วงค์ ตาวัน : หวังให้เลือกตั้งสหรัฐล้มเหลว

วงค์ ตาวัน

กลายเป็นว่า สถานการณ์ในสหรัฐภายหลัง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง แล้วมีชาวอเมริกันออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้าน แสดงความไม่ยอมรับประธานาธิบดีคนใหม่ในพฤติกรรมก้าวร้าว กักขฬะ ได้ทำให้คนกลุ่มหนึ่งในไทยออกอาการดีอกดีใจอย่างออกนอกหน้า

โดยคาดหวังว่าการประท้วงจะลุกลามจลาจล จนสหรัฐอเมริกาต้องแตกเป็นเสี่ยง และปรารถนาให้ลงเอยเป็นความล้มเหลวของประชาธิปไตยและการเลือกตั้งในอเมริกา

ดีไม่ดี อาจจะแอบภาวนาให้กองทัพสหรัฐออกมาก่อการรัฐประหารด้วยซ้ำ

ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ระบบเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอเมริกานั้น พัฒนาก้าวหน้าและมั่นคงแข็งแกร่งยิ่ง

ส่วนกองทัพสหรัฐ ยิ่งใหญ่เกรียงไกร แผ่เขี้ยวเล็บไปทั่ว แทรกแซงรุกรานไปทั้งโลก แต่ไม่สามารถเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้แม้แต่น้อยนิด

“ประชาธิปไตยในสหรัฐ ไม่เคยโดนแทรกแซงด้วยอำนาจนอกระบบ!”

ความคาดหวังของคนไทยกลุ่มหนึ่ง ที่เพ้อฝันว่า การประท้วงต่อต้านทรัมป์จะขยายวงจนทำให้อเมริกาเข้าขั้นวิกฤตนั้น

คงด้วยเพราะความชิงชังในบทบาทของสหรัฐที่ทำตัวเป็นผู้นำโลกประชาธิปไตย และกดดันรัฐบาลทหารของไทยอย่างหนักมาโดยตลอด

เพราะภาพการเลือกตั้งและบรรยากาศประชาธิปไตยอันอบอวลทั่วสหรัฐ ทำให้กระบวนการล้มประชาธิปไตยในไทย ถูกตั้งคำถามอย่างหนักไปทั่วบ้านทั่วเมืองในวันนี้

“คนไทยกลุ่มนี้จึงมีอาการเนื้อเต้น เมื่อเกิดการประท้วงผลเลือกตั้ง คล้ายกับจะพบทางออก ในการทำให้การล้มประชาธิปไตยในไทยเราดูดีขึ้นมาบ้าง”

ทั้งคิดไปไกลว่า ถ้าม็อบลุกลามจนถึงขั้นล้มเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐได้ ก็จะได้มีข้ออ้างอธิบายให้กับสังคมไทยได้ว่า ระบบเลือกตั้งในอเมริกายังล้มเหลวเลย

เพราะฉะนั้น ในบ้านเราก็อย่าไปโหยหาการเลือกตั้งให้เสียเวลา อยู่แบบไม่ต้องเลือกตั้ง ปฏิรูปไปก่อนอย่างนี้ดีที่สุด อะไรทำนองนั้น

“อาการของคนไทยกลุ่มนี้ สะท้อนว่าการใช้อคติและอารมณ์อยู่เหนือเหตุผลและความจริง ที่เป็นมาตลอดในช่วงร่วมกันชุมนุมเพื่อให้ทหารออกมายึดอำนาจ ยังไม่ได้เจือจางลงไป”

ไม่ได้ดูข้อเท็จจริงด้วยซ้ำว่า บรรยากาศการประท้วงนายทรัมป์ ที่ลุกลามไปทั่วหลายเมืองหลายรัฐของอเมริกานั้น เป็นการออกมาชุมนุมแบบต่างคนต่างมา ไม่ได้มีกลุ่มองค์กรหรือขบวนการใดๆ เป็นแกนนำ

ที่สำคัญ เป็นการประท้วงแบบแสดงความไม่พอใจ ไม่ยอมรับ เพื่อระบายออก แต่ไม่ใช่การประท้วงที่มีเป้าหมาย ไม่ได้มีข้อเรียกร้อง เช่น ไม่มีการหยิบประเด็นว่า การเลือกตั้งมีการทำผิดกฎหมาย ต้องล้มเลิก ไม่ได้ตั้งเป้าหมายการประท้วงว่า นายทรัมป์ต้องออกไป ไม่ควรรับตำแหน่ง

ไม่มีแม้กระทั่งการขีดเส้นตาย เช่น ถ้านายทรัมป์ไม่ยอมประกาศยุติการเข้ามาเป็นประธานาธิบดี ใน 5 วัน 7 วัน ก็จะลุกฮือครั้งใหญ่กว่านี้

ม็อบเช่นนี้ จะลุกลามขยายตัวและยกระดับไปมากกว่านี้ได้อย่างไร!?

 

มีนักวิชาการท่านหนึ่ง ได้เปรียบเทียบอาการของคนไทยที่วุ่นวายกับผลการเลือกตั้งสหรัฐและเร่งโหมกระแสการชุมนุมประท้วงหลังเลือกตั้งอย่างหน้ามืดตามัวว่า ในจีนเขาเสียดสีกันในโลกออนไลน์ว่า เหมือนพวกขันทีที่จับกลุ่มเม้าธ์กันเรื่องเซ็กซ์

ช่างเปรียบเทียบเสียดสีได้ดีจริงๆ

“พูดไปก็น่าขำ เพราะคนไทยพวกนี้ร่วมกันล้มประชาธิปไตย เลยอยากให้การเลือกตั้งในอเมริกาต้องโดนล้มไปด้วย”

ทั้งที่เข้าใจได้ไม่ยากว่า ความเป็นดินแดนที่มีเสรีภาพของอเมริกานั้น ทำให้คนจำนวนไม่น้อย ที่โกรธแค้นพฤติกรรมก้าวร้าว เหยียดเพศ เหยียดผิว ในตัวนายทรัมป์ จึงพากันเดินออกมาตามท้องถนน เพื่อแสดงออกอย่างเปิดเผยว่า ไม่ต้องการให้คนนี้เป็นผู้นำของประเทศเขา

รวมไปถึงความไม่เคารพในสิทธิมนุษยชนของนายทรัมป์ ทำให้คนจำนวนมาก เกรงว่า ผู้นำแข็งกร้าวเอียงขวาคนนี้ จะมีนโยบายรุนแรงกับผู้อพยพ หรือกับคนต่างเชื้อชาติศาสนาที่พำนักอยู่ในอเมริกา จึงพากันออกมาแสดงการคัดค้านให้ได้รับรู้กัน

แต่การชุมนุมประท้วง ไม่เคยมีข้อเรียกร้องทำนองว่า นายทรัมป์ต้องไม่รับเก้าอี้ประธานาธิบดี นั่นเพราะระบบเลือกตั้งของสหรัฐมั่นคงและก้าวหน้า ฝ่ายไหนชนะแพ้ก็ต้องน้อมรับผล และไปเร่งปรับปรุงนโยบายการทำงาน เพื่อต่อสู้กันใหม่ในการเลือกตั้งหนหน้า

อีกทั้งย้อนดูประวัติศาสตร์การเลือกตั้งในสหรัฐจะพบว่า ระหว่างพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ผลัดกันแพ้ชนะตลอด ฝ่ายหนึ่งแพ้ก็สู้ใหม่ในอีก 4 ปี หรืออย่างมากก็ 8 ปีหรือ 2 วาระ ก็จะพลิกกลับมาเป็นฝ่ายชนะบ้าง เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด

“ดังนั้น ไม่ว่าจะป็นฝ่ายขวา หรือฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายเสรีนิยมในการเมืองอเมริกา ทุกฝ่ายมีเวทีเดียวคือการเลือกตั้ง และไม่มีฝ่ายไหนที่สิ้นหวังกับระบบนี้ ไม่มีฝ่ายไหนที่ไม่เคารพระบบนี้”

สำคัญสุดทุกฝ่ายเคารพเสียงประชาชนผู้มาลงคะแนนอย่างแท้จริง เคารพการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

ในสหรัฐ ไม่เคยมีฝ่ายที่หลงว่าตนเองเป็นคนดี กลุ่มตนเองมีความรู้สูง แล้วเหยียดหยามคนชนบทว่า ความรู้ยังไม่มากพอ ยังไม่ควรมาร่วมตัดสินใจทางการเมือง

ในประเทศที่การเมืองเจริญแล้ว ไม่มีใครจัดการชุมนุมประท้วงรัฐบาล แล้วพอรัฐบาลยอมยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ แต่ไม่ยอมเลือกหนทางนี้ ยังคงชัตดาวน์เพื่อประเทศเข้าสู่จุดวิกฤต เพื่อทำทุกอย่างให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง

“อันเป็นหนทางที่ทำให้ประชาธิปไตยสะดุด ไม่พัฒนา ต้องวนอยู่ในอ่าง”

แล้วทำให้ประชาชนถูกกีดกันออกไปจากการร่วมตัดสินใจ ประชาชนมีหน้าที่แค่นั่งรอคอยอย่างเฉยๆ เพื่อให้คนกลุ่มเดียวมาขีดเขียนกติกา แล้วถึงเวลาคายอำนาจ ก็เรียกให้มาเลือกตั้งกันที

นี่คือวิถีที่ทำให้ประชาชนยิ่งไม่ได้เรียนรู้ ไม่มีส่วนร่วมพัฒนาการเมือง

สหรัฐไม่ได้เป็นชาติที่เลอเลิศอะไร แต่การเลือกตั้งและประชาธิปไตยที่นั่น เป็นแบบอย่างของการยึดเสียงประชาชนเป็นใหญ่

 

แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย กับการคาดหวังว่า การประท้วงต่อต้านนายทรัมป์ในอเมริกา จะลุกลามเป็นสงครามแตกหัก การประท้วงประธานาธิบดีคนที่ 45 ยากจะขยายวงไปมากกว่านี้ และเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ชุมนุมจะสมคบคิดกับอำนาจนอกระบบในอเมริกา และไม่มีทางเลย ที่กองทัพสหรัฐจะเตรียมก่อการล้มประชาธิปไตย

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐหนนี้ กลับจะยิ่งเป็นข้อเท็จจริงให้คนไทยได้ตระหนักว่า ประเทศที่การเมืองก้าวหน้า ไม่มีฝ่ายอนุรักษนิยมล้าหลังคอยวางแผนกับกลุ่มอำนาจนอกระบบคอยเตะตัดขานั้น

“มีอยู่จริงในโลก และมีอยู่ในหลายๆ ประเทศ”

ไทยเราก็เคยเดินมาถึงจุดนี้

“แต่ถูกฉุดให้ถอยหลังไปเพื่ออะไร!?”

ไม่ว่าจะอธิบายให้ดูหรูหราเช่นไร แต่สิ่งที่คนไทยเห็นได้ไม่ยากเลยก็คือ การเมืองไทยเรายังไม่ได้ดีเลิศสมบูรณ์แบบ แต่การพัฒนาต้องเป็นไปเรื่อยๆ ด้วยการเติบโตทางความคิดและการมีส่วนร่วมของประชาชน

วิธีหยุดประชาธิปไตย ให้อำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการ

นั่นคือการยึดอำนาจการเมืองไปจากมือประชาชน และคือการทำให้ประชาชนยิ่งไม่เติบโตในทางการเมือง

บรรยากาศการเลือกตั้งในสหรัฐ จึงกลายเป็นเครื่องประจานความล้าหลังของการเมืองไทย โดยฝีมือคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มนั้น!