ความอ่อนไหวของสังคมเมือง กับ “ครางชื่ออ้ายแน” เมื่อเพลงของคนบ้านนอก ขัดหูคนกรุง

2 สัปดาห์มานี้ นอกจากเพลง “ซ่อนกลิ่น” ของปาล์มมี่ ที่ติดหูและ MV กลายเป็น talk of the town แล้ว ยังมีอีก 2 เพลงที่ดังระเบิดไม่แพ้กัน

1 เพลง “ประเทศกูมี” ของกลุ่มแร็พเปอร์โปรเจ็กต์ “Rap Against Dictatorship”

ส่วนอีก 1 คือเพลงลูกทุ่งหมอลำ ชื่อ “ครางชื่ออ้ายแน” ร้องโดยศรีจันทร์ วีสี Feat. ต้าร์ เพ็ญนภา แนบชิด

ในสังคมออนไลน์ เพลง “ครางชื่ออ้ายแน” ถูกชาวเน็ตจวกอย่างหนักถึงความเหมาะสม เพราะเนื้อหาของเพลงเล่าเรื่องตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ร้องอย่างเปิดเผยเลยว่าเป็นเพลงที่เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ของชาย-หญิง

เพลงเริ่มต้นด้วยความอาลัยอาวรณ์ของฝ่ายชายที่พรรณนากับหญิงคนรักเก่า เพราะกำลังจะเข้าเรือนหอกับชายอื่น ด้วยความเสียดาย ชายหนุ่มจึงร้องเพลงบอกหญิงสาวว่า

“ในคืนนี้คนดีสิมีแฮงกับเขา แต่งตอนเช้าส่งเข้าหอ แล้วหย่าวต่อยามแลง อกแฟนเก่าจั่งอ้ายขอหยังได้บ่คำแพง ยามเจ้ามีแฮงกับเพิ่น ครางชื่ออ้ายแนได้บ่”

อันหมายถึงเวลามีอะไรกับเจ้าบ่าว ขอให้ครางชื่อพี่หน่อยจะได้ไหม

จากนั้นเพลงก็เร้าจังหวะคึกๆ สนุกๆ โดยฝ่ายหญิงเหมือนจะปฏิเสธฝ่ายชายว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะหากเจ้าบ่าวจับได้ เห็นทีจะต้องเจอดีเป็นแน่แท้

ขณะที่ฝ่ายชายก็อ้อนไม่ยอมเลิก ตัดพ้อว่าชีวิตตัวเองบุญน้อยหนักหนา ไร้โอกาสวาสนาได้ร่วมห้องหอกับน้องนาง ถึงกระนั้น อย่างน้อยๆ ในวันที่เจ้ากำลังจะเข้าไปมีความสุขกับหนุ่มคนใหม่ ขอให้ครางชื่อพี่บ้างก็แล้วกัน เพราะพี่จะแอบรอฟังเสียง “คราง” ของเจ้าไม่ไกลจากเรือนหอ

ฝ่ายหญิงฟังแล้วเกิดอ่อนใจ ตกลงกับชายหนุ่มว่า ถ้าอย่างนั้นน้องจะพยายามหาจังหวะ ตอนที่ในงานแต่งเปิดเพลงเสียงดัง แล้วจะครางชื่อพี่ให้สมใจอยาก

ก่อนจะนำไปสู่ท่อนฮุกอันดังลั่นสนั่นเมือง

เพลงนี้ถูกปล่อยออกมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 กลับเพิ่งมาดังและถูกพูดถึงอย่างมากในเวลานี้ เพราะมีคนตัดคลิปบางส่วนของเพลงไปลงเฟซบุ๊ก โดยตัดเฉพาะท่อนที่ฝ่ายหญิงกำลัง “คราง” ประกอบดนตรีอย่างเมามัน ซึ่งคลิปดังกล่าวแพร่ระบาดในสังคมออนไลน์ในเวลาอันรวดเร็ว นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน

เมื่อกลายเป็น talk of the town เพลงนี้จึงถูกวิจารณ์ขั้นรุนแรง ว่าไม่เหมาะสม ผิดศีลธรรม ทำลายขนบธรรมเนียมอันดีงาม สร้างรอยด่างให้วงการเพลงลูกทุ่ง…ต่างๆ นานา

“เจ๊เบียบ” หรือนางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิชย์ นายกสมาคมเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข วิจารณ์เพลงนี้ว่า ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ไม่ควรนำมาเผยแพร่ในที่สาธารณะ

พร้อมกระแทกไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า “อยากให้ผู้ที่ตรวจสอบคิดแผนในการทำงาน ไม่ใช่กินแค่เงินเดือนแล้วปล่อยให้มันผ่านไป”

อันที่จริงเพลงลูกทุ่งหมอลำที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ไม่ได้เพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่มีมานมนานมากแล้ว นับแต่อดีตที่ผ่านมา คนอีสานต่างคุ้นเคยกับการฟังหมอลำเป็นอย่างดี โดยเฉพาะลำซิ่ง ซึ่งมีจุดเด่นเน้นความสนุกเฮฮา การนำเรื่องของ “กาม” มาร้องในกลอนลำก็เป็นเพลงปกติ และผู้ฟังก็ไม่มีความรู้สึกว่าฟังลำแล้วอยากจะไปมีเพศสัมพันธ์แต่อย่างใด เพราะนั่นเป็นเพียงมหรสพที่ดูเพื่อความเพลิดเพลินก็เท่านั้น

บิ๊กวัน กันทรลักษ์ ที่ตอนนี้เติบโตจนเป็น “อาจารย์งัวน้อย กันทรลักษ์” ผู้แต่งเพลง “ครางชื่ออ้ายแน” โพสต์ข้อความเป็นภาษาอีสานตอนหนึ่งว่า “ต้องขอโทษสายโลกสวยไว้นำเด้อคับ อย่าไปคึดหยังหลาย หมอลำซิ่งบ้านเฮากะทะลึ่งกันแหน่ละคับ”

“เอาเป็นว่าไผสิด่า กะน้อมรับคับ เพราะเพลงมันได้ออกอากาศไปล่ะ กะยินดีให้ด่าคับ กราบขอโทษล่วงหน้าเด้อคับ” บิ๊กวันว่าอย่างนั้น

นั่นเพราะผู้แต่งเองก็ไม่คิดว่าเพลงจะดังชั่วข้ามคืนเช่นนี้ โดยพยายามอธิบายว่า เพลงแบบนี้เป็นเรื่องปกติมากสำหรับคนอีสาน มีมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และจะมีเรื่อยไปในอนาคต

หลังๆ มานี้วงการดนตรีในภาคอีสานคึกคักอย่างมาก เรียกว่าพัฒนาไปไกลเลยทีเดียว มีศิลปินหลายกลุ่มหลายค่ายผุดขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มทุนหนา เพราะพวกเขาสามารถทำเพลงเอง พึ่งการโปรโมตจากเฟซบุ๊กและสื่อออนไลน์อื่นๆ จากนั้นค่อยเริ่มต้นสร้างความนิยมในพื้นที่ หากมีเพลงฮิตติดหู นั่นหมายความว่า จะสามารถหากินในพื้นที่ได้สบายๆ และถ้าหากเพลงเกิดดังเปรี้ยงปร้างไปทั่วประเทศ ศิลปินก็จะรวยโดยไม่รู้ตัว

พัฒนาการดนตรีที่ไปไกลนี้ ยังนำมาซึ่งความหลากหลายด้วย ศิลปินบางกลุ่มผลิตงานออกมาเอาใจวัยรุ่นหนุ่ม-สาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงลูกทุ่งโมเดิร์น ที่เล่าบรรยากาศบ้านนอกในแบบสมัยใหม่ และยังมีเพลงลูกทุ่งหมอลำสำหรับคนท้องไร่ท้องนาจริงๆ ไหนจะเพลงลูกทุ่งหมอลำสำหรับคนเก่าคนแก่ ฯลฯ

และในความหลากหลายนั้น มีเพลงลูกทุ่งหมอลำประเภทสองแง่สองง่ามอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งได้รับความนิยมพอสมควร

ต้นปี 2560 “เพชร สหรัตน์” ปล่อยเพลง “ปล่อยน้ำใส่นาน้อง” ที่ร้องคู่กับ “แพรวพราว แสงทอง” เป็นเพลงในจังหวะสนุกสนาน ที่ฟังแล้วต้องอยากลุกขึ้นมาเต้นทันที

ทว่าเนื้อหาเพลงล้วนเป็นเรื่องสองแง่สองง่าม เล่าเรื่องประมาณว่า ชายหนุ่มกับหญิงสาวมีที่นาติดกัน และเนื่องด้วยนาฝ่ายชายมีน้ำอยู่พอสมควร ผิดกับฝ่ายหญิงซึ่งนาแห้งแล้งไม่น่าดู หญิงสาวจึงขอให้ฝ่ายชายปล่อยน้ำจากนาตัวเองมาใส่นาของเธอบ้าง

ซึ่งเพลงเล่นกับคำว่า “ปล่อยน้ำใส่นา” ให้คนคิดถึงการปล่อยน้ำอย่างอื่นแทนการปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร

เพลงร้องท่อนฮุกขบขันว่า

“อ้ายๆ จ๋าขยับเข้ามาปล่อยน้ำใส่นาให้แหน่

น้องๆ จ๋าป๊าดคันแทนาน้องคือใหญ่คักแท้

นาท่งน้อยๆ ยังขาดคนดูแล

อ้ายสิอาสาเป็นคนคอยเทกแคร์

ปล่อยน้ำใส่แหน่ปล่อยน้ำใส่นาให้แหน่

ปล่อยน้ำใส่แท้ปล่อยน้ำใส่นาน้องแหน่”

มิถุนายน 2559 “กุ้ง” สุภาพร สายรักษ์ ปล่อยเพลง “สิฮิน้องบ่” เพลงลูกทุ่งอีสานที่ผนวกกับดนตรีเร็กเก้อย่างกลมกลืน เพลงของ “กุ้ง” เล่นกับคำว่า “สิฮิน้องบ่” ซึ่งทำให้คนเข้าใจว่ามันหมายถึงการเชิญชวนผู้ชายมามีอะไรกัน แต่ “สิฮิ” ในที่นี้หมายถึง “ตำหนิ” เพลงจึงเล่าว่าพี่จะตำหนิหนูหรือไม่ ถ้าหนูเคยมีครอบครัวหรือ “ผัว” มาแล้ว แต่เพื่อความบันเทิง เพลงกลับทำให้คนคิดไปไกลว่า “พี่อยากจะ…หนูไหม”

การร้อง “สอย” ในหมอลำมีมานมนาน เป็นการร้องกลอนลำด้วยศิลปะภาษาเพื่อความเพลิดเพลิน แม้ส่วนใหญ่แล้วการ “สอย” มักจะหนีไม่พ้นเรื่องเพศ กระนั้นชาวบ้านก็ฟังและมองเป็นเรื่องขบขัน ฟังแล้วหาได้เกิดอารมณ์ทางเพศ

เหมือนที่ยุคหนึ่ง “เฉลิมพล มาลาคำ” มีชื่อเสียงอย่างมากกับตำนานเพลง “บักจอบหลอย” เพราะมักผลิตงานที่มีเนื้อหาในทำนองแอบมีชู้กับเมียชาวบ้าน

และเพลงเหล่านี้เปิดในวัดในวาเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ทำให้พระสงฆ์อยากสึกออกมาแม้แต่น้อย ก็ในเมื่อวัดเป็นศูนย์รวมของชุมชน ฉะนั้น การจะฟังธรรมะทั้งวันทั้งคืน ก็ดูจะขัดกับวิถีชาวบ้านอยู่หน่อยๆ

กระนั้น เมื่อไหร่ที่เพลงเหล่านี้หลุดมาถึงหูคนเมือง เมื่อนั้นจะมีเสียงวิจารณ์ปนด่าตามมา จนเหมือนกับว่าความรู้สึกหรือความอ่อนไหวของคนเมืองกับคนบ้านนอกนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เพราะในขณะที่คนอีสานบ้านนอกมองว่าเพลงเหล่านี้เป็นความบันเทิง ฟังเพื่อความสนุกสนาน ให้เสียงหัวเราะ

คนเมืองกลับเห็นเป็นจริงเป็นจัง พร้อมชี้แนะว่าเพลงที่เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์นั้นไม่ควรนำมาแพร่ออกสู่สาธารณะ เพราะจะนำมาซึ่งสังคมที่เสื่อมทราม

จึงไม่แปลกที่จะมีเสียงด่า “ลําไย ไหทองคํา” ในตอนที่เพลง “ผู้สาวขาเลาะ” ดังทั่วฟ้าเมืองไทย แม้เนื้อเพลงจะไม่มีปัญหา แต่ท่วงท่าและลีลาของสาวนักร้องกลับออกจะเกินไปมากจนสังคมรับไม่ได้ ทำให้เธอถูกด่ายับเยิน ทั้งที่ในแผ่นดินอีสาน ทั้งการแต่งตัวรวมถึงท่วงท่าลีลาของ “ลำไย ไหทองคำ” ยังถือว่าน้อยไปด้วยซ้ำ

ผู้เขียนในฐานะลูกอีสาน คิดว่าความอ่อนไหวของคนบ้านนอกโดยเฉพาะคนอีสานกับคนเมืองนั้นต่างกันมาก อาจเนื่องด้วยการเลี้ยงดูปูเสื่อที่แตกต่างกัน

ยกตัวอย่างในขณะที่พ่อ-แม่ผู้ปกครองใน กทม. ต่างดูแลบุตรหลานอย่างดิบดี ต้องเดินทางไปรับ-ส่งที่โรงเรียนทุกเช้า-เย็น บางคนต้องไปรับ-ไปส่งกระทั่งจบ ม.6 ด้วยซ้ำ ด้วยเหตุที่กลัวลูกตัวเองจะลำบาก

นั่นเป็นเวลาเดียวกับที่คนบ้านนอกปล่อยให้ลูกไปโรงเรียนด้วยตัวเองตั้งแต่ ป.1 โดยไม่เห็นจะต้องเป็นห่วงเป็นใยว่าจะมีภยันตรายระหว่างการเดินทาง เพราะมันเป็นเรื่องปกติที่พ่อ-แม่ที่ไหนเขาก็ปล่อยให้ลูกไปโรงเรียนเองด้วยกันทั้งนั้น และเป็นเรื่องปกติที่จะปล่อยให้ลูกออกไปวิ่งเล่น ปีนต้นไม้และกระโดดน้ำสระหรือห้วย

และแน่นอน คนอีสานรับเอาวัฒนธรรมการละเล่นร้องลำในแบบไม่ผ่านการเซ็นเซอร์มาตั้งแต่เด็ก โดยไม่เห็นว่าการแสดงออกเพื่อความบันเทิงนั้นเป็นเรื่องซีเรียส จริงจัง

สังคมเมืองกับบ้านนอกนั้นมีบริบทที่แตกต่างกัน เรื่องที่คนเมืองเห็นว่าไม่ดีไม่งาม ไม่เหมาะ อาจเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วสำหรับคนบ้านนอก

หลายคนอยากให้กองเซ็นเซอร์เข้ามาจัดการเพลง “ครางชื่ออ้ายแน” แต่ถามว่าเราต้องการอย่างนั้นจริงๆ เหรอ

หมายถึงเราต้องการให้รัฐเข้ามาจัดการกับศิลปะ ดนตรี และวัฒนธรรม จริงๆ เหรอ

ว่าแล้วก็ลอง “ครางชื่ออ้ายแน”