E-DUANG : จาก ‘ซูซี วอง’ ถึง ‘โจชัว หว่อง’

นามแห่ง โจชัว หว่อง ก่อให้เกิดนัยประหวัดไปยังนามแห่ง ซูซี วอง

แล้ว “ปฏิมา” ของ แนนซี กวาน ก็โดดเด่น
โดดเด่นอย่างวางเรียงเคียงขนานมากับภาพของ วิลเลียม โฮล เดน โดยอัตโนมัติ
ทั้งที่ “หว่อง” ต่างจาก “วอง”
โลกของ ซูซี วอง เป็นโลกแห่งความรัก ระหว่างชายจากซีกโลกตะวันออกกับหญิงในซีกโลกตะวันออก
กระนั้น ฉากก็ดำรงอยู่ใน “ฮ่องกง”
แต่เมื่อถึงยุคของ โจชัว หว่อง เรื่องราวมิได้จำกัดอยู่ในกรอบแห่ง”ฮ่องกง”เท่านั้น
หากมีแรงสะเทือนมาถึง “กรุงเทพฯ”
ซูซี วอง เป็นเรื่องของ “ความรัก” ขณะที่ โจชัว หว่อง เป็นเรื่องของ “การเมือง”
การเมืองในจีน การเมืองในไทย

หากใครศึกษาพัฒนาการทางการเมืองของจีนจากยุคของขบวนการ “4 พฤษภาคม” มาถึงยุคแห่ง “ปฏิวัติร่ม”

ไหนเลยจะคาดคิด
ถามว่า เหมาเจ๋อตง โจวเอินไหล เติบใหญ่ในทางการเมืองมาจากอะไร
คำตอบคือ ขบวนการ 4 พฤษภาคม 1919
ขบวนการ 4 พฤษภาคม เรียกร้อง “ประชาธิปไตย” เรียกร้อง “วิทยาศาสตร์”
ความหมายโดยสรุปก็คือ “ความทันสมัย”
แล้ว “ปฏิวัติร่ม” ซึ่ง โจชัว หว่อง มีบทบาทอย่างสำคัญเล่าเป้าใหญ่ของการเคลื่อนไหวคืออะไร
คือ “ประชาธิปไตย” คือ “การปกครองตนเอง”
ทั้งๆ ที่ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2556 สี จิ้น ผิง ยังไปกล่าวคำปราศรัยปลุกระดมเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้กล้าต่อสู้เพื่อสร้างสรรค์ “นวัตกรรม” ใหม่
แล้วทำไมจึงรังเกียจ บทบาทของ โจชัว หว่อง

การสกัดและขัดขวางมิให้ โจชัว หว่อง เดินทางเข้าประเทศไทยสัมพันธ์กับการจัดงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลาคม อย่างแน่นอน

ไม่ว่าจะทำไปเพราะจีน “กระซิบ”
ไม่ว่าจะทำไปเพราะต้องการเอาใจและแสดงความแนบแน่นกับจีน
แต่คำถามก็คือ สัญลักษณ์ของ โจชัว หว่อง คืออะไร
คำตอบที่ทั่วโลกยอมรับ”ร่วมกัน” อย่างเป็นเอกภาพก็คือ สัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตย”
โจชัว หว่อง จึงเท่ากับ ประชาธิปไตย
ที่คณะกรรมการจัดงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลาคม เชิญ โจชัว หว่อง เข้าร่วมก็ด้วยเป้าหมาย “ประชาธิปไตย”
การสกัดขัดขวาง โจชัว หว่อง จึงเท่ากับสกัดขัดขวางประชาธิปไตย
ตถตา เป็นเช่นนั้น