ข่าวร้อนๆ “ช่วยชาวนา” “ยิ่งลักษณ์” เจออีกข้อหา รัฐส่ง “ประชารัฐ” ร่วมอุ้ม

ปัญหาราคาข้าวตกต่ำยังไม่จบ แม้ว่ารัฐบาลออกมาตรการจำนำยุ้งฉางมาช่วยเหลือ เริ่มจากภาคอีสาน ก่อนมาที่ภาคกลาง

เกิดกระแสลูกหลานชาวนา นำเอาข้าวเปลือกมาสีใส่ถุงขายตรงผ่านออนไลน์ ทำให้เกิดวิวาทะย่อยๆ ว่า ต้องจดทะเบียนหรือไม่

เหตุใหญ่เกิดขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน เมื่อ นายสุพกิจ ปั้นแปลก ชาวนา อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ผูกคอตายในท้องนาของตนเอง เนื่องจากเครียดหนี้สิน ขณะที่ราคาข้าวไม่พอใช้หนี้

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล และรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ยืนยันว่า นายสุพกิจไม่ได้เป็นชาวนา แต่เป็นช่างแอร์ ทำนาเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น

รักษาการอธิบดีไก่อู ยังหมายเหตุเพิ่มเติมด้วยว่า “สื่อบางค่าย” พยายามโยงเหตุการณ์ไปสู่การแก้ไขปัญหาราคาข้าวของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การออกมาช่วยเหลือชาวนา ทั้งด้วยมาตรการจำนำยุ้งฉาง การส่งเจ้าหน้าที่ ข้าราชการกระทรวงต่างๆ สวมเครื่องแบบไปช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว ถ่ายภาพออกสื่อต่างๆ สะท้อนความห่วงกังวลของรัฐบาล

ยืนยัน “ความมีอยู่จริง” ของปัญหาราคาข้าว ที่ทำให้ชาวนาต้องรับผลกระทบเต็มๆ

การเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่กำลังตกเป็นจำเลยในคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตจำนำข้าว และมีคำสั่งทางปกครองจากรัฐบาล ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ 3.5 หมื่นล้านบาท เป็นข่าวในสื่อต่างๆ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปที่อุบลฯ สุรินทร์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน และซื้อข้าวจากชาวนา 2.4 ตัน

ก่อนนำไปขายที่หน้าห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ปรากฏว่าขายดิบขายดี หมดในเวลาอันรวดเร็ว

สัปดาห์ถัดมา วันที่ 11 พฤศจิกายน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซื้อข้าวมาเพิ่มอีก 20 ตัน และไปขายที่อิมพีเรียล สำโรง สมุทรปราการ ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เผยว่าก่อนหน้านี้ ได้ไปซื้อข้าวบางส่วนจากชาวนามาช่วยขาย แต่ช่วงหลังได้มีพี่น้องชาวนาได้ติดต่อผ่านอดีต ส.ส. ในพื้นที่ อยากให้ช่วยขายอีก

จึงคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการช่วยเหลือชาวนาโดยขายข้าวในฐานะคนไทยคนหนึ่ง โดยวันนี้มีตัวแทนชาวนาจากทั้ง 5 จังหวัดมาขายด้วย

อย่างน้อยชาวนาจะได้มารับรู้ความรู้สึกร่วมกันว่าคนกรุงและทุกคนในประเทศมีความห่วงใยชาวนา ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ผลการขายรอบนี้ หมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน

ที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือปฏิกิริยาร้อนแรงจากฝ่ายตรงข้าม

วันที่ 6 พฤศจิกายน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลต้องตรวจสอบ “ขบวนการถล่มราคาข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์”

นพ.วรงค์ ผู้เกาะติดเรื่องจำนำข้าวมาจนเป็นคดีความ ชี้ว่า

การนำข้าวสารหอมมะลิ มาขายเพียงกิโลละ 20 บาท ในขณะที่ราคาทั่วไปกิโลละ 30-35 บาท เท่ากับเป็นการทุบราคาข้าวสารหอมมะลิอย่างเลือดเย็นที่สุด

ข้าวสารหอมมะลิที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่าซื้อมาจากชาวนา 10 ตัน รวมทั้งอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยอีก 10 ตันนั้น ซื้อมาจากชาวนาหรือโรงสีกันแน่

รูปแบบการบรรจุนั้นน่าจะมาจากโรงสี มาจากโรงสีเดียวกันทั้งหมด หรือไม่โรงสีที่ส่งข้าวนั้นชื่ออะไร

ข้าวที่ขายราคา ก.ก.ละ 20 บาท และคาดว่าซื้อมาจากโรงสีนั้น โรงสีขายมาราคาเท่าไร ต่ำกว่าราคาที่ควรจะขายต่อหรือไม่

การที่ราคาข้าวตกต่ำ แต่กลับมาซ้ำเติมขายข้าวต่ำกว่าที่ชาวบ้านเขาขายกัน ยิ่งเป็นการซ้ำเติมตลาดข้าว ยิ่งผู้กระทำเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ผลกระทบจึงยิ่งรุนแรง

ขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและประธาน นบข. ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบโดยด่วน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของตลาดข้าวกลับคืนมา อย่างน้อยพี่น้องชาวนาจะได้หูตาสว่างว่าใครกันแน่ที่ประสงค์ร้ายต่อชาวนา

ฟังดูเป็นข้อหาร้ายแรงที่จะต้องลงโทษกันอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง

อีกคนที่ออกโรงมาถล่ม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วย ได้แก่ นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ประณามกรณีมีนักการเมืองรับซื้อข้าวจากชาวนา แล้วนำมาขายต่อในกิโลกรัมละ 20 บาท ว่า

เลิกทุบราคาข้าวเถอะครับ ถ้าไม่เลิกต้องช่วยกันหยุด การเอาข้าวสารหอมมะลิมาเร่ขายในราคากิโลละ 20 บาท คือการทุบราคาข้าวให้เหลือกิโลละ 5-6 บาท ซึ่งเป็นซากเดนของแผนชั่วปั่นข่าวถล่มข้าวเมื่อเดือนตุลานั่นเอง

ข้าวสารหอมมะลิขายปลีกต้องกิโลละ 35 บาท หรือถ้าเป็นข้าวเปลือก ก็จะเป็นกิโลละ 12 บาทเศษ การเอาข้าวสารหอมมะลิมาขายกิโลละ 20 บาท จึงเป็นการทำร้ายชาวนาที่อำมหิตมาก นี่คือการทุบราคาข้าวประเทศไทยที่ต้องประณามจงทั่วกัน

บทบาทของชาวพรรค ปชป. และนายไพศาล เข้าใจได้ไม่ยากว่า เป็นเรื่องของ “การเมือง” เรื่องข้าว ในอีกมุมหนึ่งนั่นเอง

การตอบโต้ที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการตั้งข้อหา “ทุบราคาข้าว” น่าจะได้แก่การเร่งจัดให้มีการรับซื้อข้าวมากขึ้น

โดยเฉพาะการดึงเอา “ประชารัฐ” ที่ประกอบด้วย ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ซึ่งมี “ทุนใหญ่” ร่วมอยู่มาช่วยซื้อ

นั่นคือ “โครงการประชารัฐช่วยชาวนา” ตามนโนบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้ทุกภาคส่วนให้ความช่วยเหลือชาวนาอย่างเร่งด่วน

เริ่มรับซื้อข้าวตามจังหวัดต่างๆ อาทิ โครงการประชารัฐชาวนาปทุมธานีขายข้าวให้ชาวนา ที่บริเวณสำนักงานตลาดรังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

โดยระบายข้าวขาวของชาวนาปทุมธานีที่อยู่ในโกดังของสหกรณ์จังหวัด จำนวนกว่า 1,000 ตัน ออกสู่ท้องตลาด เริ่มต้นด้วยการนำข้าวมาจำหน่ายจำนวน 10 ตัน เมื่อดำเนินการผ่านไป 6 วัน จังหวัดปทุมธานีสามารถกระจายข้าวออกสู่ท้องตลาดเพื่อจัดจำหน่ายทั้งสิ้น 240 ตัน

โดยในวันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2559 จะมีการนำออกมาจำหน่ายอีกครั้งในตลาดไอยรา จำนวน 10 ตัน และจังหวัดปทุมธานีจะทำต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์ราคาข้าวจะคลี่คลาย

ฯลฯ

กระแสข่าวปัญหาราคาข้าวในสื่อต่างๆ คงจะดำเนินต่อไป แต่เมื่อรัฐบาลสั่งให้หน่วยราชการและเครือข่ายเข้าช่วยเหลือ ก็ควรจะแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง และน่าจะมีผลต่อราคาข้าวในระดับหนึ่ง

และคงจะทำให้บรรดาผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือในแบบ “จิตอาสา” เบาบางลง เพราะ “ตัวจริง” คือส่วนราชการและเครือข่าย ก้าวเข้ามาแล้ว

“ประชารัฐช่วยชาวนา” จะช่วยชาวนาได้แค่ไหนเพียงไร ต้องติดตามกันต่อไป