เผยแพร่ |
---|
โดย : นายพงศธร ไกรกาญจน์
นักศึกษาปริญญาโท สาขาการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์
ในช่วงหลังการโต้วาทีระหว่างผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในอเมริกาต่างก็ตามกระแสคลั่งไคล้นายเคน โบน (Ken Bone) ซึ่งลุกขึ้นมาถามคำถามก่อนสุดท้ายซึ่งเป็นคำถามเชิงนโยบายที่ชวนคิด ท่ามกลางกระแสการหาเสียงเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการโจมตีในทางลบว่า
“ผู้สมัครมีนโยบายพลังงานอย่างไรเพื่อตอบสนองความต้องการทางพลังงานของประเทศ ในขณะเดียวกันก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดการปลดคนงานออกน้อยที่สุด”
ภายหลังจากการโต้วาทีเขาได้ให้สัมภาษณ์ว่า เขายังไม่ได้ตัดสินใจระหว่างคลินตันกับทรัมป์ เพราะเนื่องจากเขาทำงานในอุตสาหกรรมถ่านหิน เขาจึงจะได้ประโยชน์จากนโยบายพลังงานที่ส่งเสริมพลังงานฟอสซิลของทรัมป์ แต่ในขณะเดียวกันเขาเห็นว่าหากทรัมป์เป็นประธานาธิบดี สังคมอาจจะสูญเสียสิทธิพลเมืองบางประการที่ต่อสู้มาอย่างยาวนานเพื่อให้ได้มา

ความลังเลใจที่นายโบน แสดงออกนี้สะท้อนถึงเดิมพันของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเลือกตัวบุคคลระหว่าง “ฮิลลารี คลินตัน” และ “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งทั้งสองคนไม่เป็นที่นิยมในสังคมมากนัก แต่เป็นการเลือกตั้งแต่ว่า ควรมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่? มหาวิทยาลัยของรัฐควรจะฟรีหรือไม่? การทำแท้งควรถูกกฎหมายหรือไม่? ควรควบคุมไม่ให้ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายซื้ออาวุธปืนหรือไม่? ควรเก็บภาษีคนรวยที่สุด 1% เพิ่มขึ้นหรือไม่? นโยบายประกันสุขภาพที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่? ควรปฏิรูประบบการอพยพเข้าเมืองและปูทางให้ผู้หลบหนีเข้าเมืองเป็นพลเมืองหรือไม่? ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องจริงหรือไม่และควรรีบแก้ไขหรือไม่ ฯลฯ
สำหรับคนอเมริกันที่ตอบคำถามต่างๆ ข้างต้นว่า “ใช่” ฮิลลารี คลินตัน ก็จะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
แต่สำหรับบางคนที่เห็นด้วยกับนโยบายของคลินตัน ก็อาจจะยังลังเลใจ เนื่องจากคลินตันมีภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่เจ้าเล่ห์ ทะเยอทะยาน และมีหลายหน้า ในขณะที่บางคนที่เห็นด้วยกับนโยบายของทรัมป์ก็อาจจะรังเกียจบุคลิกหยาบคายของเขา
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่คนทั่วโลกติดตามการเลือกตั้งสหรัฐฯ ก็เพราะบทบาทของสหรัฐอเมริกาในการเป็นผู้นำโลกเสรี ทั้ง The Economist และ Eurasia Group ต่างวิเคราะห์ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์จะเป็นความเสี่ยงในระดับโลกด้วยเหตุผลนานัปการ
สองเรื่องในนั้นคือเรื่องเศรษฐกิจโลกและการก่อการร้ายสากล

ในทางเศรษฐกิจนั้น ถึงแม้ว่าทรัมป์คงจะไม่ได้ขึ้นกำแพงภาษีกับจีน 40% ตามที่โม้ไว้ แต่ท่าทีและวาทศิลป์ที่ต่อต้านการค้าเสรีของทรัมป์เป็นภัยต่อเศรษฐกิจโลก โลกของเราได้จ่ายบทเรียนราคาแพงไปแล้วหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 1929 ว่าสงครามกำแพงภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจะทำให้เศรษฐกิจของทุกฝ่ายประสบหายนะ
ในด้านการต่อต้านการก่อการร้ายนั้น ทรัมป์กำลังเล่นกับความกลัวของผู้คนและตอกย้ำทฤษฎีการปะทะกันทางอารยธรรม (Clash of Civilization) ว่าโลกของเรากำลังอยู่ในสงครามระหว่างอารยธรรมตะวันตกและอารยธรรมอิสลามซึ่งไม่จริง แต่ความเชื่อนี้เพิ่มอำนาจและความชอบธรรมให้กับผู้ก่อการร้ายบางกลุ่ม และสุมเชื้อไฟให้การก่อการร้ายสากล สิ่งที่รัฐบาลโอบามาพยายามทำมาตลอดคือการแยกผู้ก่อการร้ายออกจากความชอบธรรมทางศาสนา
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเชื่อในการทรมานผู้ก่อการร้าย ซึ่งเป็นวิธีการหาข่าวที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล เชื่อในการก่ออาชญากรรมสงครามกับผู้ก่อการร้ายรูปแบบอื่นๆ เช่น การฆ่าครอบครัวของผู้ก่อการร้าย ไปจนถึงเสนอให้กีดกันการเข้าเมืองของชาวมุสลิมในฐานะมาตรการต่อต้านการก่อการร้าย
สหรัฐอเมริกามีอำนาจเป็นที่ยอมรับอยู่ในโลกได้ก็เพราะอเมริกาเป็นผู้นำบรรทัดฐานของโลก เพราะคุณค่าที่อเมริกาส่งเสริม เช่น สิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก หลักนิติธรรม ฯลฯ เป็นคุณค่าที่ถกเถียงและพิสูจน์ได้ว่าเป็นคุณค่าสากล
ถ้าสหรัฐฯ สูญเสียจุดยืนที่เหนือกว่าทางศีลธรรมเมื่อทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ไม่เพียงแค่สถานะผู้นำโลกเสรีของสหรัฐฯ จะสั่นคลอนแต่ทิศทางการพัฒนาคุณค่าสากลในโลกจะถดถอยด้วย นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ สูญเสียอุดมการณ์ของตนเองก็จะยิ่งเป็นการตอกย้ำอุดมการณ์ของกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เข้าใจว่าตนเองสู้กับจักรวรรดินิยมสหรัฐฯอันชั่วร้าย เช่น กลุ่มอัลกออิดะห์ที่นำคำพูดของทรัมป์ไปเป็นวิดีโอโฆษณาหาสมาชิก

ถึงแม้ตัวทรัมป์เองจะไร้สาระ แต่กระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจและความไม่ไว้วางใจชนชั้นนำและเทคโนแครตที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว และได้ทำให้เกิดเบร็กซิต (Brexit) รวมถึงการอุ้มชูทรัมป์ขึ้นมา ควรได้รับการพิจารณา ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
โลกาภิวัตน์และนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่สร้างรายได้ให้กับทุกคน และทุกคนมีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลับทำให้ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในสังคมมากกว่าเดิม กล่าวคือคนที่จนที่สุดมีรายได้และมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างเขากับคนรวยกลับมากขึ้นเพราะความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลจากโลกาภิวัตน์กระจุกอยู่เพียงกับคนรวย
ความสลับซับซ้อนเกิดขึ้นเมื่อนโยบายเศรษฐกิจที่ทำให้คนนับพันล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนแบบสัมบูรณ์ (Absolute) เป็นนโยบายเดียวกันกับที่ทำให้ความมั่งคั่งกว่าครึ่งที่เกิดขึ้นกระจุกตัวอยู่ที่คน 1% และเพิ่มความยากจนแบบสัมพัทธ์ (Relative) โลกของเรากำลังพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นก็จริง
แต่กระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็มีเหตุผลอธิบายได้ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมยังไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจากโลกาภิวัตน์ แต่ยังเกิดขึ้นจากการใช้หุ่นยนต์แทนที่คนงาน งานในเศรษฐกิจใหม่จะต้องใช้ความรู้และการศึกษาในระดับสูงที่มากขึ้น ซึ่งคนยากจนเข้าถึงได้ยาก
แน่นอนว่าแนวทางชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่อยู่เบื้องหลังเบร็กซิตและทรัมป์จะไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ ในขณะเดียวกัน ผู้วางนโยบายรัฐก็ต้องเร่งหาทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เพิ่มขึ้นและพัฒนาการเข้าถึงการศึกษาในระดับสูง ไม่เช่นนั้นกระแสที่อุ้มชูทรัมป์มาจนถึงจุดนี้ก็จะคงอยู่ต่อไปถึงแม้ว่าทรัมป์จะแพ้การเลือกตั้งก็ตาม

ถึงทรัมป์ แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเขาชื่นชอบผู้นำในระบอบอำนาจนิยม และเขาก็ไม่ได้สนใจหรือเข้าใจหลักนิติธรรมเท่าใดนัก แต่การท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ที่มาได้ถึงจุดนี้ก็สะท้อนว่าตัวสาธารณรัฐเองก็มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ไม่น้อย ถึงแม้ว่าเงินของบรรษัทจะมีบทบาทอย่างมากในทางการเมืองก็ตาม เพราะทรัมป์สามารถมาได้ถึงจุดนี้ด้วยมวลชนหนุนหลัง ทั้งๆ ที่เขาเป็นที่รังเกียจของผู้นำในพรรครีพับลิกันและผู้บริจาครายใหญ่เบื้องหลัง เพราะทรัมป์มีมวลชนหนุนหลัง เหล่าผู้นำพรรคที่กลัวแพ้เลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. ของตัวเองจึงต้องกลั้นใจสนับสนุนทรัมป์มาจนกระทั่งมีคลิปเสียงทรัมป์โอ้อวดการล่วงละเมิดทางเพศของตนเองหลุดออกมา
นอกจากนี้ คลินตันยังหาเสียงด้วยเงินของบรรษัทเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ทรัมป์ระดมทุนจากคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งยิ่งตอกย้ำเรื่องราวของทรัมป์ว่าเขาเป็นตัวแทนชนชั้นล่างสู้กับชนชั้นปกครอง
ในยุค กรีก-โรมัน มีคำอธิบายว่ามวลชนที่ไร้เหตุผลจะเชื่อนักยุยงปลุกปั่น และสนับสนุนให้นักปลุกปั่นก้าวขึ้นเป็นทรราชย์ และวิธีการแก้ปัญหานี้คือการออกแบบระบบการเมืองที่ผสมอำนาจของคนๆ เดียว กลุ่มคน และมวลชน เพื่อให้ไม่มีคนกลุ่มไหนผูกขาดอำนาจได้ เหล่าผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ เข้าใจถึงจุดนี้และได้ออกแบบระบบการเมืองมาขัดขวางทั้งการเป็นทรราชย์ของคนๆ เดียว และความไร้เหตุผลของมวลชน
การเลือกตั้งในครั้งนี้จะพิสูจน์ว่าระบบการเมืองสหรัฐฯ นั้นมีศักยภาพในการยับยั้งความไร้เหตุผลของมวลชนได้มากน้อยแค่ไหน และถ้าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งแล้วระบบการเมืองมีศักยภาพในการยับยั้งทรราชย์ของคนๆ เดียวได้ดีเพียงใด

ในท้ายที่สุดนี้ ถึงแม้ว่าชายและหญิงมีศักยภาพเท่ากัน เราไม่ควรลดทอนความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการที่ ฮิลลารี คลินตัน จะสามารถก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ
ข้อสังเกตประการหนึ่งจากการหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้คือ ในอดีตที่ผ่านมาสังคมชายเป็นใหญ่มักจะมีอคติว่าผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้ปกครองเนื่องจากผู้หญิงนั้นใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล แต่สิ่งที่เราเห็นได้จากการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้คือ “ฮิลลารี คลินตัน” ซึ่งเป็นผู้หญิง เป็นคนที่มีความนิ่ง มีเหตุมีผล ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับเหตุผลของเธอหรือไม่ก็ตาม
ส่วน “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งชอบโอ้อวดว่าตนเองเป็นชายที่แกร่งกว่าใครกลับเป็นคนใช้แต่อารมณ์ ไม่มีเหตุผล ไม่มีความอดทนอดกลั้นที่จะควบคุมตนเองไม่ให้ตื่นขึ้นมาตอนตี3 มาเล่นทวิตเตอร์ด่ากราดใครก็ตามที่ทำให้ตนเองเคืองใจ หวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะขุดหลุมฝังอคติว่าผู้หญิงไม่ควรปกครองให้หมดสิ้นไปเสีย