บทวิเคราะห์ : มาแล้ว “ไทยรักษาชาติ” กลยุทธ์ “เพื่อไทย” แตกเพื่อโต-กำชัยเลือกตั้ง “62

ทิศทางการขับเคลื่อนทางการเมืองของพรรคใหญ่ เจ้าของแชมป์เก่าเลือกตั้ง อย่าง “พรรคเพื่อไทย” เริ่มเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ หลังจากใกล้ครบเดดไลน์ 90 วัน คือ วันที่ 26 พฤศจิกายน ที่อดีต ส.ส. หรือผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องสังกัดได้เพียงหนึ่งพรรค หากโรดแม็ปเลือกตั้ง ส.ส.ยังคงปฏิทินเดิม นั่นคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

ทั้งหมดทั้งมวลอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย จะต้องรอสัญญาณและความชัดเจนจากแกนนำพรรค รวมทั้ง “เสี่ยแม้ว” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าจะเดินเกมการเมือง ใช้ยุทธศาสตร์ใดในการต่อสู้ศึกเลือกตั้งในปี 2562

แม้ในขณะนี้จะมีการขับเคลื่อนพรรคพันธมิตร พรรคสาขา เพื่อหวังรองรับสถานการณ์หากเจออุบัติเหตุถูกยุบพรรคโดยไม่คาดฝัน ก็จะใช้ “พรรคเพื่อธรรม (พธ.)” มารองรับ

ส่วน “พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)” จะใช้แก้เกมเก็บคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในระบบเลือกตั้ง “จัดสรรปันส่วนผสม” ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกทั้ง ส.ส.แบบเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กับไฟต์บังคับที่แต่ละพรรคจะต้องส่ง ส.ส.ลงรับเลือกตั้งทั้ง 350 เขต เพื่อหวังให้ได้คะแนนมาคำนวณเก้าอี้ ส.ส.ทั้ง 2 แบบ

 

กติกาที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว มุ่งหวัง “บอนไซ” พรรคเพื่อไทยที่มีความเข้มแข็งในจำนวน ส.ส.เขต ไม่ให้ได้จำนวนเก้าอี้มากเหมือนก่อน เพราะตามหลักการระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม หากพรรคใดได้จำนวน ส.ส.เขต เกินจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมีแล้วก็จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ด้วยเหตุนี้แกนนำพรรคเพื่อไทยจึงต้องแก้เกมด้วยกลยุทธ์ “แตกเพื่อโต” หรือ “แยกกันเดินแล้วรวมกันตี” แบ่งภารกิจของแต่ละพรรคเดินหน้าลงสนามเลือกตั้ง เพื่อไปสู่จุดหมายเดียวกันคือ จำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคที่ได้ มารวมกันหลังเลือกตั้งกับเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 250 เสียง

เพราะจากการวิเคราะห์และประเมินล่าสุดของแกนนำพรรคเพื่อไทย โอกาสที่จะถูกยุบพรรคยังมีขั้นตอนอีกพอสมควร เพราะคดีที่แกนนำพรรคทั้ง 3 คนคือ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ “วัฒนา เมืองสุข” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถูกดำเนินคดีใน 4 ข้อหา คือ 1.ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ที่ 57/2557 ห้ามประชุมพรรคการเมือง 2.ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง 3.พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ 4.มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นประชาชน

ภายหลังทั้ง 3 คนตั้งโต๊ะแถลงข่าววิพากษ์วิจารณ์ครบรอบ 4 ปีของ คสช.นั้น ก็อยู่ในขั้นตอนการสืบพยานและอัยการยังไม่สรุปสำนวนเพื่อส่งฟ้อง และยังต้องสู้กันถึง 3 ศาล เพราะคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรม อีกทั้งแกนนำ 3 คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาก็ไม่ได้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย หากพลาดพลั้งถูกตัดสินว่ามีความผิดก็ไม่ถึงขั้นส่งผลให้พรรคถูกยุบ

เว้นเสียแต่ว่าผู้มีอำนาจจะเร่งเกมยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง แต่อาจได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากอาจเจอกระแสตีกลับไม่เป็นผลดีกับ “พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)” และอาจกลายเป็นประเด็นช่วยหาเสียงให้กับพรรคแนวร่วมของพรรคเพื่อไทยที่จะได้คะแนนสงสารจากการถูกยุบพรรค

“บิ๊กเนม” พรรคเพื่อไทยจึงเห็นตรงกันในเบื้องต้นว่า ในการสู้ศึกเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นั้น ในส่วนของผู้สมัคร ส.ส.เขต พรรคเพื่อไทยจะใช้อดีต ส.ส.เขตที่เคยชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2554 รวม 204 ที่นั่งลงป้องกันแชมป์สู้ศึกเลือกตั้งในพื้นที่หลักๆ ของพรรคเพื่อไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง

 

ส่วนหน้าที่เก็บแต้ม ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเป็นภารกิจของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) มาขับเคลื่อนในสโลแกน “โลกก้าวไกล ไทยต้องก้าวทัน” โดยมีคนรุ่นใหม่ระดับสายตรง ลูกหลานของแกนนำพรรคเพื่อไทย อย่าง “ป๋อม” ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น และคนรุ่นใหม่ของพรรค พท. บุตรชาย “เสริมศักดิ์-ระเบียบรัตน์” พงษ์พานิช เป็นหัวหน้าพรรค ทษช. และได้ “ฮั่น” มิตติ ติยะไพรัช ประธานสโมสรเชียงรายยูไนเต็ด ซึ่งเป็นลูกชาย “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ที่ออกหน้ามาสนับสนุนพรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) ในขณะนี้ นั่งเป็นเลขาธิการพรรค ทษช.

ส่วนตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคอื่นๆ ล้วนเป็นระดับสายตรงของสองอดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง “ทักษิณ” และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เช่น “ชยิกา วงศ์นภาจันทร์” หลานสาว 3 นายกฯ นายทักษิณ ชินวัตร นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งเป็นนายทะเบียนสมาชิกพรรค “ต้น ณ ระนอง” บุตรชาย “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาเป็นรองเลขาธิการพรรค “ฤภพ ชินวัตร” บุตรชาย “พายัพ ชินวัตร” น้องชายนายทักษิณ มาเป็นรองหัวหน้าพรรค

ขณะที่ “วิม รุ่งวัฒนจินดา” อีกหนึ่งคณะทำงานของทั้งนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มานั่งเก้าอี้รองเลขาธิการพรรค

โดยมี “เสี่ยแมว” วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สายตรง “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวนายทักษิณ มานั่งเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ทษช. ขับเคลื่อนนโยบายของพรรค ทษช. ที่จะชูจุดเด่นในเรื่องนโยบายด้านเศรษฐกิจที่จับต้องได้

 

ขณะเดียวกันระดับ “บิ๊กเนม” ของพรรค พท. ทั้ง “จาตุรนต์ ฉายแสง” “พิชัย นริพทะพันธุ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน “นพดล ปัทมะ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างชั่งน้ำหนักตัดสินใจมาร่วมผนึกกำลังเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ทษช.ร่วมกับ “วรวัจน์”

สำหรับการจัดวางผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ทษช.นั้น จะเน้นปูพรมในพื้นที่จุดบอดของพรรค พท.ที่ไม่เคยได้ ส.ส. ทั้งในพื้นที่ภาคใต้ ภาคตะวันออกบางส่วน ภาคกลางตอนล่าง ตัวเลขกลมๆ อยู่ที่ 100 เขต เพื่อหวังมาแชร์ส่วนแบ่งในคะแนนของผู้แพ้ ที่คะแนนจะไม่ตกน้ำอีกต่อไป นำมารวมคำนวณเป็นเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ตั้งเป้าไว้ว่าจะได้เก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาเติมเต็มบวกลบที่ 30-40 เสียง

นับจากนี้ไปจนถึงครบไทม์ไลน์ 90 วันที่อดีต ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 กลยุทธ์และยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรค พท.จะยิ่งเด่นชัดยิ่งขึ้น กับเป้าหมายที่จะต้องเข้าป้ายด้วยชัยชนะเท่านั้น

ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดก็ตาม