วิเคราะห์ : การปูเงื่อนไข “เลื่อนเลือกตั้ง-เอาผิดนักการเมือง” องค์กรอิสระ “กกต.-ป.ป.ช.” โชว์พาว!

เป็นเรื่องน่าประหลาดใจไม่น้อย

ทั้งที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ออกมาแถลงถึงปฏิทินไทม์ไลน์การเลือกตั้ง

ทั้งที่แกนนำรัฐบาลและ คสช. ไล่เรียงมาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตลอดจน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ต่างก็ยืนยัน

เลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562

แต่ทำไมนักการเมืองและพรรคการเมืองส่วนใหญ่ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ กระทั่งพรรคเพื่อชาติ จึงไม่มั่นใจในถ้อยแถลงของรัฐบาล คสช. ผ่านนายวิษณุ เครืองาม

จะด้วยเพราะ “อาวุธ” มาตรา 44 ยังอยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ หรือจะด้วยเพราะรัฐบาล คสช.ยังไม่ยอม “ปลดล็อก” เบ็ดเสร็จให้กับพรรคการเมือง ล้วนมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น

แล้วก็แน่นอนว่าในส่วนพรรคพลังประชารัฐ ย่อมไม่ติดใจสงสัย ไม่ว่าประเด็น “วันเลือกตั้ง” หรือประเด็น “ปลดล็อก” ที่ขยับยื้อยาวออกไป

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นไปในทางเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่า

ถึงรัฐบาล คสช.จะแถลงปักหมุดเลือกตั้งไว้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่เมื่อดูสถานการณ์ก็ไม่มั่นใจว่าจะมีข้ออ้างเลื่อนออกไปอีกหรือไม่

โดยเฉพาะเรื่องความไม่พร้อมของพรรคการเมืองตั้งใหม่ อาจทำตามเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ในคำสั่ง คสช.ไม่ทัน เช่น การตั้งตัวแทนประจำจังหวัดที่จะส่งผู้สมัคร เป็นต้น

เช่นเดียวกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ในฐานะผู้สนับสนุนพรรคเพื่อชาติ มองว่า ยังอาจมีปัญหาทางเทคนิคในการรับจดจัดตั้งพรรคการเมืองที่ยังเหลืออยู่มากกว่า 10 พรรค ทำให้เป็นเงื่อนไขต้องเลื่อนเลือกตั้งออกไป

พรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ทันทีที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลใช้บังคับ วันที่ 11 ธันวาคม ก็จะปลดล็อกทันที

แต่เมื่อดูจากปฏิทินไทม์ไลน์ตามที่นายวิษณุ เครืองาม แถลง กลับกลายเป็นว่า จะปลดล็อกต่อเมื่อมี พ.ร.ฎ.กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว

คาดว่าอาจจะในราวต้นเดือนมกราคม 2562

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นไม่ว่า 24 กุมภาพันธ์ 2562 หรือในเดือนพฤษภาคม 2562 จะเป็นการต่อสู้กันระหว่าง

พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายสนับสนุนสืบทอดอำนาจ

เมื่อแยกแยะสายพันธุ์จะพบว่า ฝ่ายสนับสนุนสืบทอดอำนาจนั้น นำโดยพรรคพลังประชารัฐและพรรคเครือข่ายที่แสดงตัวเป็นกองหนุน “ลุงตู่”

ฝ่ายประชาธิปไตย นำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคเครือข่าย อาทิ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อธรรม พรรคประชาชาติ เป็นต้น รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อชาติ

ในสถานการณ์ปี่กลองการเลือกตั้งกำลังจะเริ่ม

ก็ได้ปรากฏข่าวทางหน้าสื่อหลายฉบับว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้ว่าจ้างบริษัททำโพลระดับโลกของสหรัฐอเมริกา ลงพื้นที่สำรวจคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยและพรรคเครือข่าย

ปรากฏได้สัดส่วนคะแนนสูงถึงร้อยละ 58 หรือคิดเป็น ส.ส. 290 คน จาก 500 คน

ข่าวยังระบุ “ทักษิณ” เคยใช้บริการบริษัทนี้ทำโพลในการเลือกตั้งปี 2550 และ 2554 ผลสำรวจมีความแม่นยำสูง ทำให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยและเครือข่ายจะชนะได้เสียงข้างมากในสภา

หากรวมกับ ส.ส.จากพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กที่เป็นแนวร่วม ก็อาจได้ตัวเลขมากถึง 376 เสียง สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

กระนั้นก็ตาม มีทั้งคนในพรรคและนอกพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งมองว่า ข่าวโพลทักษิณไม่ต่างจาก “ดาบสองคม”

ด้านหนึ่ง สร้างความฮึกเหิมให้พรรคในปีกประชาธิปไตย

แต่อีกด้านหนึ่ง อาจเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ฝ่ายตรงข้ามที่จะแพ้เกมนี้ไม่ได้ จำเป็นต้องใช้สรรพกำลังทุกอย่างในมือ หันมาเล่นเกมแรงมากขึ้น

จึงไม่แปลกหากกรณี “โพลทักษิณ” นอกจากสอดรับกับสถานการณ์การ “แตกตัว” ของสมาชิกและแกนนำพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งในการย้ายไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติ

ดำเนินกลยุทธ์ “แยกกันเดิน รวมกันตี” ตั้งเป้ากวาด ส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อให้ได้รวมกัน 280-290 เสียง

ยังสอดรับความเคลื่อนไหวจากฝ่ายผู้มีอำนาจที่จ้องขุดรากถอนโคน อันนำไปสู่กระแสข่าวการเลื่อนเลือกตั้ง และเอาผิดนักการเมืองพรรคคู่แข่ง

ผ่านการดำเนินการขององค์กรอิสระ “กกต.” และ “ป.ป.ช.”

ชะตากรรมการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง สะท้อนผ่านปฏิทินไทม์ไลน์ที่ยังหาความแน่นอนไม่ได้

รวมถึงกระแสข่าวการ “ยุบพรรค” บางพรรคที่มีการตั้งเรื่องรอไว้แล้ว

ไม่ว่ากรณี 8 แกนนำพรรคเพื่อไทยถูกฝ่ายกฎหมาย คสช.แจ้งความเอาผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการตั้งโต๊ะแถลง 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาลและ คสช. ในวาระครบรอบรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ไม่ว่ากรณีคลิป “ทักษิณ” ส่งเสียงมาจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระบุพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งภาคอีสานในการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน

และอีกหลายความเคลื่อนไหว เช่น การมีกลุ่มอดีต ส.ส.และอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทยบินไปพบในต่างประเทศ ที่ถูกมองว่าอาจเข้าข่ายครอบงำพรรค

กระทั่ง “ปฏิทินสีแดง” ก็ยังนำมาเป็นประเด็น

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เคยกล่าวถึงประเด็นความเคลื่อนไหวของทักษิณ อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าเข้าข่ายมาตรา 28 และ 29 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เกี่ยวกับการควบคุม ครอบงำ ชี้นำ ทำให้พรรคหรือสมาชิกขาดความเป็นอิสระในการดำเนินกิจกรรมหรือไม่ หากพบเข้าข่ายความผิด

จะส่งผลให้ถูก “ยุบพรรค”

รวมถึงกรณีล่าสุด พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้า

การดำเนินคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาคสอง ตามคำให้การของผู้ต้องหาใน “ภาคแรก” ที่ปรากฏตัวบุคคลผู้กระทำความผิดเพิ่มเติม

ประเด็นดังกล่าวระแคะระคายมาตั้งแต่นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาเปิดเผยเบื้องหลังเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

มีกรรมการ ป.ป.ช.คนหนึ่งที่มีอคติต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามนำคดีระบายข้าวจีทูจี โดยนำสัญญาระบายข้าวที่เหลือมาดำเนินคดีใหม่เป็นครั้งที่ 2 กล่าวหาบุคคลเพิ่มเติมนอกเหนือจากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ด้วยวิธีการให้ผู้ต้องขังซึ่งอยู่ในเรือนจำ ให้การซัดทอดถึงนายทักษิณ ชินวัตร และเครือญาติ แลกกับสิทธิประโยชน์ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ โดยอ้างเรื่องเจ็บป่วยแล้วย้ายไปอยู่โรงพยาบาลแทน

จริงหรือเท็จยังไม่ได้รับการพิสูจน์

อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีระบายข้าวจีทูจี ภาคแรกนั้น 1 ในผู้ต้องขังคือนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมานายบุญทรงได้เข้ารับการรักษาอาการป่วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์อย่างต่อเนื่อง แต่อาการไม่ดีขึ้น

แพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจจึงนัดดูอาการในวันที่ 27 พฤศจิกายน เพื่อตรวจร่างกายเตรียมผ่าตัด ทางกรมราชทัณฑ์จึงส่งตัวนายบุญทรงให้แพทย์โรงพยาบาลตำรวจดูแล รวมถึงการผ่าตัด

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง กล่าวว่า คดีนี้มีผลได้เสียทางการเมือง จึงไม่แปลกใจที่มีข่าวการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. และประชุมกันหามรุ่งหามค่ำ

มีความขยันเป็นพิเศษจนแซงคดีนาฬิกาหรูและคดีทุจริต 396 โรงพักไปชนิดขาดลอย

พร้อมเรียกร้องให้สังคมจับตาการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในคดีจีทูจี ภาคสอง ที่มีความพยายามจะโยงใยไปให้ถึง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” และเครือญาติ

โดยเชื่อว่าคดีจะ “พีก” สุดๆ ในช่วงใกล้เลือกตั้ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเป็นไปของ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” และพรรคเพื่อไทย

จึงเป็นตัวชี้ขาดสถานการณ์การเลือกตั้งอย่างแท้จริง