แพทย์ พิจิตร : มอง “ความคิดทางการเมืองไทย” ผ่านเรื่อง “ศรีปราชญ์-ศรีธนญไชย”

อาจารย์ชัยอนันต์กับอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ได้บุกเบิกการสอนวิชา “ความคิดทางการเมืองไทย” ขึ้นที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อราวทศวรรษ พ.ศ.2520 และต่อมาก็ได้กลายเป็นวิชาในระดับปริญญาเอกด้วย

ที่สำคัญคือ ท่านทั้งสองได้ผลิตตำรา “ความคิดทางการเมืองไทย”

และที่สำคัญขึ้นไปอีกคือ ก่อนที่จะพิมพ์เป็นตำราออกมา ท่านทั้งสองได้ส่งให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่าน และท่านอาจารย์นิธิก็ได้เขียนตอบมาโดยจั่วหัวเรื่องว่า “ปฏิกิริยา” ซึ่งในตอนก่อน ได้กล่าวถึงข้อวิจารณ์แบบนักประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิที่มีต่อการศึกษาความคิดทางการเมืองในแบบรัฐศาสตร์และปรัชญาการเมืองของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติ

ในส่วนท้ายของ “ปฏิกิริยา” อาจารย์นิธิได้กล่าวถึง “ศรีปราชญ์และศรีธนญไชย” ที่ปรากฏอยู่ในบทที่เก้าและบทที่สิบในหนังสือ “ความคิดทางการเมืองไทย”

โดยบทที่เก้านี้จั่วหัวไว้ว่า “ศรีทะนนไชย : ความคิดเรื่องอำนาจ ปัญญาและความหมายทางการเมือง” และบทที่สิบที่จั่วหัวไว้ว่า “ธรรมชาติและประเพณี : พื้นฐานความคิดทางสังคมของศรีปราชญ์”

 

อาจารย์นิธิได้ในความเห็นต่อการตีความศรีปราชญ์และศรีธนญไชยของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติในประเด็นเรื่องธรรมชาติและธรรมะไว้ว่า

“ปัญหาเรื่องธรรมะนี้ทำให้เราต้องไปข้องใจบทความที่น่าตื่นเต้นที่สุดสองบทในหนังสือเล่มนี้ คือเรื่องศรีปราชญ์และศรีธนญไชย ความคิดว่ามีความแตกแยกเป็นสอง (dichotomy) ระหว่างจารีตกับธรรมชาตินั้นเป็นความคิดของฝรั่ง ในความคิดแบบพุทธ (ซึ่งจะตรงกับความคิดของไทยเสมอไปหรือไม่ก็ไม่ทราบได้) นั้น จารีตกับธรรมชาติเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะจารีตคือความพยายามจะจำลองธรรมชาติออกมา ศรีปราชญ์และศรีธนญไชยกระทำตามธรรมชาติหรือขัดแย้งกับธรรมชาติตามความคิดของคนไทยกันแน่”

พูดง่ายๆ คือ อาจารย์นิธิไม่แน่ใจว่า การตีความศรีปราชญ์และศรีธนญไชยภายใต้กรอบความขัดแย้งระหว่างจารีตกับธรรมชาติจะเป็นการตีความที่ถูกต้องเท่าไรนัก เพราะอาจารย์นิธิเห็นว่า กรอบความขัดแย้งระหว่างจารีตกับธรรมชาตินั้นเป็นกรอบคิดของฝรั่ง ซึ่งอาจจะใช้ไม่ได้กับการตีความการกระทำของศรีปราชย์และศรีธนญไชย

เพราะธรรมชาติในพุทธศาสนาแตกต่างจากความคิดตะวันตก

ขณะเดียวกัน อาจารย์นิธิก็ตั้งข้อสงวนไว้อีกด้วยว่า ความคิดแบบพุทธอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับความคิดของไทยเสมอไป การทึกทักว่าความคิดของไทยเป็นความคิดแบบพุทธอย่างง่ายๆ โดยไม่มีหลักฐานประวัติศาสตร์สนับสนุนก็จะกลายเป็นการกล่าวอย่างลอยๆ ตามความต้องการ “ดึงเข้าความเอามากๆ”

ในความเข้าใจของอาจารย์นิธิเห็นว่า ในการทำความเข้าใจธรรมชาติในแบบพุทธ ควรเริ่มจากความเข้าใจว่า “คำว่าธรรมะนั้นสร้างขึ้นจากธาตุว่าธรฺ แปลว่าทรงไว้หรือดำรงอยู่

สิ่งที่เป็นธรรมะคือสิ่งที่ดำรงอยู่หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ธรรมชาติตามที่มันเป็นจริงนั่นเอง

ความดึงดูดของโลกก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน ความกตัญญูก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง นั่นคือ แสดงธรรมชาติของความเป็นมนุษย์

ผู้เขียนได้อาศัยแนวคิดแบบตะวันตกวิเคราะห์ความคิดที่เกี่ยวกับรัฐหลายตอนด้วยกัน ความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมชาตินั้นเป็นของตะวันตกโดยแท้ และมิได้หมายเฉพาะสภาพปั่นป่วนปลาใหญ่กินปลาเล็กแต่อย่างเดียว ในสกุลนักคิดทางการเมืองตะวันตกบางสกุลก็กลับถือเป็นสภาพสงบสันติก็มีเช่นกัน

ในพุทธศาสนาอธิบายการกำเนิดของการปกครองในแนวรัฐธรรมชาติหรือไม่เป็นสิ่งที่น่าสงสัย (แม้จะมีการบรรยายถึงกำเนิดสังคมมนุษย์ระยะแรกคล้ายคลึงกับของตะวันตกก็ตาม)

คติของพุทธศาสนาไม่มีกำเนิดของโลกหรือชีวิต

การ “จุติ” ของเทวดาที่ลงมากินดินนั้น ไม่ใช่จุดกำเนิดที่แท้จริงของโลก แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรที่หมุนไปโดยไม่รู้จุดเริ่มต้นหรือจุดลงท้าย

การลงมากินดินนั้น แท้ที่จริงแล้ว ก็เนื่องจากเทวดาเหล่านั้นได้กระทำผิดธรรมชาติของเทวดา คือกระหายใคร่ได้เสพรสกามอย่างหยาบ (มีตัณหาอย่างหยาบซึ่งผิดธรรมชาติของเทวดา)

ในสังคมแรกของมนุษย์ก็ห่างไกลจากสภาพธรรมชาติเสียแล้ว (พื้นเดิมของมนุษย์คือเทวดา) ในสังคมแรกเริ่มนี้ มนุษย์ยังประกอบกรรมที่เนื่องด้วยกิเลสอันยิ่งทำให้ห่างไกลจากธรรมชาติของมนุษย์ขึ้นไปอีก

(ดังที่กล่าวในอัคคัญญสูตร) จนทำให้เกิดการปกครองขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาในแง่นี้ จะกล่าวเปรียบเทียบกับแนวคิดฝรั่งว่า รัฐธรรมชาติของพุทธศาสนาคือ รัฐที่มีปรกติสุข มีสันติภาพและมีความถูกต้องก็ได้ การปกครองเกิดขึ้นเพื่อป้องกันมิให้สังคมมนุษย์เสื่อมจากธรรมชาติลงไปกว่านั้นอีก

เหตุฉะนั้น กษัตริย์จึงมีหน้าที่ผดุงธรรมะหรือธรรมชาติ ซึ่งต้องแปลว่าความถูกต้องอันเหมาะอันควรแก่มนุษย์ ในกรณีนี้ จะตีความว่าการปกครองของชาวพุทธคือ ความพยายามจะดึงมนุษย์กลับไปสู่รัฐธรรมชาติอีกก็ได้ และแท้ที่จริง ก็มีกษัตริย์ไทยอ้างความพยายามจะนำประชาชนข้ามโอฆสงสารสู่นิพพาน อันเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของจิตมนุษย์

(อย่างน้อยก็เห็นได้ชัดว่าบทบาทเช่นนี้ถูกเน้นในต้นรัตนโกสินทร์)”

 

นอกจากนี้ อาจารย์นิธิก็ยังชี้ว่า “ในคติฮินดู ธรรมะก็มีความหมายเช่นเดียวกันกับพุทธศาสนาเช่นนี้ (เพราะทั้งสองศาสนายืมความคิดของกันและกันอย่างมากในอินเดีย) มิใช่ว่าธรรมะในฮินดูจะเน้นแต่เพียงหน้าที่เท่านั้นก็หามิได้ แต่เป็นเพราะธรรมะคือธรรมชาติ การปฏิบัติหน้าที่ตามธรรมชาติ เช่น เสพอาหารหรือหน้าที่ต่อสังคม เช่น การเชื่อฟังกฎหมาย

ต่อศาสนา เช่น ประกอบการบูชากรรมแก่พระเจ้าก็ล้วนเป็นธรรมะเหมือนกัน

เรามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่น ไม่กระโดดจากตึกสูงๆ เพราะต้องเคารพต่อแรงดึงดูดของโลกอันเป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ก็ไม่พึงลักขโมยสิ่งของผู้อื่นเพราะเป็นธรรมะด้วยกัน

บทบาทของกษัตริย์ทั้งในคติฮินดูและพุทธจึงตรงกันที่ ไม่เป็นผู้มีบทบาทผู้กระทำมากนัก เพราะธรรมชาติคอยควบคุมการกระทำของมนุษย์อยู่แล้ว ทรงจำกัดการแทรกแซงเข้ามาในชีวิตของคนเพียงระวังรักษาให้ธรรมะหรือธรรมชาติยังคงอยู่ กฎหมายที่ออกมาจึงมีขึ้นเพื่อผดุงธรรมะและย่อมถือได้ว่าไม่ขัดกับธรรมะ

และด้วยเหตุดังนั้น จึงเรียกคัมภีร์หรือตำรากฎหมายว่า ธรรมสูตรหรือธรรมศาสตร์

เมื่อพิจารณาในแง่นี้ จะเห็นได้ว่าไม่เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์อันใดที่เมื่อกษัตริย์ตัดสินคดีอย่างไม่เคารพต่อธรรมชาติ เช่น เห็นว่าลูกพึงตีแม่ได้เป็นธรรมดา จึงเกิดภัยพิบัติแก่บ้านเมืองทันตา สิ่งที่จะทรงรัฐนั้นไว้ก็สลายไปทันที และเหตุฉะนั้น รัฐนั้นจึงหมดหน้าที่ลง

ในทางตรงกันข้าม กษัตริย์ที่ดำรงธรรมะ หรือปกครองตามธรรมชาติ ฝนฟ้าย่อมตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะความอุดมสมบูรณ์เป็นธรรมชาติก็ปรากฏมีขึ้นได้ด้วยความสอดคล้องกันของธรรมชาติ”

และด้วยเหตุนี้เองที่อาจารย์นิธิเห็นว่า จารีตกับธรรมชาติในคติพุทธหรือรวมทั้งฮินดูเป็นสิ่งเดียวกัน ต่างจากกรอบคิดฝรั่งที่เห็นว่า จารีตประเพณีหรือรวมทั้งกฎหมายแตกแยกจากธรรมชาติในลักษณะที่อาจารย์นิธิใช้คำภาษาอังกฤษว่า “dichotomy” ดังนั้น การตีความของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติที่เห็นว่า การกระทำของศรีธนญไชยเป็น “การขัดแย้ง…ระหว่างอำนาจโดยธรรมชาติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจทางสติปัญญา) กับอำนาจอันเกิดจากระเบียบประเพณี” จึงเป็นการตีความตามคติฝรั่งเสียมากกว่าจะเป็นความคิดของไทย

คติฝรั่งที่ว่านี้คือ คติที่เห็นว่า จารีตประเพณีกับธรรมชาตินั้นมีความไม่ลงรอยขัดแย้งกันอยู่ อันเป็นคติคิดของนักคิดกรีกโบราณในศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาล ภายใต้กรอบ “Nomos และ Physis” ดังที่จะขยายความในตอนต่อไปว่า

ในคติฝรั่งนั้น จารีตประเพณีขัดกับธรรมชาติเสมอไปหรือไม่?