ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา ตอนที่ 134 เกาะกระแส “อีวี”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจนำเสนอข่าวประเด็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรืออีวี (electric vehicle) ครอบคลุมแทบทุกประเด็นทั้งข้อเสนอของฝ่ายเอกชน แนวคิดของฝ่ายรัฐบาล และความเคลื่อนไหวของสถาบันการศึกษาในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่

ตามข่าวระบุว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมอีวีต่อจากรถกระบะและอีโคคาร์เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมขยายตัวรองรับเป้าหมายการผลิต 3 ล้านคัน/ปีในอนาคต รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และกระแสโลกที่มุ่งเป้าพลังงานไฟฟ้า

มาตรการส่งเสริม กำหนดในรถ 3 ประเภทคือ รถอีวีซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ รถไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด

 

กรุงเทพธุรกิจสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งมีแผนจะนำอีวีรุ่นลีฟมาเปิดตลาดในไทย

แต่ผู้บริหารนิสสันแสดงความกังวลถึงความพร้อมของรัฐบาลไทยที่จะส่งเสริมตลาดอีวี เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ต้นทุนรถอีวียังสูง การอำนวยความสะดวกในการชาร์จไฟฟ้า

ผู้ใช้อีวีที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม จะชาร์จแบตเตอรี่ให้รถไฟฟ้าอย่างไร?

รวมถึงความรู้ความปลอดภัยกับการใช้รถ ถ้าน้ำท่วม แบตเตอรี่จะเสื่อมหรือเป็นอันตรายหรือไม่?

ผู้บริหารนิสสันบอกว่า ลีฟใช้เทคโนโลยีอี-เพาเวอร์ ติดตั้งเครื่องยนต์ขนาด 1.2 ลิตร 3 สูบ ทำหน้าที่สร้างกระแสไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานไม่หนัก ประหยัดน้ำมัน ลดการปล่อยไอเสีย

ต้นทุนของลีฟอยู่ที่แบตเตอรี่ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ของตัวรถ

แต่อี-เพาเวอร์ไม่เข้าข่ายมาตรการส่งเสริมของรัฐบาลไทย ผู้บริหารของนิสสันพยายามชี้ชวนให้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีชนิดนี้ช่วยประหยัดพลังงานและลดมลพิษ

ฝ่ายผู้บริหารของฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ชี้ว่าทิศทางโลกมุ่งไปที่อีวีอย่างชัดเจน เพราะเป็นเทคโนโลยีไม่ยุ่งยากซับซ้อน

หัวใจหลักคือแบตเตอรี่กับมอเตอร์ไฟฟ้า แต่แบตเตอรี่ราคาแพงและไม่มีแนวโน้มว่าจะถูกลงเพราะความต้องการสูง แหล่งแร่ที่นำมาผลิตแบตเตอรี่มีจำกัด

โคบอลต์และลิเธียมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ใช้กับอีวี และยังนำไปผลิตแบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ชนิดพกพาอีกด้วย

ปัจจุบันความต้องการแร่ทั้งสองชนิดนี้เพิ่มขึ้นราว 10 เท่าตัว

แตกต่างจากรถไฮบริด หรือปลั๊ก-อิน ไฮบริดที่ใช้พลังงานสองแหล่ง ทั้งจากเครื่องยนต์และแบตเตอรี่

เช่นเดียวกับผู้บริหารของบริษัทมาสด้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่นบอกว่า ในหลายประเทศมียอดขายอีวีสูงขึ้น เพราะมาตรการสนับสนุนที่เข้มข้นของภาครัฐ

ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่าภาครัฐเตรียมลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้อีวี

 

เป้าหมายภายในปี 2579 จะมีอีวีวิ่งบนถนน 1.2 ล้านคัน และจะลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่

“ขณะนี้ไม่มีมาตรการรถอีวีเพิ่ม แต่จะขยายผลไปโครงการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า จะนำร่อง 100 คันแรกภายในปีนี้และทยอยเปลี่ยนให้ครบ 22,000 คันทั่วประเทศภายใน 5 ปี” คุณศิริให้ความเห็น

ฟังคุณศิริให้สัมภาษณ์แล้วออกจะงงๆ ช่วงนี้รัฐบาลจะสนับสนุนเฉพาะอีวีตุ๊กตุ๊กเท่านั้น?

คุณอดิศร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มองว่าทั่วโลกทุ่มงบฯ พัฒนาแบตเตอรี่ใช้กับอีวี 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.2 แสนล้านบาท แต่ผลยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

แบตเตอรี่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า

ถ้าทำให้ต้นทุนแบตเตอรี่ลดลง อีวีจึงจะมีราคาถูกจูงใจผู้บริโภคได้

 

ในมุมมองของนายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยและอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เชื่อว่าปี 2573 ราคารถยนต์อีวีจะถูกลง เข้าถึงง่ายขึ้น

ปี 2565 บางประเทศ เช่น เยอรมนี นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย ห้ามใช้รถเติมน้ำมันเชื้อเพลิง

นายยศพงษ์ยังบอกอีกว่า ภาควิศวกรรมเครื่องกลของ มจธ. เตรียมทำหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีใหม่ๆ จะรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีรุ่นแรกในปีหน้า

ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กเผยแพร่ผลวิเคราะห์ทิศทางรถพลังงานไฟฟ้าของโลกว่า ภายในสิ้นทศวรรษนี้ ปริมาณการใช้อีวีเพิ่มขึ้นเป็น 13 ล้านคัน หรือเพิ่ม 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปีที่แล้วซึ่งมีผู้ใช้อีวีทั่วโลก 3.7 ล้านคัน

บลูมเบิร์กให้เหตุผลว่า รัฐบาลทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยมลพิษสู่อากาศ จึงหันมาสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

อุตสาหกรรมรถยนต์ยักษ์ใหญ่ อย่างโฟล์กสวาเกน เจเนอรัล มอเตอร์ส เมอร์เซเดส-เบนซ์ และอาวดี้ เร่งเปิดตัวรถพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ใช้แบตเตอรี่ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เก็บไฟได้มากขึ้น วิ่งได้ไกลกว่าเดิม แต่ชาร์จไฟในเวลาเพียงสั้นๆ

บลูมเบิร์กอ้างการคาดการณ์ของหน่วยงานด้านพลังงานระหว่างประเทศถึงทิศทางรถอีวีของโลกว่า จีนจะยังคงเป็นตลาดอีวีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากรัฐบาลจีนส่งเสริมสนับสนุนการใช้อีวีเพื่อลดมลพิษในอากาศ

รัฐบาลท้องถิ่นของกรุงปักกิ่งคิดภาษีในอัตราต่ำสุดสำหรับผู้ผลิตรถอีวีในประเทศ และผู้ซื้อรถอีวีจะได้รับสิทธิส่วนลดภาษี 10 เปอร์เซ็นต์ไปจนถึงปี 2563

เมื่อปีที่แล้วรายได้จากการเก็บภาษีเชื้อเพลิงของรัฐบาลจีนลดลง 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากชาวจีนแห่ใช้รถพลังงานไฟฟ้า

ถ้าเปรียบเทียบแนวนโยบายของจีนแล้วย้อนกลับมามองบ้านเรา สรุปได้ว่ารัฐบาลไทยยังเดินหน้า “อีวี” ไม่เต็มสูบ