ขอบคุณข้อมูลจาก | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 ก.ค. 59 |
---|---|
เผยแพร่ |
ช่วงเดือนที่ผ่านมา ถือเป็นเดือนที่มีเหตุนองเลือดจากการก่อการร้ายเกิดขึ้นในหลายประเทศบนโลกนี้
ไล่ตั้งแต่เหตุระเบิดฆ่าตัวตายสังหารกองกำลังฝ่ายความมั่นคงจอร์แดนไป 6 นาย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน บริเวณใกล้กับชายแดนติดกับซีเรีย
ต่อด้วยการก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายต่อเนื่องหลายครั้งในเขตพื้นที่ชาวคริสต์ทางตอนเหนือของเลบานอน ซึ่งใกล้กับชายแดนซีเรีย เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน และบาดเจ็บ 19 คน
หลังจากนั้น ในวันที่ 28 มิถุนายน มีรายงานเกิดเหตุระเบิดรถยนต์ 4 ครั้ง ที่เมืองมูคัลลา เมืองท่าสำคัญของเยเมน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 42 คน ส่วนใหญ่เป็นทหาร และมีเด็กรวมอยู่ด้วย 1 คน
และในวันเดียวกัน ก็เกิดเหตุสะเทือนโลกอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่สนามบินในอิสตันบูล ประเทศตุรกี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 45 คน
แม้จะไม่มีกลุ่มใดออกมากล่าวอ้างว่าอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุ แต่ก็เชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส เพราะวิธีการก่อเหตุเป็นวิธีแบบเดียวกับที่กลุ่มไอเอสใช้
วันเดียวกัน ยังมีรายงานระเบิดที่ไนต์คลับ “โมวิดา” ที่เมืองปูชง รัฐสลังงอร์ ซึ่งใกล้กับกรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย ที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 คน
และจากการตรวจสอบของตำรวจมาเลเซียพบว่า เหตุดังกล่าว เกี่ยวโยงกับกลุ่มกองกำลังรัฐไอเอสแน่นอน
ต่อมาที่กรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ ที่มีคนร้ายก่อเหตุจับตัวประกันในร้านอาหารในกรุงธากา เมื่อช่วงคืนวันที่ 1 กรกฎาคม จนเกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่และทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงกว่า 20 คน
งานนี้กลุ่มไอเอสอ้างว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุ พร้อมกับเตือนบรรดาพลเรือนของประเทศที่ทำสงครามว่า จะไม่มีความปลอดภัยอีก ตราบเท่าที่เครื่องบินของประเทศเหล่านั้นยังเข่นฆ่าชาวมุสลิม
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของทางการบังกลาเทศพบว่า เป็นฝีมือของกลุ่ม “จามาอัต อัล มูจาฮีดีน บังกลาเทศ” ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในบังกลาเทศ และกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอสแต่อย่างใด
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก ได้เกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายขึ้นในย่านคาร์ราดา ที่กำลังเต็มไปด้วยผู้คนที่กำลังจับจ่ายใช้สอยกันก่อนถึงวันฮารีรายอ หรือวันสิ้นสุดเทศกาลเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม แรงระเบิดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึงกว่า 200 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 200 คน กลายเป็นเหตุก่อการร้ายที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในอิรัก นับตั้งแต่ปี 2003 ที่สหรัฐอเมริกานำกองทัพบุกโจมตีอิรักเป็นต้นมา
และเช่นเดียวกัน งานนี้ กลุ่มไอเอสก็ออกมาอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุ ซึ่งการก่อเหตุมีขึ้นหนึ่งสัปดาห์ หลังจากที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของอิรักสามารถยึดเมืองฟัลลูจาห์คืนจากกลุ่มไอเอสได้สำเร็จ และทำให้กลุ่มไอเอสเหลือเพียงเมืองโมซูลเมืองเดียวที่อยู่ในการครอบครอง
ถัดมาเพียงอีกแค่ 1 วัน คือวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันชาติของสหรัฐอเมริกา เกิดเหตุคนร้ายก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายขึ้นใกล้กับสถานกงสุลของสหรัฐ ในเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่โชคดีที่มีเพียงคนร้ายที่เสียชีวิต และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้รับบาดเจ็บเพียง 2 คน
ก่อนที่ในอีกไม่กี่ชั่วโมง ได้เกิดเหตุคนร้ายพยายามจะระเบิดฆ่าตัวตายที่มัสยิดของชาวมุสลิมชีอะห์ แต่ล้มเหลว และได้ปลิดชีพตัวเองเพียงลำพังโดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ และต่อมา ยังได้เกิดระเบิดรุนแรงขึ้นที่เมืองเมดินา เมืองศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญเป็นลำดับสองของชาวมุสลิม รองจากเมืองเมกกะ
เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บอีก 5 คน
จาการ์ตาโพสต์ สื่อของอินโดนีเซียรายงานไว้ว่า เหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นแทบจะติดต่อกันทุกวันในช่วงเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิมนี้ ส่วนใหญ่กลุ่มไอเอสเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เป็นไปตาม “คำประกาศ” เมื่อเดือนพฤษภาคมของ นายอาบู มูฮัมหมัด อัล-อัดนานี โฆษกของกลุ่มไอเอสที่ได้ประกาศให้ ผู้ “ติดตาม” ของกลุ่มไอเอส ทำให้ช่วงเดือนรอมฎอนนี้กลายเป็นเดือนแห่งวิบัติในทุกที่สำหรับผู้ที่ “ไร้ซึ่งความเชื่อ”
และนับตั้งแต่เริ่มต้นเดือนรอมฎอนเป็นต้นมา กลุ่มผู้สนับสนุนไอเอสได้ก่อเหตุสังหารผู้คนไปแล้วกว่า 800 คนในการโจมตีที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายแห่ง
ซิดนีย์ โจนส์ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิเคราะห์ความขัดแย้ง (ไอแพค) ชี้ให้เห็นว่า การก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายหลายต่อหลายครั้งเหล่านี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มไอเอส
โดยเฉพาะเหตุโจมตีที่ผับในปูชง ของมาเลเซียนั้น เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการก่อการร้าย โดยเฉพาะถือเป็นการก่อเหตุของไอเอสในมาเลเซียเป็นครั้งแรก
รวมไปถึงเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นที่สำนักงานตำรวจสุราการ์ตา เมืองสุราการ์ตา ชวากลาง อินโดนีเซีย ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็เชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มไอเอสเช่นกัน
ทั้งสองเหตุการณ์ถือเป็นสัญญาณเตือนให้เห็นว่า ไอเอสกำลังคืบคลานเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว!
“ไอเอสกำลังถูกกดดันอย่างหนักในตะวันออกกลาง พวกเขาจึงต้องการที่จะเห็นการโจมตีในที่อื่นอีก” โจนส์เปิดเผยกับจาการ์ตาโพสต์ และว่า แม้ว่ารัฐบาลต่างๆ จะแนะนำผู้คนให้เพิ่มความระมัดระวังเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะ แต่สนามบินก็ยังเป็นเป้าหมายที่ถือว่า “อ่อนแอ” ที่สุดสำหรับการก่อการร้าย ดังนั้น เจ้าหน้าที่ก็ควรจะมีการทบทวนถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในการแยกแยะผู้คนและแก้ไขจุดบกพร่องที่มีอยู่
นอกจากนี้ โจนส์ยังพูดถึงเรื่องความมั่นคงในอินโดนีเซียว่า ความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงด้วยกัน รวมทั้ง สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ (บีไอเอ็น) กองทัพอินโดนีเซีย และตำรวจ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ในการที่จะจัดการกับปัญหาเรื่องการก่อการร้ายที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มไอเอสจะอ้างเหตุผลใดในการก่อเหตุก็แล้วแต่ในการโจมตีช่วงเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ก็ขออ้างคำกล่าวของ นางชีก ฮาซินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ที่พูดไว้หลังเกิดเหตุก่อการร้ายในกรุงธากาล่าสุด ว่า
“ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่สันติ เพราะฉะนั้น อย่าใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างในการเข่นฆ่าผู้คน”