เชิงบันไดทำเนียบ : ตำนาน ‘บูรพาพยัคฆ์’ ยุคไทยรักไทย จากพี่ใหญ่ ‘บูรพาเทวัญ’

พรรคเพื่อไทยเริ่มขยับทัพ ชื่อ ‘หญิงหน่อย’คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กลับมาอีกครั้งในตำแหน่ง ‘แม่ทัพพรรค’ หลังไปสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย แม้จะกุมเสียงในกทม.ได้ แต่ ‘หญิงหน่อย’ ต้องเจอกับ ‘แรงต้าน’ จากคนในพรรคไม่น้อย จนว่ากันว่า ‘นายใหญ่แดนไกล’ ต้องมาเคลียร์ทางให้
.
ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ‘หญิงหน่อย’ ไม่ค่อยมีวาทะฟาดฟันกับ คสช. มากนัก และเซฟตัวเองมาตลอด อีกทั้งเปิดตัวชัดเป็น ‘ตัวแทนเพื่อไทย’ มาพูดคุย ‘ปรองดอง’ กับ คสช. ที่มี ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม เป็นแม่งานเมื่อต้นปี2560
.
ล่าสุดย้ำชัดแล้วว่า ไม่พร้อมร่วมงานกับ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากกลับมาสู่สนามการเมืองอีกครั้ง เพราะตนอยู่ในระบอบประชาธิปไตยจึงไม่สามารถไปร่วมงานกับคนทำรัฐประหารได้
.
หากย้อนไปราว 15 ปีก่อน ‘หญิงหน่อย’ กับ ‘บิ๊กป้อม’ เริ่มมีความสัมพันธ์ช่วงรัฐบาลทักษิณ 1 ที่ ‘บิ๊กป้อม’ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. หลัง ‘ทักษิณ’ โยก’บิ๊กตุ้ย’พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ลูกพี่ลูกน้องไปเป็น ผบ.สูงสุด ก่อนเกษียณฯแทน
.
ทำให้มีเป็นวาทะ ‘เกาะโต๊ะ’ ขึ้นมา หลัง ‘ทักษิณ’ ทวีตข้อความตอบโต้ ‘บิ๊กป้อม’ สมัยมาขอเป็น ผบ.ทบ. ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ก็ไม่เคยออกมาปฏิเสธ แต่บอกแค่เพียง “เขาพูดไปเอง” เท่านั้น
.
ส่วน ‘บิ๊กตุ้ย’ กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ถึงเรื่อง ‘เกาะโต๊ะ’ ว่าเป็นจริง

“ถ้าพูดก็จริงอยู่แล้ว ผมเอาแต่ทำงาน โดนเลื่อยขาเก้าอี้ เขาก็มีปัญญาไปพบ ก็ไปขอ ช่วงนั้นผมก็มัวแต่ไปทำงาน ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะงานยังไม่สำเร็จ ก็ไปทุกอาทิตย์ จึงไม่มีเวลา และเป็นดวงของเขา ก็เป็นแบบนั้น ซึ่งผมก็ไม่มีปัญหา ในส่วนผมนั้นตั้งมาแล้ว ก็ปลดได้” พล.อ.ชัยสิทธิ์ กล่าว
.
จึงทำให้ ‘บิ๊กป้อม’ กับ ‘ทักษิณ’ ถูกมองว่ามีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในอดีต โดยมี ‘คุณหญิงอ้อ’คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เชื่อมความสัมพันธ์ให้ทั้งคู่ ผ่านเครือข่าย ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ที่ทรงพลังในยุคนั้น
.
ซึ่ง ‘บิ๊กป้อม’ ก็มีเพื่อน ตท.6 ที่เชื่อมสัมพันธ์กับสายการเมือง คือ ‘บิ๊กกี่’พล.อ.นพดล อินทปัญญา แม้นายทหาร ‘สายวงศ์เทวัญ’ จึงได้ชื่อว่าเป็น ‘เพื่อนรักต่างสาย’
.
โดยช่วงปี2547 ‘บิ๊กเหวียง’พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ขึ้นเป็น รมว.กลาโหม สมัยรัฐบาลทักษิณ1 แต่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ เป็นปีที่ พล.อ.ประวิตร ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ซึ่ง ‘บิ๊กเหวียง’ ถือเป็นอีกแรงผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. และให้ พล.อ.นพดล เป็น หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม เรื่อยมาถึงยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ‘บิ๊กกี่’ ก็ได้รับตำแหน่งเป็น เลขานุการ พล.อ.ประวิตร ขณะเป็น รมว.กลาโหม
.
โดย พล.อ.เชษฐา ได้พบกับ พล.อ.ประวิตร ตั้งแต่สมัยเป็น เสธ.พล.ร.2 รอ. และ พล.อ.ประวิตร เป็น ผู้บังคับกองพัน ซึ่งในยุคนั้น ‘บิ๊กป้อม’ ก็ได้ชื่อว่าเป็นนายทหารที่โดดเด่นและมีฝีมือ

ทั้งนี้สมัย พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.นพดล เป็น หน.ฝ่ายเสธ.ประจำ รมว.กลาโหม (พล.อ.เชษฐา) ถือเป็นจุดเริ่มสร้างคอนเนคชั่นการเมือง โดยเฉพาะฝาก ‘พรรคไทยรักไทย’ โดยเฉพาะ ‘อรทัย ฐานะจาโร’ ที่เป็นลูกสะใภ้ ‘บิ๊กเหวียง’ แกนนำพรรคไทยรักไทย ที่เป็นสายเดียวกับ ‘หญิงหน่อย’ คุมพื้นที่ กรุงเทพฯ จึงทำให้ พล.อ.ประวิตร ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับ ‘หญิงหน่อย’ ด้วย
.
ส่วนการที่ พล.อ.ประวิตร อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก มานาน ย่อมต้อง ‘ป๋าเหนาะ’นายเสนาะ เทียนทอง เจ้าพ่อวังน้ำเย็น ผู้กว้างขวางในภาคตะวันออก
.
สำหรับ ‘บิ๊กเหวียง’พล.อ.เชษฐา เป็นนายทหาร ‘สายผสม’ บูรพาพยัคฆ์-วงศ์เทวัญ หรือที่เรียกว่า ‘บูรพาเทวัญ’ เพราะ เข้ารับราชการหลังจบจาก ร.ร.นายร้อย จปร. ที่ ร.1พัน.2 รอ. ก่อนจะไปเป็น เสธ.พล.ร.2 รอ. ถิ่นบูรพาพยัคฆ์ และข้ามไปเป็น ผบ.พล.ร.6 ก่อนขึ้นเป็น แม่ทัพน้อยที่ 2 และถูกโยกเข้ากรุง ขึ้นเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 และเป็น มทภ.1 เข้าสู่ 5 เสือทบ. และขึ้นเป็น ผบ.ทบ. จึงทำให้ พล.อ.เชษฐา ได้ชื่อว่าเป็น ‘บูรพาพยัคฆ์’ รุ่นบุกเบิกเลยทีเดียว ที่ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.

แม้จะเกษียณฯมากว่า 20ปีแล้ว ก็ยังคงทำงานอยู่ เป็นนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา
.
แต่ในกรณี พล.อ.ประวิตร ถือเป็น ‘บูรพาพยัคฆ์เต็มขั้น’ เพราะโตมาในหน่วยภาคตะวันออกตั้งแต่แรก ทั้งในหน่วย ร.21 รอ. ทหารเสือฯ และหน่วยขึ้นตรง พล.ร.2 รอ. ที่ได้พบกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จุดเริ่มต้น ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ สมัยเป็นร้อยเอก-โท-ตรี อยู่ในบ้านเดียวกัน
.
จากนั้น พล.อ.ประวิตร ไปเติบโตที่ ร.2 พัน.2 รอ. , ร.12พัน.3 รอ. และขึ้นเป็น ผู้การ ร.12 รอ. ก่อนขึ้นเป็น ผบ.พล.2 รอ. และเข้าสู่เมืองกรุง ขึ้นเป็น รองมทภ.1 แม่ทัพน้อยที่ 1
.
แต่เส้นทางเดินนี้ สะดุดในช่วง ‘บิ๊กแอ้ด’พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็น ผบ.ทบ. ที่ ‘บิ๊กป้อม’ ถูกโยกเข้ากรุ ทบ. ไปเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. และ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ ผ่านกรณีเรื่อง ‘คุนหมิง’ ครั้ง พล.อ.ประวิตร พร้อม ตท.6 หลายคน ไปคุนหมิง ประเทศจีน แต่ไปพบกับ พล.อ.สุรยุทธ์ ที่ไปราชการพอดี ทำให้มีการตรวจสอบว่า พล.อ.ประวิตรไปประเทศจีนนั้น ได้ลาราชการหรือไม่ ซึ่งพบว่าไม่ได้มีการลา
.
ภายหลัง ‘บิ๊กแอ้ด’ เกษียณฯไปแล้ว พล.อ.ประวิตร ก็ได้รับแรงสนับสนุนขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 1 และ ผู้ช่วยผบ.ทบ. ซึ่งตรงกับสมัย ‘บิ๊กเกาะ’พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ และ ‘บิ๊กตุ้ย’พล.อ.ชัยสิทธิ์ เป็น ผบ.ทบ. ซึ่ง พล.อ.ชัยสิทธิ์ เป็นรุ่นพี่ ตท.5 แต่เกษียณฯพร้อม พล.อ.ประวิตร ปี2548 จึงทำให้ต้องหลีกให้ พล.อ.ประวิตร ขึ้น ผบ.ทบ. เพราะไลน์ของ พล.อ.ประวิตร สะดุดมา 2 ปี ช่วงถูกเข้ากรุ ทบ. นั่นเอง
.
นับตั้งแต่ พล.อ.ประวิตร ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ก็เข้าสู่ยุคทหารสายบูรพาพยัคฆ์ และ ทหารเสือฯ เฉิดฉายขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ.หลายคน ทั้ง ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ , ‘บิ๊กโด่ง’พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร และ ‘บิ๊กหมู’พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ซึ่งก็ถูกขั้นกลางด้วย สายรบพิเศษ ทั้ง ‘บิ๊กบัง’พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และ ‘บิ๊กเจี๊ยบ’พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ที่เข้าสู่ยุค ‘สลายขั้ว’ ต่างๆ สร้าง ‘ปึกแผ่น’ ทบ. มากขึ้น ด้วยสไตล์การทำงานของ ‘บิ๊กเจี๊ยบ’ ที่ให้แต่ละสายและหน่วยเติบโตตามลำดับขั้น ไม่มีปรากฏการณ์ ‘ล้วงลูก’ เกิดขึ้น

วันนี้มาถึงยุค ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. แม้ว่าจะเป็นนายทหารสายวงศ์เทวัญ ที่เติบโตมาจาก ร.11 รอ. แต่ภารกิจสำคัญในยุคนี้ คือ การสร้างปีกแผ่นเอกภาพของ ทบ. ไร้ขั้ว ไร้สาย และเป็นนายทหารที่ ‘สมาร์ท’ เพื่อสร้าง ทบ. ให้ ‘สตรอง’ นั่นเอง