นิธิ เอียวศรีวงศ์ : วัดกับการบริจาค

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมได้เห็นตัวเลขการบริจาคของคนไทยแก่ UNHCR ซึ่ง คุณดวงจำปา เสปนเซอร์-ไอเซนเบิร์ก ได้ค้นคว้าข้อมูลมาเสนอแล้ว อดแปลกใจไม่ได้ เพราะมันสูงกว่าที่ผมคาดเอาเองไปมากทีเดียว กล่าวคือ คนไทยบริจาคให้องค์กรของสหประชาชาติองค์กรนี้ถึง กว่า 45 ล้านบาทในปี 2009 แล้วก็บริจาคเพิ่มมาทุกปี จนถึง 118 ล้านบาทในปี 2012

ที่ผมคาดไว้ต่ำก็เพราะคิดว่าคนไทยคงไม่สนใจผู้อพยพหลบภัยนานาชนิดเข้ามาพึ่งพิงประเทศไทย แม้แต่สื่อเองเสนอข่าวการอพยพของประชาชนเหล่านี้ ก็มักเสนอในแง่ปัญหาที่มีต่อบ้านเมืองของเรา มากกว่าทำให้เห็นชะตากรรมของผู้อพยพ ผมจึงคาดว่าคนไทยคงห่วงกระสุนปืนใหญ่จากกองทัพพม่า มากกว่าห่วงชาวกะเหรี่ยงที่หนีตายมายังแผ่นดินไทย

ดังนั้น เงินบริจาคที่สูงขนาดนี้จึงทำให้ผมแปลกใจ

ตัวเลขนี้ทำให้ผมเกิดสนใจการบริจาคของคนไทยในปัจจุบันขึ้นมา และพยายามค้นหาตัวเลขสถิติต่างๆ แต่ก็ไม่พบมากนัก จะเป็นเพราะผมค้นไม่เป็น หรือเพราะเมืองไทยไม่ค่อยเก็บข้อมูลสถิติละเอียดนักก็ไม่ทราบ

แม้กระนั้น ใครๆ ก็คาดได้ไม่ผิดว่า คนไทยบริจาคให้แก่องค์กรทางศาสนามากที่สุด แต่จะเป็นจำนวนเท่าไรกันแน่นั้นไม่ทราบ รู้แต่ว่าธนาคารแห่งหนึ่งประเมินว่า เฉพาะเงินฝากของวัดต่างๆ ทั้งประเทศนั้นรวมกันกว่า 3 แสนล้านบาท จำนวนนี้จะเป็นส่วนข้างน้อยหรือข้างมากของเงินบริจาคที่คนไทยถวายวัดก็ไม่ทราบ เพราะอีกก้อนหนึ่งที่ไม่ปรากฏในบัญชีของธนาคารก็คือที่หลวงพ่อ, หลวงพี่, กรรมการวัด ฯลฯ ไม่ได้นำมาฝากธนาคาร อาจไม่มีบัญชีที่ตรวจสอบได้ หรืออยู่ในกระเป๋าท่านเหล่านั้นก็ได้

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การบริจาคไม่ได้หมายความเพียงเงินอย่างเดียว คนไทยและคนอื่นๆ ทั้งโลกบริจาคมากกว่านั้น คือถวายสิ่งของ (เช่น ทอดกฐิน, สร้างโบสถ์วิหาร, กุฏิ, ถวายสังฆภัณฑ์ ฯลฯ และที่ไม่รู้จะประเมินเป็นมูลค่าอย่างไรคือตักบาตรทุกเช้า) และยังถวายเวลา เช่น ไปช่วยวัดจัดงาน หรือไปช่วยก่อสร้างต่อเติมเสริมซ่อมอะไรให้ฟรีๆ เป็นต้น

ฉะนั้น หากตีการบริจาคทั้งหมดที่คนไทยทำให้แก่องค์กรศาสนาออกเป็นมูลค่า คงอาจถึง 1 ล้านล้านเป็นอย่างน้อย และทำให้ผมด่วนสรุปว่า คนไทยคงบริจาคให้องค์กรศาสนามากที่สุด

ผมอยากพิสูจน์ข้อสรุปเอาเองนี้ โดยเปรียบเทียบตัวเลขบริจาคแก่ศาสนา กับการบริจาคอย่างอื่น เช่น แก่การศึกษา, การรักษาพยาบาล, หรือการบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากอื่นๆ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะค้นหายอดบริจาคมาเทียบกันไม่ได้

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการบริจาคสาธารณกุศลของคนไทย ซึ่งเท่าที่ผมอ่านรู้เรื่อง (มีตัวเลขสถิติชั้นสูงที่เกินความรู้ผมจะอ่านให้รู้เรื่องอยู่พอสมควร) เป็นของ ผศ.ดร.อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล ชื่อสังคมไทยกับการบริจาคและประกอบกิจกรรมทางศาสนา (2555) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคทั้งแก่องค์กรศาสนาและองค์กรอื่นอยู่พอสมควร แต่ไม่มีตัวเลขรวม แม้กระนั้นก็ล้วนเป็นเรื่องน่าสนใจทั้งสิ้น

ท่านอาจารย์อมรรัตน์พบว่า 91% ของคนไทยที่บริจาคเงิน (ทั้งแก่วัดและกิจกรรมสาธารณกุศลอื่นๆ) กระทำไปด้วยความเชื่อทางศาสนา (ทำบุญ) ผมจึงอยากตั้งข้อสังเกตไว้เป็นเบื้องต้นก่อนว่า ความเชื่อทางศาสนาเป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการบริจาค แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องบริจาคแก่องค์กรศาสนาเสมอไป หากสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นในอนาคต พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือคนไทยในอนาคตอาจ “ทำบุญ” เพราะความเชื่อทางศาสนา แต่ไม่จำเป็นว่าต้องทำกับศาสนา ข้อสังเกตนี้อาจสัมพันธ์กับข้อค้นพบอีกอย่างหนึ่งของท่านอาจารย์อมรรัตน์

ในการทำกิจกรรมสังคมสงเคราะห์หรือจิตอาสา 44-48% (คือไม่ได้ทำกับองค์กรศาสนา) ของผู้บริจาคเวลาเหล่านี้ ให้เหตุผลว่า มาทำเพราะอยากช่วยผู้อื่น, อยากเห็นสังคมดีขึ้น หรือเห็นว่างานสังคมสงเคราะห์เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เหตุผลเหล่านี้อาจได้แรงบันดาลใจจากคำสอนทางศาสนา และชาวพุทธไทยอาจเรียกว่า “ทำบุญ” ได้ทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ได้ทำผ่านองค์กรศาสนา

แสดงให้เห็นว่า ช่องทางในการ “ทำบุญ” ตามหลักศาสนา มีมากขึ้นในสังคม โดยไม่ต้องเกี่ยวกับพระหรือวัดเลย

แต่ผมหาตัวเลขไม่ได้ว่า จำนวนของคนที่มาทำงานแบบนี้หรือจำนวนของเวลาที่บริจาคในหมู่คนไทยมีเพิ่มขึ้นแค่ไหน เมื่อเทียบกับการบริจาคแก่องค์กรศาสนาโดยตรง

งานวิจัยของอาจารย์ ดร.อมรรัตน์ ยังพบอีกว่า ในการบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ (รวมวัดด้วย) ผู้หญิงมีแนวโน้มจะบริจาคมากกว่าผู้ชาย วัยที่เพิ่มขึ้นทำให้โน้มเอียงไปบริจาคเป็นเงินมากกว่าเวลา การศึกษาที่สูงขึ้นทำให้มีแนวโน้มจะบริจาคมากขึ้น คนชนบทบริจาคเงินและเวลามากกว่าคนที่อยู่ในเขตเมือง

ปรากฏการณ์ทางสังคมเหล่านี้ล้วนน่าสนใจ และอาจให้คำอธิบายได้อีกหลายมิติ นอกจากที่ท่านอาจารย์อมรรัตน์ได้ให้ไว้บ้างแล้ว

ในสหรัฐ มีการศึกษาพฤติกรรมการบริจาคของผู้คนมากกว่าของเราเป็นอันมาก หนึ่งในผลการศึกษาที่ผมได้พบโดยบังเอิญบอกว่าคนจนบริจาคเพื่อสาธารณกุศลมากกว่าคนรวยกว่าเท่าตัว (คนรวย 1.3% คนจน 3.2%) แต่เมื่อนักจิตวิทยานำคนสองกลุ่มนี้ไปทดลอง ก็พบว่าต่างมีความเห็นอกเห็นใจผู้คนที่เดือดร้อนพอๆ กัน หากได้ “สัมผัส” (ได้พบเห็น, ได้คุยด้วย, ได้รู้เรื่องราวของเขา) และยินดีช่วยเหลือไม่ต่างจากกัน เขาจึงอธิบายว่าคนรวยอาศัยอยู่ในละแวกที่ไม่มีโอกาสได้ “สัมผัส” คนที่ลำบากเดือดร้อน ในขณะที่คนจนอยู่ในละแวกที่ได้ “สัมผัส” อยู่เสมอ จึงมีแนวโน้มจะให้ความช่วยเหลือผ่านกองทุนหรือมูลนิธิต่างๆ ที่ช่วยคนเดือดร้อนมากกว่า

เขายังพบอีกว่า คนจนมักบริจาคความช่วยเหลือผ่านองค์กรศาสนาหรือองค์กรสาธารณกุศลอื่นๆ ในขณะที่คนรวยมักบริจาคให้แก่โรงเรียนเก่า, มหาวิทยาลัย, หรือทุนวิจัย ทุนการศึกษา ฯลฯ คำอธิบายก็คือ คนจนต้องพึ่งพิงสังคมมากกว่า จึงมักบริจาคให้แก่องค์กรที่ทำงานด้านการช่วยเหลือสังคมโดยตรง ในขณะที่คนรวยไม่ต้องพึ่งสังคม จึงมักบริจาคให้แก่สิ่งที่ตัวจะได้ประโยชน์ (ลดหย่อนภาษี, มีกองทุนในนามของตนเอง, หรือสังคมในความหมายเชิงนามธรรม… คือไม่มีหน้าตาให้เห็นในนามธรรมนั้น)

ท่านอาจารย์อมรรัตน์ก็พบอะไรบางอย่างคล้ายๆ นี้ นั่นคือคนที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์กว้าง (ซึ่งท่านเรียกตาม Putnam ว่าทุนทางสังคม) ก็มักมีสำนึกในด้านการทำสาธารณกุศลมากกว่าคนที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์แคบ (อย่างน้อยก็เพราะรู้ทุกข์ของคนอื่น) ในสหรัฐคนจนมีเครือข่ายทางสังคมที่กว้างกว่า เพราะอยู่ใกล้ชิดกับคนในชุมชนมากกว่า ได้ “สัมผัส” ความทุกข์ยากของผู้คนรวมทั้งตัวเองอยู่เป็นประจำ

ที่ผมนึกสงสัยอยู่ในใจ เมื่อค้นหาข้อมูลการบริจาคของไทยก็คือ สถาบันศาสนาจะเป็นแชมป์รับบริจาคที่ใหญ่สุดตลอดไปเช่นนี้หรือไม่

ไม่มีตัวเลขอะไรที่ผมค้นพบจะส่อให้เห็นคำตอบได้ จึงต้องเดาไปเองจากปัจจัยทางสังคมอื่นๆ ซึ่งผมถนัดอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นคำตอบที่เชื่อถือไม่ได้

ประการแรก เท่าที่ผมทราบจากแหล่งข่าวบางแห่ง จำนวนไม่น้อยของการบริจาคแก่วัดในเวลานี้ เป็นเรื่องของการฟอกเงิน ซึ่งบางทีวัดเองก็รู้ แต่แบ่งปันผลประโยชน์กันกับผู้บริจาค วัดก็อาจได้ถาวรวัตถุบางอย่าง ในขณะที่ผู้ฟอกเงินก็ได้กำไรคืนไปเป็นตัวเงินที่สามารถแจ้งที่มาได้อย่างโปร่งใส

ทั้งบทความของพระ (ดีๆ) และข่าวหนังสือพิมพ์ ก็ชี้ให้เห็นว่า คนที่ “ทำบุญ” กับพระหรือวัดเวลานี้ ทำด้วยทัศนคติของการแลกเปลี่ยนในตลาดมากทีเดียว หมายความว่าบริจาคเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ตนคาดหวัง เช่น แลกกับพระเครื่องหรือวัตถุมงคลอื่นๆ ที่อยากได้ แลกกับคำอวยพร แลกกับน้ำมนต์ แลกกับชื่อเสียงเกียรติยศ หลายต่อหลายอย่างไม่ต้องแลกกับพระหรือวัดก็ได้แล้ว เช่น พระเครื่องและวัตถุมงคลมี “ขาย” กันตรงๆ ให้เกร่อไป สำนักทรงเจ้า, ผี, เทพ, ฯลฯ ก็อาจให้คำสัญญาถึงความรวย, ความสุขกันทั่วไป หลายครั้งอย่างน่าเชื่อถือกว่าที่พระหรือวัดจะให้ได้ด้วยซ้ำ

การแลกเปลี่ยนในตลาด ไม่ว่าที่ไหนในโลกก็ตาม ย่อมนำไปสู่อะไรที่เป็นเหตุผล (rational) มากขึ้น เพราะตลาดมันมีเหตุผลของมันเองซึ่งบังคับให้ผู้ที่เข้ามาแลกเปลี่ยน ต้องจำนนต่อเหตุผลเหล่านั้น เช่น “คุ้มทุน” หรือไม่ ทำกำไรได้มากขึ้นหรือไม่ในเวลาเท่าไร ลงทุนด้านอื่นจะได้ผลตอบแทนเร็วกว่าหรือไม่

การแลกเปลี่ยนกับวัดมีจุดที่คลุมเครือหรือนอกเหตุผลของตลาดมาก ทำให้ต้องเน้นการโฆษณาเหลือเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ อันทำให้ได้ผลน้อยลง ในขณะที่ต้องแข่งกับองค์กรทางโลกซึ่งให้เหตุผลที่เป็นรูปธรรมกว่า เช่น บริจาคบำรุงสภากาชาดไทย นอกจากได้ช่วยผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากเห็นๆ แล้ว ยังได้เหรียญกาชาดสูงขึ้นไปตามลำดับ จนถึงที่สุดอาจได้รับพระราชทานออกทีวีด้วย

ประการที่สองคือสำนึกของผู้คนเปลี่ยนไป มีคนจำนวนมากขึ้นที่คาดหวังประโยชน์ของการ “ทำบุญ” ในโลกนี้มากกว่าโลกหน้า หรืออนาคตที่มองไม่เห็น ตัวเลขการบริจาค UNHCR ซึ่งทำความแปลกใจให้ผมเป็นตัวอย่างหนึ่ง ในปัจจุบันมีองค์กรที่ไม่เกี่ยวกับวัดได้รายได้จากการบริจาคของคนไทยอยู่ไม่น้อย ในขณะที่แต่ก่อนต้องพึ่งแต่ฝรั่งหรือเงินทุนต่างชาติ ปัจจุบัน สัดส่วนของการบริจาคภายในประเทศมีความสำคัญเพิ่มขึ้น

(ไม่นับเงินจาก สสส.)

ประการที่สาม วัดเคยทำหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งแก่สังคมไทยในอดีต นั่นคือเป็นองค์กรกระจายรายได้ (redistribution) ที่ใหญ่สุดรวบรวมทรัพย์มากระจายใหม่ให้แก่คนที่จำเป็น แต่บทบาทนี้หายไปแยะแล้ว ที่ยังทำอยู่ก็ไม่ได้ขยายให้เป็นระบบระเบียบพอที่จะดึงการบริจาคได้มากนัก เช่น อุดหนุนเด็กยากจนที่ต้องมาอาศัยวัดให้ได้เรียนหนังสือ (ในเชียงใหม่มีวัดที่ทำอย่างนี้อยู่ไม่น้อย) แต่บางวัดแทบไม่มีป้ายสักป้ายหนึ่งบอกให้ใครรู้ว่า อาจบริจาคช่วยเด็กเหล่านี้ได้ ยิ่งกว่านั้น การใช้จ่ายเงินของวัดโดยทั่วไปก็ไม่โปร่งใสพอที่จะทำให้คนบริจาคมั่นใจว่า เงินของตนจะไหลไปเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายของการ “ทำบุญ” ของตน ต้องอาศัยความเชื่อมั่นกับหลวงพ่อเท่านั้น แต่เมื่อคนไม่ค่อยเข้าวัด จะรู้จักหลวงพ่อได้อย่างไร

ผมจึงอยากเดาว่า การบริจาคแก่องค์กรศาสนาของคนไทยในอนาคตน่าจะลดลง แต่คนไทยก็ยัง “ทำบุญ” อยู่นะครับ เพียงแต่ไม่ผ่านวัดอีกแล้วเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่สายเกินไปที่วัดหรือที่จริงองค์กรคณะสงฆ์ทั้งหมด จะหันกลับมาคิดถึงบทบาทตัวกลางของกระบวนการ redistribution แต่ไม่ใช่เดินตามบทบาทเก่าของวัดอย่างที่เคยเป็นมาในเมืองไทย เพราะสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว จึงต้องการการกระจายรายได้ไปสู่จุดใหม่ๆ ซึ่งในชุมชนโบราณไม่มี เช่น การศึกษาทางโลกย์ เป็นต้น องค์กรปกครองคณะสงฆ์ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่า วัดพึงทำอะไรได้บ้างในสังคมที่เอดส์ระบาด ไม่ใช่ปล่อยให้เพียงบางวัดทำไปตามกำลังของตนเอง วัดพึงทำอะไรได้บ้างในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเช่นนี้ ฯลฯ

อันที่จริงวัดในเมืองไทยเวลานี้ หากไม่นับวัดหลวงและวัดที่สามารถทำรายได้จากทรัพย์สมบัติของวัดแล้ว (เช่น ที่จอดรถ, พระพุทธรูปสำคัญ, ตึกแถว ฯลฯ) ส่วนใหญ่อยู่ได้เพราะการบริจาคของผู้คน ผมสงสัยว่ารายได้ส่วนนี้มีแต่จะงวดลง ไม่ว่าจะใช้การโฆษณาเหลือเชื่อหนักแค่ไหนก็ตาม ถึงวันนั้นเราก็จะได้เห็นการยุบวัดเหมือนยุบโรงเรียน ไม่แปลกอะไรนะครับ ในสมัยโบราณ เมื่อชุมชนทายกทายิกาหายไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง (เช่น อพยพย้ายหมู่บ้าน) พระท่านก็ต้องอพยพไปอยู่วัดอื่น

ปล่อยวัดให้กลายเป็นวัดร้างไป