เชิงบันไดทำเนียบ : เคาท์ดาวน์ คสช. ‘ลงหลังเสือ’ แผนสกัด ‘กันเช็คบิล ’ ย้อนหลัง

ภายหลังที่ พ.ร.ป.ส.ส. และ พ.ร.ป.ส.ว. ผ่านการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่าไม่ขัดรธน. ก็ทำให้โรดแมปการเลือกตั้งสามารถเดินต่อไปได้ แต่กรอบระยะเวลาเลือกตั้งจะขยับออกไปจากช่วง ต.ค.61-ก.พ.62 เป็น ธ.ค.61-เม.ย.62 แทน ตามรธน.ระบุว่าให้จัดการเลือกตั้งภายใน150วัน หลังกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับประกาศใช้
.
ซึ่งห้วงเวลานี้ทั้งกฎหายส.ส.และ.ส.ว. อยู่ในขั้นตอนการเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯและประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน คือ ส.ค.61 แต่ในร่างพ.ร.ป.ส.ส.ระบุว่าให้ประกาศใช้หลังประกาศราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 90 วัน ทำให้จะประกาศใช้หลังสุด คือ เดือนธ.ค.61 นั่นเอง ดังนั้นกรอบระยะเวลาการเลือกตั้ง ก.พ.62 หรือ เม.ย.62 ยังคงอยู่ในกรอบเวลาโรดแมปคสช. และเป็นไปตาม รธน.2560
.
ตรงตามที่ ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่คสช. แสดงความมั่นใจก่อนหน้านี้ว่า ร่างกฎหมายส.ส.และส.ว.จะไม่ถูกตีตกหรือต้องแก้ไขจนทำให้โรดแมปเลือกตั้งเลื่อนไปอีก แม้ก่อนหน้านี้จะไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าทุกอย่างจะผ่านโดยราบรื่นเช่นนี้ หากดูคำพูดของ พล.อ.ประวิตร ที่ย้ำชัดการเลือกตั้ง ก.พ.62 แน่นอนมาโดยตลอด ก็เป็นสิ่งรับประกันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงในต้นปีหน้าแน่นอน แม้อาจจะต้องเลื่อนไป 2 เดือนหรือไม่
.
แต่ก็ยังเป็นกรอบระยะเวลาที่ฝ่ายการเมืองยังพอรับได้ เพราะเพียง 2 เดือนเท่านั้น และเป็นการเพิ่มเวลาให้พรรคได้เตรียมตัวด้วย แน่นอนว่า คสช. รู้ดีว่าหากยิ่งทอดระยะเวลาออกไปจะยิ่งทำให้ ‘คะแนนนิยมลดลง’ ไปด้วย ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ก็ยืนยันว่าไม่ต้องใช้ ม.44 จัดเลือกตั้ง
.
แต่สิ่งที่ ‘นักเลือกตั้ง’ เฝ้าติดตามคือการ ‘ปลดล็อคพรรค’ โดยเฉพาะการแก้ไขคำสั่ง 53/2560 ที่ออกมาก่อนหน้านี้เพื่อ ‘คลายล็อค’ ให้พรรคสามารถดำเนินธุรการของพรรคได้ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง แต่ยังห้ามพรรคทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองมองว่าควรสร้างบรรยากาศที่นำไปสู่การเลือกตั้ง เพราะอีกไม่ถึง 1 ปีการเลือกตั้งตามโรดแมปก็จะเกิดขึ้นแล้ว
.
ซึ่งการปลดล็อคพรรคการเมืองทั้ง ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และ พล.อ.ประวิตร กล่าวตรงกันว่าจะต้องทำเป็นทีละขั้นตอนและไม่ปลดล็อคแบบ 100 % ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ระบุล่าสุดว่าจะต้องเชิญพรรคการเมืองมาพบก่อน เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการปลดล็อคพรรค โดยจะมีการประชุมร่วมระหว่างแม่น้ำ 5 สาย รวมถึงกกต. และ พรรคการเมืองต่างๆ ช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้ด้วย โดยจะหารือกับพรรคเท่าที่มาร่วมเท่านั้น

แน่นอนว่าไม่ถึง 1 ปีนับจากนี้ เป็นช่วง ‘ลงหลังเสือ’ ของ คสช. เรียกได้ว่า ‘เคาต์ดาวน์’ กันแล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่ ‘บิ๊กตู่’ และ คสช. ต้องระวัง คือ การถูก ‘เช็คบิลย้อนหลัง’ จากผู้เสียประโยชน์หรือพวกรับผลกระทบจากนโยบายคสช. โดยเฉพาะฟากฝั่งการเมืองฝั่งต่อต้านคสช. หลังพรรคอนาคตใหม่เสนอ ‘ฉีกรธน.2560’ เลยทีเดียว เพื่อล้างมรดกคสช. โดยเริ่มจาก ม.279 ที่ให้ยกเลิกคำสั่งคสช. ซึ่งจะลุกลามไปถึงการยกเลิกการ ‘นิรโทษกรรมคสช.’ อีกทั้งเสนอให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมืองยุคคสช.ด้วย
.
“คสช.ทำอะไรผิด คสช.ไม่ได้ทำอะไรผิดสักเรื่อง ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะทำอะไร ท่านนายกฯ สั่งให้ตรวจสอบทุกเรื่อง ทั้งการอนุมัติงบประมาณ หรือการทำงานต่างๆ ทุกเรื่อง ทุกอย่างจะคิดเองทำเองไม่ได้ เพราะต้องคำนึงถึงกฎหมาย และยืนยันว่า คสช.ทำทุกอย่างตามกฎหมาย” พล.อ.ประวิตร กล่าว
.
แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้มีการ ‘เช็คบิลย้อนหลัง’ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าศาลจะให้ประกันตัวแกนนำม็อบเลือกตั้งแล้วก็ตาม แต่มีเงื่อนไขห้ามชุมนุมที่ขัดกฎหมายก็ตาม โดยกระบวนการ ‘เช็คบิลย้อนหลัง’ นี้ ได้ดำเนินคดีกับแกนนำและมวลชนรวม 62 คน แบ่งเป็น 21 คนแรก มีความผิดขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และ ความผิดตาม ปะมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น ส่วนที่เหลือ 41 คน โดนเพียงการขัดคำสั่งหัวหน้าคสช. ในการร่วมชุมนุมเกิน 5 คน ซึ่งการแจ้งความนี้เกิดขึ้นหลังการชุมนุมยุติไปแล้ว 1 สัปดาห์
.
ทำให้ ‘แอมเนสตี้’ ร่อนจดหมายชวนสมาชิกทั่วโลก จี้ไทยยุติดำเนินคดี 62 กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โดย ‘บิ๊กเล็ก’พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคสช. ชี้แจงกลับว่า คสช. ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายกฎหมาย ทำตามกรอบกฎหมาย-อำนาจหน้าที่ ไม่ได้ละเมิดสิทธิ์ใคร ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่กลั่นแกล้งใคร จึงต้องอธิบายความเป็นจริง ตนไม่รู้สึกหนักใจ เพราะข้อเรียกร้องใดขัดกฎหมาย ทางคสช.ก็จะอธิบายให้เข้าใจว่า ทำไม่ได้
.
ซึ่ง คสช. เองก็รู้ดีถึงผลเสียถ้าภาพลักษณ์ ‘รัฐบาลทหาร’ ออกไปภายนอก เป็นในแง่การ ‘ละเมิดสิทธิ’ ทำให้รัฐบาลต้องประกาศเรื่องนี้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ และกำชับการทำงานของฝ่ายความมั่นคง ไม่ให้เกิดภาพการปะทะขึ้น แม้ว่าจะมีการ ‘บล็อค’ ไม่ให้การชุมนุมเป็นไปโดยราบรื่น ทั้งการสั่งห้ามเคลื่อนขบวนมายังทำเนียบรัฐบาล การเรียกผู้ให้เช่าเครื่องเสียงและระบบไฟมาพูดคุยที่ มทบ.11 อีกทั้งมีรายงานข่าวว่าได้ไปพูดคุยและติดตามมวลชนต่างจังหวัดที่จะมาร่วมชุมนุมไม่ให้เข้ามาด้วย
.
แม้ว่า พล.อ.ประวิตร จะยืนยันว่าไม่มีการไปบล็อกใดๆทั้งสิ้น และสั่งเฝ้าระวังกลุ่มเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ผสมโรงเข้ามาชุมนุมด้วย หลังมีรายงานว่าจะมีกลุ่มเสื้อแดงฮาร์ดคอร์จาก จ.สมุทรปราการ รับจ้างหัวละ 1,000 บาท เป็นสิ่งที่ คสช. ย้ำมาเสมอตรงกัน ว่าให้ระวัง ‘มือที่สาม’ เข้ามาป่วนนั่นเอง

แม้ว่า พล.อ.ประวิตร จะยืนยัน “ก็ผมเอาอยู่มา 4 ปีแล้ว” แต่ช่วงระยะเวลา 4 ปีทีผ่านมา คสช. มีอำนาจที่เหนือ ‘รัฐบาลปกติ’ เพระมีคำสั่งคสช. และ ม.44 ที่ใช้แก้ปัญหา ฝ่าทางตัน และควบคุมสิ่งต่างๆได้ แต่ในยาม ‘รัฐบาลปกติ’ ไม่ได้มี ‘อำนาจพิเศษ’ เหล่านี้ การจะทำสิ่งใดแบบ ‘เบ็ดเสร็จ’ ย่อมเป็นไปได้ยาก
.
จึงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีการ ‘เช็คบิลย้อนหลัง’ หรือไม่ ซึ่งคสช.ก็ประเมินเรื่องนี้ไว้เช่นกัน จึงเกิด ‘พรรคทหาร – นอมินีลายพราง’ ขึ้นมา และมีปรากฎการณ์ ‘พลังดูด’ กับ ‘พรรคท้องถิ่น-ตระกูลการเมือง’ ขึ้นมาด้วย เพื่อปูทาง คสช. ไม่ให้เสียของและไม่โดน ‘เช็คบิลย้อนหลัง’ เสียเอง และใช้เป็นฐาน ‘ต่อรองอำนาจ’ ได้ในอนาคต
.
มหกรรม ‘เคาต์ดาวน์ – เช็คบิล’ ไปพร้อมกัน !