“ปธน.ทรัมป์” ผลลัพธ์จาก “วิกฤตการณ์” ที่ถูก “มองข้าม” จากชนชั้นสูง-หัวกะทิของสังคมอเมริกัน

A man holds a Poster as he takes part during a protest againts elected president Donald Trump on November 9, 2016 in New York City.

ทำไมนักธุรกิจระดับมหาเศรษฐีพันล้านจากนิวยอร์กรายนี้
ถึงน่าตกอกตกใจถ้าเข้าไปนั่งกุมทิศทางของประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา?

เหตุผลก็คือ นักรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจำนวนหนึ่ง เห็นว่า ชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งในระดับการเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรค เรื่อยไปจนถึงชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปนั้นเป็นเครื่องสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมอเมริกัน การเปลี่ยนแปลงที่เมื่อวัดจากการรณรงค์หาเสียงที่ผ่านมาของทรัมป์แล้วเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ทั้งน่าวิตก และน่ากลัวไปพร้อมๆ กัน

การผงาดขึ้นสู่ระดับ “หัวแถว” ทางการเมืองของนักการเมืองหน้าใหม่อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นถูกนักวิชาการกลุ่มนี้มองว่าเป็น “ผลลัพธ์” โดยตรงจาก “วิกฤตการณ์” ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องมายาวนานร่วมสองทศวรรษแล้ว

เป็นวิกฤตการณ์ที่ถูก “มองข้าม” มาโดยตลอดจากชนชั้นสูงและผู้คนในระดับหัวกะทิของสังคมอเมริกัน

ชัยชนะของทรัมป์ก็ดี การได้รับเสียงสนับสนุนมากเกินคาดหมายของ “เบอร์นี แซนเดอร์ส” ในการเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรคเดโมแครตก็ดี ล้วนแสดงให้เห็นถึงภาวะ “กบฏต่อความเป็นสถาบัน” ที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันได้เป็นอย่างดี

เบอร์นี แซนเดอร์ส ทำให้คำว่า “สังคมนิยม” ยอมรับกันได้อีกครั้งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา แล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ เล่า?

AFP PHOTO / MANDEL NGAN
AFP PHOTO / MANDEL NGAN

เมื่อมองดูจากภายนอก สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาไม่ได้เลวร้ายเท่าใดนัก

เศรษฐกิจโดยรวมภายใต้การกำกับของ บารัค โอบามา ฟื้นตัวขึ้นมาขยายตัวอยู่ในระดับ 2.4 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา

อัตราว่างงานลดลงอยู่ในระดับ 5 เปอร์เซ็นต์

สหรัฐยังคงเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

แต่เมื่อพิเคราะห์โดยละเอียด ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่าความมั่งคั่งนั้นจำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มของเศรษฐีร้อยล้าน พันล้านเพียงไม่กี่มากน้อย กระจุกตัวอยู่จำเพาะในกลุ่มผู้ที่วิถีการดำรงชีวิตไม่ได้เชื่อมโยงกับผู้คนที่เหลือส่วนใหญ่ของประเทศ

นับตั้งแต่ปี 1999 เรื่อยมารายได้ถัวเฉลี่ยต่อครัวเรือนของคนอเมริกันลดลงมากถึง 5,500 ดอลลาร์ต่อปี ทรัพย์สินต่อครัวเรือนหดตัวลงราว 1 ใน 3 และสองในสามครัวเรือนอเมริกันตกอยู่ในสภาพเป็นหนี้สิน

นั่นคือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ในสังคมอเมริกันมี “ผู้ชนะ” อยู่ก็จริง แต่ที่มีสัดส่วนมากกว่ามากก็คือคนที่ตกอยู่ในสถานะ “ผู้แพ้” ในสังคม

Large images of Democratic nominee Hillary Clinton and Republican nominee Donald Trump are seen on a CNN vehicle, behind asecurity fence, on September 24, 2014, at Hofstra University, in Hempsted, New York. The university is the site of the first Presidential debate on September 26, between Democratic nominee Hillary Clinton and Republican nominee Donald Trump. / AFP PHOTO / PAUL J. RICHARDS
AFP PHOTO / PAUL J. RICHARDS

เดนนิส ปราเกอร์ คอลัมนิสต์อนุรักษนิยม เขียนบทความแสดงความคิดเห็นผ่านบล็อกของตัวเองไว้เมื่อ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ะบุว่า สังคมอเมริกันกำลังตกอยู่ใน “ยุคมืด”

สถาบันหลักต่างๆ ในสังคมตกอยู่ในสภาพเสื่อมทรุด ตั้งแต่สถาบันการเมืองเรื่อยมาจนกระทั่งถึงสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย และแม้แต่ “สถาบันครอบครัว” ก็ถูกลดความสำคัญและความเชื่อถือลงตามลำดับ

นิวยอร์กไทมส์ บอกเอาไว้ว่า สัดส่วนคนที่เชื่อถือใน “อเมริกันดรีม” ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี

ปราเกอร์ ชี้ว่า การที่จำเป็นต้องเลือกระหว่างแคนดิเดตประธานาธิบดีระหว่างคนอย่าง “ฮิลลารี คลินตัน” กับ “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นความมืดมิดที่สุดของยุคมืดร่วมสมัยนี้

แอนดรูว์ ซัลลิแวน แห่ง “นิวยอร์ก แม็กกาซีน” เตือนเอาไว้ว่า สิ่งที่หลายคนเรียกว่า “ทุนนิยมเกินขีด” ในช่วงผ่านมา กำลังก่อให้เกิด “พลังของการปฏิวัติเอียงขวาจากความกราดเกรี้ยวชนิดที่ความเป็นประชาธิปไตยไม่มีปัญญาระงับยับยั้งหรือบรรเทาเบาบางลงได้”

ในความเห็นของซัลลิแวน สิ่งที่สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ก็คือ อาการไข้ทางสังคมที่ยุโรปเคยเผชิญมาแล้วเมื่อทศวรรษ 1930 ซึ่งลงเอยด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2

Chip Somodevilla/Getty Images/AFP
Chip Somodevilla/Getty Images/AFP

โรเบิร์ต แพ็กซ์ตัน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญเรื่องฟาสซิสต์” ชี้ให้เห็นว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่เราได้เห็นกันในการหาเสียงของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “กำแพงตามแนวชายแดนเม็กซิโก” เรื่อยไปจนกระทั่งถึง “การห้ามมุสลิมเข้าประเทศ” คือการใช้การ “เหมารวม” เชิงชาติพันธุ์และการฉกฉวยประโยชน์จาก “ความกลัวต่างชาติ” ที่เป็น “สูตรสำเร็จ” จากตำราฟาสซิสม์โดยตรง

เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สโลแกน “ทำอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง” ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากคำขวัญของขบวนการฟาสซิสต์ในอดีต

แพ็กซ์ตัน ระบุว่า สำนึกของการ “ตกเป็นเหยื่อ” เป็นเหตุปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเติบใหญ่และขยายตัวของลัทธิฟาสซิสม์ และเขาเชื่อว่าความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างแรงกล้าอยู่ในสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ โดยเฉพาะในกลุ่ม “ชนชั้นกลางผิวขาว” ฐานเสียงสำคัญที่สนับสนุนคนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์

ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งของ “แอนดรูว์ ซัลลิแวน” แห่ง “นิวยอร์ก แม็กกาซีน” ถึงกับเปรียบเทียบสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาในเวลานี้กับสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐไวมาร์ ก่อนหน้าการกำเนิดขึ้นของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์!

เป็นอุปมาที่เกินเลยไปหรือไม่? ก็อาจใช่ เพราะถึงที่สุดแล้ว ทรัมป์ไม่ใช่ฟาสซิสต์ ไม่เคยแสดงออกว่าจะรื้อหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ

ปัญหาก็คือ มีใครการันตีได้ว่า ทรัมป์ เพียงแค่ “เล่น” กับองค์ประกอบแห่งฟาสซิสม์เพื่อหวังบรรลุถึงความฝันบรรเจิดของเขาเท่านั้นเอง?!