ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กันยายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ [email protected] |
เผยแพร่ |
1 กันยายน 2561 ณ ห้องประชุมใหญ่ วิทยาลัยอิสลามนานาชาติ มอ.ปัตตานี สื่อมวลชนทั้งในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนกลาง ต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซีย ได้มาทำข่าวการจัดประชุมการจัดตั้งพรรคประชาชาติ
ซึ่งสมาชิก ผู้สนับสนุน ได้เห็นชอบข้อบังคับ นโยบาย และเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าพรรค มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเลขาธิการพรรค
นายมุข สุไลมาน อดีต ส.ส.ปัตตานี เป็นเหรัญญิกพรรค นายสุรพล นาควานิช ผู้ก่อตั้งพรรค เป็นนายทะเบียนพรรค
ขณะที่รองหัวหน้าพรรคมี 7 คน อาทิ 1.นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ 2.นายวรวีร์ มะกูดี 3.ร.ต.อ.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย 4.นายวรวิทย์ บารู 5.พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ 6.นายนิมุคตาร์ วาบา 7.นายปราโมทย์ แหล่ทองคำ
โดยมีนัจมุดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาสหลายสมัย นั่งเป็นโฆษกพรรค
การประกาศเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่สำหรับ “พรรคประชาชาติ” ครั้งนี้มีทั้งปรากฏการณ์ใหม่วงการเมืองไทย และความท้าทาย ดังนี้
1.มีการจัดประชุมใหญ่พรรคครั้งแรกในดินแดนด้ามขวาน ที่ไม่ใช่ศูนย์รวมอำนาจการเมืองอย่างกรุงเทพมหานครเหมือนพรรคอื่นที่เปิดตัว
สื่อบางสำนักให้ทัศนะว่า “การปักธงจัดประชุมและเปิดตัวพรรคที่ปัตตานี คือการสื่อสารกับสังคมว่าดินแดนปลายด้ามขวานคือฐานเสียงสำคัญที่พรรคประชาชาติวาดหวัง และยังต้องการแรงหนุนจากพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศด้วย เพราะแกนนำพรรคส่วนใหญ่เป็นมุสลิม”
ในขณะหลายฝ่ายมองว่านี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการเปิดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้กับชายขอบอื่นๆ ของประเทศไทย
ซึ่งสอดคล้องกับทัศนะ ดร.นอร์เบิร์ต รอปเปอร์ส (Dr.Norbert Ropers) ซึ่งมองว่าการเปิดพื้นที่ทางการเมืองคือส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จชต. (โปรดดู https://deepsouthwatch.org/dsj/th/11128)
หรือพูดง่ายๆ คือ #การยุติสงครามด้วยวิถีทางการเมือง เป็นหนทางที่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด
ในขณะเดียวกันเป็นการส่งสัญญาณว่า ต่อไปนี้กรุงเทพมหานครไม่ใช่ศูนย์รวมอำนาจอีกต่อไป รวมทั้งให้ความสำคัญกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นวาระแห่งชาติทั้งนโยบายและรูปธรรม
2.หัวหน้าพรรคคนแรกของไทยที่เป็นคนจังหวัดชายแดนภาคใต้และเชื้อสายมลายูมุสลิม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ถือเป็นหัวหน้าพรรคคนแรกของไทยที่เป็นคนจังหวัดชายแดนภาคใต้และเชื้อสายมลายูมุสลิม ท่านเป็นคนที่ได้รับการยอมรับในแวดวงการเมืองทั้งในพื้นที่และระดับประเทศ
ซึ่งในอดีตยังไม่มีคนจังหวัดชายแดนภาคใต้และเชื้อสายมลายูมุสลิมคนใดเป็นถึงหัวหน้าพรรค
การเป็นหัวหน้าพรรคของนายวันมูหะมัดนอร์เป็นการเปิดวิสัยทัศน์ใหม่ให้ชนชั้นนำมลายูมุสลิมใช้กระบวนการทางการเมืองอย่างสันติวิธี ผ่านระบอบประชาธิปไตยที่โลกยอมรับต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งข้อเรียกร้อง
ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณแก่คนเห็นต่างจากรัฐที่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาทางการเมืองต้องทบทวนแนวคิดและแนวทางการดำเนินการ
เพราะจะเห็นได้ว่ามวลชนส่วนใหญ่ในพื้นที่หันมาหนุนเสริมด้านนี้
แต่ในขณะเดียวกันจะเป็นแนวร่วมมุมกลับทันทีหากท่านและกลุ่มของท่านโดนการเมืองของผู้มีอำนาจส่วนกลางเล่นงาน
3.พิธีเปิดด้วยการอ่านอัลกุรอานและใช้เพลงมลายู
อัลกุรอานถือเป็นธรรมนูญสูงสุดและใช้เป็นการเปิดกิจกรรมต่างๆ ในแวดวงสังคมมุสลิมทุกครั้งจนเป็นวัฒนธรรม แต่อาจจะแปลกในวงการเมืองการปกครองไทย ในขณะการร้องเพลงพรรคที่เป็นภาษาไทยอาจจะเป็นเรื่องธรรมดาในประเทศนี้เมืองนี้
แต่พรรคประชาชาติกลับใช้เพลงพรรคเวอร์ชั่นมลายู หรือเรียกว่าอนาเชท ผสมภาษาไทย
ซึ่งถือว่าเป็นการให้เกียรติกับคนพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อันเสมือนวิถีชีวิตของพวกเขานอกจากการอ่านอัลกุรอาน
4.มีการใช้คำว่าปาตานี
มีการใช้คำว่าปาตานีจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ซึ่งคำนี้ไม่มีนักการเมืองไหนกล้าใช้โดยเฉพาะวันเปิดพรรคอย่างเป็นทางการซึ่งมีผู้ชมติดตามเฟซบุ๊กไลฟ์ทั้งประเทศอันเป็นคำสุ่มเสียงด้านความมั่นคง (ความเป็นจริงที่อื่นเขาก็ใช้ เช่นคำว่าล้านนา)
แต่ก็ได้ใจคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ที่ตบมือเสียงดังสนั่นห้องประชุม
คำว่า “ปาตานี” (Patani) หรือที่ในภาษามลายูท้องถิ่นออกเสียงว่า “ปตานี” ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่ผู้อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิม
ซึ่งกล่าวรวมๆ ได้ว่า คือพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา
5.มีการระบุนโยบายพรรคเฉพาะสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้
มีการระบุนโยบายพรรคในภาพรวม แต่ก็มีระบุเฉพาะสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในด้านต่างๆ ที่เฉพาะต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย ซึ่งพรรคอื่นๆ ไม่มีระบุชัดเจนอย่างนี้ เช่น ด้านการพัฒนาและเศรษฐกิจ
เช่น สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเพื่อสาธารณะในรูปแบบ “กองทุนซะกาต” หรือ “บัยตุลมาล” ซึ่งเป็นการรวบรวมเงินจากผู้ที่ต้องบริจาคหรือจ่ายซะกาตในรอบปีตามหลักการของศาสนาอิสลาม เพื่อนำมาดูแลช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนหรือผู้ที่มีสิทธิในการรับเงินตามหลักการศาสนา
ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้ง “สถานธนานุบาลปลอดดอกเบี้ย” เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้นับถือศาสนาอิสลามด้านการเงินในยามคับขัน อาทิ ช่วงเปิดภาคเรียน อุบัติเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น
ด้านการศึกษา โดยส่งเสริมการศึกษาโดยเฉพาะในด้านศาสนา ภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อสร้างคนที่มีความเจริญงอกงามทั้งความรู้และคุณธรรมที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ด้านกีฬา เยาวชนและสตรี
โดยจัดตั้งสถาบันส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนนอกระบบโรงเรียน
จัดตั้งศูนย์พัฒนาเยาวชนประจำตำบล จัดตั้งสภาเยาวชนประจำชาติ ส่งเสริมและสนับสนุนศูนย์กีฬาประจำตำบล และส่งเสริมและสนับสนุน “หนึ่งตำบล หนึ่งสนามหญ้าเทียม”
สนับสนุนการจัดตั้งสภาสตรีระดับจังหวัด ภาค และประเทศ
จัดตั้งศูนย์ออกกำลังกายสตรีที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงจัดตั้งสถาบันพัฒนาสตรีและครอบครัวในชุมชน
ด้านศาสนา ส่งเสริมและสนับสนุน “หนึ่งตำบล หนึ่งมัสยิดต้นแบบ” จัดตั้งศาสนสัมพันธ์ระดับอำเภอและจังหวัด จัดตั้งสถาบันวาซาติยะห์ (มุสลิมสายกลาง) จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและกองทุนฮัจญ์และอุมเราะห์ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์โลกมลายูโลกอิสลามประเทศไทย และจัดตั้งศูนย์ดาราศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้ง (กระบวนการสันติภาพ) ด้านการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนโดยเฉพาะยาเสพติด และยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากปรากฏการณ์ใหม่ในวงการเมืองแล้วสำหรับพรรคประชาชาติยังมีความท้าทายอีกมากมายที่ต้องเผชิญ เช่น
1. เป็นพรรคของคนมลายูมุสลิม
ถึงแม้นโยบายพรรคจะบอกว่าส่งเสริม “สังคมพหุวัฒนธรรม” ที่เคารพในความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ และอุดมการณ์
อันจะนำไปสู่ “ประชาชาติ” ที่ชาติคือประชาชนที่แตกต่างหลากหลายที่เป็นพลเมืองของประเทศอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดองอย่างสันติสุข และส่งเสริมการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนด้วยความยุติธรรมตามความเป็นจริง
รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และการเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบในทุกด้าน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพในสังคมพหุวัฒนธรรม
แต่ภาพที่ปรากฏทางหน้าสื่อ พบว่าในทางปฏิบัติยังเป็นพรรคที่แสดงตัวตนชัดที่ถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นพรรคของคนมลายูมุสลิม
ถึงแม้กรรมการบริหารพรรคถ้าดูตามรายชื่อ จะสะท้อนการผสานมือกันระหว่างกลุ่มต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม จากอดีตนักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้มากบารมีจากหลากหลายภาคส่วนในสังคม
ดังนั้น ในแง่ปฏิบัติเชิงประจักษ์ พรรคประชาชาติจะลบภาพความเป็น “พรรคมลายูมุสลิม” ได้อย่างไร ไม่ใช่เรื่องง่าย
ที่สำคัญพรรคจะต้องฟังคนเห็นต่างจากพรรคจำนวนมาก เช่น กลุ่มชาวพุทธในพื้นที่และนอกพื้นที่ที่เขามีภาพวาดที่ได้รับตลอดเหตุการณ์ความรุนแรง 14 ปีที่จังหวัดชายแดนใต้
2. เป็นสาขาพรรคของพรรคเพื่อไทย
สื่อส่วนใหญ่ลงความเห็นร่วมกันว่า พรรคประชาชาติเป็นสาขาพรรคหรืออย่างน้อยคือพันธมิตรของพรรคเพื่อไทยในเชิงปฏิบัติถึงแม้แกนนำพรรคจะปฏิเสธ
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
เพราะภาพหลายคนเคยอยู่ในพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้ามาสมัยพรรคเพื่อไทยและคนทั้งประเทศรู้ว่าเขาทั้งสองคือใคร
3. การถูกจับตาจากหน่วยความมั่นคงเป็นพิเศษ
หากพิจารณาการแถลงเปิดตัวพรรคของท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติซึ่งได้เปิดหน้าชน “รัฐบาลทหาร” แบบไม่ยั้ง เช่น ท่านกล่าวว่า
“เราศรัทธาประชาธิปไตย แต่เราถูกตัดโอกาสการเมืองมา 4 ปี ไร้สิทธิทางการเมือง 4 ปีได้อะไรบ้าง ที่เห็นคือเราได้ราคายาง 3 กิโลร้อย และได้ความยากจน เป็น 4 ปีที่เราได้จากระบบที่ไม่มีการเลือกตั้ง หลังจากรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี 2550) ถูกทำลายจากคณะปฏิวัติ กลุ่มทุนฝ่ายต่างๆ และผู้คนในบ้านเมืองก็เกิดความสับสน มีความเกลียดชัง แตกแยก ไร้ความเมตตาธรรม ไม่นำพาความยุติธรรม สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน แม้รัฐบาลจะพยายามออกข่าวทุกวันเพื่อแก้ภาพลักษณ์ แต่ก็ทำไม่ได้ แล้วเราจะอดทนได้แค่ไหน ขอบอกว่าพระเจ้าจะไม่ช่วยเหลือผู้ใดถ้าเราไม่ช่วยเหลือตัวเอง”
“นี่คือทางออกที่ทำให้เรามาจัดตั้งพรรคการเมืองของเราเอง เสรีภาพความชอบธรรมเป็นหน้าที่ของรัฐและของข้าราชการที่ต้องทำ ต้องเคารพกฎเกณฑ์ของกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาเราพบว่า รัฐนั้นนอกจากจะไม่ทำหน้าที่แล้ว รัฐยังละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โกงแม้กระทั่งเงินของคนยากคนจน ทุกวันนี้เริ่มเกิดความกลัว จนมีการเรียกร้องขอให้คืนประชาธิปไตยแก่ประชาชนโดยเร็ว เราถอยไม่ได้อีกแล้ว ต้องเดินไปข้างหน้าด้วยกัน”
จากบทสัมภาษณ์นี้น่าจะเป็นงานแรกๆ ของพล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 (ในขณะนั้น) นอกจากการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือการจับตาการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคประชาชาติ หลังพื้นที่ทางการเมืองเปิด และพรรคประชาชาติก็จะต้องระมัดระวังมากขึ้นที่จะไม่ทำให้ไปสู่การยุบพรรคในที่สุด
5. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แน่นอนที่สุดคำถามแรกๆ ที่ชาวบ้านจะถามพรรคประชาชาติคือนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า
“เรื่องเศรษฐกิจ เราสามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาสังคมของพี่น้องประชาชนได้ ยืนยันว่าไม่มีพรรคไหนทำได้เหมือนพรรคนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน เรามองว่าที่ไหนมีที่ดิน ที่นั่นจะเจริญ เราจะคืนสิทธิ์ที่ดินสู่ท้องถิ่น”
กรณีปัญหาเศรษฐกิจ จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานพิเศษที่มีผู้แทนจากทุกฝ่ายศึกษาปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เช่น ยางพารา ที่ทำให้ประชาชนมีรายได้ไม่พอยังชีพและนำไปสู่การกู้หนี้ยืมสิน
ให้มีการจัดตั้งศูนย์กลางอาหารและการเกษตร ภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจชายแดนใต้
นอกจากนี้ ให้เร่งจัดหาแหล่งงานในประเทศและประสานกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน รวมถึงประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับ
เพื่อพิจารณาเปิดรับการจ้างงานประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประสบปัญหาแหล่งงาน
เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวต่ำและผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ที่ดำเนินมากว่าหนึ่งทศวรรษ
ในขณะที่นโยบายพรรคด้านเศรษฐกิจอื่นๆ กล่าวคือ
ในระดับหมู่บ้านและชุมชน ดำเนินการพัฒนาอย่างเสมอภาคและสอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ตามหลักการประชาธิปไตย และตามหลักการที่ว่า “สันติสุขอยู่ที่หมู่บ้านและชุมชน” และพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาส สร้างอาชีพ และจัดสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึง
ยกระดับ OTOP และวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุน “หนึ่งครอบครัว หนึ่งผู้ประกอบการ” และ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งอุตสาหกรรม”
ในระดับภาพรวม การพัฒนาเศรษฐกิจเน้นการสร้างความสามารถทางการตลาด การปรับตัว การพัฒนาสินค้า และกลยุทธ์การแข่งขัน โดยอาศัยปัจจัยทางวัฒนธรรมและสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม
ส่งเสริมและสนับสนุนนักธุรกิจรุ่นใหม่และการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจครบวงจร
ส่งเสริมสินเชื่อรายย่อย ส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
ยกระดับแรงงานท้องถิ่นเพื่อส่งออกไปทำงานต่างประเทศ พร้อมกับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนรถไฟ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และการจัดให้มีสถานที่ละหมาดและบริการอาหารฮาลาลบนรถไฟ
ในส่วนสนามบิน เช่น ปรับปรุงสนามบินนราธิวาสและสนามบินเบตงให้มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นสนามบินนานาชาติ และสนับสนุนการก่อสร้างสนามบินนานาชาติในจังหวัดปัตตานี
และในส่วนของการผลักดันให้มีการขุดลอกร่องน้ำปัตตานีและสร้างท่าเรือน้ำลึก เพื่อให้เรือประมงในประเทศและเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสามารถเข้ามาจอดในท่าเทียบเรือได้
มีการปรับปรุงท่าเทียบเรือ ที่จอดพักเรือ พัฒนาแหล่งอาศัยสัตว์น้ำทางทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ส่งเสริมการขยายพื้นที่ทำการประมงในต่างประเทศ สนับสนุนการเชื่อมโยงระบบโลจิสติคส์กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน
ให้มีการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจชายแดนใต้ (Southern Corridor Economic Region, SCER) เพื่อเชื่อมต่อและร่วมมือด้านการพัฒนากับระเบียงเศรษฐกิจทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย (Northern Corridor Economic Region, NCER)
กรณีการเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาจากเกษตรยังชีพสู่เกษตรเชิงพาณิชย์ จัดให้มีกองทุนสงเคราะห์พืชเศรษฐกิจท้องถิ่น ส่งเสริมการแปรรูปพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
รวมทั้งส่งเสริมพืชเศรษฐกิจและพืชสมุนไพรครบวงจร
กรณีธุรกิจสำคัญของผู้ประกอบการไทยในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ร้านอาหารไทยหรือ “ร้านต้มยำ” ในประเทศมาเลเซีย สนับสนุนสมาคมผู้ประกอบการร้านต้มยำไทยให้มีความเข้มแข็ง ธุรกิจร้านอาหารมีความก้าวหน้า
ซึ่งนอกจากเป็นการสนับสนุนฐานเศรษฐกิจและอาชีพแก่คนไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้อาหารไทยได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตามแนวนโยบาย “เชื่อมครัวไทยสู่ครัวอาเซียนและครัวโลก”
สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันหรือศูนย์ฝึกอบรมทักษะวิชาชีพให้แก่เยาวชนสาขาต่างๆ เช่น สาขาการบริการร้านอาหารไทยในมาเลเซียและประเทศอื่นๆ และการประกอบธุรกิจเชิงฮาลาลในต่างประเทศ
รวมทั้งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เพื่อผ่อนปรนกฎระเบียบบางประการเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตให้แก่พนักงานบริการในร้านอาหารไทย
กรณีการค้าชายแดน ผลักดันมาตรการทางการเงินการคลัง มาตรการทางภาษีและการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในรูปแบบต่างๆ การกำหนดเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ รวมถึงมาตรการอื่นๆ ให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแรงจูงใจด้านการค้าการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งเสริมและสนับสนุนการค้าชายแดนครบวงจร
สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเพื่อสาธารณะในรูปแบบ “กองทุนซะกาต” หรือ “บัยตุลมาล” ซึ่งเป็นการรวบรวมเงินจากผู้ที่ต้องการบริจาคหรือจ่ายซะกาตในรอบปีตามหลักการของศาสนาอิสลาม เพื่อนำมาดูแลช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนหรือผู้ที่มีสิทธิ์ในการรับเงินตามหลักการศาสนา
ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้ง “สถานธนานุบาลปลอดดอกเบี้ย” เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้นับถือศาสนาอิสลามด้านการเงินในยามคับขัน อาทิ ช่วงเปิดภาคเรียน อุบัติเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น
นี่คือความท้าทายบางส่วนห้าข้อของพรรคประชาชาติหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ยังไม่นับรวมกับกลเม็ดพรรค เจ้าของพื้นที่อย่างประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ ที่ซุ่มดูอยู่ห่างๆ แล้วกำลังวางแผนทางการเมืองเช่นกันเพื่อคว้าชัยและเสียงคนจังหวัดชายแดนใต้