรงมา แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหลายนโยบายที่ถูกนิยามไปว่าเป็น “ประชานิยม” กลับช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้จริง

เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเพื่อให้คนทุกเหล่าเข้าถึงการรักษาพยาบาล เป็นต้น

ทั้งนี้ นโยบายแนวดังกล่าวมีความน่าสนใจตรงที่ความไม่พยายามแบ่งแยกผู้เข้าถึงนโยบาย เหมือนดังเรื่องบัตรคนจน ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงวิธีการคัดกรองผู้มี “สิทธิ์” ได้รับ

และนโยบายแนวดังกล่าวนั่นเอง ที่เป็นที่นิยมในต่างชาติ ไม่ใช่เพื่อการเรียกคะแนนเสียง แต่คือการลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านการอัดฉีดสิ่งพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนในระดับที่มีรายได้น้อยที่สุด มีชีวิตที่ดีพอจนสามารถตั้งตัวและจ่ายภาษีอย่างเป็นระบบได้

เหมือนดังเช่นระบบสุขภาพในประเทศอังกฤษ ที่นอกจากจะจ่ายค่ายาให้แล้ว ในบางกรณียังแถมค่ารถกลับบ้านให้ด้วย

 

คนจนซื้อได้

การที่มองว่าคนจน คนต่างจังหวัด ไปจนถึงคนเหนือ-อีสาน ซื้อได้ ก็เป็นอีกทัศนคติที่น่าสนใจของชนชั้นกลาง ในเมือง รวมถึงศิลปิน และดาราหลายคนที่มองไปก่อนแล้วว่ากลุ่มคนดังกล่าว เป็นผู้เลือกนักการเมืองขี้ฉ้อ อย่างทักษิณ ชินวัตร และเป็นฐานเสียงหลักในพรรคแบบไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย รวมไปถึงการซื้อเสียงผ่านหัวคะแนนในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นทัศนคติฝังหัวที่มีอิทธิพลมาก

มากเสียจนหลงลืมความจริงที่ว่าแม้ถูกซื้อเสียงเขาเหล่านั้น ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่กาให้ หากไม่พอใจในการทำงาน การแจกเงิน 500 บาท ของรัฐบาล คสช.เองก็เช่นกัน

ยิ่งเมื่อเอางานวิจัยมาพลิกซ้ายขวาดู ยิ่งพบความจริงที่ชวนหัวเราะยิ่งกว่า เมื่องานวิจัยผลการเลือกตั้งปี 2554 ของรองศาสตราจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “พลวัตองค์ความรู้และมายาคติว่าด้วยการเลือกตั้งในชนบทไทย” ที่เปิดเผยข้อมูลว่า การกล่าวหาว่า คนเหนือ-อีสาน มีแนวโน้มซื้อเสียงได้ง่ายที่สุดกลับไม่เป็นความจริง

เพราะมีอัตราการลงคะแนนเสียงให้คนที่จ่ายเงินให้เพียง 7% และ 7.6% ตามลำดับ ในขณะที่ภาคที่มีตัวเลขสูงที่สุดคือภาคใต้ ที่ 19.3%

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าว เป็นงานวิจัยที่มีอายุเกิน 5 ปีมาแล้ว ซึ่งเราก็ไม่สามารถทราบได้ว่าผลจากงานวิจัยดังกล่าวยังคงเป็นจริง หรือคำกล่าวและวาทกรรมแบ่งแยกชนชั้นนั้นต่างหากเล่าที่ยังคงเป็นจริง

แต่สิ่งหนึ่งที่เราพอเอื้อนเอ่ยได้ คือความทะนงตัวของชนชั้นกลางในฐานะผู้แบกรับประเทศนี้เป็นของจริง ซ้ำยังเป็นผู้ลอยตัวเหนือการเมือง ทั้งที่ปัญหาการเมืองในช่วง 5 ปีหลังของประเทศไทยเป็นผลพวงจากการลากเอากองทัพ มาเหนือระบบประชาธิปไตยที่ตรวจสอบได้ของเหล่าม็อบปัญญาชนในเมือง…
กล่าวคือ คนที่กำลังก่นด่ารัฐบาลเรื่องแจกเงิน 500 บาทวันนี้ อาจเป็นคนกลุ่มเดียวกับคนที่เรียกทหารมาเป็นรัฐบาล คสช.ในวันนั้นก็ได้

เอาเถิด การเมืองยังคงดำเนินต่อไป แต่หากแม้ปัจเจกยังมุ่งดูถูกกันเอง และทะนงตัวแบบผิดๆ รวมถึงให้ราคาคนในรูปแบบที่หนีไม่พ้น 2 นครา แบบอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ก็ยิ่งยากที่ประชาชนจะร่วมกันตรวจสอบผู้มีอำนาจแบบเป็นระบบได้