ขอบคุณข้อมูลจาก | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3-9มิ.ย. 59 |
---|---|
เผยแพร่ |
ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ลมร้อนเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นลมฝน เท่ากับว่าฤดูฝนของประเทศไทยเวียนมา 2 ครั้งแล้ว นับตั้งแต่การทำรัฐประหารของ คสช. และเป็น 2 ฝนที่มากด้วยการเปลี่ยนแปลง ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางลบ และทางบวก ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ลมฝนอาจทำให้อุณหภูมิที่ร้อนระอุ ลดลงได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถลดอุณหภูมิการเมืองให้เย็นลงได้เลย
แถมลมฤดูวสันต์ที่พัดเข้ามาไล่ลมร้อนนี้กลับ พัดมวลในใจของใครหลายคนให้เปลี่ยนทิศไปด้วยเสียอย่างนั้น
ลมลูกหนึ่งพัดใจ “นพ.ประเวศ วะสี” ราษฎรอาวุโส ให้กลายเป็นคนห่างเหิน และตึงกับ คสช. จนคนมองว่าไม่ปลื้ม ชนวนเหตุเกิดจากการที่รัฐบาลใช้ มาตรา 44 ปลดบอร์ดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยครั้งนั้น “หมอประเวศ” ส่งเสียงถึงรัฐบาลเบาๆ ว่า ทำแบบนี้ระวังจะมีคนเกลียดเพิ่ม
พร้อมบอกอีกว่า การยึดอำนาจมันไม่ยาก แต่การบริหารประเทศมันยากกว่า เพราะต้องจัดการเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารประเทศต้องมีคนที่ช่วยทำงานเรื่องที่ยากๆ แล้วต้องมีคนสนับสนุนด้วย
แม้ “หมอประเวศ” จะส่งเสียงเตือนอย่างตรงไปตรงมาตามประสาคนเคยชื่นชมกัน แต่ คสช. ก็ไม่ได้หยุดฟัง กลับดำเนินการไปตามแนวทางที่ตนวางไว้ จน “หมอประเวศ” เกิดลมออกหู ต้องออกมาฉะรัฐบาล คสช. อีกหลายต่อหลายครั้ง
ล่าสุด เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ คุณหมอก็ออกมาอัด คสช. แรงๆ อีกครั้ง
ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่การสะกิดเตือน
แต่คุณหมอพูดด้วยความจริงจังในทำนองว่า ทหารกำลังทำประเทศวุ่นวาย
และขอให้ในอนาคตกองทัพอย่าเข้ามายึดอำนาจหรือบริหารประเทศอีก
แต่ควรปล่อยให้กระบวนการรัฐสภาทำงานไป เพราะการใช้อำนาจทำงานจะแก้ปัญหาได้น้อย และประเทศไทยควรทำงานในระบบโครงสร้างเครือข่ายร่วมกัน
หากฟัง “หมอประเวศ” ให้ดี แทบทุกครั้งที่คุณหมอออกมาพูดถึงรัฐบาล หรือ คสช. มักจะมีการยกคำว่า “ทหาร” และ “อำนาจ” ขึ้นมาพูดเสมอ
จึงเป็นไปได้ว่าเหตุที่ทำให้ลมในใจของ “หมอประเวศ” เปลี่ยนทิศไปนั้น อาจเพราะการใช้อำนาจในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ของรัฐบาล และ คสช.
ซึ่งตัวคุณหมอนั้นไม่ปลื้มก็เป็นได้
ลมอีกลูกหนึ่งพัดมาผ่านหัวใจแกนนำ กปปส. อย่าง “นายถาวร เสนเนียม” คนที่ดูแฮปปี้ที่สุดคนหนึ่งเมื่อครั้ง คสช. เข้ายึดอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยหลายครั้งชมว่า คสช. คือผู้เข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศ
แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน “นายถาวร” กลับกระโดดขึ้นมาส่งเสียงบ่น “รัฐบาลบิ๊กตู่” ก่อนใครในบรรดาแกนนำ กปปส. เริ่มจากเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ที่ลามส่งผลถึงปัญหาราคายางที่ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะแก้เท่าไหร่ก็แก้ไม่ตก
และแทนที่รัฐบาลจะเร่งเดินหน้าแก้ปัญหานี้ให้คนรักกันอย่าง “นายถาวร” ได้ชื่นใจ นายกฯ กลับไล่ให้เอายางไปขายถึงดาวอังคาร ทำเอา “นายถาวร” ทนไม่ไหว ถึงขนาดเดินทางไปศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือถึง “พล.อ.ประยุทธ์” ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำมาแล้ว
นอกจากนี้ นายถาวรยังดอดมาคุยกับ “นายวรชัย เหมะ” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง อยู่บ่อยๆ ในเรื่องของเศรษฐกิจ และเรื่องรัฐธรรมนูญ แถมความเห็นก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เศรษฐกิจแย่ ยางแย่ ปาล์มแย่ นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียก็น้อย ร่างรัฐธรรมนูญก็รับไม่ไหว การปฏิรูปก็ไม่คืบหน้า
การหันมาพูดคุยกันของเพื่อนต่างขั้วการเมืองในครั้งนี้ แม้จะไม่ส่งแรงสะเทือนมากมาย หรือทำให้เกิดภาพว่าพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่จะจับมือกันแบน คสช. ก็ตาม
แต่ก็ทำให้เห็นว่า คสช. ไม่สามารถยึดใจคนเคยรักกันอย่าง “นายถาวร” ไว้ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าเหตุที่ทำให้ลมในใจคนเคยรัก คสช. เปลี่ยนทิศไปนั้น สาเหตุมาจากหลายเรื่องประกอบกัน หากมองในภาพรวมก็อย่างเช่น การที่ คสช. เคยให้สัญญาอะไรไว้แล้วไม่สามารถปฏิบัติได้ รวมไปถึงสภาวการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ความขัดแย้งก็ไม่มีจุดคลี่คลาย ปัญหาเศรษฐกิจก็บานปลายมากขึ้น
อีกข้อหนึ่งที่อาจารย์ธรรมศาสตร์มองว่าเป็นเรื่องใหญ่คือ ก่อนหน้านี้คนเหล่านี้หลงเชื่อไปว่า คสช. จะผลักดันเรื่องเฉพาะของตัวเองได้ภายใต้อำนาจที่เบ็ดเสร็จ
แต่กลับพบว่าเมื่อ คสช. ขึ้นมามีอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้วไม่เพียงแต่จะไม่ช่วยผลักดันให้ปัญหาได้รับการแก้ไขตามที่คาดหวัง ยังเข้าไปกำกับ ล้วงลูก หรือควบคุมต่างๆ นานา ซึ่งทำให้การทำงานของคนเหล่านี้ทำได้ยากมากขึ้น
นายอนุสรณ์ วิเคราะห์อีกว่า เรื่องของเศรษฐกิจก็มีส่วน แต่ไม่น่าจะเป็นประเด็นหลักที่ทำให้คนที่เคยสนับสนุนการเข้าสู่อำนาจ หรือการทำรัฐประหารของ คสช. ลุกขึ้นมา แต่เพราะคำนึงถึงปัญหาเฉพาะของตัวเองมากกว่าคำนึงถึงภาพรวมของประเทศ
ส่วนกรณี “นายถาวร” ถ้ามองในเชิงของพรรคประชาธิปัตย์เองก็ต้องระวังในการออกมาอยู่หน้าสื่อ เพราะเป็นพรรคการเมือง ซึ่งอาจจะมีหน้า มีหลังอะไรเราก็ไม่รู้ อย่างที่เราเห็นคือ แม้ว่าประชาธิปัตย์ กับ กปปส. จะบอกว่าแยกกัน แต่สิ่งที่เราเห็นคือคนที่ออกมายืนแถวหน้าของ กปปส. ก็คือคนของพรรคประชาธิปัตย์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การเคลื่อนไหวนี้จึงไม่สามารถอ่านอย่างตรงไปตรงมาได้
ส่วน “คน กปปส.” หลายคนที่โดนลมพัดใจให้เปลี่ยนทิศไป อาจารย์อนุสรณ์ บอกว่า ก่อนหน้าคนเหล่านี้หวังให้ทหารเข้ามาเพียงคลี่คลายปัญหา คือทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย แล้วเกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว
แต่กลายเป็นว่าทหารไม่มีแนวโน้มที่จะถอนตัวไปได้ง่ายๆ ทั้งมาตรการที่ทางทหารนำมาใช้ในการกำกับดูแลประเทศไปกระทบสิทธิ เสรีภาพ และอีกหลายเรื่องของคนที่ก่อนหน้านั้นเคยอยู่อย่างสุขสบาย แต่ตอนนี้กลับอึดอัดขัดข้องไปหมด
อาจารย์อนุสรณ์ บอกอีกว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขยายไปสู่การเมืองของมวลชน วันนี้ประเทศไปถึงระดับที่มวลชนเข้ามามีส่วนในการกำกับการเมืองของประเทศอย่างมากแล้ว ดังนั้น คงไม่สามารถเรียกได้ว่ามีเฉพาะแค่นักการเมืองไม่กี่คนต่อท่อกันแล้วประสานประโยชน์กันได้อีกต่อไป
ภารกิจของรัฐบาล และ คสช. ในวันนี้ นอกจากจะต้องทำให้ประชาชนยอมรับแล้ว สร้างความปรองดอง ทำตามสัญญา รวมถึงนำประเทศไปสู่การเลือกตั้งแล้ว ภารกิจอีกอย่างหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ
การประคับประคองไม่ให้ลมฝนพัดแรงจนกลายเป็นพายุซัดใจคนเคยรักให้แหลกละเอียด
ไม่อย่างนั้นที่สุดแล้ว คสช. และรัฐบาล อาจจะต้องยืนเปียกฝนตามลำพังในสักวัน