ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 ธันวาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | เชิงบันไดทำเนียบ |
ผู้เขียน | ปรัชญา นงนุช |
เผยแพร่ |
ภายหลังการ ‘ปลดล็อคพรรค’ ถือว่าหมดฤดูจำศีลของ ‘ฝ่ายการเมือง – กลุ่มการเมือง’ ทุกขั้ว แต่วันนี้การศึกทางการเมืองเปลี่ยนไป ไม่ใช่ ‘เพื่อไทย – ประชาธิปัตย์’ แต่เป็นขั้วเอาและไม่เอาคสช. โดยมี ‘พรรคพลังประชารัฐ’ เป็นแม่ทัพขั้ว คสช. ที่ปูทางวางทัพกันมาร่วมปี ส่วนขั้วต้าน คสช. นำโดยพรรคตระกูลเพื่อ และ ไทยรักษาชาติ ทษช. ที่ถูกมองเป็น ‘ระบอบทักษิณรุ่นลูก’ ที่ล้วนมีแต่ลูกหลาน ‘นิวเจนเพื่อไทย’ ไปรวมตัว
.
ในสภาวะ ‘ปลดล็อคพรรค’ หลัง ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ยกเลิกคำสั่ง คสช. 9 ฉบับ ที่มีผลต่อการหาเสียง-ชุมนุมทางการเมือง แค่เพียง 1 วัน ก็เริ่มมีแรงเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ สะท้อนว่า 4 ปีที่ผ่าน กลุ่มเคลื่อนไหวแค่ถูก ‘แช่แข็ง’ ไป เพราะ คำสั่งคสช.ที่คุมอยู่ จนทำให้ ‘บิ๊กตู่’ ถึงขั้นตัดพ้อ ‘เหนื่อยใจ’ ออกมา
แต่ ‘พี่ใหญ่’ อย่าง ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่คุมความมั่นคง ยืดอกสู้ “ผมไม่เหนื่อย ผมเอาอยู่มา 4-5 ปีแล้ว ไม่มีอะไรหรอก จะให้ตีกันอีกหรอก ไม่มีแล้ว เพราะเวลานี้คนเขารู้แล้ว ประชาชนรู้อยู่แล้ว”
.
สภาวะหลัง ‘บิ๊กตู่’ ไม่มีคำสั่ง คสช. ใช้คุมการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะได้เห็นนับจากนี้ และหาก ‘บิ๊กตู่’ กลับมาเป็น นายกฯอีกครั้ง แต่ไม่มี ม.44 ใช้ฝ่าทางตัน และต้องทำงานกับบรรดา ‘นักการเมืองซีเนียร์’ แน่นอนว่า ‘นักการเมืองเฟรชชี่’ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องกรำศึกหนักนี้ไม่น้อย ไม่นับรวมเสียงจากขั้วต้าน คสช. ที่ก็หวัง ‘เช็กบิลคืน’ อยู่ด้วย
.
ผู้ที่จะมาเคียงข้าง ‘บิ๊กตู่’ เพื่อกรำศึกนี้ หนีไม่พ้น ‘บิ๊กป้อม’ ที่ถูกจับตาว่าเป็น ‘ผู้จัดการรัฐบาล’ จนต้องออกมาปฏิเสธข่าว ไม่ได้สายตรงถึงใคร โดยเฉพาะกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ทั้ง ‘บิ๊กป้อม’ และ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ต่างเปิดช่องพร้อมคุยกัน ด้วยสายสัมพันธ์ในอดีตที่ พล.อ.ประวิตร เคยเป็น รมว.กลาโหม สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ด้วยการถูกเชิญมา
ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้วางใจ พล.อ.ประวิตร เป็นอย่างมาก ด้วยความเป็น ‘พี่ชายที่แสนดี’ และ ‘พี่ที่เคารพ’ อยู่ด้วยกันมา 40 กว่าปี แค่มองตาก็รู้ใจ อีกทั้ง ‘บิ๊กป้อม’ เป็นบุคคลที่ ‘เข้าถึง’ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง ไม่ต้องผ่านใคร ซึ่งว่ากันว่าคนที่เข้าถึงนายกฯแบบนี้ มีเพียงไม่กี่คน
.
ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะใช้งานคนและมี ‘ระยะห่าง’ พอสมควร ซึ่งเห็นได้ชัดสุด คือ ไม่มีประเพณีเปิดบ้านรับอวยพรใดๆ และใช่ว่าใครจะเข้ามาพบได้ เพราะ ‘บิ๊กตู่’ เป็นคนที่ระวังตัวเองอยู่ตลอด เพราะรู้ว่าถูกจับจ้อง ทำให้เป้านิ่งนี้ตกไปที่บุคคลรอบข้างแทน ทั้ง ‘บิ๊กป้อม’ และ ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แห่ง ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ รวมทั้ง ‘บิ๊กติ๊ก’พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย ที่เจอหลายเรื่องเข้ามา
สภาวะกรำศึกหลังเลือกตั้ง จึงต้องจับตาต่อไป หากผลเลือกตั้งออกมา แต่ไม่เป็นที่ยอมรับ จะมีการปลุกระดมหรือไม่ ? และหาก ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ไม่ชนะเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นผู้นำ ‘ฟอร์มทีมรัฐบาล’ จะทำอย่างไร ? หรือสภาวะที่ไม่สามารถเลือก ‘นายกฯ’ ในสภาได้ จะใช้ทางออกตาม รธน.60 หรือใช้ทางออกอื่น ?
.
แม้ รธน.60 จะเปิดช่อง ‘นายกฯคนนอก(บัญชีพรรค)’ แต่จะมี ‘แผนสำรอง’ หรือไม่ ? ที่ว่ากันไปถึงขั้นตั้ง ‘รัฐบาลเฉพาะกาล’ ขึ้นเพื่อร่างกติกาเลือกตั้งขึ้นใหม่ ให้เป็นที่ ‘ยอมรับทุกฝ่าย’ และใครจะมาเป็น ‘นายกฯชั่วคราว’ ในเวลานั้นด้วย และ ‘สถานะ’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นอย่างไรต่อไป อีกทั้ง ‘แผนเผชิญเหตุสุดท้าย’ อย่างการ ‘รัฐประหาร’ จะถูกหยิบมาใช้อีกหรือไม่ในอนาคต ? ก็ไม่มีใคร ‘รับประกัน’ ได้
.
สภาวะ ‘หลังเลือกตั้ง’ ครั้งนี้ จึงมีความซับซ้อนกว่าที่ผ่านๆมา เพราะไม่ใช่ภาพ ‘พรรคการเมือง’ ที่เป็นตัวแทนขั้วต่างๆ ลงมาสู่สนามการเมือง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการ ‘เปิดหน้า’ สู้กันอย่างชัดเจน แต่เชื่อได้ว่าจะมี ‘ทางออก’ ที่ทุกคนต้องยอมรับ
.
แต่สถานการณ์อาจจบโดยง่ายก็ได้ หากมีการ ‘ดีล’ ที่ลงตัว หลัง ‘ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง’แกนนำเพื่อไทย ที่เก็บตัวมานาน ออกมาแฉ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ เริ่มแบ่งเค้กเก้าอี้รัฐมนตรีกันแล้ว ทำให้ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตแกนนำกลุ่มสามมิตร ที่มาซบอก ‘พลังประชารัฐ’ ถูกอ้างว่าต่อรองเก้าอี้ รมต.คมนาคม สวนกลับว่า พฤติกรรมของ ร.ต.อ.เฉลิม ไม่เคยเปลี่ยน ถือเป็น ‘มวยถูกคู่’ เลยทีเดียว
.
รวมทั้งกระแสข่าว ‘บิ๊กป้อม’ สายตรง ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ อดีตเลขาฯประชาธิปัตย์ ชวนเป็นพันธมิตรทางการเมือง ต่อรองด้วยเก้าอี้รัฐมนตรีเกรดเอ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้คุย แต่ยอมรับว่ารู้จักกับ ‘เฉลิมชัย’ เพราะเคยทำงานร่วมกัน สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์
ทางเดียวที่จะ ‘ปิดจ็อบ’ ได้เร็วที่สุดคือ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ต้องชนะอันดับหนึ่ง แล้ว ‘ฟอร์มทีม’ ตั้งรัฐบาลเอง โดยดึง ‘พรรคขนาดกลาง’ ที่ยังไม่แสดงจุดยืนชัดมาร่วมรัฐบาล พร้อมดึง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ตัวแปรสำคัญมาให้ได้ ซึ่งโอกาสได้ก็มีสูง เพราะ แทบเป็นไปไม่ได้ที่ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ จะไปร่วมลงเรือลำเดียวกับ ‘เครือเพื่อไทย’ และ เน็ตเวิร์คสีแดง ที่เคยต่อสู่กันมายาวนานสิบกว่าปี
.
หนทางนำ ‘บิ๊กตู่’ กลับสู่ ทำเนียบฯ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินมือ ‘พลังพรรคสีเขียว’ ที่เตรียมการต่างๆมายาวนาน นับตั้งแต่ตั้งพรรค ปรากฏการณ์พลังดูดอดีตส.ส. การเกิดขึ้นของกลุ่มสามมิตร รวมทั้งกลุ่ม ‘นิวเจนพลังประชารัฐ’ ที่เกิดขึ้น ไม่นับรวมนโยบาย ‘วิเศษนิยม’ ของรัฐบาลในเวลานี้ เป็นภาพสะท้อน ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ไม่ใช่ ‘พรรคเฉพาะกิจ’ แต่ตั้งมาเพื่อ ‘อยู่ยาว’ ซึ่งฝั่งพรรคพลังประชารัฐก็หวังใช้เสียงเลือกตั้ง ชี้ว่า ‘บิ๊กตู่’ ลงตามกติกา และหากชนะเลือกตั้ง ถือเป็น ‘ความชอบธรรม’ ที่ขั้วต้าน คสช. ยากจะปฏิเสธด้วย
.
เขาอยากอยู่ยาว ชัดเจน !!