นิธิ เอียวศรีวงศ์ : วัฒนธรรมคอร์รัปชั่น

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม 2548

ผมไม่ประสบความสำเร็จที่จะจำกลุ่มเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชั่นในเมืองไทยปัจจุบัน เพราะมีจำนวนไม่น้อยเลย

บางกลุ่มก็ต่อต้านอย่างกว้างๆ และไม่ค่อยชัดนักว่าจะให้สมาชิกซึ่งเข้าไปร่วมด้วยจำนวนมากนั้นทำอะไร เพื่อบรรเทาการคอร์รัปชั่นลง บางกลุ่มก็เอามาตรฐานที่อ้างว่าเป็น “สากล” เป็นตัวตั้ง มาตรฐานนี้มาจากการสำรวจความเห็นของคนหลายกลุ่มในหลายประเทศ แล้วเอามาเรียงลำดับกันว่า ประเทศใดหน้าตาขี้ฉ้อกว่ากัน ซึ่งหน้าตาประเทศไทย จะออกมาขี้ฉ้อในระดับต้นๆ หรือซื่อสัตย์ระดับท้ายๆ กลุ่มก็ใช้มาตรฐานนี้แหละเพื่อรณรงค์ให้คนไทยรู้จักอายบ้าง แล้วช่วยกันทำให้หน้าของเราดูขี้ฉ้อน้อยลง บางกลุ่มก็ค่อนข้างจะเจาะไปที่ป้องกันการคอร์รัปชั่นในบางกระทรวงตามความถนัดของผู้นำกลุ่มและสมาชิก

ในด้านวิธีการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น ผมคิดว่าไม่ค่อยชัดนักนะครับว่ากลุ่มเหล่านี้ต้องการให้ทำอะไร ข้อนี้ไม่ได้ตำหนิ แต่เห็นใจ เนื่องจากวิธีการป้องกันปราบปรามนั้นได้ถูกบัญญัติไว้หมดแล้วในกฎหมาย, ระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ, การตั้งองค์กรตรวจสอบ และระบอบปกครอง ปัญหาจึงไม่ใช่ขาดหลักการอะไร แต่เมื่อไหร่มึงจะปฏิบัติตามหลักการนั้น ทั้งในความหมายและเจตนารมณ์ของหลักการนั้นเสียทีวะ

อย่างไรก็ตาม มีวิธีการที่ชัดเจนอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนกลุ่มต่อต้านคอร์รัปชั่นจะเห็นพ้องกันอย่างกว้างขวางที่สุด นั่นก็คือความ “โปร่งใส” อันเป็นแนวคิดที่ คุณอานันท์ ปันยารชุน ทำให้แพร่หลายในเมืองไทยเมื่อสมัยเป็นนายกฯ

ดังนั้น เราจึงแยกกลุ่มที่ต่อสู้ผลักดันให้เกิดการดำเนินงานสาธารณะที่โปร่งใส อกจากกลุ่มต่อต้านคอร์รัปชั่นได้ยาก เช่น กลุ่มที่ทำงานด้านสื่อไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องบุคคลสองสามคนที่ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นพันล้าน แต่การฟ้องร้องเช่นนี้ย่อมมีผลในทางปฏิบัติ คือสื่อถูกคุกคามจนไม่กล้าเสนอความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ทำลายความโปร่งใสในสังคมอย่างแน่นอน

ที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทั้งหมดของกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชั่นและผลักดันด้านความโปร่งใส ล้วนเป็นคนชั้นกลาง (ระดับกลางและล่าง-เพราะระดับบนยังดูเพชรกันไม่เลิก)

ฉะนั้น ผมจึงอยากสรุปเอาดื้อๆ (ตามเคย) ว่า มีความเปลี่ยนแปลงด้านมาตรฐานและค่านิยมอะไรบางอย่างในหมู่คนชั้นกลางไทย ที่ทำให้ระดับความอดทนต่อการคอร์รัปชั่นในกิจการสาธารณะลดลง

อันที่จริงผมจะสรุปเอาดื้อๆ อีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า มีการคอร์รัปชั่นในกิจการสาธารณะในประเทศไทยมากขึ้น จนคนชั้นกลางทนไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาต่อต้านเป็นการใหญ่

แต่ที่ผมไม่สรุปอย่างนี้ก็เพราะผมเชื่อว่า “คอร์รัปชั่น” มีในเมืองไทยมานานตั้งแต่ก่อนที่คนชั้นกลางทุกคนในเวลานี้จะเกิดด้วยซ้ำ ซ้ำทำกันทื่อๆ กว่าที่เม้มกันอย่างยอกย้อนเช่นทุกวันนี้เสียอีก แต่คนชั้นกลางไทยก็ยังทนกับมันได้อย่างน่าชื่นตาบาน คนพวกนี้แหละครับที่เชียร์เผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อย่างสุดจิตสุดใจ ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในนโยบายพัฒนา เพราะเกือบทุกโครงการล้วนต้องผ่านบริษัทก่อสร้างนายหน้า ซึ่งไม่มีแต่ค้อนสักอันเดียว มีแต่โต๊ะตัวเดียวก็ก่อสร้างได้ทั้งประเทศแล้ว

ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมยังพอเข้าใจได้ง่าย เช่น ครั้งหนึ่งเคยยอมรับว่าคอร์รัปชั่นเป็นโอกาสที่ชอบธรรมของคนใหญ่คนโต กลายมาเป็นว่าทำไม่ได้ ประโยชน์สาธารณะย่อมสำคัญกว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร แพร่หลายอย่างไร อันนี้สามารถตามสืบได้โดยคนที่ขยันกว่าผม

แต่ที่สัมพันธ์สืบเนื่องกับค่านิยมคือความเปลี่ยนแปลงด้านมาตรฐานคือการกระทำที่ครั้งหนึ่งไม่จัดเป็นคอร์รัปชั่น แต่ต่อมาก็ถูกจัดว่าเป็นคอร์รัปชั่น อันนี้เป็นที่สนใจแก่ผมมากกว่า

ตัวอย่างที่คนไทยปัจจุบันคุ้นหูก็คือคอร์รัปชั่น “เชิงนโยบาย” ซึ่งที่จริงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมื่อนายทุนเข้ามายึดเอาบ้านเมืองไปหมดอย่างในทุกวันนี้หรอกครับ เขาทำกันมานานแล้ว เพียงแต่ผลประโยชน์ไม่ได้ “ทับซ้อน” กับกิจการธุรกิจของตัวเองโดยตรงเท่านั้น เช่น พรรคพวกหรือผู้ให้สินบน ทำโรงงานผลิตน้ำมันละหุ่ง นักการเมืองก็ออกกฎหมายห้ามส่งออกเมล็ดละหุ่ง เพื่อกดราคาเมล็ดละหุ่งในประเทศให้ถูกเข้าไว้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือนักการเมืองวางนโยบายที่เนื้อแท้แล้วมุ่งประโยชน์แก่บุคคล ซ้ำเป็นผลเสียแก่สาธารณะด้วย ย่อมเป็นการทุจริต “เชิงนโยบาย” ทั้งนั้น และการกระทำเช่นนี้อาจสืบย้อนไปได้ไกลถึงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยซ้ำ

แต่ความสงสัยเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อน ถึงมีก็จำกัดเฉพาะในหมู่นักวิชาการเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันกลายเป็นข้อสงสัยทั่วไปของคนชั้นกลางในเมืองไปเสียแล้ว จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงด้านมาตรฐานของการคอร์รัปชั่น

ผมขอกล่าวนอกเรื่องไว้ด้วยว่า การคอร์รัปชั่น “เชิงนโยบาย” นี้นับวันจะซับซ้อนขึ้น และยากมากขึ้นที่จะตัดสินว่าขี้ฉ้อหรือยัง ยกตัวอย่างนโยบายภาษี (ปรับ, คืนและลด) ของรัฐบาลประธานาธิบดีบุชของสหรัฐ ผลบั้นปลายคือคนรวยจำนวนน้อยได้ประโยชน์ ในขณะที่คนชั้นกลางซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมได้เพียงน้อยนิด ยิ่งคิดในระยะยาวแล้ว คนที่จะต้องควักกระเป๋าจ่ายให้แก่โครงการของรัฐบาลอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นสงครามไปถึงโครงการอวกาศหรือฟื้นฟูอุบัติภัย ฯลฯ คนชั้นกลางต้องรับผิดชอบมากขึ้น แถมประโยชน์ที่ได้จากการประกันสังคมยังถูกตัดลงเสียอีก

อย่างนี้จะถือว่าเป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายหรือไม่ ในเมื่อทั้งตัวบุชเอง สมัครพรรคพวก หรือแม้แต่นักการเมืองส่วนใหญ่ของพรรครีพับลิกันล้วนมาจาก “ชนชั้น” ได้เปรียบนี้ทั้งนั้น

แสดงว่าเรื่องของคอร์รัปชั่นนั้น ไม่ใช่เรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วย นั่นคือวัฒนธรรมเป็นคนบอกว่าอะไรคือการคอร์รัปชั่น และอะไรไม่ใช่ โดยไม่สนใจว่ากฎหมายจะพูดว่าอย่างไร

และเมื่อมันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม มาตรฐานนี้จึงเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ และไม่เป็นมาตรฐานสากล กล่าวคือ คนบางกลุ่มในสังคมก็ถือมาตรฐานอย่างหนึ่ง คนอีกบางกลุ่มก็อาจถือมาตรฐานอีกอย่างหนึ่ง

เช่น การคอร์รัปชั่น “เชิงนโยบาย” นั้น แม้ในหมู่คนชั้นกลางไทยด้วยกันเองก็ยังมองไม่เห็นว่าเป็นคอร์รัปชั่นได้อย่างไร เอาเงินของประเทศไปให้พม่ากู้เพื่อซื้อของไทยก็น่าจะเป็นนโยบายที่ดี แต่ของที่เขาจะซื้อนั้นให้บังเอิ๊ญบังเอิญเป็นสินค้าของบริษัทที่ท่านนายกฯ เป็นเจ้าของ ก็อย่างว่าแหละครับเป็นเรื่องบังเอิญ จะไม่ให้ท่านได้ค้าขายอะไรบ้างเลยหรือ

คงจำวาทะของท่านนายกฯ คนเก่าคือ คุณชวน หลีกภัย ในกรณี ส.ป.ก.อื้อฉาวที่ภูเก็ตได้ ท่านบอกว่าเหมือนชิงทุนไปต่างประเทศแหละครับ บังเอิญคนรวยสอบได้ จะให้ทำยังไงล่ะ

ด้วยเหตุดังนั้น การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นที่คนในสังคมประชาธิปไตยจะต้องเผชิญต่อไปในภายภาคหน้านั้น จึงไม่ใช่เรื่องขององค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ การตรากฎหมายที่เข้มงวด หรือการเมืองในระบบเพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญกว่าคือการบังคับใช้มาตรฐานโดยภาคประชาชน หรือสังคมต้องเข้าไปมีบทบาทตรวจสอบ, โวยวาย, คัดค้าน, ถล่ม, อย่างเข้มแข็งเอง

ไม่อย่างนั้น ป.ป.ช., ศาลรัฐธรรมนูญ, พรรคฝ่ายค้าน หรือแม้แต่สื่อก็เลื่อนเปื้อนอย่างที่เลื่อนเปื้อนให้เห็นอยู่บ่อยๆ หรือมิฉะนั้นก็ไร้น้ำยา

การผนึกกำลังของประชาชนในสังคมเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่นจึงเป็นนิมิตอันดี แสดงว่าสังคมเริ่มขยับเขยื้อนแล้ว และการที่มีองค์กรหรือกลุ่มที่ทำงานด้านนี้มากขึ้นในสังคมไทย ก็น่าจะถือว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ขอให้สังเกตว่าความเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่างๆ เหล่านี้จำกัดตัวเองอยู่ในหมู่คนชั้นกลางเท่านั้น ไม่ได้รวมเอาประชาชนระดับล่างไว้ด้วยเลย จนดูเหมือนคนไทยระดับล่างในชนบทไม่รังเกียจการคอร์รัปชั่นเอาเลย

ความจริงแล้ว ผมคิดว่าไม่ใช่อย่างนั้น แต่เกิดขึ้นจากมาตรฐานว่าอะไรคือคอร์รัปชั่นที่ต่างกัน

จริงอยู่หรอกครับ คนชั้นล่างในชนบทไม่ใส่ใจเท่าไหร่ว่า มีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างมากน้อยแค่ไหน เพราะคนที่ไม่ค่อยเคยได้รับส่วนแบ่งทรัพยากรส่วนกลางเลย ได้แบ่งถึงมือเขาบ้างก็ย่อมพอใจเป็นธรรมดา ฉะนั้น ถนนลาดยางจะถูก อบต. โกงกินไปบ้าง ก็ยังดีกว่าไม่มีถนนลาดยางเข้าหมู่บ้านเสียเลย

แต่การคอร์รัปชั่นที่คนชั้นล่างจำนวนมากขึ้นทุกทีต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้ก็คือการแย่งชิงทรัพยากร เป็นคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายชนิดหนึ่ง แทบจะทุกโครงการทั้งของภาครัฐและเอกชนที่เข้าไปแย่งชิงหรือแย่งใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นนั้น ล้วนเป็นความลำเอียงเชิงนโยบาย (ซึ่งก็น่าจะถือได้ว่าเป็นคอร์รัปชั่นประเภทหนึ่ง) และมีนักการเมือง, ข้าราชการ และเจ้าพ่อท้องถิ่นได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ไปอย่างไม่เป็นธรรมอยู่ด้วยทั้งนั้น

สร้างเขื่อนก็กินกันตั้งแต่เงินกู้ไปจนถึงอีไอเอ วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้าง ค่าเวนคืน และผู้รับเหมาท้องถิ่น ฯลฯ วางท่อก๊าซก็กว้านซื้อที่ดินไว้ขายต่อ, สร้างโรงไฟฟ้าก็เขมือบที่ดินสาธารณะกัน ยังไม่พูดถงผลประโยชน์ทับซ้อนของคนวางนโยบายที่ไปลงทุนกับเหมืองถ่านหินในต่างประเทศ

และนี่คือเหตุผลที่มาตรการโปร่งใสทั้งหลายที่บัญญัติไว้ในกฎหมายไม่เคยสัมฤทธิผลในทางปฏิบัติ เพราะโครงการล้วนให้ประโยชน์แก่พวกขี้ฉ้อเหล่านี้เต็มๆ จึงไม่อยากทำอีไอเอจริง ไม่อยากให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมจริง และไม่อยากทำประชาพิจารณ์จริง

แต่ที่ชาวบ้านในระดับล่างเดือดร้อนกับคอร์รัปชั่นเหล่านี้ที่สุดก็คือ การทำลายทรัพยากรที่เขาต้องใช้เพื่อดำรงชีวิต (ซ้ำเป็นชีวิตที่ดีเสียด้วย ไม่ว่าจะมองจากแง่วัตถุหรือศีลธรรม) ความเดือดร้อนจากคอร์รัปชั่นแบบนี้คนชั้นกลางในเมืองไม่ค่อยรู้สึก เพราะทรัพยากรที่ใช้ดำรงชีวิตของคนในเมืองไม่ได้อยู่ที่ทรัพยากรธรรมชาติมากนัก (จนเขาจะรื้อบ้านสร้างรถไฟฟ้านั่นแหละ)

และความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่นในลักษณะนี้ในหมู่ประชาชนระดับล่างก็ขยายตัวกว้างขวางขึ้น แม้ไม่ได้แยกเรื่องคอร์รัปชั่นออกมาต่อต้านโดดๆ ก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้

ในขณะที่คนระดับล่างไม่ได้ร่วมในขบวนการต่อต้านคอร์รัปชั่นของคนชั้นกลางในเมือง คนชั้นกลางในเมืองก็ไม่ได้เข้าไปร่วมในขบวนการของชาวบ้านเหมือนกัน

ฉะนั้น จึงเท่ากับมีความเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชั่นอยู่สองระดับในสังคมไทย ซึ่งไม่ผนึกเข้าหากันด้วย

 

ผมจึงคิดว่า จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องคอร์รัปชั่นให้กว้างกว่ามาตรฐานของคนชั้นกลางในเมือง เพื่อจะทำให้ขบวนการทั้งหลายมองเห็นความเป็นพันธมิตรกันระหว่างการเคลื่อนไหวของตัวและของชาวบ้าน ว่าแก่นแท้แล้วก็เรื่องเดียวกัน

หากทั้งสองฝ่ายสามารถผนึกกำลังเข้าหากันได้ (ซึ่งต้องคิดและทำอะไรอีกหลายอย่างเพื่อบรรลุผล) ขบวนการทางสังคมที่จะต่อต้านคอ์รัปชั่นในเมืองไทยจะมีพลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ท่ามกลางความเละเทะขององค์กรอิสระที่สร้างความผิดหวังให้สังคมในเวลานี้