“พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ” ก้าวต่อไป “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย”

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

การประชุมสามัญประจำปี 2018 หรือ AGM18 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หนึ่งในสาขาขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีสมาชิกทั่วโลกรวมกันกว่า 7 ล้านคน ที่มีกิจกรรมทั้งประชุมวางแนวทางและการบริหารองค์กรต่อไปในปีนี้แล้ว ยังมีการเลือกตั้งคณะกรรมการคนใหม่ ที่รวมถึงตำแหน่งประธานกรรมการ

โดยครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของ “หน่อย” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิมนุษยชนมายาวนาน ตัดสินใจลงจากตำแหน่งตามวาระ

และเปิดโอกาสให้สมาชิกได้เลือกตั้งเพื่อหาคนใหม่ในการขับเคลื่อนองค์กรต่อไป

สำหรับคนทั่วไปอาจไม่รู้จักพรเพ็ญ แต่ในวงการองค์กรภาคประชาชนจะเป็นที่รู้จักในฐานะนักเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย ที่ถือเป็นหนึ่งในประเด็นล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไทยถูกนานาประเทศถามอยู่เสมอ พร้อมกับทำให้แอมเนสตี้ฯ เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้างมากขึ้น

พรเพ็ญได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนขององค์กรในช่วงที่ดำรงตำแหน่งว่า เห็นได้ถึงข้อจำกัดในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและพื้นที่ในการแสดงออก แอมเนสตี้ฯ และองค์กรเครือข่ายทั่วโลก จะพยายามยึดพื้นที่การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนการมีส่วนร่วมทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างปลอดภัย กับสมาชิก นักกิจกรรมและให้บุคคลอื่น แต่ด้วยข้อจำกัดที่มีมาก

“ดังนั้น การทำงานกับเครือข่ายวงกว้าง ตามความต้องการของสมาชิก ตามมติ หรือมีหลักการที่จำกัดตามกลไกสากลซึ่งประเทศไทยต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไทยให้การรับรองไว้นี้กลับเป็นพื้นที่ที่แคบลง เราคิดว่าเราพยายามอย่างเต็มที่และขยายงานด้านความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน แล้วก็เรื่องของการระดมทุน และการทำงานกับสื่อมวลชน เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ที่ไม่มีที่ยืนในสังคม นักสิทธิมนุษยชนที่ถูกกดดัน ถูกดำเนินคดีหรือถูกห้ามไม่ให้แสดงออกจากฝ่ายรัฐบาล”

น.ส.พรเพ็ญกล่าว

 

ความโดดเด่นที่ชัดที่สุดในการทำงานของพรเพ็ญ คือการขึ้นมาเป็นประธานกรรมการของแอมเนสตี้ฯ พร้อมกับที่เธอทำงานให้กับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ตลอดกว่า 2 ปีที่นั่งในตำแหน่งประธาน

นอกจากเธอจะเป็นที่รู้จักในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ก็ยิ่งดึงดูดความโดดเด่นจนตกเป็นเป้าจากผู้มีอำนาจรัฐที่ไม่ต้องการให้เปิดปากเล่าให้กับสาธารณชนถึงการล่วงละเมิดที่รัฐทำกับประชาชน

กระทั่งในปี 2559 พรเพ็ญพร้อมด้วยนายสมชาย หอมละออ และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ 2 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ถูก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ฟ้องในข้หาหมิ่นประมาทและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการเปิดเผยรายงานสถานการณ์การทรมานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่บันทึกข้อมูลการทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายถึง 54 กรณี

จนในที่สุดอัยการจังหวัดปัตตานีไม่สั่งฟ้องและยุติการดำเนินคดี ส่วนหนึ่งมาจากการรณรงค์ของภาคประชาชนและแอมเนสตี้ฯ ทั่วโลกที่เรียกร้องให้ยุติการเอาผิดเพื่อปิดปากการเปิดโปงเหตุการณ์

และเป็นอีกครั้งที่ แอมเนสตี้ฯ ถูกการกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ จากการจับมือร่วมกับองค์กรเครือข่ายตั้งเป็นคณะผู้สังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในช่วงวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2561 ซึ่งมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปถึงสำนักงานเพื่อกดดันให้ยุติการทำงาน

แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจรัฐเพื่อปกปิดไม่ให้รับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามหลักสิทธิมนุษยชน

 

พรเพ็ญกล่าวถึงการคุกคามดังกล่าวว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและองค์กรถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับสิ่งที่เรียกว่า “ความไม่เป็นธรรม” “การล่วงละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน”

เรายืนยันในจุดยืนนี้ที่เป็นแนวทางปฏิบัติการทำงานด้านรณรงค์มาตลอด ดังนั้น ถ้าการทำงานในลักษณะเช่นนี้จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ ตรงนี้เรายืนยันว่า รัฐต้องปรับเปลี่ยนนโยบายหรือแนวทางการทำงานของตนเองหรือไม่ เพราะว่าหลักการของเราเป็นหลักการสากล ดังนั้น การต่อต้านการละเมิดสิทธิ การต่อต้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม จึงไม่เป็นการต่อต้านที่ผิดกฎหมาย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงกระทำได้

นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับการคุ้มครองโดยไม่ถูกดำเนินคดีเพื่อกลั่นแกล้ง หรือตัดขาดการสื่อสารจากภายนอก การบังคับให้ลบหรือการส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมถึงบ้าน หรือการกลั่นแกล้งด้วยวิธีอื่นๆ

“อันนั้นเป็นปัญหาเรื่องวัฒนธรรมด้านสิทธิมนุษยชนของสังคมไทยที่มีอยู่น้อย ไม่ว่าจะเป็นช่วงของรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลทหาร สังคมโดยรวมไม่ได้รับการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ประถมวัย หรือหลักการทั่วไปด้านจริยธรรม การบริหารจัดการปัญหา การคอร์รัปชั่นก็เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องกระจายอำนาจ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เรื่องอย่างนี้ เราต่อสู้มาทุกรัฐบาล แต่รัฐบาลที่มีฐานอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ได้ออกกฎหมายที่ลดทอนมาตรฐานที่เคยมีไปมากกว่าเดิม เราจึงต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อให้เกิดพื้นที่ประชาธิปไตยให้มากที่สุด ไม่ให้เป็นประเทศเผด็จการเบ็ดเสร็จเหมือนกับที่บางกลุ่มของสังคมอาจเห็นดีด้วย”

น.ส.พรเพ็ญกล่าว

 

ขณะที่ บรรยากาศทางการเมืองของไทยที่เข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง และมีการเปิดตัวพรรคการเมืองต่างๆ

น.ส.พรเพ็ญกลับมองว่า แอมเนสตี้ฯ ยังมีความกังวล โดยเฉพาะที่รัฐบาลประกาศที่จะมีการเลือกตั้ง เราคิดว่าการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของสมาชิกแอมเนสตี้ฯ เราไม่ได้จำกัดสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือผู้สนับสนุนทางการเมือง

แต่เราสงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการ ไม่ไปมีส่วนร่วมในตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ไม่ไปลงสมัครรับเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่พรรค เพื่อดำรงความเป็นกลางทางการเมือง

 

นอกจากนี้ การลงจากตำแหน่งถือเป็นเรื่องปกติสำหรับทุกองค์กร แต่สิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ การมีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทำงาน

ซึ่ง น.ส.พรเพ็ญระบุว่า เราได้ให้ความสำคัญกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยเป็นไปตามแนวทางของสำนักงานใหญ่ หรือในการประชุมสามัญ ที่กำหนดให้มีสัดส่วนกรรมการจากเยาวชนเพิ่มอีก 1 คน โดยมีหน้าที่ซึ่งเป็นโอกาสที่จะนำเสนอนโยบายโดยตรงที่อาจเกี่ยวข้องกับเยาวชน

ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจที่ในฐานะประธานกรรมการที่ทำให้เกิดขึ้น และจะเป็นแบบอย่างให้กับองค์กรอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ น.ส.พรเพ็ญกล่าวถึงกระแสคนรุ่นใหม่ว่า พวกเขามีจำนวนมากขึ้น มีโอกาสใช้สื่อ ข้อมูลข่าวสารที่กว้างขวางหลากหลาย ภาษามากมาย

ดังนั้น ความก้าวหน้าหรือประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ความเป็นไปของโลกมีความสำคัญมากกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในขณะที่ไทยจะดูล้าหลังถดถอยลงเรื่อยๆ ถ้ายังปล่อยให้ผู้อาวุโสที่มีอำนาจกำหนดนโยบาย

การเปิดพื้นที่ให้เยาวชนจึงเป็นเรื่องดีสำหรับทุกพื้นที่ เราต้องก้าวไปข้างหน้า แต่เราไม่ได้ใช้พื้นที่คนรุ่นใหม่ปิดกั้นคนรุ่นเก่า แต่ว่าเราอยากให้เยาวชนกล้าแสดงออก มีบทบาทมากขึ้น

อยากให้คนอาบน้ำร้อนมาก่อน รับฟังความคิดเห็นของเยาวชน

และร่วมก้าวไปข้างหน้า