ครึ่งหนึ่งของชีวิต ตอนที่ 9 “ความรักในความคิดของกฤษณมูรติ”

“ความรักคืออะไรเล่า? คำคำนี้มีความหมายมากมายและถูกทำให้เสียไปแล้วจนผมไม่อยากใช้มันอีกต่อไป

ทุกๆ คนพูดถึงความรัก นิตยสารและหนังสือพิมพ์ทุกฉบับรวมทั้งนักสอนศาสนาทุกคนพูดถึงความรักกันไม่รู้จบ ฉันรักประเทศของฉัน ฉันรักผู้ปกครองของฉัน ฉันรักหนังสือบางเล่ม ฉันรักภูเขาลูกนั้น ฉันรักความสุข ฉันรักภรรยาของฉัน หรือฉันรักพระเจ้า ความรักเป็นแนวความคิดอย่างนั้นหรือ? ถ้ามันเป็นแนวความคิด มันก็บ่มเพาะอบรมเลี้ยงดู ทะนุถนอมเอาไว้ ผลักดันและบิดผันมันได้ตามที่คุณต้องการ เมื่อคุณบอกว่าคุณรักพระเจ้า นั่นหมายความว่าอะไร? มันก็หมายความว่าคุณรักจินตนาการที่ตัวเองนึกคิดออกไป เป็นสิ่งที่ตัวเองนึกคิดออกไป ห่อหุ้มไว้ด้วยรูปแบบต่างๆ ของความน่าเคารพนบนอบตามที่คุณเองคิดว่าสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น การพูดออกมาว่า “ฉันรักพระเจ้า” จึงเป็นคำพูดที่ไร้สาระอย่างแท้จริง เมื่อคุณบูชาพระเจ้า คุณก็กำลังบูชาตัวคุณเอง และนั่นไม่ใช่ความรัก”

“ด้วยเหตุที่ว่าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาของมนุษย์ที่เรียกว่าความรักนี้เอง เราจึงหนีไปหาสิ่งที่เป็นนามธรรมทั้งหลาย ความรักอาจเป็นตัวการสูงสุดในการแก้ปัญหาความยุ่งยากและความปวดร้าวทั้งหลายของมนุษย์ก็ได้ ดังนั้น เราจะพบได้อย่างไรว่าความรักคืออะไร เราจะพบมันได้ด้วยคำจำกัดความของคำคำนี้อย่างนั้นหรือ? ศาสนาก็ให้คำนิยามความรักเอาไว้อย่างหนึ่ง สังคมก็ให้คำจำกัดความอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น จึงมีความเบี่ยงเบนและบิดเบือนในลักษณะต่างๆ นานา ความคลั่งไคล้ใหลหลงใครสักคนหนึ่ง การนอนกับคนคนหนึ่ง การแลกเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกและความเป็นเพื่อนกัน เหล่านี้คือสิ่งที่เราหมายถึงความรักกันหรือเปล่า? สิ่งนี้ดูจะเป็นแบบแผนหรือแนวโน้มทั่วไป และความรักนั้นได้กลายเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องเนื้อหนัง และมีข้อจำกัดเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งศาสนาทั้งหลายประกาศออกมาว่าความรักเป็นอะไรบางสิ่งซึ่งมากกว่าสิ่งนี้ ในสิ่งที่ศาสนาทั้งหลายเรียกว่าความรักอย่างมนุษย์นั้น ศาสนาก็เห็นว่าจะต้องมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน มีการแข่งขันชิงดีชิงเด่น มีความอิจฉาริษยา มีความปรารถนาที่จะเข้าครอบครองยึดถือไว้ เข้าไปควบคุมหรือเข้าไปสอดแทรกในความคิดของผู้อื่น และเมื่อรู้ถึงความซับซ้อนในเรื่องเหล่านี้ ศาสนาจึงบอกว่ามีความรักอีกชนิดหนึ่ง เป็นความรักอย่างเทพ สวยงาม และไม่แปดเปื้อน ไม่สกปรก”

“เราจะแบ่งแยกความรักออกเป็นความรักที่ศักดิ์สิทธิ์กับความรักที่ไม่บริสุทธิ์หรือแบ่งเป็นความรักของมนุษย์กับความรักของพระเจ้าอย่างนั้นหรือ? หรือว่ามีความรักเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น? หรือว่ามีความรักเฉพาะต่อคนหนึ่งและไม่มีกับคนอื่นๆ หลายคน ถ้าผมบอกว่า “ผมรักคุณ” นั่นหมายถึงการกำจัดความรักต่อผู้อื่นออกไปด้วยหรือเปล่า? ความรักเป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่ใช่เรื่องส่วนตัวกันแน่? เป็นเรื่องที่มีศีลธรรมหรือผิดศีลธรรม? เป็นเรื่องภายในครอบครัวหรือไม่เกี่ยวกับครอบครัว? ถ้าคุณรักมนุษยชาติแล้วคุณจะรักใครเป็นพิเศษได้หรือไม่? ความรักเป็นอารมณ์ความรู้สึกอย่างนั้นหรือ? หรือว่าความรักเป็นความสุขเป็นความต้องการกันแน่? คำถามเหล่านี้ชี้ให้เห็นไม่ใช่หรือว่าเรามีแนวคิดมากมายที่เกี่ยวกับความรัก มีความคิดว่าความรักควรจะเป็นหรือไม่ควรจะเป็นเช่นใดบ้าง เรามีแบบแผน มีหลักเกณฑ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในวัฒนธรรมที่เราอาศัยอยู่”

“ดังนั้น การเข้าไปพิจารณาในปัญหาที่ว่าความรักคืออะไรนั้น เราต้องปลดปล่อยความรักนี้ออกจากเปลือกห่อหุ้มนับศตวรรษไม่ถ้วน วางอุดมคติและลัทธิความเชื่อว่าความรักควรจะเป็นหรือไม่ควรจะเป็นลงเสียก่อนเป็นอันดับแรก การแบ่งแยกสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นและสิ่งที่เป็นอยู่ขณะนั้นจริงๆ นับเป็นวิธีการที่หลอกลวงอย่างยิ่งในการจัดการกับชีวิต”

“ต่อมาผมจะค้นหาประกายเพลิงซึ่งเรียกว่าความรักนี้ได้อย่างไร ไม่ใช่แสดงความรักออกมาต่อผู้อื่นแต่อย่างใด หากทว่าความรักหมายถึงอะไรในตัวของมันเอง? แรกทีเดียวผมต้องปฏิเสธสิ่งที่ศาสนา สิ่งที่สังคม สิ่งที่พ่อแม่เพื่อนฝูง สิ่งที่คนอื่นๆ รวมทั้งสิ่งที่หนังสือทุกเล่มพูดเอาไว้เกี่ยวกับความรัก ทั้งนี้ก็เพราะว่าผมต้องการค้นหาด้วยตัวเองว่ามันคืออะไรกันแน่ ตรงนี้เองที่เป็นปัญหาอันยิ่งใหญ่ซึ่งเกี่ยวพันกับมนุษยชาติทั้งมวล เพราะว่าวิถีทางซึ่งจะให้คำจำกัดความของความรักนับร้อยนับพันอย่าง และตัวผมเองก็ถูกจับขังเอาไว้ในคำจำกัดความรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เท่าที่ตนเองชอบและพึงพอใจในขณะนั้น ดังนั้น เพื่อที่จะทำความเข้าใจในเรื่องของความรัก ทำไมผมจึงไม่ปลดปล่อยตัวเองให้ออกจากความโน้มเอียงและอคติที่ตนเองมีลงเสียล่ะ? ผมสับสน ผมถูกฉีกทึ้งด้วยตัณหา ดังนั้น ผมจึงบอกกับตัวเองว่า “ในลำดับแรกให้ขจัดความสับสนของตัวเองก่อน แล้วบางทีตัวเองอาจจะค้นพบว่าความรักคืออะไรจากสิ่งที่ไม่ใช่ความรักนั่นเอง””

ความรัก-ชิททุ กฤษณมูรติ

แปลโดย พยับแดด สนพ.ถ้ำแก่นจันทน์ 2535

 

ในหมู่วิปัสนาจารย์หรือคุรุด้านจิตวิญญาณร่วมสมัย ชิททุ กฤษณมูรติ หรือ Jiddhu Krishnamurti น่าจะเป็นคุรุไม่กี่คนที่ให้ความสำคัญกับความรักมากกว่าประเด็นอื่น

และแม้ว่ากฤษณมูรติจะมีบทสนทนาอื่นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเสรีภาพ การศึกษา ความโดดเดี่ยว หรือความกลัว กฤษณมูรติก็ดูจะผนวกรวมเรื่องราวของความรักลงไปในหัวข้อเหล่านั้นอยู่เสมอ

ราวกับว่าสิ่งที่กฤษณมูรติเชื่อว่าจะผลักดันหรือปลุกเร้าความก้าวหน้าทางศาสนธรรมในตัวเราก็คือความรักนั่นเอง

ประเด็นสำคัญที่กฤษณมูรติหยิบยกอยู่เนืองๆ ในเรื่องราวเกี่ยวกับความรักนั้นเริ่มด้วยการยอมรับว่าความรักนั้นไม่มีการแบ่งแยกระหว่างความรักที่เราเชื่อว่าเป็นเรื่องที่สูงส่งหรือไม่พ้นโลกียวิสัยกับความรักที่เป็นเรื่องดาษดื่น พื้นฐาน

อาทิ ความรักในระหว่างหนุ่มสาว ความรักคือความรัก มันคือสภาวะอันละเอียดอ่อน ให้ค่ากับความใส่ใจ เรียบง่าย ปราศจากพิธีรีตอง

ความรักคือการมอบให้ ไม่ใช่ร้องขอ

ความรักคือการเต็มเปี่ยมอยู่ภายใน ไม่ใช่ความบกพร่องแหว่งเว้า

ความรักเป็นประสบการณ์เฉพาะตนที่เราต้องปลูกฝังมันขึ้นในจิตใจของเรา ไม่ใช่การสมาทานบางความเชื่อบางประการเกี่ยวกับความรักและยึดโยงมันไว้อย่างเหนียวแน่นจนไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

ความรักคือการเปิดเผยตนเอง ยอมที่จะเห็นตนเองอย่างแท้จริงในทุกแง่มุม

ความรักจะต้องปราศจากความกลัว ไม่มีการใช้อำนาจบาทใหญ่เพื่อได้มาซึ่งความรักและไม่ใช่เรียกร้องความรักเพราะหวาดกลัวในการสูญเสีย

ความรักในมุมมองของชิททุ กฤษณมูรติ แทบจะแทรกซึมไปในทุกประการของชีวิต ในทุกองคาพยพของการดำรงอยู่ของเรา

อาจกล่าวได้ว่า สำหรับชิททุ กฤษณมูรติ แล้ว ความรักนั้นดำรงอยู่ในทุกลมหายใจเข้าออกของเรา

สำหรับชิททุ กฤษณมูรติ แล้ว ความรักเปรียบได้ดังศีล เปรียบได้ดังสมาธิและเปรียบได้ดังปัญญา

 

การยึดถือเอาเรื่องราวสำคัญเป็นการฝึกฝนตนเองนั้นเป็นข้อสำคัญของผู้ปฏิบัติตามคำสอนของชิททุ กฤษณมูรติ

ตัวท่านเองอาจถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ไม่แยแสกับนิกาย หลักธรรม หรือความเชื่อใดโดยเฉพาะเจาะจง

เมื่ออายุได้ 34 ปี ชิททุ กฤษณมูรติ ละทิ้งบทบาทศาสดาที่ถูกจัดตั้งโดยสมาคมทางจิตวิญญาณแห่งหนึ่งและออกแสวงหาหลักธรรมพร้อมด้วยมิตรสหายบางส่วนอย่างแน่วแน่

ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่มีความอดอยากและเรื่องเลวร้ายนานาในโลก ชิททุ กฤษณมูรติ ออกจาริกไปและเริ่มต้นการบรรยายถึงเรื่องราวพื้นฐานที่มนุษยชาติกำลังประสบอยู่

ท่านพูดถึงเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของสันติภาพ การดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสงครามและความหวาดกลัว ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง การไปพ้นความก้าวร้าวด้วยการเห็นรากเหง้าแห่งความเกลียดชัง

หลังได้มีโอกาสพบปะกับเดวิด โบห์ม หนึ่งในนักฟิสิกส์ที่สนใจในเรื่องราวของความคิดและจิตวิญญาณ กฤษณมูรติได้ผนวกเอาวิทยาศาสตร์เป็นรากฐานหนึ่งในการค้นหาเบื้องลึกของจิตใจ อัตตาหรือสาเหตุแห่งการยึดติดทั้งหลาย

ทั้งคู่ได้สร้างบทสนทนาสำคัญจำนวนมากทั้งในเรื่องราวของชีวิต ความคิดสร้างสรรค์และความเชื่อทางศาสนา

กฤษณมูรติมีอายุยืนยาวจนถึงเก้าสิบปีก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตในปี 2529 ด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน

 

ความเห็นของกฤษณมูรติต่อความรักนั้นส่วนหนึ่งใกล้เคียงกับความรักในแนวทางมนุษยนิยมที่เห็นพ้องว่าความรักที่ถูกต้อง เปิดกว้าง เต็มไปด้วยความเข้าใจและความอ่อนน้อมนั้นจะทำให้มนุษย์เติบโตขึ้น

บุคคลที่ไม่ปลูกฝังทัศนคติต่อความรักอย่างจริงจังย่อมพลาดสิ่งสำคัญในชีวิตไป

ในหนังสือชื่อ Think on These Things กฤษณมูรติได้กล่าวถึงความรักในฐานะของศักยภาพสำคัญของชีวิตไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ถ้าหากขณะที่เธอยังอยู่ในวัยเยาว์ แล้วเธอไม่รู้สึกรัก ถ้าหากเธอไม่มองดูผู้คน มองดูสัตว์ มองดูดอกไม้ด้วยความรักแล้ว เมื่อเธอเติบโตขึ้นเธอก็จะพบว่าชีวิตกลวงเปล่า เธอจะโดดเดี่ยวเป็นอย่างยิ่ง และเงาดำของความกลัวจะติดตามเธอไปตลอดกาล”