สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (4) ชัยชนะของความเปลี่ยนแปลง

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ตอน 1 2 3

“กูเป็นนิสิตนักศึกษา       วาสนาสูงส่งสโมสร
ย่ำค่ำนี้จะไปย่ำงานบอลล์ เสพเสน่ห์เกสรสุมาลี”
-สุจิตต์ วงษ์เทศ-

ชัยชนะของขบวนนิสิตนักศึกษาไทยในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ต้องถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “ภูมิทัศน์ใหม่” ที่สำคัญของการเมืองไทย ดังได้กล่าวแล้วว่า หากย้อนอดีตกลับไปก่อนเดือนตุลาคม 2516 แล้ว แทบจะไม่มีใครเชื่อเลยว่า รัฐบาลทหารจะถูกโค่นล้มด้วยพลังของนิสิตนักศึกษา

หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พลังที่อยู่นอกศูนย์กลางอำนาจจะสามารถล้มรัฐบาลทหารได้

อีกทั้งยังเห็นได้ชัดว่าหลังจากความสำเร็จของการรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2490 ก็จะพบว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นและนำไปสู่ความพยายามในการใช้กำลัง ด้วยความมุ่งหวังที่จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น เกิดขึ้นภายในศูนย์กลางอำนาจรัฐเกือบทั้งสิ้น

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยเป็นการต่อสู้ในเชิงอำนาจของกลุ่มผู้นำทหารเกือบทั้งหมด

ดังนั้น แม้กลุ่มทหารจะสถาปนาอำนาจขึ้นอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการทำรัฐประหารในปี 2490 และนำไปสู่การจัดตั้ง “ระบอบพิบูลสงคราม” ขึ้นอีกครั้ง (หรืออาจจะเรียกว่าเป็นระบอบพิบูลสงครามยุคสงครามเย็นก็ได้) แล้วในที่สุด ระบอบนี้ก็จบลงด้วยการรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

และระบอบทหารก็กลายเป็น “กฎ” ไม่ใช่ “ข้อยกเว้น” ของการเมืองไทย

พลังของระบอบทหาร

รัฐบาลทหารในไทยดูจะมีความเข้มแข็งอย่างมาก เพราะมีปัจจัยต่างๆ เอื้ออำนวยให้กองทัพสามารถอยู่ในเวทีการเมืองได้อย่างชอบธรรม ภายใต้เงื่อนไขสงครามเย็นหรือสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์

กองทัพถูกสร้างให้มีความชอบธรรมที่จะแทรกแซงการเมือง เพราะทหารถูกสร้างให้เป็นดัง “ผู้คุ้มครอง” (the guardianship) ต่อสถานะด้านความมั่นคงของประเทศ

ในสภาพเช่นนี้ รัฐบาลของชาติมหาอำนาจตะวันตกพร้อมเสมอที่จะให้ความสนับสนุนทางการเมืองต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหาร และทั้งยังเชื่อว่ากองทัพคือตัวแทนของ “ผู้รักชาติ” ที่ยืนหยัดเข้มแข็งในการต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

ในสภาพที่ปัจจัยภายนอกมีความเข้มแข็งต่อการสนับสนุนการคงอยู่ของรัฐบาลทหาร ปัจจัยภายในก็เอื้อให้กองทัพดำรงอยู่ในการเมืองไม่แตกต่างกัน ขบวนปัญญาชนที่เคยมีบทบาททางการเมืองก็ถูกกวาดล้างไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสันติภาพที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี 2494

และในที่สุดแล้ว รัฐบาลตัดสินใจจับกุมปัญญาชนที่เปิดการเคลื่อนไหวขณะนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2495 หรือรู้จักกันในชื่อของ “กบฏสันติภาพ” และหลังจากรัฐประหาร 2501 ของจอมพลสฤษดิ์แล้ว การกวาดล้างปัญญาชนก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

ในอีกด้านหนึ่ง ชนชั้นกลางที่เชื่อว่าจะเป็นรากฐานของการสร้างประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาเช่นไทยก็อ่อนแอเกินไป และไม่ได้มีขนาดใหญ่จนอาจกลายเป็น “พลังใหม่” ที่จะคานกับอำนาจของกองทัพในการเมืองไทยได้

ชนชั้นกลางในขณะนั้นจึงมีแต่เพียงกลุ่มข้าราชการ ซึ่งก็อยู่ในสภาพที่จะต้องยอมรับอำนาจรัฐของฝ่ายทหาร และพร้อมที่จะอยู่กับรัฐบาลทหาร

ส่วนชนชั้นกลางในฐานะของกลุ่มปัญญาชนและขบวนนิสิตนักศึกษาก็อ่อนแอ ยังไม่อยู่ในสภาพที่จะเปิดการเคลื่อนไหวใหญ่ได้

การเรียกร้องหาประชาธิปไตยจึงไม่ใช่ “กระแสหลัก” ในสังคมไทย สภาวะเช่นนี้จึงเป็น “ช่วงเวลาแห่งความสุข” ของรัฐบาลทหารเป็นอย่างยิ่ง

และดูเหมือนผู้นำทหารเชื่อเสมอว่า รัฐบาลทหารจะเป็น “อมตะ” ทางการเมือง และจะอยู่กับการเมืองไทยตลอดไป

เรื่องของการโค่นล้มรัฐบาลทหาร นอกจากจะเกิดจากฝีมือของผู้นำทหารเองแล้ว โอกาสที่ภาคสังคมจะเคลื่อนไหวและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทหารจึงแทบจะเป็นสิ่งที่ “เป็นไปไม่ได้” เลย…

ภูมิทัศน์เก่าจึงเป็นการเมืองไทยที่ถูกครอบงำด้วยระบอบทหาร และเป็นระบอบที่สามารถยึดโยงอำนาจภายในกองทัพไว้ได้

โลกที่เปลี่ยนแปลง

แต่สถานการณ์ใหม่เริ่มก่อตัวมาเป็นระยะ ขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้เหตุการณ์และเส้นแบ่งเวลาใดเป็นตัวบ่งบอกถึงจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง หรือการมาถึงของสถานการณ์ชุดใหม่

อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎีแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลทหารจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนในการเมืองไทยนั้นจะต้องมีปัจจัยสนับสนุน 3 ส่วนหลัก คือ การสนับสนุนจากสากล (ปัจจัยภายนอก) การสนับสนุนจากชนชั้นกลางและรวมถึงการมีฐานมวลชนของกองทัพในระบบการเมืองของประเทศ (ปัจจัยภายใน) และการสนับสนุนของกลุ่มทหารภายในกองทัพ (ปัจจัยภายในของสถาบันทหาร)

ดังนั้น แม้ปัจจัยภายนอกของยุคสงครามคอมมิวนิสต์จะยังคงเป็นแรงสนับสนุนต่อการคงอยู่ของรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ เนื่องจากในขณะนั้นการต่อสู้ระหว่างค่ายตะวันตกกับค่ายตะวันออกยังทวีความเข้มข้นอยู่ และโลกตะวันตก ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในสงครามนี้

แต่ปัจจัยในอีก 2 ส่วนเริ่มบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลง ได้แก่

– การพัฒนาประเทศที่มีทิศทางที่ชัดเจนในการสร้างอำนาจทางการผลิตของระบบทุนนิยม อันทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม การขยายการลงทุน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับต่อการเติบโตของระบบทุนนิยมไทยในยุคหลังปี 2500 ซึ่งการพัฒนาเช่นนี้ในที่สุดแล้ว ก็คือ “กระบวนการสร้างระบบทุนนิยมไทย” ในยุคสงครามเย็น เพื่อพัฒนาให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเข้มแข็งในการต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในไทย

และผลผลิตที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็คือการขยายตัวของชนชั้นกลางและผู้ประกอบการผลิตชาวไทย ซึ่งคนกลุ่มนี้แม้พวกเขาจะเป็นผลผลิตจากระบอบทหาร แต่พวกเขาก็เริ่มมีทิศทางทางการเมืองของตัวเองมากขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม

และต่อมาก็เริ่มแสดงท่าทีคัดค้านรัฐบาลทหารมากขึ้นด้วย อีกทั้งเศรษฐกิจไทยหลังรัฐประหาร 2514 ก็มีปัญหาต่างๆ มากขึ้น

– แม้ในยุคของจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอมในช่วงต้น ผู้นำจะสามารถควบคุมความเป็นเอกภาพภายในกองทัพไว้ได้ แต่หลังจากการรัฐประหาร 2514 และการขยายบทบาทของ พ.อ.ณรงค์ พร้อมๆ กับการต่ออายุราชการของ พล.อ.ประภาส (ยศขณะนั้น) ในปี 2516 และปรับขึ้นเป็นจอมพล ก็เริ่มบ่งบอกถึงปัญหาความขัดแย้งภายในกองทัพมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่รับรู้กันในเวลาต่อมาถึงความแตกแยกภายในผู้นำทหารที่ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เริ่มขยับตัวออกจากศูนย์อำนาจเก่า

อันส่งผลให้เอกภาพของทหารจากที่เคยถูกควบคุมได้โดย “สองจอมพล” ก็เริ่มส่งสัญญาณถึงปัญหาทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ไม่ยากนัก

ความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายในการเมืองและภายในกองทัพเริ่มสั่นคลอนภูมิทัศน์เก่าที่ทุกอย่างสามารถควบคุมได้โดยผู้นำทหาร และการควบคุมเช่นนี้เริ่มจะถูกท้าทายว่าจะเป็นที่ยอมรับทั้งในกองทัพและในสังคมหรือไม่ในอนาคต

กระบวนทัศน์กิจกรรมใหม่

ในท่ามกลางการถดถอยของภูมิทัศน์เก่า ชีวิตในมหาวิทยาลัยก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง ถ้าจะตีความว่าระบบโซตัสเป็นส่วนหนึ่งของฐานล่างที่รองรับต่อการคงอยู่ของระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทยก็คงไม่ผิดอะไรนัก

นิสิตนักศึกษาในยุคนั้นถูกการ “หล่อหลอมทางสังคม” (socialization) ให้เกิดการยอมรับการใช้อำนาจ และการยอมรับเช่นนี้ก็คือการประกอบสร้างให้เกิดการยอมจำนนต่อระบอบอำนาจนิยมทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและในระดับชาติคู่ขนานกันไป

พร้อมกันนี้ กิจกรรมแบบ “สายลมแสงแดด” ก็เป็นแรงผลักดันให้ชีวิตในมหาวิทยาลัยในยุคก่อนปี 2516 อยู่ในทิศทางของ “ความบันเทิง” เป็นสำคัญ เช่น งานบอลล์…

ชีวิตในยุคนี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างดีจากบทกวี “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ภูมิทัศน์เก่าของการเมืองไทยจึงสร้างให้นักศึกษาให้ถอยห่างจากปัญหาสังคมการเมืองของประเทศ

ว่าที่จริงแล้ว ผู้นำทหารเองก็ตระหนักดีว่าเมื่อใดก็ตามที่นิสิตนักศึกษาและปัญญาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองแล้ว เมื่อนั้น อายุของระบอบการปกครองของทหารก็คงจะถึงจุดสิ้นสุดลงในระยะเวลาไม่นานนัก

การปล่อยให้กลไกของระบบอาวุโสทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนชีวิตของนิสิตนักศึกษายุคนั้นจึงเป็นหลักประกันโดยตรงต่อการคงอยู่ของการเมืองในระบอบอำนาจนิยม

และขณะเดียวกัน กลไกเช่นนี้ก็ครอบงำชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยทุกแห่ง หรือในทางทฤษฎีก็คือ การทำให้นักศึกษาเกิด “ความเชื่อง” ทางการเมือง (pacification) และพร้อมที่จะใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม โดยไม่มีการต่อต้านหรือโต้แย้งใดๆ

และยังทำให้เกิดมุมมองเชิงบวกต่อระบอบอำนาจนิยมอีกด้วย

แต่เมื่อขบวนนักศึกษาเริ่มค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากความสำนึกในบทบาทใหม่ที่เชื่อว่านักศึกษามีความรับผิดชอบทางการเมืองและสังคม มิใช่การใช้ชีวิตอยู่กับความสนุกและความบันเทิงของยุคสายลมแสงแดดที่มหาวิทยาลัยถูกทำให้กลายเป็น “สถานบันเทิง” ของลูกหลานชนชั้นกลาง และปฏิเสธต่อการมีบทบาททางการเมืองและความรับผิดชอบทางสังคมที่คนหนุ่มคนสาวพึงมี

ฉะนั้น หากถือว่าการกำเนิดของ “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” ในปี 2513 เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตัวของภูมิทัศน์ใหม่ของมหาวิทยาลัยไทย ก็จะทำให้เห็นถึงความคลี่คลายของบทบาทใหม่ของนิสิตนักศึกษา คนหนุ่มสาวเริ่มปฏิเสธต่อระบบชีวิตและระบบความเชื่อแบบเดิมในรั้วมหาวิทยาลัย

พวกเขากลายเป็นเหมือน “กบฏ” ต่อระบบอาวุโสที่เป็นฐานล่างของระบบอำนาจนิยม และการกบฏเช่นนี้ได้พาพวกเขาออกสู่กิจกรรมนอกมหาวิทยาลัย จิตสำนึกเช่นนี้จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่พาคนหนุ่มสาวออกไปสู่ “โลกใหม่”

ภูมิทัศน์ใหม่เช่นนี้ยังมาพร้อมกับการขยายตัวของกระแสเสรีนิยมทั้งในมหาวิทยาลัยและในสังคมไทยคู่ขนานกันไป…

ปัญญาชนไทยส่วนหนึ่งทยอยกลับจากการศึกษาต่อในต่างประเทศ

อีกส่วนก็ทยอยส่งแนวคิดใหม่ที่พวกเขาเรียนรู้ในสังคมเสรีนิยมของโลกตะวันตก ผ่านวารสารอย่าง “สังคมศาสตร์ปริทัศน์”

พร้อมกันนี้ปัญญาชนรุ่นน้องในฐานะนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็เริ่มสร้าง “กระบวนทัศน์ใหม่” ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกลุ่ม/ชมรมที่เน้นเรื่องสังคมและการเมือง

เช่น ชมรมรัฐศึกษาของจุฬาฯ มากกว่าจะเป็นชมรมจัดงานบอลล์ งานสังสรรค์ให้หนุ่มสาวหาคู่กันในคณะ

นอกจากนี้ กระบวนทัศน์ใหม่ยังตามมาด้วยการนำเสนอชุดความคิดใหม่ๆ ผ่านหนังสือที่ถูกผลิตในมหาวิทยาลัย โดยมีนิสิตนักศึกษาในยุคนั้น ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต เช่น หนังสือชื่อ “หนุ่มสาวคือชีวิต” เป็นต้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้ด้านหนึ่งท้าทายต่อภูมิทัศน์เก่าของชีวิตในมหาวิทยาลัย และในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการปูทางไปสู่การก่อตัวของภูมิทัศน์ใหม่ ซึ่งก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า แล้วจุดสูงสุดของความท้าทายนี้จะเกิดขึ้นในปีใด

แต่เมื่อเดินทางผ่านการต่อสู้เรื่อยมา จนกลายเป็นการเปลี่ยนบริบทปริมาณไปสู่เชิงคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นกรณีทุ่งใหญ่และการลบชื่อเก้านักศึกษารามคำแหงในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2516 การเรียกร้องรัฐธรรมนูญในต้นเดือนตุลาคม 2516 ผสมผสานเข้ากับความตื่นตัวทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาที่พัฒนามากขึ้น สมทบด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร และยังตามมาด้วยปัญหาความแตกแยกภายในกองทัพ

ในที่สุดแล้วปัจจัยต่างๆ ที่ผสมผสานกันเหล่านี้ล้วนขับเคลื่อนให้การเมืองไทยก็เดินทางไปสู่ 14 ตุลาคม 2516 นั่นเอง

ชีวิตน้องใหม่ 2516

คนรุ่นผมที่เข้ามาเป็นน้องใหม่ในปี 2516 ไม่ว่าจะอยู่ในมหาวิทยาลัยใดก็ตาม ล้วนมีชีวิตอยู่ภายใต้การขับเคลื่อนของพลังแห่งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังนำพาพวกเราไปสู่ภูมิทัศน์ใหม่ สำหรับในคณะรัฐศาสตร์ พวกเรามีความมั่นใจอย่างสำคัญว่าไม่เพียงแต่จะมี “กบฏรุ่นพี่” ยืนร่วมกับพวกเราเท่านั้น อาจารย์ในคณะผมหลายๆ คนก็แสดงจุดยืนเสรีนิยมและต่อต้านเสนานิยมอย่างไม่ปิดบัง

การเรียนวิชาหลักรัฐศาสตร์และวิชาการเมืองไทยในห้องเรียนจึงเป็นดังการประกาศ “ปฏิญญาประชาธิปไตย” หรือเป็นการกล่าวแถลง “หลักการเสรีนิยม” ที่ปฏิเสธต่อระบอบการปกครองของทหาร ห้องเรียนถูกทำให้เป็นเวทีของการนำเสนอความคิดทางการเมือง จนอาจกล่าวได้ว่าห้องเรียนได้กลายเป็นเวทีของการสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยเสรีนิยมสำหรับพวกเราไปโดยปริยาย

ดังนั้น เมื่อขบวนนิสิตนักศึกษาไทยสามารถโค่นระบอบทหารลงได้จริงในปี 2516 สิ่งที่รออยู่เบื้องหน้าจึงท้าทายต่อการเดินทางของขบวนนิสิตนักศึกษาในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง!