เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี / “ปักธงอนาคต” (2) : ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตะลุย “ปักธงโลกการผจญภัย”

ก่อนอายุ 30 ธนาธรโหมใช้ชีวิตอย่างหนัก

ทั้งเดินทางในไทยและต่างแดนเพื่องานธุรกิจไม่หยุดหย่อน ตกค่ำต้องพาลูกค้าไปทานข้าว ต้องเข้างานสังคม กินเหล้า สูบบุหรี่ จนกระทั่งร่างกายส่งสัญญาณเตือนตั้งแต่ปวดหลังอย่างหนักจนลุกจากเตียงไม่ได้ อุจจาระและน้ำมูกมีเลือดปะปน

หมอบอกว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน และแนะนำให้เขาออกกำลังกาย

โรคภัยที่มาเยือนทำให้ธนาธรหันหน้าเข้าหาการออกกำลังกายและชีวิตการผจญภัยโลกใบใหม่ทำให้เขาค้นพบศักยภาพของตัวเอง เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ มองโลกและตัดสินใจด้วย DNA ของนักผจญภัยที่เชื่อในการตั้งเป้าหมายยาก และการสร้างความเป็นไปได้

ธนาธรเริ่มเล่นโยคะ ขี่จักรยาน วิ่ง

เขาเริ่มมองหารายการแข่งขันที่ท้าทายขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปั่นจักรยานทางไกล วิ่งสายป่า วิ่งเพิ่มระยะไปเรื่อยๆ จากระยะมาราธอน ไปถึงหลักหลายร้อยกิโล

จากไตรกีฬาถึงวิ่งอัลตร้าเทล พายเรือคายัค ไปจนถึงปืนเขา

ฝันสุดท้ายของเขาก่อนออกผจญภัยในงานการเมือง คือ การพาคนไทยไปปักธงที่ขั้วโลกใต้ให้ได้ภายในปีนี้

ทุกๆ ปี ธนาธรจะค้น Google แล้วพิมพ์คำว่า “The Toughest Race in the World” เขามองหาการแข่งขันที่ยากและท้าทายที่สุดในโลก มองหารายการการแข่งขันที่คิดว่าตัวเองไม่มีทางทำได้

ธนาธรให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร GM ฉบับเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ของเขาเกี่ยวกับชีวิตการผจญภัยที่ครบถ้วน รอบด้านที่สุด ว่า “ผมสงสัย ทบทวน ค้นหา ต่อเรื่องพวกนี้เองมาหลายปีว่า Edge of Life หรือ ขอบ เส้นแบ่ง เส้นกั้น ระหว่างความกล้าหาญกับความบ้าคลั่งของผมเองอยู่ตรงไหนกันแน่”

“ผมถูกความท้าทายที่อยากรู้ว่า ตัวเองไปได้ถึงไหน” นี่เองคือคำตอบว่า เพราะเหตุใดธนาธรจึงมองหายอดเขาหรือเส้นทางการผจญภัยที่คิดว่าตัวเองไม่มีทางทำได้

 

TJ Run For Charity

หนึ่งในรายการแข่งขันที่ยากที่สุดในโลกที่ธนาธรไปปักธงได้สำเร็จมาแล้วคือ “6663 Arctic Ultra” เป็นการวิ่งมาราธอนในสภาพบรรยากาศที่เลวร้าย ในระยะทาง 560 กิโลเมตร

วิ่งไปให้ถึงเส้นอาร์กติก เส้นสูงสุดเส้นสุดท้ายก่อนขึ้นไปขั้วโลกเหนือ ภายในเวลา 8 วัน ภายใต้อุณหภูมิ -30 องศา ถึง -70 องศา โดยต้องแบกสิ่งของไปเองทั้งหมด

ในวันที่ 5 ของการแข่งขัน เหลือนักวิ่งในสนามราว 8 คน ธนาธรอยู่รั้งท้าย เมื่อสำรวจร่างกายพบว่า นิ้วเท้ามีแผลพุพองราวสามนิ้ว เท้าและนิ้วบวม ส้นเท้าระบมเพราะใช้กระแทกทุกวัน เอวเสียดสีกับเข็มขัดลากเลื่อน ใบหน้าไหม้เกรียมจากแสงแดดและแสงสะท้อนจากหิมะ ร่างกายบอบช้ำจากอีกหลายอาการ แต่ใจยังมุ่งมั่น

“ผมวิ่งอยู่คนเดียว วิวข้างหน้าเหมือนเดิม มีแต่สีขาวโพลน ไม่เจอคนหรือว่าสิ่งมีชีวิตอะไร นานๆ จะมีคนผ่านมาที”

ธนาธรมุ่งหน้าไปปักธงยังเส้นชัยได้สำเร็จ เป็นคนเอเชียคนแรกที่สำเร็จรายการนี้ ในการแข่งขันปี 2558 โดยในปีนั้นมีผู้เข้าแข่งขันเพียง 8 คนเท่านั้นที่เข้าสู่เส้นชัยได้สำเร็จ

ขณะที่ก่อนปี 2554 มีเพียง 111 คนเท่านั้นที่แข่งขันจบรายการนี้

เขาพิชิตรายการนี้ได้ เพราะการวางแผนเพื่อบริหารความเสี่ยง และการมีคาถาในใจ “เมื่อลงแข่งรายการไหนแล้ว DNF is not an option ห้ามคิด ห้ามเผื่อใจ อย่าให้มีช่องว่างในใจเหลือว่าจะไม่จบ ต้องสู้และกัดฟันทุกวิถีทางเพื่อให้ถึงเส้นชัยแม้จะต้องคลานก็ตาม”

ธนาธรไม่ได้แค่วิ่งเพื่อเอาชนะความท้าทายในใจตัวเอง แต่ชวนคนไทยใช้การวิ่งของเขาให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านโครงการ TJ Run For Charity โดยรับบริจาคเงิน 10 บาทในทุกๆ 1 กิโลเมตรที่วิ่งได้ เพื่อนำไปบริจาคให้กับโครงการห้องสมุด และรองเท้าเพื่อน้อง

ยอดบริจาคมากกว่า 5 ล้านบาท

TJ”s True South : ปักธงไทยที่ขั้วโลกใต้

นักผจญภัยทุกคนย่อมมีฝันอยู่ในใจว่า อยากขึ้นไปปักธงในยอดเขาที่สูงที่สุดใน 7 ทวีป รวมถึงสองขั้ว คือขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ธนาธรไม่ได้คิดจะไปคนเดียว แต่ต้องการทีมคนไทยไปด้วยกัน เพื่อพิสูจน์ว่าคนไทยสามารถทำเรื่องยากและท้าท้ายในระดับโลกได้

นำไปสู่โครงการ TJ”s True South กับภารกิจพาคนไทยกลุ่มแรกไปปักธงไทยที่ขั้วโลกใต้ ซึ่งในวงการผจญภัยรู้กันว่า เป็นภารกิจที่บ้าระห่ำอย่างยิ่ง

ผู้ร่วมเดินทางที่ผ่านการคัดเลือก และผ่านด่านต่างๆ กว่าจะถึงรอบสุดท้ายทั้งสิบคน จะต้องเซ็นยินยอมรับความเสี่ยง เพราะการเดินทางสู่ขั้วโลกใต้ เป็นเส้นทางที่มีความสูญเสียเกิดขึ้นโดยตลอด ตั้งแต่บาดเจ็บถึงเสียชีวิต

ตลอด 45 วันของการเดินทางสู่ขั้วโลกใต้ จะเป็นการใช้ชีวิตในบรรยากาศเดิมๆ ทุกอย่างขาวโพลนไปหมด ตั้งแคมป์กินนอนบนน้ำแข็ง ในอุณหภูมิเฉลี่ย -30 องศาเซลเซียส

ไม่มีการจ้างไกด์นำทาง ทั้งเสื้อผ้า อาหาร เชื้อเพลิง รวมทั้งอุปกรณ์ทั้งหมด จะวางอยู่บนลากเลื่อนที่มีน้ำหนักราว 90-110 กิโลกรัม

นักผจญภัยต้องแบกของทั้งหมดด้วยตัวเอง นอกจากกายที่แข็งแกร่ง

นั่นหมายถึงใจต้องพร้อมรับความเวิ้งว้างนี้ให้ได้

ธนาธรและทีมวางแผนการซ้อมเพื่อพิชิตภารกิจนี้ยาวนานกว่า 2 ปี ต้องผ่านด่านต่างๆ ตั้งแต่วิ่งระยะทาง 100 กิโลเมตร ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง, เข้าบูธแคมป์กับครูฝึกจากหน่วยซีล เพื่อฝึกความทรหดและความเป็นทีม, เดินทางไกลระยะทาง 300 กิโลเมตร จากวัดถ้ำเชียงดาวถึงดอยอินทนนท์

ไปจนถึงการฝึกทักษะต่างๆ เช่น การใช้เชือก การใช้ขวานจามน้ำแข็ง สกี ปีนเขา

เพื่อนร่วมทีมคนหนึ่งเล่าว่า แรกๆ มองธนาธรเป็นคนรวยที่มาจัดวิ่ง เป็นเจ้าของโครงการ ไม่คิดว่าจะเป็นนักกีฬา

พอได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น ผ่านการฝึกฝนและฝ่าด่านต่างๆ ก็ทำให้เพื่อนร่วมทีมค่อยๆ ยอมรับธนาธรมากขึ้นในฐานะหัวหน้าทีม

“พี่เอกกลายเป็นหัวหน้าทีมที่ทุกคนยอมรับ ไม่ได้ยอมรับที่เป็นคนจัดงาน แต่ยอมรับในศักยภาพของพี่เอกมากกว่า พอเห็นว่าเขาทำได้ เราก็เชื่อเขานะ”

เพราะธนาธรฝึกฝนไปกับเพื่อนร่วมทีมทุกคนในทุกกิจกรรม ใช้การวิ่ง ฝึกทักษะต่างๆ ลากยางรถ ลงแรง พิสูจน์ให้เพื่อนร่วมทีมเห็น

ธนาธรย้ำว่า ในกระบวนการเตรียมตัว การสร้างทีมให้แข็งแกร่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด “ผมไม่ใช่ผู้นำที่ยืนอยู่ข้างหลัง แล้วสั่งคนอื่นไปรบ แต่ผมเป็นผู้นำที่จะยืนอยู่แถวหน้าด้วยกันกับคนอื่น…ดังนั้น เวลาจัดกิจกรรมอะไร ผมก็ต้องทำด้วยเพื่อแสดงให้เห็นว่านี่คือทีม เพราะสำหรับผม การสร้างทีมเป็นเรื่องสำคัญ คุณจะเก่งคนเดียว หรือไปคนเดียวไม่ได้”

ธนาธรเชื่อมั่นในการตั้งเป้าหมายยากและท้าทาย เชื่อมั่นในการขยายขีดจำกัดของตัวเอง และเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพรอการปลดปล่อย บนความเชื่อนี้ แต่ละภารกิจ แต่ละด่านของการฝึกฝนเพื่อไปสู่ขั้วโลกใต้ให้ได้ ทำให้ตัวเขาและผู้เข้าร่วมโครงการหลายคนค้นพบศักยภาพใหม่ที่ตัวเองก็คาดไม่ถึง

“เพราะถ้าง่ายคงจะไม่พิสูจน์แก่นความเป็นตัวเรา” นี่คือหลักหนึ่งที่ตัวเขาปักไว้ในใจ

 

Energy Giver

รุ่นพี่ของธนาธรในวงการผจญภัยคนหนึ่งเล่าถึง DNA ของนักผจญภัยไว้น่าสนใจ “เวลาจะไปปีนเขาด้วยกัน ผมบอกเอกว่า โอกาสทำสำเร็จน้อยกว่า 50% เยอะมาก แต่เอกจะมองคล้ายๆ ผมคือ เมื่อไหร่ที่เรามองว่ามันเป็นไปไม่ได้ 99% มันมีอีก 1% ที่เป็นไปได้”

นักผจญภัยจะมองหา 1% ที่เป็นไปได้ และพยายามหาทางผลัก 1% ที่เป็นไปได้นั้นให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนสำเร็จ และหากไม่สำเร็จ ก็จะไม่ฝืน เพราะกฎของการผจญภัยคือต้องบริหารความเสี่ยงเพื่อให้กลับบ้านอย่างปลอดภัย

“รุจิรพรรณ” น้องสาวของธนาธร เล่าว่า ในการผจญภัยของพี่ชาย มีบ่อยที่ล้มเหลว แต่สำหรับธนาธร เมื่อล้มไม่ได้แปลว่าจะต้องพับกระเป๋า เขาจะกลับมาใหม่อีกครั้งจนได้ หลังกลับไปทำการบ้านว่า ทำไมในครั้งแรกจึงล้มเหลว หาทางปรับตัวใหม่ แก้ไขใหม่ แล้วกลับไปพิชิตใหม่

หนหนึ่งที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักศึกษาคนหนึ่งจับไมค์ถามธนาธรว่า “อะไรเป็นสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในตัวคุณธนาธร?” ธนาธรคิดอยู่นานกับคำถามนี้ ก่อนตอบว่า

“ชีวิตของเราแบ่งออกเป็นสองอย่าง จะทำให้ชีวิตของเราเป็น Energy Taker หรือ Enery Giver…ไม่รู้จะเรียกเป็นความโดดเด่นได้ไหม แต่ผมคิดว่า พลังแห่งการคิดบวก และการคิดอยู่เสมอว่า ไม่มีอะไรพร้อมที่สุด จึงค่อยลงมือทำ เป็นหนึ่งในสิ่งที่ยึดถือมาตลอด ยกตัวอย่าง ทุกครั้งที่ผมเลือกรายการลงแข่งวิ่ง แข่งไตรกีฬา ปีนเขา ผจญภัย ผมมักจะเลือกรายการที่ผมคิดว่าผมไม่มีทางทำได้”

โลกการผจญภัย มีส่วนหล่อหลอมวิธีการตัดสินใจในชีวิตให้กับตัวเขา ในวันที่ต้องตัดสินใจเพื่อออกเดินทางครั้งใหม่

เป้าหมายการปักธงไทยที่ขั้วโลกใต้ ถูกเลื่อนออกไป

มุ่งหน้าสู่เป้าหมายการปักธงอนาคต บนภูเขาสูงชันของการเมืองไทย อันเป็นการผจญภัยยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในชีวิตที่ผ่านมาของธนาธร

 

———————————————————————————————————-

สามารถรับชมบทสัมภาษณ์เปิดใจเต็มๆ ได้ที่นี่
https://bit.ly/2CMJGyi