รายงานพิเศษ : สนทนากับ “แบรด อดัมส์” สิทธิมนุษยชน-การเลือกตั้ง จากกัมพูชา มาเลเซีย ถึงไทย

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ รายงาน

หากกล่าวถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไทยมาหลายรัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือจากการรัฐประหารอย่างสม่ำเสมอ ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ (Human Rights Watch) คือหนึ่งในองค์กรที่ถูกกล่าวขานจากหลายฝ่าย เจอมาทั้งดอกไม้และก้อนอิฐในการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตามรายงานของฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ถือว่าน่าเป็นห่วง จากกระแสรัฐบาลอำนาจนิยมและกระแสขวากลับมาร้อนแรงมากขึ้น กำลังท้าทายไม่เพียงสิทธิมนุษยชน แต่ยังรวมถึงกระบวนการขับเคลื่อนประเทศตามหลักประชาธิปไตยอีกด้วย

สิทธิมนุษยชนจะยังคงรักษาหลักการนี้ ฝ่าคลื่นชาตินิยมไปได้มากแค่ไหน

 

สถานการณ์ในกัมพูชา
: จากวันเลือกตั้งและหลังจากนั้น…

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย ผู้มีประสบการณ์ในการติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแถบนี้ กล่าวว่า การเลือกตั้งกัมพูชาที่ผ่านมานั้นไม่ใช่ “การเลือกตั้ง” แต่เป็นการ “คัดเลือก” แทบเรียกว่าเป็นเลือกตั้งลวงมากกว่าตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีฝ่ายตรงข้ามร่วมศึก เพราะพรรคกู้ชาติกัมพูชาหรือซีเอ็นอาร์พีถูกยุบ ห้ามลงเลือกตั้ง อดีตสมาชิกสภาถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี บางคนถูกจำคุก ถือเป็นสัญญาณเตือนต่อประชาธิปไตยในกัมพูชา

กลไกการเลือกตั้งทั้งหมดอยู่ในมือของสมเด็จฯ ฮุน เซน ทุกกระบวนการตั้งแต่ลงทะเบียน เลือก ส.ส. หรือการลงคะแนนอยู่ในมือเขาหมด มันไม่ใช่เลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตย

เมื่อถามถึงอดีตสมาชิกพรรคซีเอ็นอาร์พีถูกคุกคามรุนแรงจากรัฐมากแค่ไหนนั้น นายอดัมส์กล่าวว่า แน่นอน ไม่กี่ปีก่อน สมาชิกสภาถูกทำร้ายกลางอาคารสภา หรือถูกนำตัวขึ้นรถและทำร้ายเกือบตาย หรือถูกยัดข้อหาปลุกปั่น หลายคนจึงเลือกลี้ภัยออกนอกประเทศ

และเมื่อถามถึงบรรยากาศวันเลือกตั้งในกัมพูชานั้น นายอดัมส์กล่าวว่า กัมพูชาขึ้นชื่อว่ามีโอกาสคะแนนกลับไปกลับมา แต่การเลือกตั้งอยู่ในการเฝ้ามองของพรรคประชาชนกัมพูชาหรือซีพีพี ตั้งแต่เช้าประชาชนออกไปใช้สิทธิ์น้อย บางที่ถึงกับเงียบ เพราะไม่มีเหตุผลต้องออกไปใช้สิทธิ์ มีเพียงพรรคเดียวที่ได้ชัยชนะไป แต่นั่นอาจเป็นความผิดพลาดที่ซีพีพีกวาดที่นั่งในสภาไป พวกเขาเชื่อว่าตัวเองมีความประชาธิปไตยแบบหลายพรรค แม้เปิดให้พรรคอื่นได้ที่นั่ง แต่พรรคซีพีพีได้ที่นั่งส่วนใหญ่หมด

“ตอนที่กัมพูชาเซ็นสัญญาสันติภาพและสนธิสัญญาหลายฉบับของยูเอ็น ซึ่งสมเด็จฯ ฮุน เซน เซ็นเอง นำไปสู่การสร้างมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน แต่ฮุน เซน กลับใช้สิ่งนี้เพื่อเสริมอำนาจให้ตัวเอง จนแน่ใจว่าไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว” นายอดัมส์กล่าว และว่า หลังการเลือกตั้ง ชาวกัมพูชากลัวมาก ไม่สามารถใช้สิทธิ์ชุมชนได้ หรือองค์กรระหว่างประเทศทำงานลำบาก แม้แต่บางคนที่ถูกปล่อยตัว แต่ยังคงมีข้อหาติดตัวอยู่

ฮุน เซน กำลังสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว กลับไปสู่รัฐบาลพรรคเดียว

 

มาเลเซีย
: สถานการณ์ยุค “นาจิบ” สู่ “มหาธีร์”

นายอดัมส์กล่าวถึงสถานการณ์มาเลเซียในยุครัฐบาลนาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรี ตอนที่เกิดเรื่องอื้อฉาวทุจริตกองทุนวันเอ็มบีดี นายนาจิบสัญญาว่าจะปฏิรูป แต่กลับใช้ทุกอย่างในการปิดปากเสียงวิจารณ์ จนคดีฐานยุยงปลุกปั่นเพิ่มสูงขึ้น

นายนาจิบมีอาวุธทางการเมืองหลายอย่างมาใช้จัดการกับประชาชนที่ออกมาวิจารณ์ รวมถึงกฎหมายสกัดข่าวปลอม ซึ่งเป็นเรื่องตลก และนายนาจิบย้ำว่ามีเขาเพียงคนเดียวที่เป็นความจริง

พรรคอัมโนกุมอำนาจมากว่า 60 ปี แม้จะมีการเปลี่ยน ส.ส.ในบางพื้นที่ แต่พวกเขายังภักดีต่อพรรคอัมโน พวกเขาควบคุมกลไกการเลือกตั้ง จนประชาชนมีความเป็นห่วงหลายเรื่อง รวมถึงการปั่นตัวเลขผู้ใช้สิทธิ์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงขึ้นมา

แต่พอเปลี่ยนไป (สู่รัฐบาลมหาธีร์) ประชาชนกลับโล่งใจและหายใจสะดวก ราวกับหมอกดำมืดได้จางหายไป แต่เมื่อเป็นรัฐบาลใหม่ (มหาธีร์) ได้ให้คำมั่นในการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับตามคำประกาศ เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าการยกเลิกกฎหมายข่าวปลอม ความผิดฐานปลุกปั่น และยังลงนามสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงยกเลิกโทษประหารชีวิต

นายอดัมส์กล่าวอีกว่า จากการหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ทราบว่ามาเลเซียให้คำมั่นในการแก้ไขตามหลักสิทธิมนุษยชน

ฮิวแมน ไรท์ วอทช์จะจับตาดูว่าปฏิบัติตามมาตรฐานหรือไม่ เช่นเดียวกับประเทศอื่นอย่างประเทศไทย

 

ประเทศไทย
: สิทธิมนุษยชนและการเลือกตั้งที่ยังน่าห่วง สู่ผลลัพธ์ที่ไม่น่าพึงปรารถนา

นายอดัมส์กล่าวว่า นับตั้งแต่การเปิดแพลตฟอร์มโซเชียลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นสิทธิ์และไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือการไม่เปิดโอกาสให้พรรคหรือนักการเมืองคนอื่นสามารถสื่อสารได้อย่างเต็มที่

การขู่เอาผิดกับพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคเพื่อไทยนั้น ได้ส่งสัญญาณแล้วว่าประเทศไทยไร้วี่แววจะสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

“คสช.ตั้งใจที่จะเลือกผู้นำคนต่อไปที่อยากให้เป็น แต่ไม่ยอมเปิดให้ประชาชนเป็นผู้เลือก คสช.ออกแบบรัฐธรรมนูญตามแบบพม่า และทั่วโลกต่างวิจารณ์รัฐธรรมนูญพม่าที่ให้ทหารมีที่นั่งในสภา ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วตอนนี้ ประเทศไทย รัฐบาล คสช.กำลังเลือก ส.ว. 250 เข้านั่งในสภานั้นแน่ใจว่า ต่อให้พรรคการเมืองชนะใจประชาชนได้เสียงข้างมากในสภาก็ไม่มีอำนาจบริหารได้เต็มที่ และผมไม่คิดว่าพวกเขาตระหนักถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง” นายอดัมส์กล่าว

นายอดัมส์กล่าวด้วยว่า ถึงต่อให้ผมจะไม่ใช่ที่ปรึกษาทางการเมือง ผมจะแนะว่า ต่อให้พวกเขาไม่คิดว่าต่างชาติจะคิดยังไงในตอนนี้ แต่หลังจากนั้นพวกเขาคิดแน่ ยกตัวอย่างกัมพูชา ที่จัดให้เลือกตั้งปลอมๆ เพราะคิดว่าต่างชาติคงไม่สนใจอะไร ก็จัดการเลือกตั้งข้างเดียวโดยไม่สนใจผลลัพธ์ที่ตามมา แล้วสิ่งที่ว่านี้ได้เกิดขึ้นกับกัมพูชา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการค้า การส่งออกไปยุโรปและสหรัฐได้รับผลกระทบ เห็นการคว่ำบาตรผู้นำ นั่นแหละที่ผมห่วง

ความสัมพันธ์ของประเทศไทย ต่างชาติจะมีปฏิกิริยายังไง จริงอยู่ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สนใจประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่สมาชิกสภาคองเกรสนั้นกลับสนใจ และอาจผ่านมติที่ส่งผลต่อประเทศไทยได้ และผมไม่อยากเห็นอย่างนั้น แต่ผมไม่รู้ว่าความเป็นผู้นำของประเทศนี้จะนึกถึงความเสี่ยงนี้หรือไม่

ถึงต่อให้เดินหน้าการเลือกตั้ง ก็ไม่อาจได้รับความชอบธรรมจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ นายอดัมส์กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งของไทย คงไม่สามารถเทียบได้กับกัมพูชาหรือพม่า เพราะไทยไม่ได้เผชิญความรุนแรงอย่างกัมพูชาหรือเจอการปกครองแบบทหารถึง 6 ทศวรรษอย่างพม่า

แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความพยายามที่จะสร้างความกลัวต่อผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

และกลไกการเลือกตั้งครั้งนี้ เสียงของประชาชนไม่มีความหมายเพราะมี ส.ว.แต่งตั้งแล้ว 250 คน เพื่อเลือกผู้นำรัฐบาลต่อไป

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไทยเจริญรอยตามการเมืองพม่าในยุคก่อน ขณะที่พม่าในตอนนี้กลับเอาตามแบบไทยในยุคประชาธิปไตยผลิบาน มันกลับหัวกลับหาง

 

ทั้งนี้ นายอดัมส์ ได้ฝากข้อเสนอแนะถึง คสช. โดยยังคงย้ำข้อเรียกร้องนี้ว่า ขอให้ คสช.ถอนข้อหาและยุติการดำเนินคดีอันละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และสร้างบรรยากาศที่ก้าวหน้าให้เกิดการเลือกตั้งที่

เสรีและเป็นธรรม