เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี / “ปักธงอนาคต” : ชีวประวัติ ‘ธนาธร’ (1) “ปักหมุดฐานการผลิตในต่างแดน”

“ปักธงอนาคต – The Future is Ours” หนังสือชีวประวัติของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” นักการเมืองหนุ่มที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดคนหนึ่งในเวลานี้ ในฐานะผู้สร้างแรงกระเพื่อมในสนามการเมือง ด้วยการเมืองแห่งความหวัง พรรคการเมืองแบบใหม่ และคนรุ่นใหม่ ปรากฏการณ์ที่แทบทุกพรรคการเมืองหยิบเรื่องคนรุ่นใหม่มานำเสนอต่อสังคม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจาก “ธนาธร Effect”

จาก 15 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่แถลงเปิดตัวพรรคเป็นครั้งแรก จนถึงวันนี้ ธนาธรอยู่ในลำดับที่ 3 ของผลสำรวจที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ไม่ใช่เพียงการเดินสายชักชวนคนไทยร่วมปักธงอนาคตไปด้วยกัน ซึ่งจนถึงวันนี้เขาเดินทางไปฟังปัญหาของประชาชนมาแล้วร่วม 60 จังหวัด แต่ธนาธรยังประกาศในเวทีโลก บนเวที Concordia Summit การประชุมคู่ขนานของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า

“เราผู้ถูกขโมยประชาธิปไตยไปรู้ดีว่าประชาธิปไตยเป็นของขวัญที่มีคุณค่าและเปราะบางแค่ไหน และเราพร้อมจะต่อสู้อย่างสันติด้วยพลังทั้งหมดที่มี เพื่อนำมันกลับคืนมา”

คำประกาศของธนาธร มีเป้าหมายอยู่ที่การปักธงอนาคตให้สำเร็จในชีวิตของเขา เดิมพันของการทำงานการเมืองครั้งนี้ อยู่ที่การทำให้การรัฐประหารปี 2557 เป็นรัฐประหารครั้งสุดท้ายของสังคมไทย

 

ชื่อหนังสือเล่มนี้ “ปักธงอนาคต” มาจากเป้าหมายในการทำงานการเมืองของธนาธร ทั้งยังได้รับแรงบันดาลใจจากข้อเขียนของ “ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ” ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงวันใกล้ประชุมใหญ่ของพรรคอนาคตใหม่ในเดือนพฤษภาคม

“การปักธงหมายถึงการให้จินตนาการและความหวังกับสังคมที่รู้สึกอับจน จนใกล้จะยอมรับภาวะย่ำแย่อึดอัดคับข้องที่เป็นอยู่ว่าเป็นธรรมชาติ ธรรมดา จนถึงขั้นที่ใครพูดถึงความหวังต่อสังคมที่แตกต่างไปจากนั้น จะถูกหัวเราะเยาะ” เพื่อจะเดินออกจากทศวรรษที่สูญหาย สิ่งแรกที่ต้องทำคือการปักธงอนาคตให้ได้ ด้วยการจินตนาการถึงอนาคตที่ดีกว่าให้ได้

หนังสือชีวประวัติเล่มนี้ พาไปทำความรู้จักกับธนาธรให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เล่าเรื่องให้เห็นชีวิตที่เผชิญจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอยู่สามหน

จากลูกนายทุนถึงนักกิจกรรมในรั้วธรรมศาสตร์

จากนักฝันที่อยากทำงานเป็น NGO เพื่อเยาวชนที่ยากไร้ในแอลจีเรีย ถึงนักธุรกิจหนุ่มที่ต้องขึ้นกุมบังเหียนอาณาจักรไทยซัมมิท มูลค่าหลักหมื่นล้าน แทนผู้เป็นพ่อที่ถึงแก่กรรม

และจากนักธุรกิจ ถึงการประกาศปักธงอนาคตในเวทีการเมือง

บนเส้นทางนี้ เขาเป็นลูกชายของพ่อและแม่ พี่ของน้องๆ สามีของภรรยา พ่อของลูกๆ หลานของอา เจ้านายของลูกน้อง เพื่อนกับเพื่อน มีความสัมพันธ์มากมายหลายชุด ที่ซับซ้อน สุดโต่ง สุดขอบ

เช่น ในหลายครั้งเพื่อรักษาจุดยืน และถนอมความฝัน เขาขัดแย้งกับครอบครัว

บ่อยครั้งมีการปะทะ น้ำตา ความเสียใจ และคำขอโทษ

ในฐานะพ่อ เขาไม่ได้ตามใจลูกหรือเลี้ยงลูกในแบบชนชั้น 1% ของประเทศ

และแน่นอนในฐานะหลาน เขากล้าเห็นต่างกับอาในระดับสร้างดาวคนละดวง

หนังสือเล่มนี้เล่าถึงเรื่องราวทั้งหมดนี้ ผ่านปากคำบุคคลที่รายล้อมกับธนาธรร่วม 80 ชีวิต

 

จากลูกนายทุน ถึงนักกิจกรรม : กางปีกขบถ

จากลูกนายทุนใหญ่ไทยซัมมิท เมื่อก้าวเข้าสู่รั้วธรรมศาสตร์ ธนาธรได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ที่นั่นทำให้เขาได้ตั้งคำถามกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม

“เราเห็นชีวิตของคนในชนบท แล้วเราเทียบกับชีวิตตัวเอง เราก็มองว่ามันมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านโอกาส อำนาจ การเข้าถึงทรัพยากร พอเราเห็นอย่างนี้แล้ว เราก็เกิดความเชื่อ คือเราอยากเห็นสังคมที่คนทุกคนเท่าเทียมกัน”

เมื่อผนวกกับเพื่อนฝูงนักกิจกรรมที่รายล้อมในเวลานั้น นั่นเป็นจุดเปลี่ยนให้ธนาธรร่วมเคลื่อนไหวการเมืองบนท้องถนนกับภาคประชาชนนับไม่ถ้วน

ธนาธรเล่าว่า เป็นช่วงเวลาที่ทะเลาะกับครอบครัวหนักที่สุด โดยเฉพาะเมื่อ “สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” ผู้เป็นแม่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกชายหันหน้าเข้าหาการเรียนอีกครั้ง ด้วยการไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรีอีกสองปีที่ประเทศอังกฤษให้จบ

เขาหลั่งน้ำตาเป็นครั้งแรกในวันที่ต้องอำลาเพื่อนฝูงนักกิจกรรม เดินหน้าสู่ชีวิตในอังกฤษ

นี่เป็นหนแรกที่ธนาธรต้องทำสิ่งที่ “ควรทำ” และไม่ได้ทำ “สิ่งที่อยากทำ”

เขายังคงถนอมความฝันด้วยการอ่านหนังสือเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองให้ลึกซึ้งขึ้น ทดแทนไฟฝันที่อยากอยู่เคลื่อนไหวกับภาคประชาชนในไทย

เมื่อใกล้เรียนจบ ป.ตรี ธนาธรมีความฝันอยู่สองข้อในใจ

ข้อแรก เรียนต่อระดับปริญญาโท ด้านทฤษฎีการเมือง

ข้อสอง สมัครทำงานเป็น NGO ที่แอลจีเรีย “สิ่งที่คิดอยู่ตอนนั้นก็คือ อยากจะใช้ความรู้ของเราให้เป็นประโยชน์กับคนในทวีปที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากกระแสการพัฒนาของโลกาภิวัตน์ เป็นทวีปที่มีทั้งสารพัดโรค ที่นั่นมีแต่สงคราม ความยากจนและความหิวโหย”

แต่แล้วสายโทรศัพท์จากสมพรแจ้งถึงอาการป่วยของ “พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ” ก็เปลี่ยนชีวิตของเขาไปอีกหน

 

จากนักฝัน ถึงนักธุรกิจหนุ่ม

: ปักหมุดฐานการผลิตในต่างแดน

ธนาธรบันทึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับพ่อไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพ ว่า

“เมื่อบ้านของเราใหญ่โตขึ้น ตามลำดับฐานะของพ่อพร้อมๆ กับพื้นที่บ้านที่มีมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับพ่อก็ห่างกันมากขึ้นด้วย ช่วงที่พ่อทำงานตัวเป็นเกลียวลุยงานหนักหามรุ่งหามค่ำ ตรงกับช่วงเวลาที่ผมเข้าสู่วัยหนุ่ม มีเพื่อน มีลูกฟุตบอล และการเที่ยวสนุกเป็นที่ตั้ง นับครั้งได้ที่ผมจะเล่าเรื่องส่วนตัวให้พ่อฟัง และแทบนับครั้งได้ที่พ่อคุยเรื่องงานกับผม”

สายโทรศัพท์ของสมพรที่ตามเขากลับมาเพื่อใช้เวลากับผู้เป็นพ่อในวาระสุดท้าย ทำให้ระยะห่างระหว่างธนาธรและพัฒนาหดแคบเข้า วันที่พัฒนาอิ่มเอมมากที่สุด คือวันที่ลูกชายคนโตของตระกูล ตัดผม โกนหนวด โกนเครา ใส่สูท ผูกเน็กไท เข้ามาบอกกับผู้เป็นพ่อว่า “ปาป๊า วันนี้จึง (ชนาพรรณ-พี่สาวคนโต) กับเอกไปทำงานที่โรงงานวันแรกแล้วนะ”

“พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ” ถึงแก่กรรมในวันที่ 29 เมษายน 2545 ไม่เพียงเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ แต่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของธนาธร จากนักฝันที่ต้องการเป็น NGO ในต่างแดน เขาเดินสู่เส้นทางสายทุนนิยม ทำงานบริหารธุรกิจเต็มตัว ซึ่งเขาปฏิเสธมาตลอดก่อนหน้านั้น

เพื่อนสนิทคนหนึ่งเล่าถึงวันที่ธนาธรต้องตัดสินใจ “เอกร้องห่มร้องไห้ บอกเพื่อนว่า ไม่อยากไปทำ เอกมันรู้สึกว่าทรยศต่ออุดมการณ์” อีกหนที่ธนาธรหลั่งน้ำตากับเพื่อนฝูง และเป็นครั้งที่สองในชีวิตที่เขาต้องทำสิ่งที่ “ควรทำ” และไม่ได้ทำ “สิ่งที่อยากทำ”

เมื่อก้าวสู่ไทยซัมมิท นักธุรกิจหนุ่มวัย 23 เปลี่ยนผ่านบริษัทจากการบริหารแบบเถ้าแก่ สู่การบริหารธุรกิจสมัยใหม่ ตั้งหน่วยวิจัยและพัฒนาในองค์กร นำไทยซัมมิทไปปักหมุดฐานการผลิตแห่งใหม่ที่อินเดีย ทั้งยังตั้งเป้าหมายอย่างท้าทายว่า ไทยซัมมิทจะเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครองตลาด ASEAN จีน อินเดีย

โจทย์ที่ท้าทายนี้มาจากตลาดมอเตอร์ไซค์ (สองล้อ) ที่ไทยกำลังจะถึงจุดอิ่มตัว แต่ที่อินเดียมีคนกว่า 1 พันล้านคน ในเวลานั้นธนาธรทุบโต๊ะ แล้วบอกผู้บริหารระดับสูง รวมถึงทีมคนไทยที่จะไปอยู่อินเดียว่า “ตลาดของเราคืออาเซียน ไม่ใช่ประเทศไทย” “เราต้องรุกเขา ก่อนเขามารุกเรา” “ลดคู่แข่ง เพิ่มตลาด”

วิธีการลดคู่แข่งก็คือ ไปตั้งฐานการผลิตในต่างแดนก่อนเลย เพื่อทำให้บริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันที่อยู่ในท้องถิ่นไม่ได้เติบโต เพราะถ้าปล่อยให้บริษัทคู่แข่งเติบโต ธนาธรชี้ว่า มีโอกาสสูงมากที่สินค้าจากจีน อินเดีย จะมาตีประเทศไทย ถ้าถึงจุดนั้นไทยซัมมิทจะพ่ายแพ้ในโลกาภิวัตน์

การปักหมุดฐานการผลิตแห่งใหม่ที่อินเดีย เป็นจุดชี้ให้เห็นการยกระดับและเปลี่ยนวิธีคิดของไทยซัมมิทครั้งใหญ่ ธนาธรชี้ว่ามันคือ “พัฒนาจากทุนชาติให้กลายเป็นทุนข้ามชาติ” ไทยซัมมิทในยุคธนาธรจึงมุ่งขยายฐานการผลิตออกไปต่างประเทศ แข่งขันกับบริษัทอื่นทั้งที่เป็นบริษัทคนไทย และบริษัทชาวต่างชาติให้ได้ในระดับโลก

บรรทัดสุดท้ายก่อนอำลาไทยซัมมิทสู่งานการเมือง ไทยซัมมิทภายใต้การถือธงนำของเขาเดินหน้าปักธงในตลาดโลก ในฐานะ Part Car Maker ระดับหัวแถวของโลกโดยมีฐานการผลิตอยู่ใน 7 ประเทศทั่วโลก ทั้งมาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

เมื่อเป็นธุรกิจเสรีที่อาศัยโลกแห่งประสิทธิภาพ ที่สามารถแข่งขันได้ในโลกทุนนิยมและโลกโลกาภิวัตน์ ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบอุปภัมภ์การเมืองในไทย ซึ่งเป็นจุดต่างที่สำคัญระหว่างธุรกิจของธนาธร กับธุรกิจของเจ้าสัวอีกหลายเจ้าสัวในไทยที่ยังคงพึ่งพาระบบการผูกขาดตลาด และระบบสัมปทาน

มองจากปัจจุบัน ธนาธรเล่าว่า แม้ไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำตั้งแต่ต้น

“แต่ไฟตรงนั้นมันมีอยู่ในใจมาตลอด…ตลอด 20 ปีที่ผ่านมามันก็คิดอย่างนั้นตลอด อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์สังคมที่ดี”