“กรรมการสภา” มีค่าต่อ “มหาวิทยาลัย” เพียงไหน ? ทำไมบางคนไม่ยอมออก ?

ฝากงานมหาวิทยาลัย ไว้กับกรรมการสภารุ่นต่อไป โดย นวพร เรืองสกุล

30 พฤศจิกายน 2561 ดิฉันประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งสุดท้าย เป็นครั้งสุดท้าย ตามใบลาออกที่ได้ยื่นไปเมื่อต้นเดือน เป็นการยื่นด้วยจุดยืนส่วนบุคคล เหมือนที่ไม่เคยรับตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจมาก่อน

สังคมสรุปว่าคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาและผลงานของตัวมหาวิทยาลัยเองแย่ลง

อันดับโลกของมหาวิทยาลัยไทยก็โดนแซง ทั้งๆ ที่ในอดีตหลายคณะยืนอยู่แถวหน้าของวิชาการนั้นๆ ในโลก

มหาวิทยาลัยตกเป็นเป้าหมายหนึ่งของการปฏิรูป และในวงการวิชาการ

คณาจารย์จำนวนหนึ่งเห็นว่าผู้บริหารกำลังทำลายจุดเด่นและสร้างจุดอ่อน

และยังมุ่งหาเงินโดยไม่คำนึงถึงชื่อเสียงในอนาคตของมหาวิทยาลัยตนเอง ฯลฯ

ดิฉันต้องหันมาใคร่ครวญทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมา เพื่อตอบคำถามคาใจว่า ตั้งอกตั้งใจทำ แล้วผลรวมเป็นอย่างนี้ มีอะไรผิดที่ตรงไหน และมีวิธีใดบ้างจะทำให้งานของคณะกรรมการสภา ในฐานะ governing board ของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิผลมากกว่าที่พบเจอมา

หวังว่าข้อสังเกตและข้อเสนอแนะนี้จะช่วยให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรรมการรุ่นใหม่ได้พบระบบการทำงานของคณะกรรมการที่เหมาะสมสำหรับอนาคต

1.กรรมการมหาวิทยาลัยมีจำนวนมากเกินไป เกินกว่าจะทำให้การประชุมมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผล

กล่าวกันว่า คณะกรรมการที่เป็น governing board ควรมีประมาณ 12 คน เป็นอย่างมาก

แต่กรรมการสภามี 20-30 คน ซึ่งมากเกินกว่าจะสามารถถกปัญหาใดในที่ประชุมได้อย่างจริงจังโดยทุกคนมีส่วนร่วมได้

ถ้าจะต้องมีกรรมการจำนวนมากเช่นนั้นควรตั้งเวทีชื่ออื่น

ซึ่งประชุมน้อยเรื่อง ใช้เวลานานได้

2.กรรมการไม่ใช่พระอันดับ มาประชุมเพียงให้ครบองค์ประชุม

ในการประชุมโดยทั่วไป กรรมการส่วนมากใช้การนิ่งเป็นการรับ และไม่มีการออกเสียงรายบุคคล ทั้งๆ ที่กรรมการทุกคนมีสิทธิออกเสียงคนละหนึ่งเสียงเท่าๆ กัน

การประชุมที่โปร่งใสและกรรมการทุกคน accountable ต่อการตัดสินใจของตน คือการประชุมที่กำหนดให้ลงมติด้วยการออกเสียงรายบุคคล

และบันทึกการออกเสียงของกรรมการแต่ละคนไว้ชัดเจน

3.นายกสภา ไม่ใช่หัวหน้าฝ่ายบริหาร

นายกสภามหาวิทยาลัยสามารถ นำ-คุมเกม-เปิดโอกาส-สรุป-นับคะแนน สำหรับแต่ละวาระ นายกสภาเป็นอะไรหลายอย่าง แต่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร จึงไม่สามารถรับฟังความคิดเห็นแล้วเลือกทำได้ เพราะนายกมี 1 เสียงเท่ากับกรรมการคนอื่นๆ เว้นแต่กรณีต้องชี้ขาดจึงจะมีเสียงเพิ่มอีก 1 เสียง

นายกสภาโดยทั่วไปมักจะสรุปมติในแต่ละวาระ หลังจาก “ฟังรอบด้าน” แต่ “รอบด้าน” ไม่แจ่มชัด เพราะกรรมการบางคนถือความเงียบเป็นที่พึ่งที่สบายใจ ไม่ต้องสู้กับใคร ไม่ขัดใจใคร บางคน “เกรงใจ” บ้างก็กลัว “ผู้มีอำนาจ” จะ “ผูกโกรธ” ไปถึงงานอื่น เพราะตนในอีกสถานะหนึ่งคือ “ผู้ใต้บังคับบัญชา” ของผู้บริหาร หรือต้องพึ่งพิงฝ่ายบริหารในงานอื่นๆ

บางคนออกความเห็นเป็นสูตรสำเร็จตามประสบการณ์เดิม

บางคนพูดแล้วพูดเล่าเมื่อวาระเข้ามาซ้ำๆ จนเบื่อและคร้านจะแย้งจึงเลิกพูดไปเอง

บางคนพูดภาพกว้างแสดงภูมิด้วยคำพูดทันสมัยเสมอ

บางคนแทงกั๊กโดยเดาทางความเห็นในที่ประชุม

บางคนดูทางลมจาก “กรรมการผู้ทรง” ที่มีอำนาจให้คุณให้โทษในภายหลัง เพราะอาจจะต้องการปูทางสร้างสายโยงใยไปสู่ตำแหน่งอื่นระดับชาติ

บางคนเสียงดังข่มที่ประชุมและถ้าไม่ได้ดังใจก็ยังไม่แล้วไม่เลิก

บางคนมี “บารมี” ให้กรรมการอื่นต้องติดเบรก

นายกสภาบางคนสามารถดึงเรื่องไปสรุปตาม “ธง” ในใจได้โดยที่ประชุมยินยอม แต่ว่าโดยแท้จริงนายกสภาก็มีเพียง 1 เสียงเท่ากรรมการอื่นๆ เว้นแต่ แต่ถ้าไม่นับคะแนนจะรู้ได้อย่างไร

บางครั้งบางที่ประชุมให้เฉพาะผู้ไม่เห็นด้วยยกมือ วิธีการนี้ข่มขวัญผู้ไม่เห็นด้วยอยู่ในตัว เพราะการยกมือเป็นเสียงข้างน้อย ยากใจมากกว่ายกมือเห็นด้วยกับเสียงข้างมาก และไม่เปิดโอกาสให้กับคนที่จะไม่ออกเสียงในวาระนั้นๆ

การให้ออกเสียงเป็นรายบุคคล ดูเหมือนเป็นการสร้างการเผชิญหน้า แต่สำคัญมากเพราะจะทำให้ “ประชาคม” ที่เลือกกรรมการคนนั้นๆ เข้ามาได้ รับรู้ว่าคนที่ตนเลือกเข้ามาทำหน้าที่นั้น มีจุดยืนใดในแต่ละประเด็นสำคัญๆ และผู้ที่สนใจอื่นๆ สามารถ “อ่าน” กรรมการแต่ละคนได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งน่าจะลดเสียงกล่าวหา เสียงครหา ลงไปได้มาก

และหวังว่าจะเกิดการเรียนรู้ที่จะทำงานตาม “เนื้อผ้า” มากขึ้น

4.เป็นกรรมการต้องมาประชุม

การขาดประชุมบ้างเป็นเรื่องปกติ

แต่เคยมีบางคณะกรรมการที่กรรมการบางคนแทบไม่มาประชุมเลย

ถ้าเป็นบริษัทจดทะเบียนจะต้องรายงานการเข้าประชุมของกรรมการเป็นรายบุคคล

การเปิดเผยรายชื่อจะช่วยให้ผู้ที่เลือกกรรมการคนนั้นๆ เข้ามา

ได้คิดทบทวนว่าจะเลือกผู้ไม่เข้าประชุมเข้ามาเป็นกรรมการอีกหรือไม่

5.การตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กับการตั้งอธิการบดี ขึ้นอยู่กับคนในมหาวิทยาลัย

หลักทั่วไปของบริษัทและรัฐวิสาหกิจคือ “ผู้ถือหุ้นเลือกกรรมการ กรรมการเลือกผู้จัดการใหญ่”

มหาวิทยาลัยไม่มีผู้ถือหุ้นโดยตรง และภาครัฐให้มหาวิทยาลัยบริหารจัดการกันไปเอง

กรรมการสภามหาวิทยาลัยประกอบไปด้วยบุคคลสามฝ่าย คือฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตัวแทนกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย

องค์ประกอบเช่นนี้ ไม่เอื้อต่อบรรยากาศความเป็นอิสระ

เพราะสองกลุ่มหลังเป็น “ผู้ใต้บังคับบัญชา” ทางตรงและทางอ้อมของอธิการบดี

และส่วนกลุ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มาจากการที่กรรมการสภาและผู้เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นกรรมการสภา ช่วยกันเสนอชื่อและคัดเลือก การสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิลักษณะนี้ จะได้คนที่ผู้เสนอชื่อรู้จักชื่อ รู้จักตำแหน่ง แต่อาจจะไม่รู้จักผลงาน ไม่รู้จักบุคลิก นิสัย จุดยืนได้

ในส่วนของอธิการบดี ก็ใช้วิธีสรรหา (select) เช่นกัน แต่เจาะจงกว่าคือเปิดให้สมัครด้วย แต่ไม่ใช้วิธีเสาะหา (search) ปกติไม่บอกว่าต้องการอธิการบดีมาทำอะไรใน 4 ปีข้างหน้า ให้ผู้เสนอและผู้สมัครคิดเอาเองแล้วนำมาเสนอเป็นวิสัยทัศน์ ประกอบกับการสัมภาษณ์ หลังจากนั้นจะเสนอชื่อต่อที่ประชุมกรรมการสภาเพื่อลงมติ

ด้วยองค์ประกอบเช่นนี้ กระบวนการทั้งหมดอาจจะซ่อนเงื่อนไว้จนถึงขั้นที่ว่า “อธิการบดีหรือกรรมการบางคนร่วมกันจัดการจนได้กรรมการสภาที่ต้องการ และกรรมการสภา (ที่ได้มาจากเลือกของอธิการบดีและบุคคลในมหาวิทยาลัย) เลือกอธิการบดี” หรือ “ฝ่ายบริหารเปลี่ยนกรรมการ แทนที่จะเป็นกรรมการเปลี่ยนฝ่ายบริหาร”

(กระบวนการแบบอื่นๆ ก็อาจจะเกิดผลในทำนองเดียวกันนี้ได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องใคร่ครวญอยู่เสมอกับคำว่า “เป็นอิสระ” ในท้ายที่สุดการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการแต่ละคนจะต้องพึ่ง “สำนึกในหน้าที่” ของแต่ละบุคคล และคราวนี้ไม่ได้แตะเรื่องการถอดถอนอธิการบดี)

6.ความกลัวและแรงจูงใจด้านผลประโยชน์ส่วนตนที่ซับซ้อน

อธิการบดีมักมาจากคนภายในมหาวิทยาลัย การเลือกคนภายในหรือภายนอกมีข้อเด่นข้อด้อยที่แตกต่างกัน คนในรู้ระบบอย่างดี สามารถแก้ไขระบบได้ ในขณะที่คนนอกต้องมาศึกษางานก่อน คนนอกถ้าไม่มีความสามารถรอบด้านจริง อาจจะทำให้มหาวิทยาลัยปั่นป่วนได้ ส่วนคนในมักถนอมตัวไม่อาจ “ผ่าตัด” อะไรได้

ในห้องประชุมจึงมีกรรมการที่ระวังตัวด้วยเหตุผลนานาประการ ดังที่กล่าวไปแล้วในข้อ 3. ในทางกลับกัน ผู้บริหารก็ระมัดระวังตัวไม่เหยียบเท้าใคร เพราะถ้าทำอะไรที่กระทบกระเทือนและทำให้คนอื่นไม่พอใจ เมื่อถอดหัวโขนออก เหลือแต่ตำแหน่งอาจารย์ อาจจะมีปัญหาในคณะที่ตนสังกัดอยู่ได้

ถ้าระบบการปกครองในมหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในย่างก้าวของการปกครองแบบประชาธิปไตย คงเห็นความล้มเหลวของระบบได้แล้ว

7.เวลาเป็นของมีค่า ความล่าช้ามีค่าเสียโอกาส

เรื่องบางเรื่องใช้เวลายาวนานมาก ก่อนตัดสินใจ ควรมีการแยกเรื่องสำคัญ (ต่อบุคลากร ต่อมหาวิทยาลัย) และนับเวลาตั้งแต่เริ่มรับเรื่องจนถึงวันได้มติคณะกรรมการสภา เพื่อนำไปปฏิบัติในขั้นตอนต่อไป เพื่อดูประสิทธิภาพการนำเสนอ วินิจฉัยปัญหา และตัดสินใจ และติดตามต่อไปว่านำไปปฏิบัติแล้วได้ผลประการใด เพื่อดูประสิทธิภาพการบริหาร

การไม่ปรับตัว หรือยังคงทำตามความคิดเดิมๆ ที่เคยได้ผล ในขณะที่กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วและแรง ย่อมแปลว่าถอยหลังหรือเดินหลงทางได้ (เช่น การรับนักศึกษาเพิ่ม การหานักศึกษาต่างชาติที่เพียงต้องการที่เรียน การขยายคณะ ขยายมหาวิทยาลัย ในขณะที่ประชากรลดลง เป็นต้น)

ส่วนในกรณีเรื่องระดับบุคคล การใช้เวลาควรต้องคำนึงถึง “ความรอบคอบ” ให้ได้ดุลยภาพกับคำว่า

justice delayed is justice denied.

8.องค์กรภายนอกมีผลกระทบต่อคุณภาพของมหาวิทยาลัย ทั้งทางบวกและทางลบ

สำนักงานการอุดมศึกษา น่าจะเล่นบทผู้กำกับดูแลเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียในมหาวิทยาลัย และสร้างมาตรฐานเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัย กลับเล่นบทผู้สั่งราชการ ที่ดึงทุกมหาวิทยาลัยให้มีวิชาเหมือนๆ กัน มีระดับ (ที่อาจจะต่ำลง) เท่าๆ กัน และไปเป็นผู้มีส่วนบริหารในมหาวิทยาลัยที่ตนกำกับ (คือมีกรรมการเป็นตัวแทนของ สกอ.)

คำว่า conflict of interest และ conflict of role ที่ใช้กันในภาคเอกชน ไม่อยู่ในสารบบความคิดของรัฐไทย

คำสองคำนี้มักนำไปใช้กล่าวหาหรือยังยั้งสิ่งหรือคนที่ไม่ถูกใจ ในขณะที่พฤติกรรมบางอย่าง ที่ภาคเอกชนถือว่าเป็น conflict of interest กลับไม่ใช่ประเด็น

นอกจากนี้ยังมีองค์กรวัดมาตรฐานการศึกษา ซึ่งวิธีแต่งตั้งให้อาจารย์จากต่างมหาวิทยาลัย ตรวจกันและกัน ก่อให้เกิดคำถามว่า คณะที่เลิศที่สุดในประเทศ จะให้ใครอื่นมาตรวจเพื่อให้ดีขึ้นได้ละหรือ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยหรือคณะตามคุณภาพผู้เรียนจบ และตามความสามารถในการแข่งขันได้ในโลก จะไม่ดีกว่าแบบที่วัดๆ กันอยู่หรือ

มหาวิทยาลัยที่ผู้นำองค์กรมีจิตวิญญาณของผู้นำ น่าจะนำพามหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นเลิศและแตกต่างได้

แต่ถ้ามีแต่จิตวิญญาณของผู้ตาม ก็จะไม่อาจสร้างองค์กรระดับ world class ได้

ผู้เขียนมั่นใจเต็มร้อยว่าประเทศเราไม่เคยขาดคนระดับ “world class” ปัญหาคือทุกวันนี้เราให้คนมือระดับนั้นได้มีโอกาสแสดงฝีมือหรือไม่

การมองปัญหาให้ตรงประเด็น แก้ไขให้ตรงจุด ใช้เวลาให้กระชับขึ้น เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ถ้าที่ผ่านมาเราอยู่มาได้ด้วยแบบที่เป็นอยู่ ในอนาคตเราน่าจะไปได้ยาก เพราะโลกนี้เปลี่ยนไปแล้ว