ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ [email protected] |
เผยแพร่ |
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน
ความสำเร็จฟุตบอลโลก 2018 ของฝรั่งเศส ผ่านลูกหลานเชื้อสายผู้อพยพ
วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขุนพลทีม “ตราไก่” หรือฝรั่งเศสสามารถผงาดคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียได้ ด้วยการชนะโครเอเชีย (ด้วยสกอร์ 4-2) ในเกมนัดชิงชนะเลิศ
ชัยชนะในครั้งนี้ทำให้ขุนพล “ฝรั่งเศส” สามารถคว้าแชมป์โลกเป็นสมัยที่สองในประวัติศาสตร์ หลังจากที่เคยคว้ามาแล้วเมื่อตอนฟุตบอลโลกที่ประเทศบ้านเกิดตัวเองเมื่อปี 1998 หรือ “ฟรองซ์ 98”
ปรากฏว่านักเตะมากกว่า 15 คนในทีมเป็นนักเตะที่ครอบครัวอพยพมาจากแอฟริกา และอาหรับ จนทำให้สื่อและประชาชนทั่วโลกต่างสะท้อนถึงชัยชนะของ “คนพลัดถิ่น” จากทั่วโลก
ไม่เพียงแต่ฝรั่งเศสเท่านั้น แต่เหล่านักเตะหลายชาติในยุโรปก็มาจากลูกหลานผู้อพยพ ไม่ว่าจะเป็นเบลเยียม อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี
คนฝรั่งเศสที่มีต้นตระกูลเป็น “ผู้อพยพ” มาจากหลายประเทศทั่วโลก และโดยเฉพาะมาจากประเทศแอฟริกา หรือที่เราเรียกว่าคนฝรั่งเศสเชื้อสายแอฟริกัน มีการปะปนอยู่ในสังคมทุกชนชั้นของฝรั่งเศส และมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ
ทุกปีตลอดระยะ 50 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะขุนพลแชมป์โลก 2018 ชุดนี้ ถือเป็นชุดที่มีหลากหลายเชื้อชาติอย่างมาก
เริ่มที่วันเดอร์คิด คีลิยัน เอ็มบัปเป้ นักเตะดาวรุ่งยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์ คุณแม่ของเขาเป็นคนฝรั่งเศสที่มีเชื้อสายแอลจีเรีย และคุณพ่อของเขาก็เป็นคนแคเมอรูนแท้ๆ
ยอดกองกลางอย่างปอล ป๊อกบา ครอบครัวของเขาก็อพยพมาจากประเทศกินี
ส่วนอองตวน กรีซมันน์ คุณแม่ของเขาก็เป็นคนโปรตุกีส พ่อเป็นเยอรมัน
ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ทั้งคริสต์ อิสลาม แอฟริกัน อาหรับ ละติน หรือเอเชีย
ซึ่งในช่วงสองทศวรรษหลัง ปัญหาการใช้ความรุนแรงกับคนผิวสีกลายเป็นคดีใหญ่ และปัญหาใหญ่ของประเทศ
ย้อนไปเมื่อปี 2005 เกิดเหตุจลาจลรอบกรุงปารีสที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี อันเนื่องมาจากวัยรุ่นชาย 2 คนที่ชื่อเยด์ เบนา วัย 17 ปี และบูเอนา ตราโอเร่ วัย 15 ปี เสียชีวิตจากการถูกชอร์ตไฟฟ้าหลังพวกเขาวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ปัญหาการใช้ความรุนแรงของตำรวจกับคนผิวสีในสังคมฝรั่งเศสถูกยกเป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกนำไปพูดในการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 และโดยเฉพาะสหรัฐในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็พยายามกดดันให้รัฐบาลฝรั่งเศสจัดการเรื่องนี้ให้ดี
เพราะนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 หรือเหตุก่อการร้ายในปารีสเดือนพฤศจิกายน 2015 สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งด้านชนชั้นของฝรั่งเศส
“คนฝรั่งเศสพลัดถิ่น” มักจะไม่ได้รับโอกาสในการศึกษามากเท่ากับคนฝรั่งเศสแท้ๆ (ฝรั่งเศสยูโรเปียน) เรียกได้ว่าคุณภาพการศึกษาค่อนข้างต่ำกว่ามาก
นั่นเป็นอีกหนึ่งสาเหตุว่าทำไมคนฝรั่งเศสผิวสีถึงต้องหันไปเอาดีทางด้านกีฬามากกว่าด้านวิชาการ
เพราะเมื่อไม่ได้รับโอกาสเข้าอยู่ในระบบการศึกษาที่ดี พวกเขาจึงต้องใช้พรสวรรค์และพรแสวงยกระดับชีวิตของตนเองขึ้นมา
คนฝรั่งเศสเรียกเหล่าฮีโร่ของพวกเขาในชุดนี้ว่า “Black, Blanc, Beur” หรือที่แปลว่า ดำ ขาว อาหรับ
นอกจากชัยชนะในครั้งนี้จะสะท้อนความสำเร็จของวงการฟุตบอลฝรั่งเศสแล้ว นี่ยังถือเป็นวันที่คนฝรั่งเศสลืมปัญหาด้านชนชั้นและการเหยียดเชื้อชาติไปได้
เราจะเห็นภาพใจกลางเมือง คนนับล้านแห่กันออกมาดีใจโดยไม่มีการแบ่งชนชั้นหรือสีผิว
แม้จะมีรายงานว่า ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา แฟนบอลฝรั่งเศสแห่กันฉลองแชมป์จนมีเหตุจลาจลและปล้นสะดมใจกลางกรุงปารีส ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้แก๊สน้ำตาสลายฝูงชน… (โปรดดู https://gmlive.com/France-World-Cup-win-is-a-victory-for-immigrants)
ด้วยเกมกีฬาฟุตบอลครั้งนี้จะเป็นปรากฏการณ์ คำว่า “เชื้อชาติ” จะมีความหมายน้อยกว่าสัญชาติที่รวมผู้คนจากหลายหลากเชื้อชาติรวมเป็นสัญชาติเดียวกันในการร่วมกันสร้างชาติจากทุกภาคส่วน อีกทั้งร่วมกันรณรงค์และขจัดการเหยียดผิวที่ยังมีอยู่ในสังคมยุโรป โดยเฉพาะคนผิวขาว ซึ่งเป็นความรุนแรงด้านวัฒนธรรมและโครงสร้าง (โปรดดู https://prachatai.com/journal/2006/07/8908)
หวังว่าท้ายสุดจะทำให้พวกชายขอบของพวกเขาได้รับการยอมรับและจะเป็นแรงบันดาลใจให้ชาติอื่นๆ เอาแบบอย่างฝรั่งเศสและประเทศยุโรปอื่นๆ (ซึ่งเป็นแบบอย่างด้านประชาธิปไตยและมนุษยชน) ให้ปฏิบัติต่อคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงแต่ฮีโร่ฟุตบอลในครั้งนี้เท่านั้นอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม รวมทั้งผู้อพยพด้วยเช่นกันอย่างมีมนุษยธรรม
ในขณะเดียวกัน จะเป็นโมเดลใหม่ให้กับทั่วโลกซึ่งนับวันจะมีผู้คนในชาติที่มีที่มาด้านตัวตน เชื้อชาติ หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งประเทศไทย
รายชื่อผู้เล่นเชื้อสายผู้อพยพชุดฟุตบอลโลก 2018
– ผู้รักษาประตู อูโก โยริส มีเชื้อสายคาตาลัน, สตีฟ ม็องด็องดา มีเชื้อสายคองโก, อัลฟงส์ อาเรโอลา มีเชื้อสายฟิลิปปินส์
– กองหลัง ฌิบริล ซิดิเบ มีเชื้อสายมาลี, เบนฌาแม็ง ปาวาร์ เป็นฝรั่งเศสแท้ๆ, ซามูเอล อุมตีตี้ มีเชื้อสายแคเมอรูน, ราฟาแอล วาราน มีเชื้อสายมาร์ตินีก, เพรสเนล คิมเพมเบ มีเชื้อสายคองโก, อาดิล รามี มีเชื้อสายโมร็อกโก, แบ็งฌาแม็ง เมนดี มีเชื้อสายเซเนกัล, ลูกัส แอร์กน็องเดซ มีเชื้อสายสเปน
– กองกลาง พอล ป๊อกบา มีเชื้อสายกินี, โกร็องแต็ง โตลิสโซ มีสัญชาติโตโก, แบลส มาตุยดี มีเชื้อสายแองโกลา, เอ็นโกโล ก็องเต มีสัญชาติมาลี, สตีเวน เอ็น”ซองซี มีเชื้อสายคองโก
– กองหน้า อองตวน กรีซมันน์ มีเชื้อสายเยอรมนีและโปรตุเกส, โอลิวิเยร์ ชิรูด์ มีเชื้อสายอิตาลี, คีเลียน เอ็มบัปเป้ มีเชื้อสายแคเมอรูน, อุสมาน เดมเบเล มีเชื้อสายมาลี, ฟลอริยอง โตแวง เป็นฝรั่งเศสแท้ๆ, นาบิล เฟคีร์ มีเชื้อสายแอลจีเรีย, โธมัส เลอมาร์ มีเชื้อสายกัวเดอลุป