เพ็ญสุภา สุขคตะ : มองอดีตผ่านรูจารึกเวียงเถาะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

การเจาะรูของจารึก

ลักษณะของจารึกเวียงเถาะ มีความโดดเด่นเมื่อแรกเห็น เพราะมีการเจาะรูกลมใหญ่ถึง 2 รู แต่เจาะเพียงด้านหนึ่ง ไม่ได้ทะลุไปถึงอีกด้านหนึ่ง

ซึ่งตอนแรกนักจารึกวิทยารู้สึกค่อนข้างยากหนักใจหากจะต้องระบุให้ชัดว่าด้านที่เจาะนั้นคือด้านหน้าหรือด้านหลังกันแน่

เหตุที่ข้อความตัวอักษรเปื้อนเปรอะเลอะเลือนหมดทุกบรรทัดทั้งสองด้าน จึงไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากด้านไหนก่อนดี

ในที่สุดคลำทางไปคลำทางมา ก็พบว่าด้านที่เจาะรูสองรูนั้นคือด้านหน้า

ความที่จารึกเต็มไปด้วยรอยขรุขระ เว้าๆ แหว่งๆ บิ่นแตก กรอบรอบนอก กว้าง ยาว สูงของทั้งสองด้านจึงไม่เท่ากัน

ด้านหน้าที่มีรูนั้น ความสูง 72 เซนติเมตร กว้าง 47 เซนติเมตร ส่วนด้านหลังที่ไม่มีรู ความสูง 80 เซนติเมตร กว้าง 49 เซนติเมตร ความหนาของจารึกวัดได้ 28 เซนติเมตร

ส่วนรูที่เจาะเป็นวงกลมสองรูนั้น มีขนาดที่ใกล้เคียงกัน วัดได้ความลึก 7.5 เซนติเมตร และเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 เซนติเมตร ด้านแรกที่มีรูนั้นมีการเขียนข้อความจำนวน 16 บรรทัด ส่วนด้านหลังมี 12 บรรทัด

ลำดับถัดไปขออนุญาตถอดความปริวรรตเนื้อหาในจารึกก่อน จากนั้นจึงค่อยมาคุยกันต่อเรื่องการเจาะรู

 

พบชื่อ “พระญาอาทิตยราช”
มหาราชผู้สร้างพระธาตุหริภุญไชย?

จารึกเวียงเถาะด้านที่หนึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรมอญโบราณ แปลและถอดความจากอักษรมอญโบราณ (ซึ่งใช้ภาษามอญและภาษาบาลีปนกัน) เป็นภาษาไทยได้ว่า

บรรทัดที่ 1-5 เขียนว่า “นี้คือกริยาบุญของข้าน้อยอันเป็นความสัตย์จริง ถวายแด่พระมารดาของสมิงธรรมทีปนี…”

จากนั้นมีคาถาภาษาบาลีต่อตอนท้ายข้อความว่า

ปุญพหสฺสวสนมส นมามิพุทฺธามิ วนฺทามิ สงฺฆามิ รตฺตนปิโลกสมีติ

บรรทัดที่ 6-12 เขียนต่อไปว่า

“นี้พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่สมิงอาทิตย (ปู่เจ้าอาทิตย) สร้างสงฆสีมาไว้ โดยขอซื้อที่ดินจากเจ้ารัฐ หฺฤภุญเชยฺย (อะอุภุญไชย) จำนวน 5 (หน่วยนับบางอย่าง? ข้อความหาย) … แล้วสร้างไว้ในวสรัฐนคร ด้วยกุศลอันข้าสถาปนาสงฆสีมา ขอมงคลนี้จงได้แก่ท่านทั้งหลายคือ ปู่พระเจ้ารามพล ปู่พระเจ้าอตฺถก…ปู่พระเจ้าเทวกะ…”

บรรทัดที่ 13-16 กล่าวถึงการทำบุญของสมิง (กษัตริย์หรือปู่เจ้า) อีกหลายพระองค์ แต่เนื่องจากศิลาจารึกชำรุดมาก จึงอ่านไม่ได้

ด้านแรกนี้น่าตื่นเต้นทีเดียว พบหลักฐานยืนยันชื่อของบุคคลสำคัญในชนชั้นปกครองยุคหริภุญไชยที่เคยปรากฏมาก่อนแล้ว ในตำนานจามเทวีวงส์ ชินกาลมาลีปกรณ์ และมูลสาสนา อย่างสอดคล้องกัน

โดยเฉพาะชื่อของ “ปู่เจ้าอาทิตย” อาจหมายถึงพระญาอาทิตยราช มหาราชผู้สถาปนาพระมหาธาตุกลางนครหริภุญไชย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 นั่นเอง

 

“รามพล-รามราช” สวามีจามเทวี?
“อัตถกะ-อัทธราช” ที่เวียงมโน?
“เทวกะ-พัธเทวากระ” ที่กู่ช้าง?

นอกจากนี้แล้ว จารึกด้านแรกยังมีชื่อของ ปู่เจ้ารามพล ปู่เจ้าอตฺถก และปู่เจ้าเทวกะ ซึ่งชื่อทั้งสามนี้ ต้องค่อยๆ ถอดรหัสแกะรอยทีละชื่ออีกด้วยว่า จะไปสอดคล้องพ้องกับนามของกษัตริย์พระองค์ใดบ้างไหมในยุคหริภุญไชย

ชื่อ “รามพล” น่าสนใจมาก ชวนให้นึกถึงชื่อ “เจ้าชายรามราช” พระราชสวามีของพระนางจามเทวี แต่ดูจากการเรียงลำดับเหตุการณ์แล้ว หากนัยยะนี้ต้องการสื่อถึงเจ้าชายรามราชจริง ไฉนจึงเอาชื่อบุคคลที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 โน่น มาบันทึกร่วมกับเหตุการณ์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ของพระญาอาทิตยราชด้วยเล่า

ครั้นจะมองว่าเป็นการกล่าวถึงในลักษณะการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลย้อนหลังให้กับอดีตบูรพกษัตริย์ก็ดูแปลกๆ ในเมื่อเจ้าชายรามราชไม่ได้เสด็จตามพระนางจามเทวีขึ้นมาปกครองเมืองหริภุญไชยด้วยกัน หากต้องการรำลึกถึงบุคคลที่มีคุณูปการต่อหริภุญไชยอย่างสูงสุด ควรอุทิศกุศลถวายแด่พระนางจามเทวีมิดีกว่าหรือ?

ถ้าเช่นนั้น “รามพล” ในที่นี้คงเป็นกษัตริย์, พระยุพราช, พระราชวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าชายรามราชแห่งเมืองรามปุระ (ใกล้ละโว้) แต่อย่างใด

ชื่อ “อัตถกะ” นั้นเล่า ในตำนานฉบับคลาสสิก 3-4 เล่มที่รจนาเมื่อ 500 ปีเศษ จะพบชื่อของ “พระญาอัตราส” บ้างเขียน “อัทธราช” ในยุคก่อนพระญาอาทิตยราช

หากอัตถกะ เป็นกษัตริย์พระองค์เดียวกันกับอัทธราช ก็จะสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวประวัติศาสตร์หริภุญไชยระหว่างจารึกเวียงเถาะ เข้ากับเหตุการณ์ที่พบใน “จารึกแม่หินบดเวียงมโน” (ซึ่งจักกล่าวในบทความตอนต่อๆ ไปเร็วๆ นี้) ที่พบในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ได้อีกด้วย เหตุที่ชื่อ อัทธราชนี้ก็ไปปรากฏในจารึกเวียงมโน

ที่แน่ๆ ชื่อหลังสุด “ปู่เจ้าเทวกะ” เคยพบชื่อคล้ายๆ กันนี้บนจารึกแผ่นอิฐขนาดมหึมา 2-3 ก้อน ที่บริเวณโบราณสถาน “กู่ช้าง” ในเมืองลำพูน เขียนจารึกแต่แผ่นไม่เหมือนกันว่า

“เจ้าพัธเทวากระ” บ้าง “เจ้าพัทเทวกะ” บ้าง “เจ้าเทวกะ” บ้าง แต่เผอิญตัวอักษรที่ใช้นั้นเป็นตัวอักษรประเภทฝักขามแล้ว คือเป็นอักษรรุ่นหลังที่มีอายุเก่าไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 19 ทว่าอาณาจักรหริภุญไชยยุคอักษรมอญเรืองอำนาจจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18

จึงยังไม่มีคำตอบว่า นามของกษัตริย์ชื่อ “ปู่เจ้าเทวกะ” จะมีความเกี่ยวข้องอันใดหรือไม่กับบุคคลที่ชื่อ “เจ้าพัธเทวากระ” หรือ “เจ้าพัทเทวากะ” ซึ่งพบที่กู่ช้างนั่น

 

หรือ “วสรัฐนคร”
คือนามเดิมของเวียงเถาะ

นอกจากชื่อบุคคลสำคัญจำนวนมากมายที่ต้องถอดรหัสแล้ว ในจารึกด้านแรกนี้ยังพบชื่อเมืองอีกสองชื่อ คือ “หฤฺหฤภุญเชฺยย” กับ “วสรัฐนคร” ชื่อแรกนั้นดูเหมือนง่าย แต่เอาเข้าจริงซับซ้อนซ่อนเงื่อน จึงขอเก็บรวมไว้วิเคราะห์พร้อมกันกับข้อความที่พบในจารึกเวียงเถาะด้านที่สอง

มาพิจารณาคำว่า “วสรัฐนคร” กันก่อน นามนี้ไม่ปรากฏในตำนานฉบับใดทั้งสิ้นเลย

คำว่า “วสะ” เป็นภาษาบาลี (สันสกฤตใช้ วศะ) หมายถึง อำนาจ กำลัง ความตั้งใจ ความปรารถนา หรืออาจแปลว่า วัสสา หมายถึงปี ฤดูกาล ก็ได้เช่นกัน

ประโยคที่กล่าวว่า แล้วสร้างไว้ใน วสรัฐนคร เป็นเครื่องบ่งชี้ชัดว่าบริเวณที่กระทำจารึกนี้มีชื่อว่า วสรัฐนคร ดังนั้นคุณูปการจากการที่อาจารย์พงศ์เกษมช่วยปริวรรตจารึกหลักสำคัญนี้

อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้คำตอบหนึ่งข้อแบบชัดๆ แล้วว่า เวียงเถาะในอดีตมีชื่อว่า วสรัฐนคร

 

จารึกด้านหลังไม่เจาะรู
มีพราหมณ์ปนพุทธ

ยอมรับว่ากว่าอาจารย์พงศ์เกษมจะสามารถปริวรรตเนื้อหาของจารึกเวียงเถาะด้านที่สองได้ ต้องใช้เวลานานมากถึงสามปี ระหว่าง 2448-2551 เหตุที่เป็นด้านที่ถูกใช้วางราบกับพื้นบนชั้นเหล็กในห้องคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ทำให้ผิวจารึกสึกกร่อนรอนรานอย่างมาก อย่างไรก็ดี 12 บรรทัดอันขรุขระกับอักขระอันเขละเขลอะนั้น ก็ไม่พ้นความพยายามที่จะพิชิตคลุมเครือด้วยความเคร่งเครียดของอาจารย์พงศ์เกษมไปได้

บรรทัดที่ 1-3 กล่าวถึงการทำบุญของ “ญุมสิงค”

บรรทัดที่ 3-7 กล่าวถึงบุญของผา (อาจหมายถึงผ้าขาว, ปะขาว) มงคล สร้างศาลาและนิมนต์สงฆ์ อุทิศส่วนกุศลให้พระพุทธรูป (หรือพระพุทธเจ้า)

บรรทัดที่ 7-12 กล่าวถึง บุญของ “พราหมณ์ติโลกแห่งเมืองหฺรภุญ” สร้างศาลา สร้าง (พระ?) บรรจุในเจดีย์?

แม้จะไม่สามารถถอดความออกมาเป็นประโยคต่อเนื่องกันได้ทั้งหมด ทว่านามเฉพาะเท่าที่ถอดรหัสออกมาได้ ล้วนแต่สร้างความตื่นเต้นให้ดิฉันเป็นอย่างยิ่ง

อย่างน้อยได้เห็นว่ายุคนั้นมีบุคคลที่ใช้ชื่อภาษามอญโบราณอย่าง ญุมสิงค มีบุคคลที่อาจเป็นชีปะขาวกำลังทำบุญสร้างเสนาสนะในพุทธศาสนา

คู่ขนานไปกับ “พราหมณ์” ผู้หนึ่ง ชื่ออะไรไม่ชื่อ ดันมาพ้องจองกับพระนามของ “พระเจ้าติโลกราช” ผู้เป็นมหาราชแห่งราชวงศ์มังรายในยุคอาณาจักรล้านนา ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 อีกด้วย แน่นอนว่าพราหมณ์ติโลกนี้ เป็นคนละคนกันกับพระเจ้าติโลกราช เพราะจารึกนี้มีความเก่าไปถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 16

ความเป็นพราหมณ์ก็ดี ความเป็นฤๅษีก็ดี ที่พบบ่อยครั้งในเรื่องราวที่กล่าวถึงยุคหริภุญไชย มักถูกเบี่ยงเบนตีความไปว่า “เดิมนั้นฤๅษีเคยบวชเรียนในพุทธศาสนามาก่อน ต่อมาได้ลาสิกขาไปใช้ชีวิตเยี่ยงฆราวาสแต่ยังปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงแต่มีวิถีชีวิตแบบนักพรตอิสระ” ประมาณนี้

แทบไม่มีนักวิชาการที่เขียนประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีหริภุญไชยแล้ว จะออกมายอมรับว่ามีการเข้ามาลงหลักปักฐานของนักบวชในศาสนาฮินดูอย่างฝังรากลึก ทั้งไศวนิกายและไวษณพนิกายอย่างแท้จริงเลย

เหตุที่ตำนานที่เขียนถึงพระนางจามเทวีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 นั้น ผู้รจนาเป็นพระภิกษุเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ย่อมปฏิเสธแม้แต่จะให้มีลัทธิมหายานเยื้องกรายมาก่อนในลุ่มแม่ระมิงค์แถบนี้

แต่หลักฐานของจารึกเวียงเถาะด้านที่สองระบุชัดว่า “มีพราหมณ์ในราชสำนัก” ชื่อ “ติโลก” ถูกส่งมาจากเมืองหฺรภุญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางราชธานี ให้มาสร้างปูชนียสถาน ณ บริเวณวสรัฐนคร (เวียงเถาะ) ในฐานะที่เป็นเวียงบริวารเวียงหนึ่งของอาณาจักรหริภุญไชย

 

“หฤฺหฤภุญเชฺยย” – “หรฺภุญ”
เกมการยื้อแย่งพื้นที่ระหว่าง
ไวษณพ-ไศวนิกาย

มาแล้ว มาถึงประเด็นที่ต้องวิเคราะห์คำว่า “หฺฤภุญเชฺยย” หรือที่เขียนเป็นภาษามอญด้วยการใช้ตัว ฤ แล้วซ้อนเอาสระสองตัวคือสระอะและสระอุมารวมในคำเดียวกันว่า อะอุภุญไชย หากจะอ่านให้เป็นภาษาไทยแบบง่ายๆ ก็สามารถอ่านได้ว่า “หะริ-หะระ-ภุญไชย”

น่าแปลกไหมที่ทุกวันนี้ เราเหลือแค่ร่องรอยของ หริภุญไชย คือเหลือแต่ หะริ และหะระ หายไปแล้ว

หริ (อ่านแบบบาลี หะหริ อ่านแบบคนพื้นเมืองล้านนา หะริ) เป็นอีกคำหนึ่งของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ เมืองที่ใช้คำว่า หรินำหน้าส่วนใหญ่ กษัตริย์จะโน้มน้าวให้พลเมืองนับถือศาสนาฮินดูในลัทธิไวษณพนิกาย ซึ่งบูชาพระหริ หรือพระวิษณุเป็นใหญ่

ส่วนคำว่า หระ (คนส่วนใหญ่อ่าน หะระ) เป็นอีกนามหนึ่งของพระศิวะหรือพระอิศวร การบูชาพระหระเทพเป็นใหญ่ แสดงว่าเมืองนั้นนับถือลัทธิไศวนิกาย ซึ่งเป็นคู่แข่งกลายๆ กับลัทธิไวษณพ

การพบหลักฐานคำว่า “หฺฤภุญเชฺยย” ในด้านแรกก็ดี หรือ “หฺรภุญ” ในด้านที่สองก็ดี พบว่าการเข้าอักขระนั้น จงใจที่จะให้อ่านได้สองสระ อ่านออกมาแล้วจะได้ทั้ง หริหระภุญไชย ซึ่งมีความหมายว่า เมืองภุญไชยนี้ เป็นเมืองที่บูชาทั้งไวษณพและไศวนิกายคู่ขนานกันไป

ศึกชิงพื้นที่ระหว่าง หริ กับ หระ นั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อย่าได้มองข้าม ยังมีตัวอย่างศิลาจารึกที่จะชี้ให้เห็นการต่อสู้ระหว่างศาสนาฮินดูสองนิกายนี้อย่างหนักหน่วงในช่วงยุคหนึ่ง

เขียนไปเขียนมากำลังสนุกอยู่เลย หมดพื้นที่แล้วแต่ยังไม่หมดประเด็นนะคะ ในที่สุดฉบับนี้ก็ยังไม่ได้เฉลยคำตอบของการเจาะรูจารึกเวียงเถาะสักที

อ่านต่อฉบับหน้าตอนอวสาน