ธเนศวร์ เจริญเมือง : การศึกษาแบบ ม.ส.ว. กับสังคมประชาธิปไตย

ผมสงสัยตั้งแต่แรกว่า ในเมื่อ Liberal Arts เป็นคำที่มีรากมาจากภาษาละติน (คำว่า Liber และ Ars) และการศึกษาแนวนี้ทำกันในสังคมนายทาสของยุคกรีก แต่ทำไมไม่มีคำเรียกแบบนี้เป็นภาษากรีก

คำตอบก็คือ เพราะคำว่า Liberal Arts Education เป็นคนที่ปัญญาชนในปลายสมัยยุคกลางเรียกหา ยุคกลางซึ่งภาษาที่มีบทบาทสำคัญทั่วยุโรปในขณะนั้นคือภาษาละติน ส่วนอำนาจการปกครองอยู่ในมือของศาสนาคริสต์ที่กรุงโรม มีรัฐเล็กๆ ของเจ้าที่ดินหรือกษัตริย์เป็นเจ้าของแคว้นศักดินากระจัดกระจายห่างออกไปเป็นจุดๆ แต่ละแห่งควบคุมไพร่ และบริหารตนเอง

สังคมยุคกลาง (the Middle Ages ค.ศ.476-1400) เป็นสังคมอำนาจนิยม ไม่ว่าจะเป็นระดับอำนาจของกรุงโรมหรือเจ้าศักดินาทั้งหลาย คนชั้นล่างล้วนตกเป็นไพร่ทาส ขาดสิทธิเสรี ชนชั้นนำผูกขาดความรู้-ความคิด ทุกหนแห่งอ่านได้แต่พระคัมภีร์

ภายหลังจึงมีคนเรียกยุคนี้ว่ายุคมืด (ทางปัญญา)

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 การค้าขยายตัวจากยุโรปใต้ไปถึงยุโรปเหนือเป็นลำดับ เมืองใหม่ที่เกิดขึ้นจากการหยุดพัก ขนถ่ายและแลกเปลี่ยนสินค้าต้องการแรงงานเสรีมากขึ้น เสรีชนได้พบปะกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้เรียนรู้ภาษา-วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น

นี่คือปลายยุคศักดินา ที่อำนาจเจ้านายขุนนางและคณะสงฆ์กรุงโรมถูกท้าทายด้วยการค้าและเมืองของเสรีชนที่กำลังขยายตัว

คำขวัญของเยอรมันโดดเด่นมากในยามนั้น “Stadt Luft macht frei” (อากาศของเมืองทำให้ (คน) เป็นเสรี)

แปลว่าขอให้แรงงานไพร่ในชนบทหลบหนีเข้าเมืองได้ ก็จะได้เสรีภาพ

 

คําว่า Liberal Arts เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น เพราะความรู้จะต้องมีลักษณะเสรี ไม่มีกำแพงหรือกรอบใดๆ มาขวางกั้น เพื่อสนับสนุนการค้า ภาษา ศิลปวัฒนธรรม และสภาพสังคมที่กำลังเปิดออก

สถาบันการศึกษาแบบเสรีเกิดขึ้น และแน่นอน ย่อมมีการต่อสู้ระหว่างทัศนะปิดกั้นของยุคมืดกับการเปิดโลกและทัศนะเสรี ซึ่งส่วนสำคัญก็คือการศึกษาค้นคว้าหาความรู้อย่างเสรีเช่นในยุคกรีก

คำว่ามหาวิทยาลัยในอิตาลีลามขึ้นไปยังยุโรปเหนือ คำว่า universita, universidad, Universitat, universite, university (ภาษาอิตาเลียน, สเปน, เยอรมัน, ฝรั่งเศส และอังกฤษ ตามลำดับ) ล้วนเป็นคำที่เกิดจากรากฐานเดียวกันคือ universus (ภาษาละติน) แปลว่า ทั้งหมดทั้งมวล/จักรวาล ครอบคลุมทุกๆ เรื่อง เป็นการใฝ่หาเสรีภาพเพื่อศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เริ่มจากมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกคือ โบโลญญ่า (Bologna ค.ศ.1088) ในอิตาลี; มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (ค.ศ.1096) ที่อังกฤษ; มหาวิทยาลัยแห่งปารีส (ค.ศ.1150); ม.โมดินา & เรจิโอ ที่อิตาลี (ค.ศ.1175); ม.เคมบริดจ์ ที่อังกฤษ (ค.ศ.1209); ม.ซาลามังก้า ที่สเปน (ค.ศ.1218); ม.มงเปลิเยร์ ที่ฝรั่งเศส (ค.ศ.1220); และ ม.ปาดัว ที่อิตาลี (ค.ศ.1222) ฯลฯ

ที่ไหนมีความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ก็มีเสรีภาพพอที่จะแยกตัวออกไปสร้างมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ ดังกรณีออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์

 

นักบวช-นักทฤษฎีคนสำคัญชาวอิตาเลียนชื่อโธมัส อะไควนัส (ค.ศ.1225-1274) เปิดอภิปรายว่า การศึกษาเรื่องศาสนาและปรัชญาสามารถย้อนไปถึงยุคกรีกได้ อไควนัสยังได้เปิดฉากวิจารณ์ทัศนะของอริสโตเติลก็คือ แม้แต่วงการสงฆ์ที่ปิดกั้นความคิดนอกกรอบ ก็ยังไม่อาจปฏิเสธการศึกษาภายนอกโบสถ์ในขณะนั้นที่ย้อนกลับไปศึกษาหาความรู้ของกรีก โดยเฉพาะงานปรัชญาของเพลโตและอริสโตเติล

การที่คอเปอร์นิคุส นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ (ค.ศ.1473-1543) เสนอผลการค้นพบดวงดาวต่างๆ หมุนล้อมรอบดวงอาทิตย์

โคลัมบัส (ค.ศ.1451-1506) ชาวโปรตุเกสเดินทางข้ามมหาสมุทรไปพบ “อินเดีย” ทางทิศตะวันตก

และวาสโก ดา กามา (ค.ศ.1460-1524) เดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป ไปถึงอินเดีย

ดา วินชี (ค.ศ.1452-1519) สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันลือลั่นในฟลอเรนซ์, โบโลญญ่า, มิลาน

กาลิเลโอ (ค.ศ.1564-1642) คัดค้านคำสรุปของศาสนาคริสต์กรุงโรมที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

และมาร์ติน ลูเธอร์ (ค.ศ.1483-1546) ประกาศไม่ยอมรับการผูกขาดคำสอนของคณะสงฆ์ที่กรุงโรม ทั้งปฏิเสธใช้ภาษาละตินสอนศาสนา ฯลฯ

นี่คือผู้บุกเบิกและเป็นทั้งผลพวงของการศึกษาค้นหาความรู้อย่างเสรีในช่วงเวลานั้น

 

การศึกษาแบบ Liberal Arts จึงเป็นทั้งรากฐานและองค์ประกอบสำคัญของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ที่เรียกว่ายุคเรอแนสซองซ์ (Renaissance) ในยุโรปในศตวรรษที่ 15 นำไปสู่การค้นพบโลกใหม่ การปฏิรูปศาสนา (Reformation) การล่าและยึดครองอาณานิคม (Colonialism) และการค้าทาส อันเป็นการโยกย้ายแรงงาน (จากทวีปแอฟริกาสู่ทวีปอเมริกา) ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

นี่คือเสรีภาพของนายทาส และบรรดาพ่อค้าที่ได้รับประโยชน์จากการค้าขาย, การศึกษา และการเติบโตด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างเสรี และในที่สุดก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีก 3 ด้านติดต่อกันไป ได้แก่ การตื่นรู้ทางวิชาการ (Enlightenment) เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1715, การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) เริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 1770 และการปฏิวัติล้มล้างระบอบอำนาจนิยม เริ่มในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เช่น การปฏิวัติในสหรัฐในปี ค.ศ.1776 และการปฏิวัติของฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1789

ผลตามมาที่สำคัญที่สุดก็คือ การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเริ่มที่สหรัฐ ด้วยการออกรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่มีลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกของโลก กำหนดให้มีระบอบสภาผู้แทนราษฎร-สภาผู้แทนระดับรัฐ ที่ประชาชนเป็นคนเลือก และการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยประชาชนทุกๆ 4 ปี

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในสหรัฐส่งผลต่อระบอบการเมืองการปกครองในฝรั่งเศสและอังกฤษอย่างลึกซึ้ง

นำไปสู่การสถาปนาระบอบการปกครองโดยประชาชนมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

อังกฤษมีระบบรัฐสภาของประชาชน มีกษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ใต้กฎหมาย

และเช่นเดียวกัน แม้จะล้มลุกคลุกคลานกลับไปเกิดระบอบนโปเลียนในบางช่วง แต่ในที่สุดฝรั่งเศสก็สถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบกึ่งรัฐสภา-กึ่งประธานาธิบดีอย่างมั่นคงในเวลาต่อมา

เช่นเดียวกันกับระบอบการเมืองในประเทศของยุโรปตะวันตกอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่ระบอบประชาธิปไตยของประชาชนกลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่ลงหลักปักฐานอย่างถาวรต่อจากนั้น

 

ทั้งหมดนี้เราจะอธิบายจากเหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดแบบนักประวัติศาสตร์ทั่วๆ ไปก็ได้ นั่นคือ การอธิบายแบบลำดับเหตุการณ์ (ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว) และอธิบายแบบวิทยาศาสตร์สังคมกว้างๆ ว่า ทุกอย่างเกิดจากเหตุ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจ การเมือง และศิลปวัฒนธรรมได้ก่อตัวมาเป็นลำดับตั้งแต่ปลายยุคกลาง นำไปสู่การยกเลิกระบอบเศรษฐกิจการเมืองแบบศักดินา

เมื่อการค้าขยายตัว เกิดพ่อค้าเสรี แรงงานเสรีที่หลุดออกมาจากแว่นแคว้นศักดินา และชาวเมืองเสรีที่ต่อมาได้ร่วมกันสร้างเมืองของเหล่าเสรีชน ฯลฯ

และจะต้องไม่ลืมด้วยว่า ด้วยการเติบโตอย่างมากของการพาณิชย์และวัฒนธรรมใหม่ๆ และกำลังทรัพย์ของชนชั้นกระฎุมพี พ่อค้าและชาวเมืองเสรีในหลายๆ เมืองจึงมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากพอที่จะได้สิทธิจากกษัตริย์หรือเจ้าที่ดินที่เคยยิ่งใหญ่ สามารถใช้สิทธินั้นในการปกครองเมืองของตนเอง

เสรีภาพของชาวเมืองที่นำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งเลือกผู้บริหารเมืองคือนายกเทศมนตรี

แต่ขณะที่ประชาธิปไตยท้องถิ่นของยุโรปเป็นแบบสภาท้องถิ่นเลือกนายกฯ ของสหรัฐเริ่มจากรูปแบบชาวเมืองประชุมกันทั้งหมด (Direct democracy-Town meeting) แล้วพัฒนาเป็นระบบเลือกตั้งผู้บริหารทางตรง (Directly-elected mayor) โดยมีสภาท้องถิ่นเป็นฝ่ายควบคุมและตรวจสอบ

ทั้งหมดนี้กลับไปสู่ประเด็นเดิม การศึกษาแบบเสรีของกรีกและที่รื้อฟื้นกันในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการนั้นมีบทบาทอย่างไรหรือไม่ต่อการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

 

เราจะเห็นว่านับตั้งแต่ปลายยุคศักดินาเป็นต้นมา ความคุ้นเคยในการอธิบายพัฒนาการทางสังคมของยุโรปและอเมริกาเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองดังที่ได้นำเสนอมาข้างต้น แต่น้อยครั้งมากที่เราจะได้พิจารณาบทบาทด้านการศึกษาอย่างจริงจัง

แม้กระทั่งเป้าหมายของบัณฑิตที่สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ กล่าวถึง (เช่น ตัวอย่าง 4 สำนักในบทความก่อน) สรุปออกมาได้ 34 ข้อ ซึ่งปลอดจากการสนับสนุนหรือต่อต้านระบอบการเมืองใดๆ

แต่มองให้ลึกลงไป จะพบว่าคุณภาพเหล่านั้นจำนวนมากส่งเสริมสังคมที่มีการปกครองและการใช้ชีวิตในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว

เริ่มต้นตั้งแต่คำว่าเสรี (Liber) และการศึกษาหาความรู้อย่างเสรี (Liberal Arts) ซึ่งชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า สังคมเสรีก็ย่อมจะส่งเสริมการศึกษาแบบเสรี มีก็แต่รัฐอำนาจนิยมที่ขัดขวางเสรีภาพในการศึกษาค้นคว้า การพูด การเขียน ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ ในสังคม

ก็ด้วยความแข็งขันของการศึกษาเช่นนี้ที่กระจายออกไปทั่วยุโรป โดยเฉพาะอิทธิพลของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ บทบาทของมหาวิทยาลัย และศิลปินแขนงต่างๆ การปฏิรูปศาสนาซึ่งต้องการให้ชาวคริสต์อ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เชื่อแต่คำสอนของนักบวช การตื่นรู้ทางวิชาการ และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ฯลฯ

ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นรากฐานสำคัญของสังคมตะวันตกในการสถาปนาระบอบการปกครองแบบเปิดหรือส่งเสริมเสรีภาพและบทบาทการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน

แม้จะมีความแตกต่างกันในเรื่องอุดมการณ์ นำไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมในบางประเทศ และระบอบนาซี-ฟาสซิสต์จนเกิดสงครามโลก

แต่สุดท้าย รากฐานทางความคิด เศรษฐกิจ และสังคมแบบเสรีก็นำระบอบการเมืองแบบเปิดกลับมาได้อีกครั้ง

 

สิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ มหาวิทยาลัยในตะวันตกเกิดขึ้นและเคียงบ่าเคียงไหล่กับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในด้านอื่นๆ ด้วยตลอดมาตั้งแต่ความปรารถนาที่จะกลับไปหาการศึกษาค้นหาความรู้แบบกรีก ที่สถาบันการศึกษาเป็นจำนวนมากชูคำขวัญของตนเองว่า Lux et Veritas (ภาษาละตินที่แปลว่า Light & Truth – แสงสว่างและความจริง) นั่นคือ การศึกษาจักต้องมีเสรีภาพ (แสงสว่าง) เพื่อจะนำไปสู่ความจริง หรือความเป็นเลิศทางวิชาการ

ผิดกับมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นในรัฐอำนาจนิยมในห้วง 100 ปีมานี้ ที่เห็นแต่อาคารมหาวิทยาลัยอันขรึมขลังและงดงามของตะวันตก ชุดเสื้อครุยหลากสีสัน และพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์แต่เรียบง่าย มีปริญญาตรี-โท-เอก

คนชั้นสูงจำนวนน้อยจากรัฐอำนาจนิยมได้ไปเรียนวิชาและได้ปริญญากลับมา แต่ได้เรียนรู้และซึมซับวิญญาณเสรีของการศึกษาแบบ Liberal Arts ของตะวันตกกลับมาหรือไม่

วันนี้เราได้เห็นแล้วว่าสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นเทคโนโลยีและวิชาชีพอย่างมาก และไม่ให้ความสำคัญต่อการศึกษาแบบ ม.ส.ว. (มนุษย์, สังคม, วิทยาศาสตร์) ก็คือสถาบันในรัฐอำนาจนิยม เพราะวิชา Liberal Arts อันเป็นรากฐานสำคัญของอุดมศึกษาในตะวันตกนั้น ย่อมจะต้องมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยรองรับและสนับสนุน