สกุณา ประยูรศุข : ความลับหลังกำแพงศิลา บันทายฉมาร์-สมโบร์ไพรกุก-เสียมเรียบ

ก้อนศิลาหินทรายที่ถูกแกะสลักเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ บอกเล่าเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านกาลเวลามานานกว่า 1,000 ปี

ใบหน้าปริศนาสลักไว้บนยอดปราสาทหลายแห่งในพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ท่ามกลางแท่งศิลาขนาดใหญ่ที่ทับถมกันสูงท่วมหัว

เป็นภาพที่ตื่นตาตื่นใจและตื่นตะลึง!

สำหรับใครก็ตามที่ได้เห็นกลุ่มปราสาท บันทายฉมาร์เป็นครั้งแรก ความลึกลับดำมืดพอๆ กับเสน่ห์และมนต์ขลังดึงดูดให้ใคร่รู้อยากค้นหาคำตอบ “มันคืออะไรกันแน่?” เมื่อจุดที่ยืนอยู่นั้น มองโดยรอบแล้วราวกับอยู่ในนครที่ถูกสาปตลอดกาล

กลุ่มปราสาทบันทายฉมาร์ อยู่ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา ไปทาง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ตั้งอยู่ใน จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา หรือที่คนไทยเรียกว่าเมืองศรีโสภณนั่นเอง

กลุ่มปราสาทแห่งนี้ต้องเรียกว่า “มหาปราสาท” ถึงจะถูก เพราะความอลังการงานสร้างที่มองเห็นคนตัวเล็กนิดเดียวหากเดินเข้าไปอยู่ในกองศิลาทรายที่ถล่มทับถมกันเนื่องเพราะกาลเวลา คำบอกเล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ของกลุ่มปราสาทบันทายฉมาร์แห่งนี้ ระบุว่าเป็นกลุ่มปราสาทที่เก่าแก่ที่สุดของกัมพูชา เกิดขึ้นก่อนปราสาทนครวัด-นครธม

ว่ากันว่าอาณาเขตภายในกำแพงศิลานั้นคือศาสนสถาน ส่วนรอบนอกคือตัวเมือง เพราะมี “ธรรมศาลา” หรือที่พักคนเดินทางในสภาพที่ยังสร้างไม่เสร็จ ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมการเดินทางของคนสมัยก่อน ก่อนจะเข้าไปยังศาสนสถาน แค่ศาสนสถานก็ใหญ่โตมโหฬารแล้ว

ถ้าเป็นตัวเมืองด้วยจะใหญ่โตขนาดไหน ลองจินตนาการดู

 

“ศานติ ภักดีคำ” อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เขมร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มศว. กล่าวถึงปราสาทบันทายฉมาร์ ว่าเป็นปราสาทสำคัญในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ลักษณะการก่อสร้างตัวปราสาทเป็นปราสาทหินก็จริง แต่ว่าพื้นที่โดยรอบมีฐานะเป็นเมือง

ปรากฏหลักฐานในเอกสารโบราณและแผนที่เส้นทางเดินทัพสมัยรัชกาลที่ 2 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของไทย มีการระบุตำแหน่งเอาไว้ชัดเจนว่า บันทายฉมาร์เป็นกลุ่มปราสาทที่คนไทยรู้จักมานานแล้ว

เป็นศาสนสถานสำคัญที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างไว้นอกเมืองพระนคร เพื่ออุทิศให้กับพระราชโอรสและกลุ่มขุนนางที่เสียชีวิตในการสงคราม “ศรินทรกุมาร” ซึ่งเป็นพระราชโอรส มีปรากฏรายชื่อในจารึกของปราสาทบันทายฉมาร์

เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญของที่นี่ก็คือ ภาพสลักที่ระเบียงปราสาท เป็นภาพเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และภาพสลักพระอวโลกิเตศวรปางพันกร คือมีพระกรหนึ่งพันกร

ในอดีตเคยมีขโมยเข้าไปลักลอบขนชิ้นส่วนพระอวโลกิเตศวรนี้ออกมาตามใบสั่ง แต่ไปไม่ถึงไหน มาจับได้ที่ชายแดนประเทศไทย ทางการไทยจึงส่งคืนกัมพูชาไป ปัจจุบันชิ้นส่วนเหล่านั้นมีการนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ที่กรุงพนมเปญ

ซากหินกองระเกะระกะของบันทายฉมาร์ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ของกัมพูชาร่วมกับเจ้าหน้าที่จากประเทศเยอรมนีกำลังบูรณะอยู่บางส่วน

เมื่อเดินเลยเข้าไปด้านใน มีภาพสลักหินนูนต่ำแสดงถึงร่องรอยอดีตอันยิ่งใหญ่ให้สัมผัส ตั้งแต่ซุ้มประตูหรือโคปุระ จนถึงตัวปราสาทหลัก ทับหลัง หน้าบัน นางอัปสราและลวดลายที่สวยงามสลับซับซ้อน พระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม เทวดา ครุฑ ฤๅษี พราหมณ์ และพระพุทธเจ้า เป็นต้น

 

ตามหลืบมุมต่างๆ ของปราสาทด้านใน บางแห่งยังมีจารึกตัวหนังสือโบราณหลงเหลือให้เห็น กลุ่มปราสาทบันทายฉมาร์มีปราสาททั้งหมดประมาณ 10 หลัง ปราสาทหลักคือปราสาทบันทายฉมาร์, ปราสาทตาเปล่ง, ปราสาทตาสก, ปราสาทตาเปรียว และ “ป้อมประจำทิศ” ทั้งสี่ทิศ

“สิ่งที่จะต้องไปดู หากไปถึงบันทายฉมาร์ คือพระพักตร์พระอวโลกิเตศวรที่สร้างอยู่นอกเมือง เป็นศาสนสถานสำคัญแห่งหนึ่งของเขมรโบราณ เราไม่ค่อยได้ไปสัมผัส ไม่ค่อยได้ไปรับรู้ สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เขมรและเกี่ยวข้องกับประเทศไทยเราด้วย คือในสมัยรัชกาลที่ 4 เคยส่งขุนนางไทยออกไปดูปราสาทบันทายฉมาร์ เพื่อจะรื้อนำกลับมาไว้ในประเทศไทย เพราะฉะนั้น ที่นี่จึงสำคัญที่ต้องไปดู”

ประเด็นหนึ่งที่หลายคนอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงให้ขุนนางไทยไปรื้อปราสาทเขมรเพื่อนำมาไว้ที่ประเทศไทย แท้จริงแล้วเป็นปราสาทบันทายฉมาร์ ไม่ใช่ปราสาทนครวัด-นครธมอย่างที่เข้าใจกัน

 

ส่วนกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก อยู่ห่างจากเมืองเสียมเรียบประมาณ 120 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขต จ.กeปงธม

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกชิ้นล่าสุดของกัมพูชา ขณะที่รัฐบาลกัมพูชาเองก็ได้แถลงข่าวล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วว่าได้บูรณปฏิสังขรณ์กลุ่มปราสาทชุดใหม่ คือบันทายฉมาร์และสมโบร์ไพรกุก ซึ่งเป็นกลุ่มปราสาทเก่าแก่ที่สุดของกัมพูชา เพื่อเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบศิลปะและโบราณสถานในกัมพูชา

อาจารย์ศานติให้ข้อมูลว่า สมโบร์ไพiกุกมีอายุในสมัยพระเจ้าอิศาณวรมันที่ 1 (ค.ศ. 616-635) ก่อนเกิดนครวัด 500 ปี

เป็นอาณาจักรยุคเริ่มแรกตั้งแต่สมัยเจนละ ถือเป็นยุครุ่งเรืองที่สามารถรวบรวมเอาอาณาจักรฟูนันมาไว้ด้วยกันได้อย่างเป็นปึกแผ่น

สมโบร์ไพรกุกสร้างด้วยอิฐ มีการจำหลักลวดลายลงบนเนื้ออิฐ แต่ทับหลังบางส่วนมีการสลักบนหินทรายแล้วยกมาประกอบ แตกต่างจากศิลปะในยุคนครวัด เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคล้ายๆ ศิลปะอินเดีย ส่วนมากสลักเป็นรูปคนและบริวาร ดูเหมือนใบหน้าชาวอินเดีย ไม่เหมือนคนเขมร สะท้อนให้เห็นถึงการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากแดนภารตะที่แพร่เข้าไปในเขมร แต่เดิมสันนิษฐานว่าอาจมีปราสาททั้งหมดราว 300 หลัง แต่ปัจจุบันเท่าที่สำรวจพบมีเหลืออยู่ราว 160 หลัง

กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก ที่จริงแล้วมีฐานะเป็นเมืองหลวง ก่อนที่กัมพูชาจะย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองพระนคร ที่เสียมเรียบ เพราะฉะนั้นจึงเก่าแก่มากกว่านครวัด-นครธมเสียอีก

โบราณสถานที่สมโบร์ไพรกุกมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 กลุ่มปราสาทนี้จะเห็นร่องรอยของศิลปะอินเดียชัดเจนมาก ที่ส่งอิทธิพลเข้าไปในเขมรตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่สำคัญสมโบร์ไพรกุกปรากฏในเอกสาร ในจารึกของกัมพูชาและในเอกสารของจีนที่เข้ามาในราชวงศ์สุย ได้บันทึกถึงเรื่องราวของอาณาจักรเจนละ

และบันทึกว่าราชธานีของพระเจ้าอิศาณวรมันนั้นอยู่ที่อิศาณปุระ ซึ่งก็คือกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกนั่นเอง

 

กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกมีพื้นที่ถึง 25 ตารางกิโลเมตร โดยยูเนสโกระบุว่าพื้นที่นี้ถูกเรียกว่าอิศาณปุระ (Ishanapura) ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรโบราณเจนละ (Chenla) แห่งอารยธรรมขอมในช่วงปลายศตวรรษที่ 6-7 ก่อนหน้าจักรวรรดิขแมร์จะเข้ามาแทนที่

“อิศาณปุระหรือสมโบร์ไพรกุก ถือกันว่าเป็นจุดกำเนิดของอาณาจักรเขมรโบราณ และส่งอิทธิพลถึงศิลปะเขมรในยุคต่อๆ มาด้วย เพราะฉะนั้น ทั้งสามกลุ่มปราสาท ตั้งแต่สมโบร์ไพรกุก บันทายฉมาร์ และนครวัด-นครธม ทั้งหมดคืออาณาจักรกัมพูชาที่เชื่อมโยงและร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของประวัติศาสตร์เขมรให้ครบถ้วน สมบูรณ์”

เป็นบทสรุปจากศานติ ภักดีคำ นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เขมรที่หาตัวจับได้ยากอีกผู้หนึ่ง