“รัฐชยุตม์ รุ่งจารุพันธ์” รุ่นใหม่ “พรรคพลังประชารัฐ” นักธุรกิจหนุ่มผู้ขอร่วมความฝันสร้างประเทศยั่งยืน

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

พรรคการเมืองชื่อนี้แทบเรียกว่าเป็นประเด็นก็ว่าได้ ไม่ว่าด้วยความบังเอิญหรือจงใจ ไม่นับถึงกระแสข่าวที่พรรคดังกล่าวดึงตัวอดีต ส.ส.จากพรรคใหญ่น้อยหลายค่ายมาร่วมใต้ธงเดียวด้วยเงื่อนไขต่างๆ ทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย จนเกิดการตั้งคำถามและกลายเป็นที่วิจารณ์ไปทั่ว หรือบรรดาสมาชิกพรรคมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาล คสช. ไม่ว่าทางตรงหรือในฐานะผู้สนับสนุน ซึ่งมีหลายแวดวง แต่ “พรรคพลังประชารัฐ” ก็ยังคงประกาศฝ่ากระแสวิจารณ์โจมตีว่าเป็นพรรคของประชาชน

เช่นเดียวกับกระแสคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมสนามการเมืองไทย พรรคพลังประชารัฐ แม้จะมีอดีตนักการเมืองรุ่นใหญ่เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ถึงขาดแคลนหน้าใหม่เสียทีเดียว เมื่อไกรเสริม โตทับเที่ยง ทายาทปลากระป๋องปุ้มปุ้ย นำคนรุ่นใหม่ไร้สกุลนักการเมืองกว่า 30 คน ร่วมงานกับพลังประชารัฐ ซึ่งส่วนใหญ่โปรไฟล์ระดับนักธุรกิจ

รวมถึง “เอ็ม” รัฐชยุตม์ รุ่งจารุพันธ์ นักธุรกิจหนุ่มผู้จำหน่ายไม้แปรรูป งานออกแบบตกแต่งภายใน ก็ได้ตัดสินใจทิ้งเก้าอี้บริหาร ร่วมลงการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ

พร้อมกับปณิธานที่ว่า “นักธุรกิจก็ใส่ใจชีวิตประชาชนส่วนใหญ่และประเทศ” ด้วยเหมือนกัน

 

: เด็กฝึกงานโรงงานสู่เจ้าของธุรกิจ

เอ็มย้อนชีวิตนักธุรกิจให้ฟังว่า เอ็มและครอบครัวทำธุรกิจส่วนตัวมานาน พออายุ 12 ปีก็เริ่มทำงาน ที่บ้านลุยธุรกิจเริ่มแรกคือค้าขายไม้แปรรูปและทำเฟอร์นิเจอร์และลุยทำทุกอย่าง ผมเองก็ยกไม้ เก็บถังสี คลุกคลีกับคนงาน โตมากับลูกคนงาน

ต่อมารัฐชยุตม์ได้ทำให้ธุรกิจขยายตัวโดยทำในส่วนออกแบบภายใน เริ่มต้นคือการทำตู้โหลธรรมดา และดูออกแบบภายใน จากนั้นขายไม้แปรรูป จากไม้แปรรูปเป็นไม้อัด พอโตมาร่วมบริหารก็จะดูส่วนตลาด ค้าปลีก ขนส่ง

สิ่งที่เอ็มได้เรียนรู้จากการทำงานและตั้งใจนำมาใช้ในงานการเมืองคือ การบริหารจัดการ การบริหารคน การจัดการทรัพยากรต่างๆ ให้เหมาะสม การทำธุรกิจคือการทำให้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ทำให้เกิดกำไรมากที่สุด แต่ถ้าในการเมือง เราจะจัดการทรัพยากรยังไงในประเทศให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด อาจต่างที่วิธีจัดการ ขนาดที่ใหญ่ขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น คนกลุ่มหนึ่งคิดอย่างนี้ อีกกลุ่มคิดอีกอย่าง ขาดอะไร ต้องการอะไร

นำมารวมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ จะมองข้ามกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดไม่ได้

 

: ร่วมงาน “พรรคพลังประชารัฐ”

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ตัดสินใจเลือกพรรคพลังประชารัฐ รัฐชยุตม์กล่าวว่า ย้อนกลับไปคือเพื่อนที่ชักชวนร่วมเข้าพรรค ได้พูดคุยกัน จากคุยเรื่องธรรมดาก็กลายเป็นเรื่องการเมือง จนถึงขนาดว่าจะทำอะไรให้ประเทศได้ เราจะสละอะไรให้ประเทศได้ จนมาร่วมจัดฝึกปฏิบัติการกัน

ทางเพื่อนเองก็มีผู้ใหญ่ชักชวนมาร่วมพรรค แต่ไม่รู้ว่าพรรคอะไร ก็เลยตัดสินใจช่วยกันว่าผู้ใหญ่คิดยังไง พบว่าแนวคิดโอเคที่ให้โอกาสกับเรา ก็เข้าร่วมฝึกปฏิบัติงานกับพวกเขา

“พอรู้แล้ว และสัมผัสก่อนหน้าจะรู้ว่าพรรคอะไร พวกเขาฟังเรา ทัศนคติเลยเปลี่ยนไป ตอนแรกกลัวว่า เวิร์กช็อปสั้นๆ ให้เหมือนเรารู้สึกได้โอกาส แต่พอเราทำงานกันจริง พวกเขาให้โอกาสพวกเราจริงๆ” นายรัฐชยุตม์กล่าว

ณ ตอนนี้ เอ็มและเพื่อนๆ รุ่นใหม่ร่วมทำงานในส่วนนโยบายของพรรค ซึ่งรัฐชยุตม์กล่าวถึงบทบาทนี้ว่า เราได้รับโอกาสลงพื้นที่และทำเวิร์กช็อปดูว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาอะไร ปรึกษาผู้ใหญ่ หาคนที่รู้ปัญหามาเล่าให้ฟัง ส่วนการลงพื้นที่มาจะสั้นๆ เพียง 2-3 เดือน ก็พบปัญหาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องปากท้อง ปัญหาเดิม วังวนเดิม อย่างผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ เพราะว่าปริมาณของผลผลิตมากจนล้นตลาด จากสิ่งที่ทำตามกันมาแต่อาจทำไม่ได้เต็มที่หรือเกิดผลไม่ทั่ว ถ้าเราแก้ไขได้ ราคาผลผลิตจะไปตามกลไกตลาด

เมื่อถามถึงคนรุ่นใหม่ที่ร่วมพลังประชารัฐซึ่งส่วนใหญ่มีแต่นักธุรกิจ แต่กลับไม่มีคนกลุ่มอื่นนั้น รัฐชยุตม์ตอบข้อสงสัยนี้ว่า ตัวเองแต่ก่อนก็เป็นผู้ใช้แรงงานเหมือนกัน แต่จริงๆ พรรคพลังประชารัฐ ที่พวกเรามา ผู้ใหญ่ในพรรคก็ไม่ได้สนเรื่องโปรไฟล์แต่ละคน เราก็เข้าคุยกับผู้ใหญ่ทันที ซึ่งตอบได้อย่างเต็มปากว่าพวกเขาเปิดโอกาสให้ทุกคน ถ้าคนสนใจการเมืองเพราะว่าการเมือง เป็นเรื่องของเรา คนส่วนใหญ่คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่อยากเข้าใกล้เพราะติดภาพลบ จนไม่อยากเข้ามาหรือติดประเด็นว่าต้องทำมาหากิน

แต่พวกเขาสามารถทำได้ด้วยการเสนอนโยบายผ่านโซเชียลมีเดีย ทำได้โดยไม่ต้องเสียเวลา

: สิ่งที่อยากทำมากที่สุดเมื่อได้บริหารนโยบายเศรษฐกิจ

รัฐชยุตม์กล่าวว่า เรื่องนโยบายสินค้าเกษตร ต่อไปสินค้าเกษตรต้องทำตามพื้นที่ อาจผลักดันให้ว่าพื้นที่ไหนที่ทำให้สินค้านั้นเป็นระดับคุณภาพสูง หรือยกระดับเกรดเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ส่วนที่ว่าทำไมสนใจเรื่องพวกนี้ เพราะประเทศไทยโชคดีอย่างหนึ่ง ถ้าเราบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่อดตาย ยังไงเรามีกิน

ชาวบ้านจะบอกว่ารายได้น้อย แต่เราอุดมสมบูรณ์ เพียงแต่เรานำเข้าสู่การจัดการและจะจัดการยังไงให้สมดุล การใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้เต็มที่กว่านี้ ก็จะสามารถช่วยได้

เมื่อถามถึงพรรคพลังประชารัฐเป็นข่าว ส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับอดีต ส.ส.จากหลายพรรคเข้าร่วมงาน ตรงกันข้ามกลุ่มคนรุ่นใหม่กลับปรากฏบนหน้าสื่อน้อยมาก แต่สำหรับรัฐชยุตม์แล้ว คิดแค่ว่าอยากช่วย เราเข้ามาด้วยความตั้งใจดี จะออกสื่อมากหรือน้อยนั้นไม่ใช่ประเด็น

ขอเพียงความตั้งใจ ข้อเสนอแนะเราได้เกิดผล นั้นเป็นที่สุดแล้ว