เลือก “อนาคต” แบบไหน ?

สํานักโพลต่างๆ สำรวจกันถี่ยิบว่าประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี และทุกครั้งผลสำรวจจะออกมาว่าเป็น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

“บิ๊กตู่” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาเป็นผู้นำประเทศด้วยการทำรัฐประหาร

ผลสำรวจล่าสุดจาด “นิด้าโพล” ก็เป็นเช่นนั้น

“นิด้าโพล” สำรวจประเด็นอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ทุกครั้งผู้ได้รับโหวตมากที่สุดเป็น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

เพียงแต่มีจุดน่าสังเกตอยู่ที่ แม้ทุกครั้งผู้ที่ประชาชนบอกว่าอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดคือ “พล.อ.ประยุทธ์” ร้อยละของผู้ที่ตอบเช่นนั้น น้อยลงเรื่อยๆ

จากการสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 38.64 มาครั้งที่ 2 เดือนพฤษภาคม 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 32.24 และร้อยละ 31.26 ในการสำรวจครั้งที่ 3 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 และการสำรวจล่าสุดคือครั้งที่ 4 เมื่อเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 29.66

เริ่มใกล้กับ 1 ใน 4 ของคะแนนิยมทั้งหมด

และตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะหาก คสช.ไม่เลื่อนอีกครั้ง การเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ในอีก 5 เดือนข้างหน้า

จากสถิติแล้วมีความเป็นไปได้ที่การสำรวจครั้งหน้า ซึ่งน่าจะเป็นเดือนธันวาคม ตามวาระ 3 เดือนครั้ง คะแนนนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์จะตกต่ำลงไปอีก

ความน่าสนใจอยู่ที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคใช้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นจุดอาศัยความเป็นพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน

นั่นหมายความว่า ตามสถิติแล้ว คะแนนนิยมของพรรคเหล่านี้จะประมาณร้อยละที่เลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี หมายถึงรวมกันแล้วประมาณ 1 ใน 4 หรือน้อยกว่านั้น

ทำให้แม้จะยังมีโอกาสที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีก็จำต้องหาการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ประกาศว่าต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ยิ่งไปดูจากอีกคำถามที่ว่า “พรรคการเมืองที่อยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุดและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล” ซึ่งคำตอบเป็น “พรรคเพื่อไทย” ร้อยละ 28.78 “พรรคพลังประชารัฐ” ร้อยละ 20.26 “พรรคประชาธิปัตย์” ร้อยละ 19.58 “พรรคอนาคตใหม่” ร้อยละ 15.51 และ “พรรคเสรีรวมไทย” ร้อยละ 4.16

เรียกว่า 5 อันดับแรกเป็นพรรคที่ชัดเจนว่าปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์เสีย 3 พรรค คือ “เพื่อไทย-อนาคตใหม่-เสรีรวมไทย” ที่สนับสนุนมีพรรคเดียวคือ “พลังประชารัฐ” ส่วน “ประชาธิปัตย์” เคอะเขินเกินกว่าจะประกาศสนับสนุนเต็มที่ได้

แปลว่า แม้จะยังเป็นบุคคลที่ผลโพลออกมาว่าอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด แต่ดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าจะมีความได้เปรียบในเกมที่ “วุฒิสมาชิก” มีสิทธิในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และวุฒิสมาชิกเหล่านั้นสุดท้ายล้วนมาจากการเลือกของ คสช.

แต่ความได้เปรียบในกติกานั้นนับวันจะลดน้อยถอยลง เพราะความเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของประชาชนที่มีแนวโน้มจะถอยห่างจาก พล.อ.ประยุทธ์มากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น เพื่อรักษาโอกาสของคะแนนนิยมที่ยังถือว่าเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นที่สุด

การเลือกตั้งเร็วจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

การตัดสินใจที่เด็ดขาด ไม่ลังเล จึงเป็นวิธีรักษาโอกาสไว้ได้มากที่สุด

ดังนั้น การประกาศว่า “สนใจการเมือง” แต่ยังไม่เลือกว่าจะเอาแบบไหน จึงไม่น่าจะใช่วิธีการที่ทำให้คะแนนนิยมกระเตื้องขึ้น

และหากจะเป็น “ผู้นำหลังการเลือกตั้ง” โดยวิธีที่ไม่ให้ความสำคัญกับคะแนนนิยม

แบบ “สนใจการเมือง” และ “ขอให้ได้เป็นผู้นำต่อไป” โดย “ไม่เลือกวิธี”

จะเป็นหนทางที่ท้าทายอนาคตอย่างยิ่ง

ทั้ง “อนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์” และ “อนาคตของประเทศชาติ”