คำ ผกา : ความเครียดในโลกโซเชี่ยว

คำ ผกา

ห้วงอาทิตย์ที่ผ่านมา น่าจะมีผู้คนที่ประสบภาวะความหดหู่ ตึงเครียด จากการบริโภคข้อมูล ข่าวสาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์ ทั้ง เศร้า โกรธ สิ้นหวัง หดหู่ ช็อก ประหลาดใจ ฯลฯ ในโซเชียลมีเดียอยู่ค่อนข้างมาก รวมถึงตัวฉันเองด้วย

จนคิดว่าน่าจะถึงเวลาต้องทบทวนพฤติกรรมของตัวเองบ้าง เพราะไม่อย่างนั้น เราจะถูกมัน ลาก ทึ้ง ลงไปในโลกใบนั้นจนเสียสติได้

สำหรับคนในรุ่นที่เกิดมาปุ๊บก็มีโซเชียลมีเดียเลย อาจต้องจัดเขาไว้เป็นเจเนอเรชั่นหนึ่ง ที่อาจมีโลกทัศน์ และมีบรรทัดฐาน การจัดการทางอารมณ์ หรือแม้กระทั่ง การทำงานทางอารมณ์ ความรู้สึก ความเร็วของการตอบสนองต่อ “โลก” ของพวกเขาอาจจะต่างออกไปจากคนรุ่นก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง-และอาจจะมีประสบทุพภิกขภัยทางอารมณ์น้อยกว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้

แต่คนรุ่นฉันและก่อนหน้าฉันที่เกิดมาในยุคของการมีโทรศัพท์บ้านใช้ยังยากเย็นแสนเข็ญ ขอไปแล้วต้องรอเป็นปีๆ อะไรอย่างนั้น ค่อยขยับมาเป็นแพ็กลิงก์ ขยับมาเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ ขยับมาเป็นการใช้อี-เมล

จนมาสู่ยุคโปรแกรมแชต อย่าง MSN, ICQ ก่อนจะเข้าสู่ยุคสมาร์ตโฟน

น่าจะเป็น “รุ่น” ที่มีปัญหากับการจัดการกับ “ความจริง” สองชุด ในชีวิตทางกายภาพและในชีวิตในโลกเสมือนจริงมากที่สุด

 

ยังจำได้ว่าคืนหนึ่งที่บ้านเพื่อน ระหว่างที่เรากำลังกินข้าว คุยกันอย่างออกรส หนึ่งในเพื่อนของเราก้มหน้าก้มตาอยู่กับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของเขา ขณะเดียวกันก็พยายามเงยหน้าเข้ามามีส่วนร่วมกับเพื่อนๆ ในแบบขาดๆ เกินๆ เพราะคุยสลับกับการก้มหน้าไปหมดอยู่หน้าจอ

เขาบอกว่า กำลังพัวพันกับสิ่งที่เรียกว่า เฟซบุ๊ก

ซึ่ง ณ ขนะนั้น ในหมู่เพื่อนเกือบสิบคนที่อยู่ในห้องนั้นยังไม่มีใครรู้จักเฟซบุ๊ก

ประหลาดใจกว่านั้นคือ เพื่อนคอยเช็กอยู่นั่นแหละว่ามีใครมา “ไลก์” เขาบ้าง

และสิบกว่าปีที่แล้ว สิ่งนี้ (อย่างน้อยสำหรับฉัน มันดูบ้า และดูประหลาดอย่างยิ่ง)

สอง-สามปีต่อมา มีเพื่อนอีกนั่นแหละ เข้าใจไม่ได้ว่า ทำไมฉันไม่มีบัญชีเฟซบุ๊ก เท่าๆกับที่ฉันไม่เข้าใจว่า ทำไมฉันต้องมีเฟซบุ๊ก

เพื่อนบอกว่า “เธอจะได้เจอเพื่อนสมัยเรียนที่ไม่ได้เจอกันมานานนะ” ส่วนฉันก็ตอบว่า “คนเราที่ไม่ได้เจอกันเกินสิบปี มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะอยากเจอกันหรือเปล่าวะ เพราะการที่เราไม่เคยพยายามจะเจอ หรือติดต่อใครเกินสิบปี แปลว่าคนคนนั้นไม่มีฟังก์ชั่นในชีวิตเรานะ แล้วเราจะไปพยายามเจอกันทำไม”

แต่เพื่อนหาฟังไม่ และยังลงมือสมัครบัญชีเฟซบุ๊กบัญชีแรกให้ฉัน ทำเสร็จเรียบร้อยก็บอกว่า

เอ้า-มาโพสต์สเตตัสแรกซิ

เฮ้ยยยยย – ประหลาด – เฟซบุ๊ก เขียนว่า what is in your mind?

ทำไมเราต้องเที่ยวบอกใครต่อใครด้วยว่า what is in my mind – ธุระไม่ใช่!!! แล้วใน mind ของเราเนี่ย โคตรจะมีสารพัดเรื่อง ร้อยเรื่อง พันเรื่อง แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า อันไหนมีค่าคู่ควรแก่การโพสต์ไปในเฟซบุ๊ก

เพื่อนก็บอกว่า เขียนๆ ไปเหอะ ขำๆ อย่าคิดมาก จากนั้นก็เปิดให้ดูสเตตัสของคนอื่นๆ ว่าเขาโพสต์อะไรกันบ้าง

ฉันจำไม่ได้แล้วว่า สเตตัสแรกในเฟซบุ๊กโพสต์อะไร น่าจะประมาณ “อากาศร้อนมาก” หรืออะไรทำนองนี้

 

แต่หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเริ่ม add เพื่อน เมื่ออ่าน what is in thier mind ของเพื่อนมากๆ เข้า ฉันก็เริ่มสนุกกับการใช้เวลาอ่านสิ่งเหล่านี้ในเฟซบุ๊กอย่างเพลิดเพลิน และสนุกกับการเข้าไปคุย โต้ตอบ คอมเมนต์ ถกเถียง อย่างเอาจริงเอาจัง

จากนั้นก็เรียนรู้ว่า ไอ้เจ้า what is in my mind ของเรา มันเกิดขึ้นจากการตกตะกอนของการอ่านสเตตัสของคนอื่นๆ เช่น ถ้าเราไปอ่านเจอคนที่เขียนว่า “เกลียดฤดูฝน” โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว หรือจิตใต้สำนึกอะไรสักอย่างที่ทำให้ในสักวันหนึ่งข้างหน้า เราจะเกิดความรู้สึกอยากเขียนสเตตัสในเฟซบุ๊กของเราเพื่อบอกให้โลกรู้ว่าฤดูฝนนั้นดีอย่างไร

ฉันอาจจะลุกไปเขียนว่า “ฤดูฝนมาอีกแล้ว นำความชุ่มฉ่ำมาสู่ชีวิต ใบไม้ก็เริงร่า กลิ่นดินหอมๆ ทำให้นึกถึงวัยเด็ก บลา บลา บลา”

ฉันไม่ได้เขียนถึงข้อดีของฤดูฝน เพราะฉันชอบฤดูฝนเท่านั้น แต่เมื่อฉันเห็นว่ามีคนไม่ชอบฤดูฝน ฉันในฐานะคนชอบฤดูฝนจึงมีความกลัวว่า แย่แล้ว ถ้าเราไม่พูดอะไรออกไปบ้าง คนจะพากันเห็นแต่ด้านไม่ดีของฤดูฝนหรือเปล่า ไม่แฟร์เลย ในฐานะคนชอบฝน

เราต้องเขียนอะไรสักอย่างสิ

 

“เนื้อหา” ที่ปรากฏในเฟซบุ๊ก และโซเชียลมีเดียอื่นๆ จึงอ้างอิง ตอบโต้กันไปมา โดยที่ไม่มีใครรู้ตัวว่า ตัวเองกำลัง “สนทนา” กับ “บางสิ่ง บางเรื่อง ที่อยู่ตรงนั้น”

เช่น มีคนโพสต์ถึงอาหารใต้ เราก็อยากโพสต์ถึงอาหารเหนือ มีคนเขียนเรื่องร้านอาหารอินเดียที่เขาชอบ เราก็อยากโพสต์รูปร้านอาหารอินเดียที่เราเคยไปกินบ้าง

และทั้งหมดนี้เกิดในกาละและเทศะ ที่ไม่จำเป็นต้องต่อเนื่อง เชื่อมโยง เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แม้กระทั่งจะต้องรู้จักกัน ทั้งทางตรง ทางอ้อม

แต่เรื่องราวต่างๆ สามารถแพร่ขยายต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เวลาที่เราจะโพสต์รูปห้องครัวที่บ้านของเรา เราเคยถามตัวเองไหมว่า ทำไมเราเลือกมุมนี้

ทำไมเราเลือกโฟกัสสิ่งนั้น ทำไมเราอีดิตแสงให้เป็นแบบนี้ รวมไปถึงเราอยากสื่อสารอะไรผ่านรูปนี้ เช่น อยากให้คนรู้ว่าเราเป็นคนเจ้าระเบียบ อยากให้คนรู้ว่าเรามีรสนิยม อยากให้คนรู้ว่าเราเป็นคนไม่แคร์สังคม (ด้วยการโพสต์รูปห้องครัวรกๆ)

แต่ไม่ว่าเราจะเลือกถ่าย และโพสต์รูปไหนลงไป มันก็มาจากประสบการณ์ที่เราเห็นรูปห้องครัวอื่นๆ ของคนอื่นๆ ทั้งที่เป็นเพื่อนเราและไม่ใช่เพื่อนเรา จนตกผลึกเป็นประสบการณ์ชุดหนึ่ง เป็น “ความจำ” ชุดหนึ่ง เป็นข้อมูลอ้างอิงชุดหนึ่ง

และรูปที่เราโพสต์ ก็สนทนา ตอบโต้กับข้อมูลชุดนั้นๆ ที่เราได้เรียนรู้มานั่นเอง

เวลาผ่านไปไม่ช้านาน รู้ตัวอีกที จากที่ไม่รู้จะเขียนอะไรลงในเฟซบุ๊ก กลายเป็นมีเรื่องอยากเล่า อยากเขียนลงในเฟซบุ๊กตลอดเวลา ตั้งแต่หมาป่วย แมวบิดขี้เกียจ ดอกไม้บาน แม่ค้าส้มตำเหวี่ยงใส่ ไปจนถึงเรื่องการเมืองในประเทศ การเมืองโลก ศาสนา ความเชื่อ และอื่นๆ

โลกโซเชียลจึงถักทอบทสนทนาที่เหมือนจำลองโลกทางกายภาพมาไว้ในหนึ่งหน้ากระดาน ที่เหตุการณ์ต่างๆ จะไหลเรียงลงมาให้เรารับรู้

ในยุคที่เรามีแต่หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ หากมีข่าว คนบ้าตบคนบ้า -เราจะได้อ่านข่าวนั้นหนึ่งครั้ง- แต่ในโซเชียลมีเดีย หากเพื่อนสามสิบคนในหนึ่งร้อยคนของเรา สนใจคลิปคนบ้าตบคนบ้า เราจะได้เห็นคลิปนั้นอย่างน้อยสามสิบรอบที่ไหลเลื่อนผ่านสายตาเราไป

ข่าวสารหรือข้อเท็จจริงของเหตุการณ์หนึ่งที่อยู่ในโซเชียลมีเดียจึงมีลักษณะคล้ายอาการย้ำคิดย้ำทำ ย้ำอ่านย้ำดู

ผลก็คือ มันส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึกของเราเข้มข้นกว่าการอ่านข่าวในช่องทางของสื่อโลกเก่าอย่างหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์
ไม่เพียงเท่านั้น เรามักลืมไปว่า “เวลา” ที่ปรากฏในหน้าวอลล์นั้นมัน “เข้มข้น” กว่าเวลาในโลกแห่งความเป็นจริง

เช่น การถกเถียงที่กินเวลา 5 ชั่วโมงในโลกแห่งความเป็นจริง สามารถปรากฏสู่สายตาและการรับรู้ของเรา -รัว รัว- ภายในเวลา 5 นาที

นั่นเท่ากับว่าเราต้องรับรู้ความเข้มข้นของการด่าทอ ถกเถียง ห้าชั่วโมงด้วยเวลาเพียงห้านาที

ในดีเบตหนึ่งของสเตตัสหนึ่ง ทั้งเจ้าของสเตตัส และคนที่เข้าไปคอมเมนต์ จะกี่สิบคน กี่ร้อยคอมเมนต์ก็ตาม – ทั้งหมดนั้น อาจใช้เวลาในการ “เขียน” และ “ถกเถียง” กันเกิน 48 ชั่วโมง แต่เมื่อใครสักคนแชร์การถกเถียงนั้นมาหน้าวอลล์ เราก็นั่งอ่านจบภายในห้านาที เท่ากับว่าเราเสพ “สาระ” “ความรุนแรง” ความ “เข้มข้น” ซึ่งใช้เวลาผลิตสองวันภายในห้านาที เช่นกัน – และฉันไม่แน่ใจว่านี่คืออาการ โอเวอร์โดส ทางอารมณ์หรือไม่?

หลายคนอาจจะบอกว่า เราก็อ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่กินห้วงเวลาหลายร้อยปีผ่านหนังสือเล่มเดียวที่อาจจะอ่านจบภายในสามชั่วโมงเช่นกัน คำตอบของฉันคือ -ใช่สิ- และเราจะปฏิเสธหรือไม่ว่า หากเรานั่งอ่านรวดเดียวจบภายในสามชั่วโมง สมองเราจะไม่เหนื่อยแทบทรุด หรือหัวใจ อารมณ์เราอาจจะถูกปกคลุมไปด้วยทั้งสุข ทุกข์ และชะตากรรมของบุคคลต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนั้น

แต่เฟซบุ๊กไม่ใช่หนังสือ มันไหลเรียงไม่ขาดสายมายั่วเย้าเราอยู่ตรงหน้าด้วยข้อความที่ไม่ยาวนัก จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง ไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง และเราก็ถูกดูดเข้าไปในห้วงทะเลทางอารมณ์อันอลหม่านอย่างไม่รู้จบ

เพราะตราบใดที่เราไม่ sign out ออกไป เฟซบุ๊กไม่มีคำว่า The End แต่ไหลไปเรื่อยๆ เหมือนสายน้ำที่ไร้จุดจบ

 

เพื่อออกจากกับดักนี้ของเฟซบุ๊ก และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ด้วย เราคงต้องสร้างสมดุลระหว่างโลกทางกายภาพกับโลก “โซเชี่ยว” และเพื่อลดความตึงเครียด จาก “เนื้อหา” ที่เราเสพผ่าน “โซเชี่ยว” เหล่านั้น ทั้งเพื่อป้องกันอารมณ์อุปาทานหมู่ที่อุบัติขึ้นจากการไหลของกระแส feed ในหน้าวอลล์เฟซบุ๊กของพวกเราทุกคน

ที่เราต้องใช้เวลาในโลกแห่งกายภาพให้มากขึ้น ไม่ใช่เพราะโลกกายภาพมันจริงกว่า แต่โลกกายภาพมีความหลากหลายที่เราจัดการไม่ได้

ต่างจากโลกโซเชี่ยว ที่เรา dictate หรือครอบงำความเป็นไปของโลกใบนั้นโดยที่เราไม่รู้ตัว เราเลือกรับเพื่อน เลือกเห็นเพื่อน เลือกติดตามคนที่เราอยากติดตาม (ผลก็คือ ความซ้ำทางอารมณ์ อุดมการณ์ ความคิด โลกทัศน์ อคติ ฯลฯ)

ถ้าในโลกโซเชี่ยวมีแต่คนร้องไห้ ในโลกกายภาพอาจมีทั้งคนหม่นหมอง คนเฉยๆ คนที่ยังไม่รู้เรื่องราวอะไร คนที่พยายามเผชิญหน้ากับความจริงอย่างมีสติ คนที่พยายามให้กำลังใจคนอื่นให้เข้มแข็งด้วยรอยยิ้ม ฯลฯ

ถ้าในโลกโซเชียลของเรามีแต่คนที่พูดถึงสีเขียวทั้งวัน เราควรรู้เท่าทันว่า นั่นไม่ใช่สีสีเดียวของคนอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกทางกายภาพ ดังนั้น สีเขียวที่เราและเพื่อนเราเห็นว่าสวยที่สุด อาจจะไม่ใช่สีที่คนอื่นๆ อีกมากมายในที่มีชีวิตอยู่โลกนอกโซเชียลมีเดียเห็นว่าสวย

ใช้เฟซบุ๊ก และ “โซเชี่ยว” ให้เป็นเพียงเครื่องมือสื่อสาร แต่อย่าคิดว่า สิ่งที่อยู่ในโลกโซเชี่ยวคือภาพสะท้อนความจริงของโลกและจักรวาล

และอย่าเอาความจริงในโลกโซเชี่ยวของเราไปตีขลุมว่าความจริงในโลกโซเชี่ยวของคนอื่นๆ จะเป็นความจริงชุดเดียวกัน